พิพิธภัณฑ์วัดคลองแห


พิพิธภัณฑ์วัดคลองแห ตั้งอยู่ใน ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วัดคลองแหเป็นวัดเก่าแก่ของภาคใต้ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2360 วัดคลองแหแห่งนี้โด่งดังมากในช่วงที่หลวงปู่ทองยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก สำหรับพิพิธภัณฑ์นั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชน และมรดกภูมิปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งมีคุณค่า ความสำคัญ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ชุมชน รวมทั้งเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่วัดคลองแห ภายในแบ่งการจัดแสดงเป็น 2 ส่วน คือ 1.พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ประกอบด้วย เรือนภูมิปัญญาคลองแห ศาลาการแสดงทางวัฒนธรรม สวนสมุนไพร การจัดการน้ำเสียและขยะ และพื้นที่ประวัติศาสตร์โคกหลังนกคุ่ม 2.พิพิธภัณฑ์ในร่ม แบ่งออกเป็น 7 ห้อง คือ ห้องเฉลิมองค์ราชา ห้องธาราเล่าขาน ห้องตำนานฆ้องแห่ ห้องผันแปรสู่เมือง ห้องรุ่งเรืองวัดคลองแห ห้องเผยแพร่วัฒนธรรม และห้องนำสู่อนาคต วัตถุทางวัฒนธรรมที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดคลองแหเน้นการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน วิถีชีวิต ประเพณี เช่น ข้าวของเครื่องใช้ของชาวคลองแห ภาพถ่าย และ วัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย

ชื่อเรียกอื่น:
ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห วัดคลองแห
ที่อยู่:
วัดคลองแห 123 หมู่ 4 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์:
081-990-5604 ติดต่อ พระครูปลัดสมพร ฐานธมฺโม (เจ้าอาวาสวัดคลองแห)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
chalermrajklonghae@gmail.com
ของเด่น:
หนังตะลุง โนราห์ เครื่องทำโนราห์
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห

          ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชคลองแห เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่วัดคลองแหซึ่งเป็นศูนย์กลางของตำบลคลองแห  อันเป็นตำบลหนึ่งในเขตอำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ของตำบลคลองแหอยู่ติดกับตัวเมืองหาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือ ดังนี้แล้วพื้นที่ตำบลคลองแหจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากความเป็นเมืองของตัวเมืองหาดใหญ่เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัตถุทางวัฒนธรรมที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดคลองแห เน้นการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน วิถีชีวิต ประเพณี มีทั้งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวคลองแห ภาพถ่ายเก่า รวมถึงวัตถุที่ผู้ศรัทธานำมาถวายวัดคลองแหเพื่อเป็นพุทธบูชา ทั้งพระพุทธรูปโบราณในยุคสมัยต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปเหยียบพนัสบดีรูปแบบศิลปะแบบทวารวดี พระรัตนตรัยมหายาน (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปปางนาคปรก นางปรัชญาปารมิตา) รูปแบบศิลปะขอม  นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระอธิการทอง คงฺฆสฺสโร หรือ พ่อท่านทอง เจ้าอาวาสวัดคลองแหรูปที่ 7  พระเกจิอาจารย์ที่สำคัญคนหนึ่งของจังหวัดสงขลา

ประวัติพ่อท่านทอง เกจิอาจารย์วัดคลองแห

          พ่อท่านทอง  คงฺฆสฺสโร   เดิมชื่อ ทอง  มุณีเพชรรัตน์  เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน  2430 ณ บ้านเกาะยอ  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  อายุได้ 21 ปี อุปสมบทที่วัดคลองแห พระครูศรีสุวรรณวาสี (ย้อย) วัดดอน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปาน วัดคลองเรียน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พ่อท่านปลอด อาคม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “คงฺฆสฺสโร” จำพรรษาอยู่ที่วัดคลองแห เรียนสวดมนต์จบภาณยักษ์ สวดปาติโมกข์  จนกระทั่ง 7 พรรษา  จึงกราบลาพ่อท่านปลอด อาคม ไปจำพรรษาที่วัดสังเหยากับท่านจันทร์ เพื่อศึกษาบาลี นักธรรม อีก 1 พรรษา จึงย้ายไปวัดท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษาบาลีกับท่านเจียม และกลับมาอยู่วัดคลองแหอีกครั้ง ต่อมาได้เดินเท้า 12 วัน ไปถึงวัดบางแซะ  รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เพื่อเรียนพุทธาคมกับหลวงพ่อครน อยู่ระยะหนึ่งจึงกลับไปเรียนพุทธาคมกับอาจารย์พรหม  อาจารย์อินทร์ และอาจารย์หมวก แห่งวัดพระพุทธ จังหวัดนราธิวาส อยู่ 2ปี  จึงกราบลาอาจารย์ทั้ง3 ท่านกลับไปจำพรรษาที่วัดคลองแหอีกครั้ง  และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอน  อยู่ 10 พรรษา จึงออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดหลายปี  จึงกลับมาจำพรรษาและได้เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองแหในเวลาต่อมา ท่านสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดคลองแหเป็นอันมากนานถึง 20 ปี และมรณภาพด้วยอาการสงบ  สิริอายุ 75 ปี  53  พรรษา 

          อภินิหารพ่อท่านทอง คงฺฆสฺสโร ที่ชาวคลองแหเล่าขานต่อกันมาว่า ในช่วง สงครามอินโดจีน         มีคหบดีในตัวเมืองหาดใหญ่ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “โคกเสม็ดชุน” กลัวภัยของสงครามเพราะมีการปล้นจี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง  จึงนำสมบัติไปฝากไว้กับพ่อท่านทอง ที่วัดคลองแห ท่านจึงนำสมบัติที่ฝากไว้นั้นไปเก็บไว้ในโบสถ์ พร้อมกับทำการปิดล็อกอย่างแข็งแรง  ตกกลางคืนท่านจะเดินตรวจตราเป็นประจำ 

          เล่ากันว่าครั้งหนึ่งท่านบอกกับพระลูกวัดว่า   คืนนี้จะมีโจรมาทำพิธีเข้าปล้นวัดคลองแห เพื่อเอาสมบัติของคหบดีชาวจีนที่นำมาฝากไว้  ท่านจึงทำลายพิธีของโจรก่อนที่มันจะมาปล้น  ทั้งนี้เพราะสมัยก่อนเวลาที่โจรจะทำการปล้นที่ไหน  ก็จะตั้งพิธีเพื่อเรียกกำลังใจให้ฮึกเหิม  เวลาทำการปล้นจะได้สำเร็จลุล่วง  ซึ่งโจรกลุ่มนี้ได้ทำพิธีในป่าช้าหลังวัดคลองแห พ่อท่านทองจึงใช้คันธนูยิงกระสุนดินเหนียวขึ้นฟ้า ปรากฏว่ากระสุนนั้นไปถูกต้นเทียนที่โจรประกอบพิธีขาดสองท่อน  ทำให้พวกโจรตกใจหนีกระเจิงล้มเลิกความปล้นไปทันที 

วัตถุจัดแสดงชิ้นเด่น  

          ขวานฟ้า ของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโร อดีตเจ้าอาวาส ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม เป็นวัตถุทำจากหินธรรมชาติชนิดต่าง ๆ ที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้น ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ขุดพบได้ตรงบริเวณที่ฟ้าผ่า บ้างว่ามีคุณสมบัติเกี่ยวกับความคงกระพันชาตรีเมื่อพกติดตัว หากเก็บไว้ในบ้านจะป้องกันฟ้าผ่า หากใส่ในยุ้งข้าวหรือในถังข้าวสารข้าวไม่พร่อง ใส่ในโอ่งน้ำทำให้น้ำเย็นนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ครัวเรือน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ใช้รักษาโรคลมเพลมพัด โรคปวดท้อง เป็นเครื่องรางของขลังขับไล่ผีเข้า(ไว้ใต้ที่นอน) นอกจากนั้นมีความเชื่อว่าถ้านำน้ำที่มีขวานฟ้าลงไปแช่แล้วนำไปรดวัวชน วัวจะชนชนะ 

          ขวานฟ้าของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโร ชิ้นนี้ เป็นขวานฟ้าที่หลวงพ่อทองใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น เช่น ใช้ประกอบการทำน้ำมนต์ ใช้ป้องกันและแก้อุบาทว์ฟ้า ฯลฯ   ที่มาของขวานฟ้า พ่อท่านทองได้มาจากไหนไม่ปรากฏที่มา เมื่อท่านมรณภาพแล้ว พระครูอรรถธรรมนาถ (บุญ บุญรัตน์) เจ้าอาวาสวัดคลองแหรูปต่อมาได้เก็บรักษาไว้ จนกระทั่งท่านมรณภาพ พระครูวาปีธรรมอุดม เจ้าอาวาสวัดคลองแห ในปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดคลองแห 

          วัตถุชิ้นต่อมาได้แก่ ตะบันหมาก หรือที่ภาษาถิ่นเรียกว่าบอกยน เป็นเครื่องมือที่ใช้ตำหมากให้ละเอียด ใช้สำหรับคนชราที่ไม่สามารถใช้ฟันของตนขบเคี้ยวได้  ทำเป็นกระบอกเหล็กหรือทองเหลือง เรียวเล็กลงเล็กน้อย  ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ตรงท้ายของบอกยนที่เป็นด้านที่เรียวลง มีแท่งไม้ตันอุดรูตะบันไว้เรียวว่า “ดันยน” หรือ “ดากตะบัน” และมี “เหล็กยน” ทำด้วยเหล็กขนาด 3 หุน  ยาวกว่าความยาวของบอกยนเล็กน้อยปลายข้างหนึ่งทำด้ามด้วยไม้ใช้สำหรับถือ  ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งตีให้แบนและคมสำหรับใช้ยนหมาก นอกจากนี้ยังมีแท่นไม้กลมประมาณ 4 หุน ยาวเท่ากับเหล็กยน เรียกว่า “สากยน” หรือ “สากตะบัน” ใช้สำหรับกระทุ้งดันยนเมื่อยนหมากละเอียดได้ที่แล้ว   

          วิธีใช้บอกยน  คือเมื่อเจียนหมาก  พลู  ขนาดพอคำพร้อมด้วยปูนแดงหรือปูนขาวสำหรับกินกับหมาก  ใส่ลงทางปากตะบันแล้วใช้เหล็กยน  ยนหรือตำจนหมากพลูแหลกละเอียด  จากนั้นใช้สากยนแยงทางก้นบอกยนและใช้แรงกระแทกดันยนที่ยนละเอียดแล้วออกทางปากบอกยน 

          บอกยนนี้เป็นบอกยนที่หลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโร ใช้ยนหมากในวัยชรา มีคนในท้องถิ่นคลองแหและท้องถิ่นใกล้เคียงเชื่อกันว่า ชานหมากของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโร เป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีคนแสวงหาไปครอบครองเป็นจำนวนมาก 

           สมุดข่อยตำราห่วง  หรือ สมุดบุด/หนังสือบุด เป็นวัตถุชิ้นสำคัญ มี 2 แบบ คือ บุดขาว มีพื้นสีขาวเขียวด้วยอักษรสีดำ และ บุดดำ มีพื้นสีดำเขียนด้วยอักษรสีขาวหรือรงค์  คำว่า “บุด” ภาษาถิ่นใต้อาจมีรากคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปุสฺตก” หมายถึงคัมภีร์ใบลาน  ผ้าเปลือกไม้  รูปปั้น  รวมความแล้วความหมายสอดคล้องกับหนังสือบุด หรือมีข้อสังเกตว่าชาวใต้น่าจะออกเสียง “สมุด” เป็น “มุด” หนังสือบุดทำมาจากเปลือกข่อย  โดยเอาส่วนผิวนอกสีเขียวออกเสียก่อนแล้วเอาเปลือกข่อยมาบดหรือตำให้ละเอียดผสมด้วยยางไม้ที่มีเมือกเหนียวคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงเทลงในเป้าพิมพ์ตามขนาดหนังสือที่ต้องการ จากนั้นใช้ลูกกลิ้งบดรีดให้สนิทเก็บไว้ชั่ว 1 วัน 1 คืน จึงลอกออกจากเบ้าพิมพ์นำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท  แล้วใช้ลูกสะบ้าขัดผิดหน้ากระดาษให้เรียบ ถ้าต้องการเป็นบุดดำใช้กาบมะพร้าวหรือกาบหมากเผาไฟ แล้วใช้ถ่านหรือเขม่าไฟผสมกับน้ำข้าวทาหน้ากระดาษ แล้วใช้ลูกสะบ้าขัดอีกครั้งจะได้หนังสือบุดตามต้องการ   

          ตำราห่วงของหลวงพ่อทอง คงฺฆสฺสโร ให้สำหรับดูฤกษ์ที่จะทำการมงคล ปลูกเรือน  เพาะปลูก  หว่านพืช หรือจะเดินทาง ให้ดูตำราห่วง  ถ้าวันใดไม่ดีอย่าเดินทางไปไหนและอย่าทำการมงคลทั้งปวง 

          วิธีนับ ให้นับวันขึ้น 1 ค่ำ เป็นต้นไป ทั้ง 12 เดือน ถ้าเดือนใดวันขึ้น 1 ค่ำเป็นวันอาทิตย์ นับไปตามลำดับข้างขึ้นและข้างแรม คือ ขึ้น 1 ค่ำ (เอาเลข 1) เป็นหลัก 2 ค่ำ 3 ค่ำ จนถึง 15 ค่ำ และนับแรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ จนถึง 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ นับโดยวิธีนี้ไปทุก ๆ เดือน วันดีเป็นวันสิทธิโชค มหาสิทธิโชค อมฤตโชค ฯลฯ วันไม่ดี  ทักทิน อมิตยู  อัคนโรทร์  ยมขันธ์ ฯลฯ  ห่วงนั้นมีปลอดห่วง ห่วงเฉียง ห่วงยืน และห่วงนอน  เช่น ถ้าต้องปลอดห่วงจะทำการอันใดดีทุกอย่า แต่ถ้าข้าหญิงชายหนี วัวควายหาย ทายว่ามิดีเลย ถ้าป่วยไข้ทายว่าเป็นเพราะโรคตัวเอง ถ้าจะไปแห่งใดปลอดภัยดี ถ้าต้องห่วงเฉียงและห่วงยืน  ข้าหญิงชายหนี วัวควายเงินทองหายจะได้คืน ฯลฯ 

          วัตถุชิ้นต่อมาได้แก่ กะลาไม่มีตา หรือ คดมะพร้าว ถือกันว่าเป็นวัตถุอาถรรพ์ เป็นมหาอุตม์โดยกำเนิดมีฤทธิ์อยู่ในตัวของมันเอง แม้ว่าไม่ต้องปลุกเสกก็ยังมีความศักดิ์สิทธิ์  จึงนิยมนำมาแกะสลักเจาะรูหรือทำเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ สำหรับติดตัว เพราะเชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางของขลังสามารถป้องกันคุณไสย และภูติผีปีศาจได้ และยังทำให้ผู้ที่มีติดตัวไว้มีโชคมีลาภอีกด้วย  นิยมนำไปให้ผู้ที่มีวิชาแก่กล้าลงคาถาอาคมต่างๆ  ให้ เพื่อติดตัวใช้สำหรับป้องกันภัยร้ายต่างๆ  ที่จะมาถึงตัว  ส่วนกะลาไม่มีตาทั้งลูกนั้นมักจะนำไว้บูชาอธิษฐานขอสิ่งต่างๆ  ให้กับครอบครัว 

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์เชื่อกันว่ากะลาไม่มีตาและกะลาตาเดียวนอกจากจะเป็นเครื่องรางของขลังแล้ว หากนำใช้ตักข้าวสารเวลาหุงข้าวเชื่อกันว่าจะทำให้มีข้าวกินตลอดชีวิตไม่มีอดอยาก มีเงินมีทองใช้ไม่รู้จักหมด  หากเป็นขุนนางหรือข้าราชการมักจะนำมาแขวนคอติดตัวไปทำงานด้วย      เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางยศฐาบรรดาศักดิ์ ได้เป็นเจ้าขุนมูลนาย เป็นใหญ่เป็นโตกว่าคนอื่น ส่วนทหารที่ออกศึกก็มักจะนำไปให้อาจารย์ที่มีวิชาลงคาถาอาคมกำกับ  เพื่อให้ตนออกศึกและชนะรอดกลับมาได้ 

ข้อมูลจาก:  รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดคลองแห

"วัดคลองแห" ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2360 ซึ่งถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ของภาคใต้ สมัยก่อนวัดคลองแห เดิมตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัดในปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 500 เมตร ห่างจากริมคลองแห แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นของเอกชน ความดั้งเดิมมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระภิกษุยกกลิ่น มีภูมิลำเนาอยู่บ้านคลองเตย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาสร้างด้วยเหตุผลที่ว่า สถานที่เก่านั้นคับแคบไม่เหมาะสมในการสร้างวัด พระภิกษุยกกลิ่นจึงได้ย้ายวัดมาอยู่ที่ปัจจุบัน โดยพื้นที่แห่งใหม่นั้นเป็นที่ดินมรดกตกทดจากบรรพบุรุษของพระภิกษุยกกลิ่น และต่อมาพระภิกษุได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองแห จนถึงปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้มีทั้งหมด 9 รูป ดังนี้

รูปที่ 1พระอธิการยกกลิ่น
รูปที่ 2พระอธิการหนอน
รูปที่ 3พระอธิการปลอด อาคม
รูปที่ 4พระอธิการอ้น ทองเสน่ห์
รูปที่ 5พระอธิการรุ่ง อนุกุล
รูปที่ 6พระอธิการอั้น ไชยถาวร   ถึง พ.ศ. 2482
รุปที่ 7พระอธิการทอง มุณีเพชรรัตน์  พ.ศ. 2482-2505 
รูปที่ 8พระครูอรรถนาถ (หลวงพ่อบุญ บุญรัตน์)  พ.ศ. 2505 - 2542
รูปที่ 9พระครูปลัดสมพร อินทรัศมี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน

วัดคลองแหแห่งนี้โด่งดังมากในช่วงที่หลวงปู่ทองยังมีชีวิตอยู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก

สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง 1 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยปูนขาว สร้างประมาณ พ.ศ. 2440-2450 พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ และพระพุทธรูปศิลาขาว ปางสมาธิ ศิลปสมัยเชียงแสน พระเพลากว้าง 43 เซนติเมตรเท่ากัน ซึ่งพระภิกษุช่วยนำมาจากประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2460 และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางลีลา สูง 125 เซนติเมตร สร้าง พ.ศ. 2500

นอกจากนี้วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ. 2450 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร การศึกษาทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา และยังได้ให้ทางราชการจัดสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในที่วัด เนื้อที่ 7 ไร่ อีกด้วย
 
ชื่อผู้แต่ง:
-