ใบเสมาบ้านกุดโง้ง


ที่อยู่:
61 ม.4 บ้านกุดโง้ง อ.บุ่งคล้า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 36000
โทรศัพท์:
086-257-1975
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน จัดแสดงไว้ในอาคารที่เปิดโล่งสามารถเดินเข้าไปชมได้เลย แต่หากต้องการผู้นำชมกรุณาติดต่อล่วงหน้า
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
ใบเสมาสลักจากหินทราย สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 27 มีนาคม 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของใบเสมาบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาหินทรายที่จัดแสดงอยู่เหล่านี้พบกระจายอยู่ทั่วบริเวณเขตชุมชนบ้านกุดโง้ง ชาวบ้านพบเห็นและคุ้นเคยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ส่วนใหญ่พบกระจายอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน โดยทั่วไปชาวบ้านก็ปล่อยไว้เช่นนั้นตามท้องทุ่ง บริเวณที่พบใบเสมาที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นเนินดิน จำนวน 2 เนิน มีการปักใบเสมาเป็นคู่ รอบเนินดินทั้งสอง ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเนินดินทั้งสองน่าจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งราว พ.ศ.2515 เกิดน้ำหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน มีคนจากภายนอกแอบเอาเรือยนต์เข้ามาขโมยเสมาหินเหล่านี้ออกไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเริ่มคิดว่าเสมาหินเหล่านั้นน่าจะเป็นสิ่งมีค่า จึงเกิดความตื่นตัว ช่วยกันเอาช้างมาลากใบเสมาหิน แผ่นที่มีภาพสลักและมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์กลับมาไว้รวมกันในหมู่บ้าน ช่วงแรกนั้นนำกลับมาเพียง 8-9 แผ่น เก็บรวมไว้ในศาลาวัดที่เป็นอาคารไม่ถาวร
 
ใน พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเยี่ยมชมใบเสมาหินเหล่านี้เป็นการส่วนพระองค์ หลังจากนั้นไม่นาน คือ พ.ศ.2538 ทางกรมศิลปากร โดยสำนักโบราณคดีที่ 12 นครราชสีมา ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างอาคารคลุมเป็นการถาวร เมื่ออาคารถาวรสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระเทพฯ ก็เสด็จมาอีกครั้งในช่วง พ.ศ.2540 – 2543
 
ปี พ.ศ.2551 ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า ให้งบประมาณมาใช้ซ่อมแซมอาคารที่เริ่มทรุดโทรมอีกครั้ง ปัจจุบัน มีโครงการวิจัยคุณค่าของใบเสมาและการนำมาใช้ประโยชน์ ที่ให้ทุนวิจัยโดยสำนักงานสนับสนุนการวิจัย โดยมีหัวหน้าโครงการคือ อ.ทวิช อาจสนาม อาจารย์ประจำโรงเรียนชุมชนบ้านบุ่งคล้า และชาวบ้านในหมู่บ้านรวมทั้งคุณเสกสรรค์ ศรีประทุม จำนวนประมาณ 20 – 30 คน เป็นทีมวิจัย ในการสำรวจของชาวบ้านพบว่าบเสมาที่พบในบริเวณหมู่บ้านกุดโง้งมีทั้งสิ้นประมาณ 65 ใบ แต่ที่บริเวณอีกฝั่งหนึ่งของลำปะทาว (ลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน) ซึ่งอยู่ในเขตอีกตำบลนั้นก็ยังมีอยู่อีกเพียงแต่น้อยกว่าทางบ้านกุดโง้ง
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
ใบเสมาที่นำมาจัดแสดงในอาคารแห่งนี้มีจำนวน 24 แผ่น มีทั้งแบบเรียบไม่มีลายสลักแต่สภาพสมบูรณ์ ลายสลักเป็นรูปกลีบบัว รูปสถูป และแบบที่แกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องในมหานิบาตชาดก หรือชาดก 550 ชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็น เรื่องพรหมนารทะชาดก เตมิยชาดกหรือมูคปักขชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก มโหสถชาดก และภูริทัตตชาดก อัมพชาดก น่าสังเกตว่าชาดกเหล่านี้เป็นชาดกที่เล่าถึงความมีปัญญามากกว่าเรื่องของการบำเพ็ญทาน ขันติ อุเบกขา และอื่นๆ ในทศชาติชาดก ซึ่งอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้คนในอดีตที่ต่างจากปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีภาพแกะสลักเป็นรูปพุทธประวัติ ใบเสมาเหล่านี้กำหนดอายุตามรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดีในเขตภาคอีสานมากกว่าในเขตที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย
 
ความโดดเด่นของภาพสลักคือการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบพื้นเมืองเข้ากับรูปแบบของศิลปะอินเดียที่รับเข้ามาผ่านพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่นรูปหน้าของรูปสลักสะท้อนความเป็นพื้นเมือง (ใบหน้าเหลี่ยมหรือค่อนไปทางเหลี่ยม จมูกหนา เบ้าตาใหญ่) แต่มีลักษณะการยืนของบุคคลเป็นแบบที่เรียกว่าตริภังค์ คือการยืนเอียง 3 ส่วน ที่ได้รับอิทธิจากศิลปะอินเดียในยุคแรกเริ่มอย่างชัดเจน
 
ใบเสมาส่วนใหญ่ทำจากหินทรายแดง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีแหล่ววัตถุดิบจากภูเขาแห่งหนึ่งห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปะทาว รูปร่างของใบเสมาที่นำมาจัดแสดงมีหลากหลาย ทั้งเป็นแผ่นยาวเรียวเมื่อตั้งแล้วสูงกว่า 3เมตร บางใบเป็นรูปทรงค่อนข้างเหลี่ยม และลักษณะที่ปักอยู่ในบริบทดั้งเดิมก็แตกต่างกัน ทั้งแบบที่ปักโผล่มาเหนือดินเต็มใบ และแบบที่ฝังอยู่ในดินจนเกือบจมดิน
 
ลักษณะของการจัดแสดงจะมีแท่นจัดแสดงแยกต่างหากของเสมาหินแต่ละแผ่น เป็นที่น่าเสียดายว่าคำบรรยายที่ควรมีแต่ละแผ่นนั้นกลับมีไม่ครบ อาจเป็นเพราะสูญหาย หรือชำรุดไปตามกาลเวลาเนื่องจากอาคาคเป็นแบบเปิดโล่ง และรูปแบบของอาคารนั้นดูไม่ค่อยเข้ากับวัตถุจัดแสดงเพราะเสาที่ค้ำยันอาคารเป็นเสาแบบโรมัน และมีระยะที่ค่อนข้างชิดกันทำให้ดูอึดอัดเวลาเดินชม
 
เป็นที่น่าเสียดายว่ารูปแบบการจัดแสดงใบเสมาในอาคารเป็นรูปแบบเดียวกับในพิพิธภัณฑ์ที่เน้นแสดงวัตถุ แต่ขาดจากบริบทดั้งเดิมของวัตถุ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้เพราะแหล่งโบราณคดีเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากหัวขโมย จึงต้องเคลื่อนย้ายมาเก็บไว้ สำหรับผู้ที่สนใจยังสามารถออกไปเดินสำรวจภายในหมู่บ้านที่ยังหลงเหลือใบเสมากระจัดกระจายอยู่ เพื่อให้ได้บรรยากาศและเข้าใจลักษณะของการปักใบเสมาแบบที่ชาวบ้านเคยเห็นเมื่อในอดีต
 
การบริหารจัดการ
การจัดการยุคแรกๆ เมื่อ พ.ศ.2515 ชาวบ้านช่วยกันรวบรวมใบเสมามาเก็บไว้รวมกันด้วยต้องการอนุรักษ์ กระทั่งใน พ.ศ.2508 งบประมาณในการสร้างอาคารนั้นกรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา เป็นผู้ออกเงินและออกแบบให้ ส่วนในปัจจุบันการจัดการในแง่การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว และการซ่อมแซมอาคารคลุมเมื่อ พ.ศ.2551ได้งบมาจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า (เป็นเงิน 649,000 บาท) ส่วนการดูแลในแง่ปฏิบัติแล้วเป็นชาวบ้านในบ้านกุดโง้งช่วยกันดูแล คุณเสกสรรค์และพระสงฆ์ในวัดบ้านบุ่งคล้าก็ช่วยกันทำความสะอาด จึงอาจจะเรียกได้ว่าการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการแบ่งงานกันของหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะจากฝ่ายชุมชนที่มีจิตสำนึกต้องการดูแลรักษาโบราณวัตถุที่พบในชุมชนด้วยตนเองมาก่อนการเข้ามาจัดการของหน่วยงานรัฐ
 
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร จะพบทางแยก ชิดซ้ายเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ไปจังหวัดชัยภูมิ จากเส้นทางนี้ตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 118 กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ จุดสังเกตคือก่อนถึงทางเลี้ยวประมาณ 350เมตร จะมีศูนย์บริการ Cockpit (สำราญ การยาง) และ Global Houseขนาดใหญ่อยู่ทางด้านซ้ายมือ  จะพบกับสี่แยกขนาดเล็ก (ไม่มีไฟแดง) เลี้ยวขวาเข้าซอยที่มีป้ายบอกทางไปโรงแรมบีเอ็นเอ็น ถนนทางซ้ายมือมีซุ้มบอกทางเข้าบ้านหนองนาแซง และบริเวณสี่แยกนี้มีปั้มบริการน้ำมันเอสโซ่อยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเลี้ยวขวาเข้าซอยแล้วขับตรงไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร จะเจอสามแยก เลี้ยวขวาอีกครั้งวิ่งตรงไปประมาณ 850 เมตรจะเห็นสามแยกที่หากตรงไปจะเป็นซุ้มวัดสามัคคีธรรม ให้เลือกเลี้ยวซ้าย ขับตรงไปเมื่อพ้นจากโค้งขวาขนาดใหญ่จะพบสามแยก เลือกเลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 900 เมตร จะพบสามแยกอีกครั้งเลือกเลี้ยวซ้าย ขับตรงต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะเข้าสู่ย่านชุมชนบุ่งคล้า จะพบสามแยกที่มีทางแยกไปวัดตาลเดี่ยวเลี้ยวซ้ายไปทางวัดตาลเดี่ยว ขับตรงต่อไปเรื่อยๆ ประมาณ 600 เมตร เจอสี่แยกเล็กๆ เลี้ยวขวา ขับตรงต่อไปตามเส้นทางหลักเรื่อยๆ ประมาณ 4.5 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางเข้าแหล่งเสมากุดโง้ง เป็นสี่แยกขนาดเล็ก เลี้ยวขวาไปสู่วัดกุดโง้ง และอยู่ในเขตเดียวกับโรงเรียนบ้านกุดโง้ง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารแรกทางซ้ายมือ หลังจากพ้นซุ้มประตูวัดเข้าไปแล้ว
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2556

 
อ้างอิง
สัมภาษณ์ คุณเสกสรรค์ ศรีประทุม อายุ 50 ปี ผู้ดูแลหลัก วันที่ 13 กันยายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-