ที่อยู่:
วัดโบราณ (วัดโพธิ์) เลขที่ 162 ม.2 ถ.ราษฎร์บรรจบ ต.ผักปัง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ 36110
โทรศัพท์:
088-708-0675 ติดต่อพระครูอนุการโกวิท
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
วิถีชีวิตท้องถิ่น เครื่องมือทอผ้าตามแบบดั้งเดิม เครื่องมือเกี่ยวกับเกษตรกรรม (ทำนา)
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์มรดกอีสาน วัดโบราณ
อำเภอภูเขียว เป็นอำเภอที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงหนือของจังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ในแง่หลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบร่องรองของชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน ใบเสมาจารึกอักษรปัลลวะ และโบราณสถานในศิลปะทวารวดี (แบบภาคอีสาน) อยู่หลายแห่ง สันนิษฐานว่าน่าจะปรากฏเป็นบ้านเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 17 ในหลักฐานเอกสารที่เป็นตำนานอุรังคธาตุ (อุรังคนิทาน) ก็ปรากฏชื่อ “กุรุนทนคร”ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณในเขตอำเภอภูเขียวในปัจจุบัน ชุมชนในแถบนี้คงมีความเจริญและมีการอยู่อาศัยของผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านเข้าสู่สมัยอิทธิพลอาณาจักรเขมรแห่งเมืองพระนครแล้วก็ปรากฏร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุชุมชนในเขตอำเภอภูเขียวปรากฏในเอกสารอีกครั้งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ขึ้นตรงกับกรุงเทพ บริเวณที่ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านเมืองเก่า หรือเขตที่เป็นอำเภอเกษตรสมบูรณ์ในปัจจุบัน เอกสารกล่าวถึงการย้ายที่ตั้งเมืองใหม่เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น และมีทำเลที่เหมาะสม มีการทำเหมืองขุดร่อนทอง (ทองเนื้อดี) หล่อเป็นแท่งแล้วส่งเป็นส่วยอากรให้กับทางกรุงเทพแทนเงิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองมาเป็น มณฑลเทศาภิบาล (เมื่อ พ.ศ. 2442) เมืองภูเขียวถูกลดฐานะลงมาเป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นตรงกับจังหวัดชัยภูมิ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่อำเภอภูเขียวอยู่ห่างไกลจากอำเภอเมือง อีกทั้งมีประชากรอาศัยอยู่มาก (เป็นอันดับ 2 ของจังหวัด) และมีเศรษฐกิจที่ดีจากเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์ราชการพิเศษและการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขึ้นที่นี่ อาทิ ศาลจังหวัด เรือนจำ ระบบการคมนาคม การสื่อสาร การเงินและการธนาคาร ถึงขนาดที่เมื่อหลายปีก่อนมีความพยายามผลักดันให้แยกอำเภอภูเขียวออกมาตั้งเป็นจังหวัดเพื่อความสะดวกในการบริหารราชการแต่ก็ยังไม่สำเร็จ
ประวัติพิพิธภัณฑ์มรดกอีสาน
ตามประวัติของวัดเชื่อว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2380 ชื่อเดิมคือวัดโพธิ์ชัย ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่าเคยมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ที่หน้าอุโบสถ วัดแห่งนี้ยังเคยถูกใช้เป็นที่ทำการอำเภอภูเขียวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ปรากฏอยู่ในเอกสารทางราชการเรื่องการตัดสินคดีความกันที่โรงธรรมวัดผักปัง หรือวัดโบราณแห่งนี้ เมื่อ ร.ศ.119) ตามคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสเชื่อว่าช่วงหนึ่ง (ราว พ.ศ. 2440) เคยเกิดโรคระบาดทำให้พระเณรในวัดเจ็บป่วยล้มตายถึง 2 รูปติดต่อกัน จึงไม่มีพระรูปใดกล้าเข้าไปอยู่ในวัด ทำให้กลายเป็นวัดร้างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดโบราณ (นัยว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อแก้เคล็ด) และมีการใช้งานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือพระครูอนุการโกวิทมีแนวคิดที่อยากเก็บสะสมข้าวของเครื่องใช้ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวอีสานให้ลูกหลานได้เรียนรู้กัน จึงเริ่มสะสมวัตถุมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 แล้วจึงปรับปรุงห้องในศาลาเพื่อเก็บและจัดแสดง เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมใน พ.ศ.2542 นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังได้รับการคัดเลือกจากกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้เป็น “อุทยานการศึกษาในวัด” ประจำปี 2543 อีกด้วย ห้องที่ใช้จัดแสดงตั้งอยู่ด้านข้างอุโบสถทางวัดได้ทำลูกกรงเหล็กล้อมรอบ และมีประตูเหล็กแบบบานเลื่อนปิด สามารถมองวัตถุจากภายนอกห้องได้
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าเป็นมรดกอีสานผ่านวัตถุสะสมของเจ้าอาวาส เป็นเครื่องมือในการทอผ้า เครื่องมือจับสัตว์-ดักสัตว์ เครื่องใช้ประจำวัน ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่ได้ขยายมาสู่วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ด้วย มีรายละเอียดที่แบ่งตามประเภท ดังนี้
เครื่องมือทอผ้าประกอบด้วย ฟืมทอผ้า ที่สาวไหม ที่กวักไหม เพียก (ใช้ใส่สำหรับดีดฝ้าย) ที่มัดหมี่ ไนเข็นฝ้าย อิ้วหีบเม็ดฝ้าย โกงปั่นฝ้าย กี่ทอผ้า เสาโกงสำหรับปั่นฝ้าย เคียหูก (เครือทอผ้า) ไม้กำพั้น (ไม้ม้วนผ้าที่จะใช้ขณะทอด้วยกี่ทอผ้า) ฟืมทอผ้าขนาดเล็ก
เครื่องมือเครื่องใช้ในการจับสัตว์น้ำ ประกอบด้วย เรือพาย (9 ที่นั่ง) ในอดีตใช้ทั้งหาปลาและใช้สัญจรข้ามในหนองฝักปัง ตุ้มดักปลา ไซใหญ่
เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในอดีตและสมัยใหม่ กระต่ายขูดมะพร้าว ครกไม้ กระบุง กระด้ง กำปั่น (หีบ) จักรยานโบราณ กระด้ง กระบวยตักน้ำ เครื่องเสียงเก่าของทางวัด แบบสำหรับทำหมวกใบลาน ที่ดักนกเขา คีมไม้สำหรับใช้คีบส่วนปากภาชนะจักสานขณะสาน โทรทัศน์โบราณ วิทยุเทปคาสเซ็ทท์ ตะเกียงน้ำมันแบบต่างๆ ตาชั่งเก่า
เครื่องใช้ในการเกษตร คราด ซองโซ่ (ชงโลง)สำหรับวิดน้ำใส่กล้า ครกมอง (ครกกระเดื่อง) คาตีข้าว/คานวดข้าว สีมือ (เครื่องสีข้าวด้วยมือ)
การบริหารจัดการ
พิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลของทางวัดทั้งหมดตั้งแต่การจัดหาวัตถุสะสม การดูแลรักษา ค่าน้ำค่าไฟ กิจกรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการเป็นแหล่งวัตถุให้ทางโรงเรียนได้มาหยิบยืมวัตถุไปจัดแสดงในงานนิทรรศการ หรือเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ รวมไปถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนและนักเรียนจากบริเวณใกล้เคียง
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวเมืองชัยภูมิ จะพบสามแยกที่เรียกว่าสามแยกบายพาส (ถนนเส้นเลี่ยงเมือง) ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ขับตรงไประมาณ 43 กิโลเมตร จะพบสามแยกที่ทางขวามือป้ายบอกทางไปจังหวัดขอนแก่น เลือกเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ขับตรงไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ผ่านอำเภอแก้งคร้อ และอำเภอภูเขียวตามลำดับ ก่อนเข้าตัวเมืองภูเขียวจะพบกับห้าแยก ที่ก่อนถึงแยกมีปั้มน้ำมันคาลเท็กซ์อยู่ทางด้านขวามือ เลือกเลี้ยวขวา ขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงสามแยกสุดท้ายก่อนถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเลือกเลี้ยวซ้าย ตรงไปประมาณ 50 เมตร จะพบกำแพงวัดอยู่ทางด้านขวามือ
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 14 กันยายน 2556
อ้างอิง
สัมภาษณ์ พระครูอนุการโกวิท เจ้าอาวาสวัดโบราณ วันที่ 14 กันยายน 2556
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือดักสัตว์ เครื่องมือทอผ้า อีสาน เครื่องมือจับสัตว์ วัดโบราณ วัดโพธิ์ชัย เครื่องใช้ประจำวัน
ศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า
จ. ชัยภูมิ
ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอคอนสวรรค์ โรงเรียนคอนสวรรค์
จ. ชัยภูมิ
หอวัฒนธรรมนิทัศน์จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ
จ. ชัยภูมิ