ตำหนักเขียว


ที่อยู่:
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 36000
โทรศัพท์:
044-822316, 044-811574
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น. กรุณาทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ย้อนอดีตเปิดความทรงจำ‘พระตำหนักเขียว’

ชื่อผู้แต่ง: จุมพล ศิริรักษ์ | ปีที่พิมพ์: 4 สิงหาคม 2549

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของตำหนักเขียว

ตำหนักเขียวเป็นเรือนไม้ทาสีเขียว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 เดิมเป็นที่ตั้งจวนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ต่อมาใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อคราวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มจากจังหวัดนครราชสีมาแล้วเสด็จต่อไปยังจังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2498

คุณจักรกฤษฎ์ อาวุธทอง เจ้าหน้าที่ที่ดูแลตำหนักเขียว เล่าถึงที่มาของตำหนักเขียวว่า มาจากพระองค์ท่านตรัสเรียกสถานที่ประทับแรมแห่งนี้ นับจากนั้นผู้คนจึงเรียกขานกันเช่นนี้มาตลอด พร้อมทั้งยังเก็บรักษาตัวบ้านและสิ่งของทุกอย่างในสภาพคงเดิมผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน 

ช่วงเวลาที่ผ่านมาตำหนักเขียวได้รับการบูรณะมา 2 ครั้ง ต่อมาในปี 2549 นายประภากร สมิติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในสมัยนั้น ได้บูรณะตำหนักเขียวขึ้นมาใหม่ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นการเฉลิมฉลองการครองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยชั้นบนได้ตกแต่งห้องไว้เหมือนที่เคยใช้เป็นที่ประทับ ส่วนบริเวณชั้นล่าง จัดแสดงผ้ามัดหมี่ของจังหวัดชัยภูมิที่มีอายุในช่วง 50-100 ปี

การจัดแสดงชั้นบน ได้จัดตกแต่งเป็นห้องต่างๆรวม 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสุธารส คือห้องดื่มน้ำชา ห้องเสด็จประพาส คือห้องจัดแสดงภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ห้องเจ้าเมือง คือห้องจัดแสดงภาพพระยาภักดีชุมพล(เจ้าพ่อพญาแล) และภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ห้องทรงงาน คือห้องจัดแสดงภาพในขณะที่พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จมาประทับแรม ณ จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และได้จำลองพระที่นั่งทรงงานของพระองค์ท่าน ห้องเครื่อง คือห้องที่ได้มีการรวบรวมเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ชุดน้ำชา ชุดกาแฟ ที่ได้มีการสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านทรงใช้

ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งนั้น จังหวัดชัยภูมิถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัด กรอบรูปอันหนึ่งมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกไว้ว่า

เวลา 11.30 น.เสด็จฯจากที่ว่าการอำเภอจัตุรัส ถึงจังหวัดชัยภูมิ เวลาประมาณ 12.30 น. เสด็จฯขึ้นประทับ ณ ที่พักผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมและเสวยพระกระยาหารกลางวัน (ระยะทางสี่แยก-ชัยภูมิ ประมาณ 40 ก.ม.)

เวลา 16.30 น. เสวยพระสุธารส ณ ที่พักผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเสด็จฯไปประทับหน้ามุขศาลากลางจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ(นายสวัสดิ์วงศ์ ปฏิทัศน์)กราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อนำราษฎรเฝ้าฯ แล้วเสด็จฯกลับที่ประทับแรม ณ ที่พักผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

ส่วนชั้นล่าง จัดแสดงผ้ามัดหมี่จังหวัดชัยภูมิ จากการรวบรวมลวดลายมีทั้งสิ้น 539 ลาย ผ้าโบราณที่จัดแสดงมีอายุ 50-100 ปี ลายผ้าเช่น ลายหมี่โซ่ ลายโคมสิบเอ็ด ลายข้อ ลายแมงมุม เป็นต้น ในปัจจุบันการทอผ้ามัดหมี่ยังทอกันเป็นอาชีพอยู่ที่บ้านเขว้า สินค้าที่นี่จัดเป็นของดีประจำจังหวัด แต่ลวดลายการทอจะเป็นลายประยุกต์ ไม่ใช่ลายดั้งเดิมอย่างที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ กว่าจะมาเป็นผ้ามัดหมี่ได้เกิดมาจากการย้อมเส้นด้ายหรือไหมให้เกิดสี และลวดลายแล้วจึงนำไปทอ ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่อยู่ที่สีที่วิ่งไปตามรอยซึมบริเวณของลวดลายที่ถูกมัดและการเหลื่อมล้ำในตำแหน่งของเส้นด้ายขณะที่ทอ โดยลายผ้าทั้งหมดที่จัดแสดงในที่นี้ล้วนมาจาก “ท้าวบุญมี”

“ท้าวบุญมี” ท่านคือตำนานผ้าไหมเมืองชัยภูมิ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเจ้าพ่อพญาแล อนุสาวรีย์ที่คนชัยภูมิให้ความเคารพนับถือ กล่าวว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมัยพระนารายณ์มหาราชและพงศาวดารกรุงเทพฯ ตรงกับสมัยแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี นายแลและนางบุญมี ภรรยาท่านมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่นครเวียงจันทร์ ต่อมานายแล ได้ขออนุญาตลาออกจากราชการ และอพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในเขตประเทศไทย ปี พ.ศ.2362 ณ โนนอ้อมชีลอง ซึ่งอยู่ในเขตเมืองชัยภูมิ นางบุญมีเป็นภรรยานายแล เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และชำนาญในการถักทอผ้า ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้ติดตัวมาจากบรรพบุรุษ ท่านได้นำภูมิปัญญาที่มีดังกล่าวมาฝึกสอนให้แก่ชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานและอพยพมาด้วยกันให้รู้จักวิธีปั่นด้าย มัดหมี่ เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอผ้าขาว ผ้าดำ ผ้าซิ่นหมี่ ผ้าขิด เพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่ม จนเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสวยงามและความประณีตของผืนผ้า ช่างที่ทอผ้าฝีมือดี นางบุญมีท่านก็จะให้ทอผ้าไปเป็นเครื่องราชบรรณาการให้แก่เจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ พ.ศ.2376 ขุนภักดีชุมพล (แล) ซึ่งเป็นยศเดิมของท่าน และนางบุญมีภรรยา ได้เก็บส่วยอากรจากชายฉกรรจ์ ผ้าขาว ผ้าดำ ผ้าซิ่นหมี่ ผ้าขิด พร้อมด้วยทองคำก้อนใหญ่ ไปบรรณาการแด่เจ้าอนุวงศ์อีกเช่นเคย เจ้าอนุวงศ์เห็นความกตัญญูรู้คุณ จึงได้ปูนบำเหน็จความชอบให้เป็น “พระ” คือ “พระภักดีชุมพล(แล)” ส่วนนางบุญมีได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวบุญมี” พร้อมยกหมู่บ้านหลวงให้เป็น “เมือง” ชื่อว่า “เมืองชัยภูมิ โดย พระภักดีชุมพล (แล) ครองตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคนแรก และภรรยาเจ้าเมืองคนแรกก็คือ “ท้าวบุญมี” ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ในคราวเดียวกัน

ปัจจุบันการทอผ้ามัดหมี่ยังเป็นอาชีพของคนอำเภอบ้านเขว้า ที่นั่นเป็นทั้งแหล่งผลิตและจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ นักท่องเที่ยวไปเที่ยวทุ่งกระเจียวสามารถแวะซื้อผ้ามัดหมี่นำกลับไปใช้หรือเป็นของฝาก ในครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จมาประทับยังพระตำหนักภูพานฯ จังหวัดสกลนคร ทางจังหวัดชัยภูมิได้มีการนำผ้ามัดหมี่บ้านเขว้าไปถวายท่าน 

คุณนารีรัตน์ เทชัยภูมิ วิทยากรอีกท่านหนึ่งของตำหนักเขียว เล่าว่า กลุ่มผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมต้น ชั้นประถมก็มีบ้าง มีทั้งในอำเภอเมืองและมาจากต่างอำเภอ เนื่องจากทางจังหวัดมีการประชาสัมพันธ์ไปทางโรงเรียน ให้เด็กเข้ามารู้ว่าประวัติศาสตร์ของจังหวัดชัยภูมิ ว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดชัยภูมิ แล้วให้เด็กๆ รู้จักผ้ามัดหมี่ชัยภูมิอันควรค่าต่อความภาคภูมิใจ ซึ่งโรงเรียนได้ให้ความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้

สาวิตรี ตลับแป้น : เขียน /ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : 

สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 21 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554

http://www.moohin.com/041/[Accessed 18/04/2011]

เอกสารประกอบการบรรยายของตำหนักเขียว

การเดินทาง : ตำหนักเขียว อยู่ในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัด

รถยนต์:จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร

อีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ถึงแยกพุแค แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ถึงอำเภอชัยบาดาล จากนั้นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอเทพสถิต อำเภอจตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ  

รถโดยสารประจำทาง: มีบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โทร. 0 2936 2852-66 สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493 บริษัท แอร์ชัยภูมิ โทร.0 4481 1556 นครชัยแอร์ โทร. 0 44 81 1739 ชัยภูมิจงเจริญ โทร. 0 4481 1780 ชัยภูมิทัวร์ โทร. 0 4481 6012 www.transport.co.th

รถไฟ: จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารประจำทางไปชัยภูมิอีก 51 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th 
ชื่อผู้แต่ง:
-