หอวัฒนธรรมนิทัศน์จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ


ที่อยู่:
โรงเรียนสตรีชัยภูมิ เลขที่ 372 ถ.บรรณาการ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 36000
โทรศัพท์:
0-4481-1162
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันเวลาราชการ 8.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2541
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ

หอวัฒนธรรมนิทัศน์จังหวัดชัยภูมิ รร.สตรีชัยภูมิ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสตรีชัยภูมิ ก่อตั้งขึ้นด้วยปณิธานของอาจารย์วิไล วรรณบุษปวิช ที่ต้องการรวบรวมงานวรรณกรรมท้องถิ่นภาคอีสาน พร้อมกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยสู่เยาวชน ภายในห้องจัดแสดง มีเครื่องใช้พื้นบ้านได้แก่ อุปกรณ์ทอผ้า อุปกรณ์ทำขนมจีน ครุตักน้ำ เคียว อุปกรณ์ช่าง วัตถุโบราณเป็นเครื่องปั้นดินเผา แท่นหินทรายแกะสลัก คัมภีร์ใบลาน หุ่นโชว์ผ้ามัดหมี่ชัยภูมิที่เรียกว่า หมี่คั่นขอนารี หมวกนักเรียนสมัยก่อน ระฆังโรงเรียน ชุดน้ำชาแบบจีน กล้องถ่ายรูปแบบโบราณ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้บริจาค

ในห้องนี้อาจารย์วิไล ยังใช้เป็นห้องทำกิจกรรมของนักเรียนของกลุ่มรักษ์ไท ก่อนนี้อาจารย์วิไลได้ทำโครงการแพทย์แผนไทย ซึ่งนักเรียนมีความสนใจกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนวดแผนไทย นอกจากนี้นักเรียนในชมรมยังได้มีโอกาสทำวารสารเผยแพร่ความรู้ ใช้ชื่อว่า “วารสารรักษ์ไท” อาจารย์วิไลกล่าวถึงการทำกิจกรรมของเด็กนักเรียนด้วยความสนุก ในกลุ่มนี้มีนักเรียนทุกระดับชั้น นักเรียนจะรู้สึกสบายๆ ในคาบกิจกรรมนี้ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านแล้วนักเรียนยังจะได้กินขนมไทย

ช่วงปี พ.ศ.2549 อาจารย์วิไล ได้ของบประมาณจากวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ได้งบประมาณมา 150,000 บาท โดยมาจัดกิจกรรม ในชื่อโครงการลานวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนและครอบครัว มีการจัดกิจกรรม 10 ครั้ง ได้แก่ ส่งลูกขึ้นเวทีร้องเพลงเพื่อแผ่นดิน วัยรุ่นอุ่นไอรักแกะสลักผลไม้ร้อยด้ายลูกปัด ตายายสอนหลานทำอาหารพื้นเมืองประเทืองเพลงไทยเดิม เสื่อกกทอใจ ผ้าไหมทอมือ ประสานสื่อดนตรีไทย วาดรูปเขียนสีร้อยวลีเพลงพื้นบ้านสืบสานกลองเส็ง หัตถกรรมจักสานประสานเสียงเพลงไทย นาฏศิลป์ไทยผูกใจครอบครัว เสวนา “ เรื่อง ชวนลูกพูดเรื่องเด็กไทยหัวใจเต็มร้อย เสวนา “เรื่อง ผู้ใหญ่ในบ้านสานลานวัฒนธรรม” กิจกรรมเหล่านี้ได้ให้นักเรียนและผู้ปกครองทุกระดับชั้นเข้าร่วม

ด้านดนตรีโรงเรียนมีวงโปงลางนำไปออกแสดงในงานได้ ด้านอาหารพื้นเมืองมีการประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อไปติดต่อกับคนทำหม่ำ คนทำผัดหมี่ ในงานยังมีคุณลุงสอนการสานปลาตะเพียนทางมะพร้าว สานกระติ๊บข้าวไม้ไผ่ จากการสังเกตของอาจารย์วิไล การจัดกิจกรรมในโรงเรียนน่าจะได้ผลชัดเจนมากกว่าการจัดกิจกรรมข้างนอก ถึงคนจะน้อยกว่าแต่นักเรียนให้ความสนใจกันมากกว่า สำหรับปีนี้งานประเพณีที่โรงเรียนเพิ่งจัดไปคือ งานบุญผะเหวต

ในการรวบรวมวรรณกรรมท้องถิ่นภาคอีสาน อาจารย์วิไลได้จัดทำหนังสือ นิทานพื้นบ้านเมืองชัยภูมิ โดยบันทึกเทปแล้วเขียนออกมา จากนั้นก็ให้ลูกศิษย์ที่โรงพิมพ์วาดภาพประกอบ หนังสือนี้มีการจัดพิมพ์สองครั้ง ครั้งแรกได้งบจากวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ครั้งที่สองได้งบประมาณจากหน่วยอนุรักษ์ศิลปกรรมท้องถิ่น หนังสือเล่มนี้แจกฟรีสำหรับเด็กนักเรียนที่เรียนวิชานิทานพื้นบ้าน 

แหล่งข้อมูลของอาจารย์วิไล มาจากการจดจำของผู้เล่า ที่ได้มาจากปู่ย่าตายายพ่อแม่ บางคนเป็นหมอลำ บางคนต้องดื่มเหล้าก่อนจึงเล่าได้ ถ้าให้เล่าเฉยๆยังไงก็เล่าไม่ได้ อาจารย์ใช้วิธีเข้าไปในหมู่บ้าน ประสานงานก่อนว่าใครจะเป็นผู้เล่า แล้วจึงอัดเทป ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือภูแลนคา ตำนานของภูเขาลูกหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ ผู้เล่าคือนางสาวพรทิพย์ ยอดท่าหว้า เรื่องมีอยู่ว่า 

ครั้งก่อนโน้นภูเขาที่อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองชัยภูมินั้นไม่มีชื่อเรียกขานว่าอย่างไร จนต่อมามีเรื่องเล่าว่า เทือกเขาอันยาวเหยียดนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ในความดูแลหรือบารมีคุ้มครองของปู่ด้วง เนื่องเพราะว่าครั้งนั้นปู่ด้วงมีหมูคู่ใจตัวหนึ่งชื่อว่า ไอ้ทอก ไอ้ทอกมีความวิเศษและมีอภินิหารอยู่ในหลายเรื่องราวที่กล่าวถึงมา วันหนึ่งปู่ด้วงพาไอ้ทอกออกไปล่าสัตว์ป่าตามปกติวิสัย แต่วันนั้นเกิดอาเพศไม่มีสัตว์ป่าให้ได้พบเลย ปู่ด้วงจึงขึ้นนั่งห้างเพื่อรอดูสัตว์ที่ผ่านมา จนถึงกลางดึกก็มีแลน(ตะกวด)ตัวหนึ่ง มีขนาดใหญ่ผิดปกติจากแลนทั่วๆไปผ่านมา ปู่ด้วงไม่ล่าสัตว์เล็กๆ แต่ไอ้ทอกนั้นกลับวิ่งไล่ล่าแลนไปอย่างไม่ฟังเสียงของปู่ด้วงที่ร้องห้าม ไอ้ทอกหายไปจนรุ่งสาง ปู่ด้วงจึงตามหาไอ้ทอก ตามหาอยู่สองวันจึงพบ ไอ้ทอกนอนสลบไสลอยู่ ข้างๆกันนั้นก็มีแลนตัวใหญ่ตัวนั้นหัวมุดเข้าไปในรูอยู่ ปู่ด้วงพยายามดึงแลนออกมาจากรู แต่ก็ไม่สามารถทำได้ แลนตัวใหญ่ตัวนั้นยังคงติดแน่นอยู่ในรู และตายไปในที่สุด ชาวบ้านตาดโตนและบ้านใกล้เคียงพยายามที่จะดึงแลนออกมาฝังก็ไม่สามารถทำได้ และลานที่ติดคารูอยู่นั้นก็ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วขุนเขา แต่ก็ไม่เน่าสลาย ผู้คนจึงเรียกขานขุนเขานั้นว่า เทือกเขา “ภูแลนคา” อันหมายถึงภูเขาที่มีแลนตายคารูอยู่ (คา เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง ติดอยู่)

ในเล่มนี้ยังมีอีกหลายสิบเรื่อง โดยแต่ละเรื่องได้บอกชื่อผู้เล่าไว้ ได้แก่ ท้าวก่ำกาดำ นางแตงอ่อน นางผมหอม กำเนิดแม่น้ำชี นางหมาขาว ไม้ไผ่หนึ่งกำ สี่เกลอ ดาวลูกไก่ กรรมจากการขโมยข้าว บักเชียงเหมี่ยง จระเข้ไม่มีลิ้น ผีหลวงเหล็กหลาว นาคราช ปู่สังกะสาย่าสังกะสี เป็นต้น ความสนใจต่อนิทานเด็กเล็กให้ความสนใจมากกว่าเด็กโต ซึ่งเป็นไปตามวัยของเขา อาจารย์วิไลจึงได้คิดว่าควรสอนเขาเป็นนักเล่า ให้ไปเล่าให้เด็กประถมฟัง หนังสือนิทานเล่มนี้อาจารย์วิไลมีความคิดว่าอยากจะปรับปรุงให้มีภาพประกอบโดยการไปดูท้องถิ่นจริงที่ปรากฏในเรื่อง

การทำงานทางด้านนี้อาจารย์วิไลทำด้วยใจรัก มีความสุขที่เห็นนักเรียนแต่ละรุ่นได้ซึมซับความเป็นท้องถิ่นของตนเองติดไปกับตัว และคาดหวังให้หน่วยงานองค์กรต่างๆให้ความสำคัญและสนับสนุนการทำกิจกรรมต่างๆ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นรูปธรรม แต่สิ่งนี้คือพื้นฐานการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาติ

สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : 
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 21 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554
วิไล วรรณบุษปวิช. นิทานพื้นบ้านเมืองชัยภูมิ. ชัยภูมิ : ไทยเสรีการพิมพ์. 2550.
ชื่อผู้แต่ง:
-