ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอคอนสวรรค์ โรงเรียนคอนสวรรค์


ที่อยู่:
อาคารโรงฝึกงานศิลปศึกษา โรงเรียนคอนสวรรค์ 173 หมู่ 12 ต.คอนสวรรค์ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ 36140
โทรศัพท์:
044-848022, 044-889104
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2527
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอคอนสวรรค์ โรงเรียนคอนสวรรค์

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์  อำเภอคอนสวรรค์แต่เดิมชื่อนครกาหลง  กล่าวกันว่าเมืองนี้มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยผลหมากรากไม้นานาพันธุ์  เมื่อนกกาบินผ่านเข้ามากินก็จะเพลิดเพลินจนหลงลืมกลับรัง  มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณนี้  ทำให้ทราบว่าเป็นแหล่งอารยธรรมมาตั้งแต่โบราณ  มีการค้นพบภาชนะดินเผาเนื้อหยาบสีดำขัดมันมีลายเชือกทาบลายขูดขีดและลายเขียนสี  ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก  พระพุทธรูปยืนแบบทวารวดี  ใบเสมาหินทรายแกะสลัก  เป็นต้น
           
จากความเป็นมาดังกล่าว  ได้มีการตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นที่โรงเรียนคอนสวรรค์  การจัดแสดงของที่นี่จะทำให้เราได้เห็นแต่ละเสี้ยวของประวัติศาสตร์ชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยเป็นมา  มีเรือนจำลองบ้านแบบอีสาน  เครื่องจักสาน  อุปกรณ์ทอผ้า  เกวียน  ธรรมมาศน์ไม้ของวัด  เรือนจำลอง “หอแจก” ตามแบบของวัด  ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา  คัมภีร์ใบลาน
           
นายวีระพล สวัสดิ์ศรี  ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้กล่าวถึงการทำกิจกรรมของศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนคอนสวรรค์  โดยปกติจะเป็นไปตามวันสำคัญในแต่ละรอบปีซึ่งทางโรงเรียนเป็นแกนนำในการจัดงานร่วมกับชุมชนและสภาวัฒนธรรมประจำอำเภอ  ส่วนความรับผิดชอบในส่วนของโรงเรียนได้มอบหมายให้อาจารย์สุรวุฒิ สุขเข  หัวหน้าหมวดภาษาไทยเป็นผู้ดูแล  ขณะเดียวกันในส่วนนี้มีอาจารย์ศิลปะ โดยอาจารย์ยุทธศักดิ์ ลุมไธสงค์  ได้เสริมเข้าไปด้วย  อาจารย์ยุทธศักดิ์เป็นคนออกแบบสร้างเรือนจำลอง  และได้ใช้สถานที่ห้องจัดแสดงนี้ในการเรียนการสอนวิชาศิลปะ
           
จากการได้เข้ามาเยี่ยมชมในโรงเรียน  สิ่งที่สัมผัสได้คือการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีไทย  อย่างช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงของการจัดงานวันสุนทรภู่  มีกิจกรรมหลายอย่างให้นักเรียนทำ  อย่างหนึ่งคือการจัดทำหนังสือตามหัวข้อเรื่องที่กำหนด  นักเรียนจะได้ทำงานเป็นกลุ่มระดมความคิดสร้างสรรค์  และได้แสดงฝีมือในการวาดภาพ  หรืออย่างในการเรียนการสอน  อาจารย์สุรวุฒิบอกว่ามีการให้นักเรียนเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนแล้วมานำเสนอในรูปแบบรายงาน  ยกตัวอย่างเช่น  การแห่นางแมว  งานบุญผะเหวต  งานบั้งไฟ  การช้อนขวัญ 
           
การช้อนขวัญนี้เป็นความเชื่อแต่โบราณของคนที่นี่ว่าคนจะมีขวัญอยู่ในร่างกาย  ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือต้องไปไหนไกลๆต้องมีการนำกลับมา  ถ้าเป็นในทางที่ดีก็บายศรีสู่ขวัญ  ถ้าเป็นอุบัติเหตุแสดงว่าขวัญหลุดออกจากตัวจะต้องมีการทำพิธีไปช้อนกลับมาใส่ตัว  การทำพิธีจะต้องมีผู้รู้มาประกอบพิธี  มีการเตรียมของได้แก่  กล้วย  ไข่  เสื้อผ้าของคนที่เกิดอุบัติเหตุ  แล้วก็มีผ้าขาวม้ามัดเพื่อไล่ช้อน  บางทีก็เอาไม้ไล่ตี  ถ้าขวัญมาแล้วก็ห่อกลับบ้าน  เอาไข่มาป้อนให้กับคนที่เกิดอุบัติเหตุ
           
อาจารย์สุรวุฒิให้ความเห็นว่าปัจจุบันคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้  เนื่องจากความเจริญได้เข้าไปถึงหลายหมู่บ้าน   เด็กรุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่น  คนเฒ่าคนแก่เห็นว่าพวกเขาไม่ให้ความสำคัญ  จึงไม่ค่อยอยากพูด  ทำให้เงียบๆไป  อีกเรื่องคือนิทานพื้นบ้าน  เดี๋ยวนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ค่อยเล่าให้ลูกหลานฟัง  เพราะว่าเขาไม่ค่อยฟัง  เขาจะไปดูนิทานญี่ปุ่นจากสื่อทั้งหลายกันมากกว่า  แต่ละบ้านต่างมีทีวีดูมีคอมพิวเตอร์เล่น  ความสัมพันธ์ตรงนี้จึงห่างไป 
           
ด้านการแต่งกายโรงเรียนคอนสวรรค์ได้ให้ความสำคัญกับผ้ามัดหมี่ชัยภูมิ  แต่เดิมเป็นผ้าที่ทอใช้กันในแต่ละบ้าน  ในวันศุกร์นักเรียนสามารถสวมเสื้อผ้ามัดหมี่มาเรียนได้  ปัจจุบันการทอผ้าจะกลายเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน  โดยอาชีพหลักคือการทำนา  ในชุมชนมีร้านค้าสำหรับตัดเย็บและจำหน่ายผ้ามัดหมี่ซึ่งถือเป็นของดีเมืองชัยภูมิ
           
ในการเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนคอนสวรรค์  ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แนะนำให้อาจารย์ไพฑูรย์  สุสมบูรณ์  พาไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ขุนหาญ  ผู้สร้างนครกาหลง  และไปที่วัดคอนสรรค์ที่มีหลวงพ่อพระสีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน  ที่วัดนี้มีโบสถ์เก่าสร้างด้วยไม้  และยังมีศาลาที่ทางกรมศิลปากรจัดสร้างไว้เพื่อเก็บรวบรวมใบเสมาหินทรายแกะสลัก  หินทรายเหล่านี้พบกระจายอยู่ตามท้องนา  ซึ่งบางส่วนก็ยังอยู่ที่เดิมไม่ได้ขนย้ายมาจัดแสดงที่นี่
           
ความสำคัญของใบเสมาหินทรายเหล่านี้อยู่ที่เรื่องราวการแกะสลักเป็นรูปชาดกทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่  8 ตอน ได้แก่  ภูริทัตชาดก  เป็นตอนที่พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นนาค  เวสสันดรชาดก  ตอนชูชกทูลขอกัณหา-ชาลี  สุวรรณสามชาดก  ตอนครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ชื่อว่าสวรรณสามดาบส  นันทิวิ ศาลชาดก  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นโคอยู่หลายพระชาติ  เทวธรรมชาดก  ว่าด้วยธรรมของเทวดา  เรื่องพระเตมีย์ใบ้  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระราชบุตรกษัตริย์ชื่อว่า เตมีย์   มาตุโปสกะชาดก  ครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นช้าง  มโหสถชาดก  ว่าด้วยมโหสถแสวงหานางอมราเทวี
           
คุณยายสารกุล ปายชัยภูมิ   ได้เอ่ยถึงใบเสมาอีก 11 ก้อนที่ยังตั้งอยู่ในหมู่บ้านเป็น 4 ทิศว่า  ชาวบ้านมีความหวงแหนและมีความเชื่อว่าถ้ามีการย้ายออกไปจะทำให้เกิดเภทภัย  ทำให้เจ็บป่วย  โดยเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าที่ประจำอยู่  ทุกปีชาวบ้านจะมีการทำพิธีเลี้ยงปู่  มีการเลี้ยงเพลสรงน้ำ  ส่วนใบเสมาที่จัดแสดงในอาคารทรงไทยพระใหญ่ใบเสมา ได้งบอุดหนุนจาก  อบต. ปี 2547  ในการก่อสร้าง  ส่วนใบเสมาหินทราย  แต่เดิมท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้รวบรวมไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในสภาพกระจัดกระจายในทุ่งนา
           
การมาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนคอนสวรรค์  ควรประกอบกับการเข้าชมร่องรอยเมืองเก่าเวียงกาหลงและเดินชมใบเสมาหินทรายที่วัดคอนสวรรค์  นั่นจะทำให้เราได้รับทราบเรื่องราวทางด้านอารยธรรมของดินแดนแห่งนี้ได้อย่างครบถ้วน
 
-----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  23  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
การเดินทาง :
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางที่จะไปจังหวัดชัยภูมิ  ใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ถึงบ้านลาดใหญ่  แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2054 ไปอำเภอคอนสวรรค์  ระยะทาง 38 กิโลเมตร  มีทางแยกเข้าโรงเรียนคอนสวรรค์ด้านขวามือ
 -----------------------------------------
อ้างอิง  : กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  โรงเรียนคอนสวรรค์  อำเภอคอนสวรรค์  จังหวัดชัยภูมิ. หนังสืออ่านประกอบการเรียนวิชาสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม.


 
ชื่อผู้แต่ง:
-