หอวัฒนธรรมนิทัศน์ จังหวัดชัยภูมิ


ที่อยู่:
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ ศาลากลางหลังเก่า, ถ.บรรณาการ อ.ในเมือง จ.ชัยภูมิ
โทรศัพท์:
044-812-984 (สำนักงานวัฒนธรรม), 081-874-6735 (ดร.สิริกร)
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
แบบจำลองสถานที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิ แบบจำลองวิถีชีวิตของชาวชัยภูมิ เช่น บ้านเรือนแบบโบราณ การทอผ้า และอุปกรณ์ในการเล่นตีคลีไฟ ที่เป็นการละเล่นแห่งเดียวในประเทศไทย
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 กันยายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
เริ่มมีแนวคิดในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2545 โดยนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม แต่ไม่มีเงินให้ ดังนั้น พ.ศ.2546 หลังจากที่ระดมเงินจากคหบดีในจังหวัดได้มาประมาณ 1,100,000 บาท ก็เริ่มทำการปรับปรุงห้องจัดแสดงโดยใช้ห้องชั้นล่างของอาคารศาลากลางเก่า ช่างศิลป์ที่มาช่วยดูแลออกแบบคือ อ.สงวน ป้ายจัตุรัส ที่เคยทำงานให้กับศูนย์ศิลปาชีพมาก่อน ห้องจัดแสดงปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้เข้าได้ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นการเฉลิมฉลองครบ 72 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
       
อนาคตของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรม ในขณะนี้ก็เริ่มมีการดำเนินการไปบางส่วนแล้วคือการเริ่มจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดชัยภูมิ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2498 ที่อยู่บริเวณโถงทางเข้าชั้น 1 ของอาคาร ในอนาคตจะนำนิทรรศการดังกล่าวมาจัดแสดงในส่วนที่เป็นห้องสมุดปัจจุบัน และปรับเปลี่ยนให้เป็นนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ
 
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
ผู้ก่อตั้งและผู้ดูแล (ดร.สิริกร) เล่าให้ฟังว่างต้องการให้ผู้เข้าชมได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจังหวัดชัยภูมิในภาพกว้าง ดังนั้น เนื้อหาในการจัดแสดงจึงต้องการเล่าเรื่องเมืองชัยภูมิในด้านต่างๆ ดังนี้
 
ประเพณีวัฒนธรรม มีแบบจำลองขนาดเล็กที่อยู่บริเวณทางเข้าที่ต้องการสื่อถึง ฮีต 12 คอง 14 หรือธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติของชาวอีสานทั้ง 12 เดือน
 
วิถีชีวิตท้องถิ่น เล่าเรื่องผ่านแบบบ้านที่จำลองชีวิตท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่อยู่บนเรือน ในครัวไฟที่มีข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร (หม้อข้าว, เตาไฟ, โบก, พันธุ์พืชที่แขวนไว้เหนือเตาไฟ, กระติ๊บข้าว) วิถีการจับสัตว์น้ำ (ข้องใส่ปลา, ไซดักปลา, ไหดองปลาร้า) การทอผ้า (จ่อเลี้ยงไหม), การละเล่นพื้นบ้านที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของชัยภูมิ คือการตีคลีไฟ บนบ้านจำลองได้จัดแสดงเครื่องมือไว้ด้วยคือไม้ตีคลี และลูกคลีที่ทำจากไม้งิ้ว, ไม้ทองหลาง หรือไม้ขนุน
 
นอกจากแบบจำลองบนบ้านแล้วยังจัดแสดงพื้นที่บริเวณส่วนใต้ถุนบ้านไว้ด้วย คือกิจกรรมการทอผ้า ในห้องจัดแสดงเป็นหุ่นผู้หญิงกำลังใช้กี่ทอผ้าขณะที่ด้านนอกบ้านห่างออกไปเป็นหุ่นผู้ชายกำลังทำเครื่องจักสาน และส่วนบนบ้านก็มีผู้หญิงอีกคนกำลังสาวไหม แสดงให้เห็นว่าวิถีดั้งเดิมของชาวชัยภูมิคือกิจกรรมการทอผ้า และทำเครื่องจักสานไว้ใช้เองภายในครัวเรือน แหล่งทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดคืออำเภอบ้านเขว้า มีลวดลายผ้าดั้งเดิมที่โดดเด่นและมีการออกแบบลายใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
 
สถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้สร้างแบบจำลองของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ของจังหวัดไว้หลายแห่งทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และวัฒนธรรม คือ น้ำตกตาดโตน ทุ่งดอกกระเจียว มอหินขาว ปรางค์กู่ (โบราณสถานแบบศิลปะเขมร) ที่ผู้ดูแลอธิบายว่าเพื่อเป็นการให้ลูกหลานระลึกนึกถึงว่าเมืองชัยภูมิไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน หากแต่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชาแล้ว, แหล่งใบเสมาบ้านกุดโง้ง (ศิลปะสมัยทวารวดี) พระเจ้าองค์ตื้อ (พระพุทธรูปแกะสลักจากหินศิลปะทวารวดี) ต้นมะขามจำลองมาจากต้นมะขามจากหนองปลาเฒ่า สถานที่ที่เชื่อว่าพระยาแล วีรบุรุษท้องถิ่นและเจ้าเมืองชัยภูมิได้มาสิ้นชีวิตที่นี่ และปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อพระยาแล เป็นที่เคารพสักการะของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
       
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้วยังมีแบบจำลองที่เกี่ยวข้องกับสัตว์อันเป็นเรื่องเล่าในท้องถิ่นด้วย 2 ชนิด คือ แบบจำลองโขลงช้าง เล่ากันว่าช้างป่าในจังหวัดชัยภูมิเป็นช้างที่มีลักษณะสูงใหญ่ และเพียว เหมาะกับการเป็นช้างศึก (ต่างจากช้างแห่งอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้มีลักษณะลงพุงหรือท้องใหญ่) มีเรื่องเล่ากันว่าช้างที่นี่มีเชื้อสายมาจากช้างที่สมเด็จพระนเรศวรใช้ทำยุทธหัตถี ปัจจุบันแทบจะไม่มีช้างป่าเหลืออยู่แล้ว แหล่งเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดคือที่อำเภอเทพสถิตย์ คนเลี้ยงส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวญัฮกุร หรือที่รู้จักกันในชื่อชาวบน
 
สัตว์อีกชนิดหนึ่งคือจระเข้ ขนาดของหุ่นจำลองค่อนข้างใหญ่เกือบเท่าจริง จระเข้ตัวนี้เคยเป็นสัตว์เลี้ยงของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่วัดโนนแดง อำเภอบ้านเขว้า ที่โด่งดังเมื่อ 20 ปีก่อน เล่ากันว่าเป็นจระเข้ที่รู้ภาษา เมื่อหลวงพ่อเรียกก็จะโผล่ขึ้นมาจากน้ำ โดยเฉพาะในช่วงวันพระมักจะขึ้นมานอนอ้าปากอาบแดด เมื่อชาวบ้านเห็นก็มักจะโยนเศษเหรียญใส่ปาก พอจะกลับลงน้ำจระเข้ตัวนี้ก็จะคายเศษเหรียญออกมา ปัจจุบันจระเข้ตัวนี้เสียชีวิตแล้ว (เมื่อประมาณ 4-5ปีที่แล้ว)
 
 
การบริหารจัดการ
นับตั้งแต่มีแนวคิดในการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 โดยทางกระทรวงวัฒนธรรม จนสร้างอาคารแล้วเสร็จ งบประมาณทั้งหมดได้มาจากการขอรับบริจาคจากคหบดีในท้องถิ่น ด้วยการระดมทุนให้มีการเลือกส่วนต่างๆ ในห้องจัดแสดงว่าท่านใดจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนใดได้บ้าง จวบจนทุกวันนี้การซ่อมแซมส่วนจัดแสดงต่างๆ ก็ต้องรอรับบริจาคจากผู้สนใจ และปัญหาเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟที่ค่อนข้างสูงก็มีส่วนทำให้ไม่สามารถเปิดเข้าชมได้ทุกวัน
       
ปัญหาในปัจจุบัน นอกจากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแล้ว ยังมีเรื่องการเสื่อมของมัลติมีเดีย (ส่วนที่เป็นวีดีทัศน์) ที่เคยมีแต่ไม่สามารถใช้งานได้ ในเรื่องของผู้นำชมที่มี ดร.สิริกร เพียงคนเดียว เนื่องจากไม่มีเงินพอสำหรับจ้างผู้ดูแลและนำชม ส่วนของทะเบียนวัตถุไม่ได้มีการทำทะเบียนไว้เพราะเห็นว่าการแสดงส่วนใหญ่เป็นแบบจำลอง (สถานที่ต่างๆ) ส่วนที่เป็นวัตถุจัดแสดงอื่นๆ ก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ตามบ้าน เช่น เครื่องจักสาน ภาชนะดินเผา และเครื่องมือทอผ้า ที่ยังพอหามาทดแทนได้ใหม่ 
 
 
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร จะพบทางแยก ชิดซ้ายเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ไปจังหวัดชัยภูมิ จากเส้นทางนี้ตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 122 กิโลเมตร จะเข้าเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ ขับตรงไปจนพบวงเวียนกลางสี่แยกในเมือง วนวงเวียนเพื่อตรงไปเข้าสู่ถนนหฤทัย/อรุณประเสริฐ จะเห็นประตูทางเข้าศาลากลาง และที่ตั้งศาลจังหวัดในบริเวณเดียวกันอยู่ทางด้านขวามือ เลี้ยวขวาเพื่อเข้าประตู ผ่านอาคารศาลจังหวัดไปจะพบกับศาลากลางเก่าทางด้านซ้ายมือ จุดสังเกตคืออนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลจะตั้งอยู่ด้านหน้าศาลากลางเก่า ห้องจัดแสดงตั้งอยู่บริเวณชั้น 1ของอาคาร
 
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 13 กันยายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์  ดร.สิริกร กำพลังฤทธิ์, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ วันที่ 13 กันยายน 2556
 
ชื่อผู้แต่ง:
-