พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัดสามัคคีธรรม


ที่อยู่:
วัดสามัคคีธรรม บ.หัวนา ต.บุ่งคล้า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ
โทรศัพท์:
087-254-2813 พระครูประสิทธิชัยคุณ
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน จัดแสดงไว้บริเวณโครงหลังคาของอาคารที่เปิดโล่ง และเรือนเปิดโล่ง แต่ถ้าหากต้องการผู้นำชมกรุณาติดต่อเจ้าอาวาสล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านของชาวอีสาน, อุปกรณ์เกี่ยวกับการทอผ้า, การจับสัตว์น้ำ, เครื่องมือในการทำเกษตรกรรม (ทำนา), เครื่องจักสาน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 28 เมษายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัดสามัคคีธรรม

ประวัติพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัดสามัคคีธรรม
เจ้าอาวาสย้ายมายอยู่ที่วัดสามัคคีธรรมตั้งแต่ พ.ศ.2508 ก็เริ่มสะสมวัตถุพื้นบ้านเรื่อยมาทั้งจากที่ญาติโยม บริจาคและเสาะหามาเอง และเริ่มเห็นว่านับวันข้าวของพื้นบ้านต่างๆ ก็จะสูญหายไปเรื่อยๆ จึงอยากเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้มารู้มาเข้าใจ ตามคำแถลงที่ท่านได้เขียนไว้ในสมุดทะเบียนวัตถุว่า

        “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณเก่าๆ นับวันแต่จะสูญหายเลิกใช้ไปเรื่อยๆ โดยมีสิ่งใหม่ๆ ที่ทันสมัยขึ้นมาทดแทน ข้าพเจ้าเห็นแล้วเกิดความเสียดาย เพราะการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ ในสมัยโบราณนั้นเกิดจากการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับสภาพแวดล้อม และในปัจจุบันก็ยังใช้ประโยชน์ได้ดี วัสดุก็ราคาถูก บางอย่างไม่ต้องซื้อจากตลาด หรือต่างประเทศ แต่หาได้จากธรรมชาติในท้องถิ่น ราคาก็ถูกหรือหาได้ฟรีโดยไม่เสียเงินซื้อเลย แต่มันมีประโยชน์มากมายกับลูกหลานที่ต้องการเรียนสืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
        ข้าพเจ้าหวังว่าสิ่งของเครื่องใช้ที่ข้าพเจ้าได้พยายามเสาะหาสะสมมาไว้เป็นสมบัติของสังคมลูกหลาน คงจะเป็นประโยชน์ต่อไป ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือและบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ทุกคน
 
สำหรับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง เจ้าอาวาสก็ได้เขียนระบุไว้ในหนังสือทะเบียนวัตถุที่เขียนด้วยลายมือของท่านไว้ 6  ประการ คือ
1)   รักษาขนบธรรมเนียมศิลปวัฒนธรรมโบราณ
2)   ฟื้นฟูให้ระลึกถึงบรรพบุรุษ
3)   ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้
4)   เพื่อประโยชน์และเป็นสมบัติของสังคม
5)   เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
6)   เป็นความสุขใจที่ได้รักษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ระบุปีที่เปิดแสดงไว้แน่นอนเพราะเจ้าอาวาสเริ่มสะสมมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 แต่จากสมุดทะเบียนอีกฉบับซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ไม่ได้ระบุสถานศึกษาที่ชัดเจน) ระบุว่ามีการทำเบียนอย่างเป็นระบบโดยการถ่ายภาพ และบรรยายวัตถุใส่แฟ้มไว้ใน พ.ศ.2547 นั่นก็แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจมาอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก่อนหน้าการเข้ามาของนักศึกษา
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
วิธีการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับว่าค่อนข้างจะแปลกไปกว่าที่อื่นๆ ส่วนจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่
 
        พื้นที่แรก เป็นโรงเปิดโล่งสามารถใช้งานที่พื้นที่ของโรงได้อย่างเต็มพื้นที่ การแสดงวัตถุทั้งหมดห้อยจัดแสดงไว้กับโครงหลังคาด้านบน ส่วนแรกนี้จัดแสดงพวกเครื่องมือจักสานที่เกี่ยวข้องกับการจับสัตว์น้ำ และวิถีชีวิตพื้นบ้าน ดังนี้ ตะเกียงไม้ไผ่ (กระบอกสำหรับใส่ตะเกียงน้ำมันเวลาไปส่องกบยามค่ำคืน) ตะกร้าสานสำหรับใส่ผ้าอ้อม แอบดำ (สำหรับใส่ยาเส้น) เชี่ยนหมาก หรือที่ภาษาถิ่นเรียกขันหมาก กระชอนตักขนมจีน (ภาษาถิ่นเรียกว่ากระต้อ) เป็นเครื่องจักสานที่สานทรงกระบอกตรงก้นโค้งมัน ด้านบนมีหูหิ้ว เรือขุดทำจากไม้ทั้งต้น แต่ก่อนใช้พายหาปู-ปลา ตามลำห้วยหลัว จั่นดักปลา สุ่มดักปลา ไซดักปลา ลอบดักปลา ข้องนกหงษ์ (ใช้ใส่ปลา) ข้องธรรมดา และง้อง (หรือที่ภาคกลางแถบอยุธยาเรียกสระโอสำหรับกรีดไปในเลนเพื่อจับปลาหลด) เป็นต้น
 
        พื้นที่ส่วนที่สอง เป็นอาคารร่วมเดียวกับพื้นที่ส่วนแรก แต่มีประตูเหล็กแบบที่เป็นบานยืดกั้นบริเวณไว้ ส่วนจัดแสดงนี้มีการจัดวางเครื่องมือในการสีข้าว คือวางเครื่องสีข้าวแบบใช้มือ (เมื่อสีออกมาแล้วจะได้เป็นข้าวกล้องที่ต้องนำไปตำกับครกกระเดื่องอีกครั้ง) ครกมอง (หรือครกกระเดื่อง) การจัดวางในส่วนนี้ไม่ได้แยกวางแต่ตัววัตถุ แต่ได้ติดตั้งไว้ในลักษณะพร้อมใช้งานจริงๆ สภาพในขณะที่เข้าชมนั้นเป็นทั้งที่ทำรังของไก่ และที่เก็บโต๊ะเก้าอี้ แต่ก็ยังเหลือพื้นที่จัดแสดงอยู่
 
        พื้นที่สุดท้าย เป็นอาคารอีกหลังแยกมาต่างหาก ลักษณะของเช่นเดียวกับอาคารหลังแรกที่พื้นที่ด้านล่างสามารถใช้งานได้เต็มพื้นที่ การจัดแสดงทุกอย่างแขวนไว้กับโครงหลังคา วัตถุที่จัดแสดงในส่วนนี้ค่อนข้างหลากหลาย ดังนี้

                เครื่องมือในการทอผ้าไหม และผ้าฝ้าย คือ เจียฝ้าย จี้กรอฝ้าย แป้นล่อฝ้าย กระเต๊ะ (สำหรับใส่เส้นไหมและเส้นฝ้าย) ไนเข็นฝ้าย คันสวยหรือกระสวยทอผ้า เพียก (ใช้สำหรับใส่ฝ้ายเวลาดีดให้ฝ้ายให้ฟู) ฟืมทอผ้า กระด้งหม้อน (กระด้งใส่หม่อนเลี้ยงตัวไหม) จ่อ (รังไหม) ตั่งหวายใช้นั่งสาวไหม และรังหมี่
 
                เครื่องใช้ในการเกษตร ไม้ตีข้าว ตะแกรงร่อนรำ วีพัดข้าว แอกอ้อง (ใช้ใส่คอควายเวลาไถนา) คราด ห่อข้าวปลูก (ทำจากฟางข้าวมามัดให้เป็นภาชนะสำหรับเก็บพันธุ์ข้าว) คันโซ่ (ที่วิดน้ำเข้านา หรือที่เรียกว่าชันโรง)
 
                เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องมือล่าสัตว์ น่วง (ที่ดักหนู) พะเนียดดักนกเขา กระเบียนใส่ข้าวสวย (ใช้แทนจาน) โบมใส่ข้าวเหนียวตอนหุงสุกใหม่ๆ กระบุ่มใส่เสื้อผ้า (ตะกร้าผ้าแบบที่มีขา) ครกไม้ ทักเกลือหรือทอเกลือ (สำหรับใส่เกลือ) น้ำเต้าใส่น้ำกิน เตาฟู่ ตะเกียงเจ้าพายุ หวดนึ่งข้าว จั่นดักปลา/ปู ไต้จุดไฟ ไม้คาน หม้อนึ่งข้าว หม้อดิน เปลนอนสำหรับเด็ก ไม้แบบทำงอบ ไม้นวดเส้น ไม้ตอนควาย (ทำหมันควาย)
 
                เครื่องใช้ในเทศกาลหรือเฉพาะกิจกรรม เครื่องดนตรีประเภท กลองยาว โทน กลองรำมะนา เขาควาย กะลอ (คือไม้ไผ่สำหรับให้ผู้ใหญ่บ้านตีเรียกประชุมลูกบ้าน) ปง (ระฆังทำจากไม้ทั้งต้นขุด ใช้ในวัดตีบอกเวลา หรือใช้ตีเรียกคนที่หลงป่าให้กลับหมู่บ้านถูก) นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาไม้อยู่ตัวหนึ่งที่เจ้าอาวาสอธิบายว่าเป็นตุ๊กตานางฟ้า ตามปกติจะจับแต่งตัวเป็นนางฟ้า ในอดีตจะนำกระเบื้องวางไว้บนแขนทั้ง 2 ข้างที่ยื่นออกมาแล้วชักรอกตุ๊กตาขึ้นไปที่หลังคาโบสถ์เพื่อส่งแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาให้กับช่างที่ทำงานอยู่บนหลังคาโบสถ์นั่นเอง
 
                โบราณวัตถุจากเขตบ้านหนองโง้ง โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงไว้คือใบเสมาหิน ที่พบกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่เรียกว่ากุดโง้ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่ตั้งของวัดนัก ใบเสมานี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอยู่ในวัฒนธรรมทวารดี มีอายุประมาณ 1,000 ปีก่อน
 
การบริหารจัดการ
การจัดการทุกอย่างของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในความดูแลของวัดสามัคคีธรรม ส่วนใหญ่เป็นของสะสมของเจ้าอาวาส และลูกศิษย์ ญาติโยมนำมาถวาย เนื่องจากเห็นว่าท่านนิยม ในด้านของการจัดทำทะเบียน ในวันที่ 2 – 28 เมษายน 2547 มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในโครงการ “เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างชุมชน” มาช่วยถ่ายภาพและจัดทำแฟ้มทะเบียนของวัตถุทุกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ ภายในมีภาพถ่าย ระบุหน้าที่การใช้งาน วัสดุที่ใช้ทำ สภาพ และเจ้าของเดิมหรือผู้บริจาค และมีทะเบียนที่ท่านเจ้าอาวาสจัดทำเองนับได้ 115 ชิ้น (แต่ในความจริงน่าจะมีมากกว่าที่บันทึกไว้)
 
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร จะพบทางแยก ชิดซ้ายเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ไปจังหวัดชัยภูมิ จากเส้นทางนี้ตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 118  กิโลเมตร ก่อนเข้าตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ จุดสังเกตคือก่อนถึงทางเลี้ยวประมาณ 350 เมตร จะมีศูนย์บริการ Cockpit (สำราญ การยาง) และ Global Houseขนาดใหญ่อยู่ทางด้านซ้ายมือ  จะพบกับสี่แยกขนาดเล็ก (ไม่มีไฟแดง) เลี้ยวขวาเข้าซอยที่มีป้ายบอกทางไปโรงแรมบีเอ็นเอ็น ถนนทางซ้ายมือมีซุ้มบอกทางเข้าบ้านหนองนาแซง และบริเวณสี่แยกนี้มีปั้มบริการน้ำมันเอสโซ่อยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเลี้ยวขวาเข้าซอยแล้วขับตรงไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร จะเจอสามแยก เลี้ยวขวาอีกครั้งวิ่งตรงไปประมาณ 850 เมตรจะเห็นซุ้มทางเข้าวัดสามัคคีธรรม (มีป้ายบอกทาง)
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 13 กันยายน 2556

 
อ้างอิง
สัมภาษณ์  พระครูประสิทธิชัยคุณ อายุ 78 ปี วันที่ 13 กันยายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-