บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 83 บทความ

บทบาทของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในการรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

20 มีนาคม 2556

ยูเนสโก(UNESCO) เป็นองค์กรแรกๆ ที่นำเสนอเรื่องของการปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้(intangible culture heritage: ICH) และได้นิยามความหมายของ ICH ว่า หมายถึง วิถีปฏิบัติ  การแสดงออก  การแสดงความคิด ความรู้  ทักษะ  ของชุมชน กลุ่มคน หรือแม้กระทั่งบุคคล ที่ตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมนั้น  และมีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น  มีการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ของพวกเขา  นำไปสู่อัตลักษณ์และความสืบเนื่องของวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นแนวทางที่สนับสนุนการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ของมนุษย์[1]      ตัวอย่าง ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ประวัติศาสตร์คำบอกเล่า เช่น บทกวี นิทาน  วรรณกรรม   การแสดง เช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง การเต้นรำ การเชิดหุ่น และการละคร   พิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง  งานช่าง งานฝีมือ  ระบบความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับยารักษาโรค ดาราศาสตร์  และโลกธรรมชาติ  รวมไปถึงแหล่งและเพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรมและเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรม[2]   ทราบกันดีว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ  วัตถุชาติพันธุ์  วัตถุร่วมสมัย ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (tangible heritage)  อย่าง ไรก็ดีปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์มีแนวโน้มพยายามขยายวงหน้าที่ของตนเองไปสู่การนำเสนอเรื่อง ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ด้วยเจตนารมณ์อันดีในการจะปกป้องหรืออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นที่กำลัง จะสูญหาย   ในกรณีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย ที่มีราว 700 แห่งในปัจจุบัน[3] ดำเนิน การโดยชาวบ้าน ชุมชน วัด หรือแม้แต่เอกชน  มีเนื้อหาการจัดแสดงที่หลากหลายมาก  จำนวนกว่าครึ่งจัดแสดงข้าวของและเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตท้องถิ่น  ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น งานฝีมือ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายและแนวคิดของยูเนสโกในการทำคลังข้อมูล(inventory) ของมรดก วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  ในชื่อโครงการภูมิบ้านภูมิเมือง ให้สำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัดเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลและคัดเลือกมรดก วัฒนธรรมวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในจังหวัดของตนเอง  ซึ่งหลายจังหวัดก็เข้ามาเก็บข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่ง   อย่างไรก็ดีบรรดาชาวพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านั้นคงไม่ทราบว่า ICH หมายถึงอะไร (และอาจไม่จำเป็นต้องรู้) เนื่อง ด้วยการที่วัฒนธรรมใดจะอยู่รอด  มีชีวิตชีวา และสืบทอดอย่างยั่งยืนในสังคมนั้นไม่ใช่เพราะการได้เข้าไปอยู่ในบัญชีราย ชื่อขององค์กรใด แต่ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย อาทิ การตัดสินใจของชุมชนเองว่าอะไรคือวัฒนธรรมของพวกเขา และวัฒนธรรมอะไรที่พวกเขาต้องการรักษา รวมไปถึงสภาพแวดล้อม  ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน  บริบททางสังคมและการเมืองที่เข้มแข็ง    ในที่นี้ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีคุณลักษณะบางประการที่ ทำให้เห็นประเด็นของการปกป้องและอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ด้วย ตัวเองอย่างชัดเจน ลองมาพิจารณาร่วมกันว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะเป็นเครื่องมือที่จะปกป้องและ อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม รวมถึงจะถ่ายทอดความรู้กันได้อย่างไร   พิพิธภัณฑ์ผ้า : การสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของชุมชน             การทอผ้าถือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันไปทั้งในด้าน วัตถุดิบ สี ลวดลาย เทคนิคการทอ ขึ้นกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการผสมผสานค่านิยมในสังคม ผ้าทอผืนหนึ่งเกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความสามารถ จินตนาการ เวลา และความอดทนของผู้ทอ  ผ้าทอผืนหนึ่งจึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาสาขาต่างๆ มากมายเข้าด้วยกัน ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ ฯลฯ ผ้าทอแต่ละผืนจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน   โกมล พานิชพันธ์  เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ เคยกล่าวไว้ในคราวงานประชุมพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษหน้า ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรว่า “ผ้าที่ทำขึ้นมาร้อยชิ้นพันชิ้นไม่มีวันเหมือนกัน โดยที่โลโก้ไม่เหมือนกัน เหมือนลายเซ็นต์แต่เซ็นต์ด้วยเส้นใยผ้า” [4]   ความงดงามของผ้าผืนหนึ่งที่เกิดจากการฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ของ คนๆ หนึ่ง อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ช่างทอคนหนึ่งมิได้มีชีวิตยาวนานตราบชั่วฟ้าดินสลาย แม้ลวดลายดั้งเดิมที่เคยทำไว้จะเลียนแบบกันได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ที่ประกอบกันอยู่ในหัวของช่างทอที่จะสามารถคิดค้นลวดลายต่างๆ ได้อีกมากนั้นเลียนแบบกันลำบาก     อย่างไรก็ดี การทอผ้าตามครัวเรือนในหมู่บ้านของไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เริ่มลดน้อยลง ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อระบบเงินตราเข้ามาแทนที่ระบบการค้าแบบดั้งเดิม โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ครั้งละมาก ๆ และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเข้ามาแทนที่หัตถกรรมที่ผลิตได้ช้ากว่า  นอกจากนี้ประเพณีบางอย่างที่สัมพันธ์กับการทอผ้าเปลี่ยนไปหรือสูญหายไปทำ ให้การทอผ้าสูญหายตาม เช่น การถวายผ้าห่มพระธาตุ ผ้าห่มพระพุทธรูป และผ้ากฐิน และที่สำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อโลกกลายเป็นหนึ่งเดียว วัฒนธรรมท้องถิ่นหลายอย่างปรับเปลี่ยน ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่เข้ามาจากข้างนอก  ชีวิตประจำวันของคนในสังคมส่วนใหญ่เป็นแบบสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา การนุ่งห่มเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงาน ราคาไม่แพง ซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาดเป็นที่นิยม  ทำให้ดูเหมือนว่าผ้าทอแบบดั้งเดิมอยู่ในภาวะที่เสียงต่อการสูญหาย  แต่ท่ามกลางความทันสมัยก็เกิดปรากฏการณ์ท้องถิ่นนิยม และอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผ้าไทยหรือผ้าทอมือได้รับความนิยม[5]  หัตถกรรม การทอผ้าที่อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมในบางชุมชน จึงสามารถดำรงอยู่และสืบต่อมาได้   โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการ  รูปแบบ หน้าที่การใช้งานกันขนานใหญ่  โดยการตลาดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกกระบวนการตั้งแต่การผลิต  เริ่มจากวัสดุ  สี  ลวดลาย เทคนิค   พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผ้าและสิ่งทอมีเกือบ 30 แห่งกระจาย อยู่ทั่วประเทศ พิพิธภัณฑ์ผ้าหลายแห่งเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์ ภูมิปัญญาแขนงนี้เอาไว้ เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน  ที่ ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยการนำของพระครูไพศาลพัฒนาภิรัต และคณะศรัทธาที่ห่วงใยว่าการทอผ้าลายพื้นเมืองเชียงแสนกำลังจะหมดไป จึงสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสนขึ้น  ใช้เป็นที่จัดแสดงและบอกเล่ากระบวนการทอผ้า ลวดลาย และเทคนิคต่างๆ พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539อาคาร พิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่ง ชั้นบนจัดแสดง ผ้าทอลวดลายแบบต่าง ๆ อาทิ ผ้าลายน้ำไหล ผ้าลายดอกผักแว่น ผ้าลายขวางดำแดง กี่ทอผ้าที่ใช้ในสมัยโบราณเป็นกี่ทอมือ 4 ไม้ ผ้าปักพระเวสสันดร  ที่นอนของชาวไทยวน ตุง  วัตถุจัดแสดงที่มีตัวตนต่าง ๆ เหล่านี้คือ รูปธรรมที่เกิดจากความรู้และทักษะของช่างทอผ้าในอดีต นิทรรศการและข้าวของที่จัดแสดงอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสนแต่เพียง อย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งผ่านความรู้ ภูมิปัญญา ตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อตั้งได้  กิจกรรมและการทอผ้าที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ถุนของอาคารด้านล่าง ของกลุ่มแม่บ้านชาวสบคำ ที่รวมตัวกันทอผ้าแบบดั้งเดิม เป็นกิจกรรมสำคัญที่เสริมสร้างกระบวนการอนุรักษ์มรดกดังกล่าว แม้เป็นการทอเพื่อขาย  แต่การแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด เทคนิค ลวดลาย ระหว่างช่างทอรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ยังคงปรากฏให้เห็น  และการที่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอก เข้ามาชื่นชมและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาแขนงนี้ เป็นสิ่งค้ำจุนภายนอกส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงการทอผ้าและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ ทอให้มีชีวิตอยู่ได้   การอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้าที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายและเทคนิคแบบดั้งเดิมยังดำรงอยู่ได้  แต่ต้องกล่าวไว้ด้วยว่าการทอผ้าของที่นี่ไม่ได้เป็นการรับใช้หรือมีหน้าที่ เฉพาะในประเพณีหรือสังคมเจ้าของวัฒนธรรมเหมือนเดิมอีกต่อไป  ชาวบ้านไม่ได้ทอผ้าไว้สวมใส่เองในชีวิตประจำ หรือในงานบุญ หากแต่ถูกเน้นและพัฒนาไปไปสู่การพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ      พิพิธภัณฑ์ ก็เช่นเดียวกับการทอผ้า ทำอย่างไรพิพิธภัณฑ์จึงจะอยู่รอดและยั่งยืน  ทางหนึ่งดังที่กล่าวข้างต้นคือ การหารายได้เข้ามาจุนเจือการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย  พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปรับเปลี่ยนหน้าที่ของผ้าที่มีต่อสังคม   หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์นี้จึงไม่เพียงแต่เก็บรักษาของเก่า  ของโบราณ  แต่นำความรู้ที่คนรุ่นหนึ่งสั่งสมมาแล้วนำมาประยุกต์รับใช้คนปัจจุบัน  โดยเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นคนในชุมชนและเป็นนักสะสมผ้าด้วย  และต้องการที่จะอนุรักษ์ลายผ้าโบราณของอ.ลอง จ.แพร่ ไม่สูญหาย รวมถึงการทอด้วย โดยใช้วิธีการลอกแบบลายผ้าโบราณทั้งหมด แล้วนำกลับไปให้ชาวบ้านแกะลายเดิมขึ้นมา นำเอาลายผ้าเก่ามาทำซ้ำ แต่อาจจะพัฒนาในแง่  สีใหม่  เปลี่ยนฟืมและเทคนิคการทอให้แน่นขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายและฟอร์มจังหวะของผ้าคือ  หัวซิ่น  ตัวซิ่น  และตีนซิ่น นำขายออกสู่ตลาดในกรุงเทพฯ และผู้ที่สนใจผ้าทอลายโบราณ   พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ หนังตะลุง : สถาบันสืบทอดความรู้และภูมิปัญญา หนังใหญ่ มหรสพชั้นครู เป็นการผสมผสานศิลปะหลายแขนงทั้งการออกแบบลวดลาย การฉลุลาย ที่ก่อให้เกิดความอ่อนช้อยงดงาม เสมือนหนึ่งมีชีวิตยามผสมผสานกับลีลาการเชิดที่เข้มแข็งและอ่อนช้อยการแสดง หนังใหญ่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนสะท้อนถึงจิตวิญญาณของผู้เชิดที่ ผูกพันลึกซึ้งกับศิลปะการแสดงแขนงนี้   หนังใหญ่ก็ประสบภาวะการณ์เช่นเดียวกับศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมหลายแขนงที่ กำลังสูญหาย เมื่อเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ทรงพลังในโลกสมัยใหม่อย่าง รายการทางโทรทัศน์  ละคร  และภาพยนตร์   ปัจจุบันในประเทศไทย การแสดงหนังใหญ่เหลือเพียงสามคณะเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการแกะสลักตัวหนัง และการเชิดหนังใหญ่เอาไว้ ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี  หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่ทั้งสามคณะ สร้างพิพิธภัณฑ์ของตนเองขึ้น เพื่อจัดแสดงตัวหนังโบราณอายุหลายร้อยปี พร้อมๆ ไปกับสืบทอดการเชิด และการแกะสลักตัวหนัง   พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2542 จัดแสดงตัวหนังใหญ่ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี ตามประวัติหนังชุดนี้รับงานแสดงอยู่ทางภาคใต้ จนกระทั่งพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม(เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองในสมัยนั้น ได้ทราบกิตติศัพท์ของหนังใหญ่ชุดนี้ จึงได้ติดต่อซื้อมาทั้งชุดประมาณ 200 ตัว และจ้างครูหนังหรือนายโรงนี้มาเป็นครูฝึกถ่ายทอดให้กับคนในปกครองของพระยาศรีสมุทรฯ ราว พ.ศ. 2430  เมื่อ วัดบ้านดอนสร้างเสร็จ จึงมีการนำหนังใหญ่ชุดดังกล่าวมาถวายวัดบ้านดอน เพื่อง่ายต่อการนัดฝึกซ้อมของครูหนังและวงปี่พาทย์ ภายหลังเมื่อความบันเทิงสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ความบันเทิงแบบโบราณ การเล่นหนังใหญ่ค่อยๆ ซบเซาลง เมื่อตัวหนังไม่ได้ถูกนำออกมาเล่นและขาดการจัดเก็บอย่างถูกต้อง ตัวหนังและตัวคาบที่ทำด้วยไม้จึงผุกร่อนไปตามเวลา พร้อมๆ กับคนเชิดรุ่นเก่าที่ค่อย ๆ ทยอยเสียชีวิตไป   หนังใหญ่วัดบ้านดอนกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งราวปี พ.ศ. 2523 ใน คราวประกวดหมู่บ้านดีเด่น เมื่อชาวบ้านนึกถึงหนังใหญ่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของบ้านดอน จึงร่วมกันฟื้นฟูศิลปะการแสดงแขนงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง และในครั้งนั้นทางคณะได้รับรางวัลรวมถึงการแสดงเป็นที่ถูกอกถูใจของผู้ดู  ทำให้คณะหนังใหญ่มีกำลังใจในการพลิกฟื้นตำนานหนังใหญ่และออกแสดงตามงาน ต่างๆ  การพลิกฟื้นของหนังใหญ่ทำให้ทางวัดบ้านดอน สร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ขึ้น พร้อมกับทำห้องประชุมเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับฟังบรรยายสรุปและชมวิดี ทัศน์การแสดงหนังใหญ่  นอกจากนี้ยังอนุรักษ์ตัวหนังชุดเก่าเบื้องต้นโดยการจัดทำตู้เก็บตัวหนัง และเปลี่ยนตับหนังทั้งหมดและจัดทำตัวหนังใหม่เพิ่มเติมอีก 77 ตัว เพื่อใช้แสดงร่วมกับตัวหนังเก่า ซึ่งยังคงใช้แสดงอยู่ในปัจจุบัน   ปัจจุบัน ผู้เชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอนเป็นเยาวชนบ้านดอนที่รักและสนใจศิลปะพื้นบ้านเก่า แก่แขนงนี้  อย่างไรก็ดีแม้การแกะสลักตัวหนังใหญ่มิได้เป็นความรู้ดั้งเดิมในหมู่บ้าน แต่ชาวบ้านดอนเห็นว่าการแกะสลักหนังใหญ่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การ อนุรักษ์และสืบทอดการแสดงหนังใหญ่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงริเริ่มโครงการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอนในรูปแบบของการสอนแกะสลักตัว หนังและการลอกลายขึ้น  โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้าน คนในชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ที่มาสอนให้ชาวบ้านได้รู้จักวิธีการแกะสลักหนังใหญ่ การลงสี การลอกลายด้วยกระดาษไข และการทำสำเนาพิมพ์เขียวเพื่อเก็บไว้ใช้ในการแกะสลักหนังใหญ๋ในอนาคร กิจกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ผู้ปกครอง ครู และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนใช้เวลาว่างวันเสาร์อาทิตย์มาฝึกฝน ทำให้ความสนใจในมรดกท้องถิ่นของคนในชุมชนเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นไม่เฉพาะ แต่คนในคณะหนังใหญ่ นอกจากนี้ยังทำให้การแกะหนังกลายเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนวัดบ้านดอน ในปัจจุบันด้วย   การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือมีคอลเล็กชั่นหนังใหญ่โบราณอยู่แต่ถูกทิ้งร้างเอาไว้โดยไม่ได้ถูกหยิบมา แสดงเป็นเวลานาน กว่าหนังใหญ่วัดขนอนจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทางคณะล้วนเผชิญกับปัญหานานับประการ เริ่มจากความนิยมในเล่นหนังใหญ่ที่ซบเซาลง เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ ทำให้ตัวหนังถูกทอดทิ้งและอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ปรากฏการณ์การร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้ของทั้งวัดที่นำโดยพระครู พิทักษ์ศิลปาคม ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ชาวบ้าน หน่วยงานราชการในจังหวัด เริ่มขึ้นในปี 2532  เมื่อ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าที่ชำรุด ทำให้คณะหนังใหญ่วัดขนอนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ฝึกฝนศิลปะการทำตัวหนัง การเชิดหนัง การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนัง รวมถึงสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ โดยปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุด เก่าที่ล้ำค่าอย่างถูกวิธี สามารถใช้เป็นแหล่งค้นคว้าวิทยาการแขนงนี้แก่ผู้สนใจได้โดยทั่วไป   ปัจจุบัน หนังใหญ่วัดขนอน อยู่ภายใต้การดูแลของท่านเจ้าอาวาส ที่มีการบริหารจัดการและพัฒนาหนังใหญ่วัดขนอนให้เป็นที่รู้จัก วิธีการหนึ่งที่ท่านเจ้าอาวาสนำมาใช้ จนทำให้หนังใหญ่วัดขนอนมีการอนุรักษ์และสืบทอดอย่างต่อเนื่อง ใช้แนวคิดที่เริ่มจากการมองว่า ถ้าจะอนุรักษ์หนังใหญ่ให้ยั่งยืนสืบไปต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในมิใช่ พึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ทางวัดจึงส่งลูกศิษย์ที่มีแววและสนใจศิลปะแขนงนี้อยู่แล้วศึกษาต่อด้านการ เขียนลายไทยที่วิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้กลับมาลอกลายหนังชุดเก่าและพัฒนาหนังชุดใหม่ได้ ด้วยตนเอง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ลูกศิษย์ผู้นี้เป็นผู้จัดการคณะหนังใหญ่ นำคณะออกแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ   วิธีการอีกทางหนึ่งที่ทำให้การแสดงหนังใหญ่สืบทอดอย่างไม่ขาดตอน คือ เปิดการแสดงหนังใหญ่และเผยแพร่มหรสพแขนงนี้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งทางวัดร่วมกับบริษัททัวร์ ให้นำนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแสดงหนังใหญ่ และเปิดแสดงหนังใหญ่อย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์ นอกจากเยาวชนนักแสดงจะได้ฝึกฝนวิชา ยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปด้วย ความพยายามของวัดขนอนในการสืบทอดและฟื้นฟูมรดกแขนงนี้มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ประกาศให้การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)ยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (The Safeguarding of Intangible Cultural Heritage: ICH) เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา   อย่างไรก็ดี สื่อพื้นบ้านอย่างการแสดงหนังตะลุงของทางภาคใต้ กำลังเสื่อมความนิยมในหมู่คนดู ด้วยเหตุผลเดียวกับมหรสพแบบดั้งเดิมแขนงอื่น ๆ คือ การเข้ามาของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ เสน่ห์ที่แท้ของหนังตะลุงคือ ลีลาการเชิดและเล่าเรื่องที่นำเหตุการณ์ร่วมสมัยเข้ามาสอดแทรกและมีมุขตลก เป็นระยะ  หนังตะลุงในปัจจุบันพยายามรักษาการแสดงของตัวให้อยู่รอดด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น ใช้การร้องและดนตรีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน  บางคณะแสดงแบบสองภาษาไทยอังกฤษเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าใจ  มีนายหนังที่มีชื่อบางคนเปิดบ้านตัวเอง ถ่ายทอดวิธีการเชิด การพากษ์ และ ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจ อาทิ หนังฉิ้น อรรถโฆษิต นายหนังชื่อดังแห่งสงขลา  และหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นายหนังชาวนครศรีธรรมราช   สุชาติ ทรัพย์สิน เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในภาคใต้ ความพิเศษของหนังสุชาติ คือ นอกเหนือจากความสามารถในการแสดงที่มีอยู่อย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีฝีมือเชิงช่างในการแกะตัวหนัง  อาชีพการเป็นช่างแกะหนังนี้เองเป็นจุดเริ่มของการสะสมตัวหนังตะลุงของหนัง สุชาติ เพราะจำเป็นต้องสะสมตัวหนังเพื่อใช้เป็นตัวอย่าง ง่ายต่อการออกแบบรูปภาพหนังตะลุง ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสม ถ่ายทอดไปสู่คนในครอบครัวคือบุตรชายทั้งสองคน รวมถึงลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจที่ขอเข้ามาฝึกฝน   แรงบันดาลใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528  เมื่อ ได้มีโอกาสถวายการแสดงหนังตะลุงต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว และพระองค์ท่านทรงตรัสกับนายหนังสุชาติว่า ขอบใจมากที่รักษาศิลปะการแสดงแขนงนี้ไว้ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวจึงกลายเป็นแรงบันดาล ใจให้นายหนังสุชาติเปิดบ้านของตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมุ่งหวังที่จะถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงสูญหายไป    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมหนังตะลุงไว้ของหลายชาติหลายภาษา ทั้งตัวหนังตะลุงเก่าที่หาดูได้ยากอายุกว่า 200 ปี เป็นรูปเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ตัวหนังจากประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และตุรกี เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีป้ายคำบรรยาย เพราะเจ้าของต้องการให้ผู้ชมเข้ามาพูดคุยและซักถามด้วยตนเองซึ่งจะได้ความ รู้ติดตัวไป โดยทั้งนายหนังสุชาติ ภรรยา และบุตร สามารถให้ความรู้และตอบข้อซักถามของผู้ชมได้ทุกคน   นอก เหนือจากการจัดแสดงและให้ความรู้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว ที่นี่ถือเป็นขุมความรู้ใหญ่ในการถ่ายทอดวิชาการแกะตัวหนังให้แก่ผู้สนใจ เสมือนเป็นโรงเรียนนอกระบบ ที่เปิดให้ผู้คนทั่วไปสนใจเข้ามาหาความรู้ หรือแม้กระทั่งนำไปเป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวเอง พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชิงช่าง: ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ           พิพิธภัณฑ์ สองแห่งที่จะกล่าวถึงต่อไป แห่งแรกเกิดขึ้นจากความพยายามของช่างแกะสลักหินคนหนึ่งที่ต้องการเผยแพร่ ความรู้ในการทำประมงในท้องทะเล และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ให้กับผู้ชมและคนในสังคม ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งที่สองเกิดขึ้นจากความต้องการหันกลับไปนำของเด็กเล่นท้อง ถิ่นในอดีตที่เกิดจากภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายในหมู่บ้าน มาให้เด็กในยุคปัจจุบันได้รู้จัก องค์ความรู้ที่มีอยู่ในทั้งสองพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอผ่านข้าวของที่เป็น รูปธรรมอันเกิดจากการผสมผสานของ จินตนาการ ประสบการณ์ ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ที่ได้สั่งสมเข้ามาอยู่ในตัวช่างและได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่และสังคมได้ รู้จักและเรียนรู้             พิพิธภัณฑ์ปลาหิน จ.สุ ราษฏร์ธานี เกิดขึ้นด้วยฝีมือ และความวิริยะอุตสาหะของคุณลุงกิตติ สินอุดม ที่นำหินมาแกะสลักเป็นรูปปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ได้อย่างสวยงามและเหมือนจริง เดิมคุณลุงกิตติทำอาชีพประมงและทำแพปลา เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกษียณตัวเอง แต่ชีวิตยังผูกพันอยู่กับท้องทะเล ในปี พ.ศ.2533 จึง เริ่มใช้เวลาว่างนำหินมาแกะสลักเป็นรูปปลาต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้ในศิลปะการแกะสลักมาก่อน  เวลาร่วมสิบปีที่ทำงานนี้ด้วยใจรัก จำนวนปลาที่แกะสลักด้วยสองมือของคุณลุง เพิ่มจำนวนมากขึ้น  คุณลุงจึงคิดก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นและชื่นชมปลาทะเลสวยงามที่หลากหลายพันธุ์  โดยเฉพาะปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ไปแล้ว               ด้วย ประสบการณ์ยาวนานในการทำอาชีพประมง ใช้ชีวิตออกทะเลหาปลา ความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่ออาชีพและท้องทะเลของลุงกิตติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงทำหน้าที่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ เหล่านั้นไว้ โดยมีก้อนหิน ที่แกะสลักเป็นปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ เป็นสื่อในการบอกเล่า ปลาบางตัวหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน  นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงภาพที่วาดด้วยฝีมือของคุณลุงเอง บอกเล่าวิธีการทำประมงแบบต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมจนถึงวิธีการสมัยใหม่ อาทิ การวางลอบ วางอวน การทำโพงพาง การวางเบ็ดราว การยกยอ ทอดแห การทำโป๊ะ กระชังปลา การทำนากุ้ง นอกเหนือจากจะบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในท้องทะเลแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังเล่าอดีตของดอนสักและอ่าวสุราษฎร์ที่แม้กระทั่งปัจจุบันคนใน พื้นที่เองก็เกือบจะหลงลืมไปหมดแล้ว     ปัจจุบันคุณลุงกิตติยังสละเวลาส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ ส่งผ่านความรู้วิธีการแกะสลักปลาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนในท้องถิ่นอีกด้วย  อย่าง ไรก็ดีเป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์กำลังประสบปัญหาเรื่องสถานที่ และเงินทุนในการเลี้ยงตัวเอง เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน การขอรับความสนับสนุนจากภาครัฐจึงทำได้ยาก จึงยังไม่แน่นอนว่าในวันข้างหน้าความรู้และภูมิปัญญาทั้งเรื่องการแกะสลัก หิน และการประมงพื้นบ้านที่สั่งสมอยู่ในตัวคุณลุงกิตติจะเป็นอย่างไร หากทั้งชุมชนและรัฐไม่ได้มองว่านี่เป็นมรดกวัฒนธรรมหนึ่งของชุมชนที่ควรช่วย กันรักษาไว้   พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จ.เชียงราย เป็นการรวมตัวกันของคนสามวัย คือผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็ก ๆ ที่บ้านป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยการสนับสนุนจากนักพัฒนาและองค์กรทางสังคมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต โดยเริ่มจากการใช้การฟื้นการประดิษฐ์ของเล่นพื้นบ้านขึ้นเป็นตัวแทนของการ ฟื้นฟูวิถีชิวตท้องถิ่น กระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพทำของเล่นส่งขาย และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อแสดงตัวตนของกลุ่ม   พิพิธภัณฑ์ หลายแห่งมักจะห้ามจับสิ่งของ ห้ามนำอาหารเข้าไป แต่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ถอดกติกาเหล่านั้นหมดสิ้น ให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านการเล่นทางรูป รส กลิ่น สี เสียง และการสัมผัส ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเล่นพื้นบ้านโบราณที่ใครหลายๆ คนไม่เคยเล่น เช่น ลูกข่าง กำหมุน กังหันลม และของเล่นที่คิดประดิษฐ์ใหม่มากมายจัดแสดง และสามารถหยิบจับทดลองเล่นได้ทุกชิ้น บริเวณตู้ที่จัดแสดงจะมีป้ายชื่อเรียกและคำอธิบายแบบง่าย อ่านสนุก บอกที่มาที่ไป วิธีการใช้ และแฝงความหมายที่มากกว่าของเล่น ที่ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในสังคม อาทิ ลูกข่างสตางค์ ที่มีคำอธิบายว่า "สมัยที่สตางค์มีรู ปู่ย่านำเหรียญมามัดกันทำเป็นลูกข่าง สมัยนี้ไม่มีสตางค์รู ก็เหลาไม้ใส่แทน?" นอก จากนี้ยังมี สัตว์ล้อต่างๆ สัตว์ชัก พญาลืมแลง พญาลืมงาย เต่ากระต่ายวิ่ง จานบิน โหวด อมรเทพ ครกมอง ควายกินหญ้า งู คนตำข้าว ถึ่มถึ้ม เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ดัดแปลง พลิกแพลง วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ให้กลายเป็นของเล่น ที่เล่นสนุกไม่ว่าจะเป็นเด็กยุคไหนก็ตาม   พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้นอกจากจะจัดแสดงของเล่นพื้นบ้านแล้ว  จึงยังเป็นสถานที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์คนต่างรุ่นที่แทบจะเลือนหายไปจาก สังคม โดยใช้ของเล่นโบราณเป็น ตัวเชื่อมโยงคนระหว่างรุ่น สร้างบทบาทให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ผ่านการถ่ายทอดประดิษฐ์ของเล่นแก่เด็กๆ และผู้ที่สนใจ กระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพผลิตของเล่น ของเล่นพื้นบ้านจากป่าแดดกลายเป็นที่รู้จักและส่งขายไปยังที่ต่าง ๆ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน   ส่งท้าย ความ รู้สึกว่าวัฒนธรรมหรือประเพณี หรือสิ่งที่เรานิยามว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการที่วัฒนธรรมเหล่านั้นจะสูญสลายไป ทำให้เกิดความพยายามในการที่จะปกป้อง รักษา อนุรักษ์ มรดกวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านั้นไว้ ความรู้สึกและการตระหนักและเห็นความสำคัญ กระจายออกไปตั้งแต่ระดับนานาชาติที่วางกรอบนโยบาย นิยาม ความหมาย และแนวคิด อย่างองค์การยูเนสโก(UNESCO) ระดับ ประเทศ ภูมิภาค และตัวเจ้าของวัฒนธรรมเอง พิพิธภัณฑ์เป็นความพยายามหนึ่งของเจ้าของวัฒนธรรม ที่ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการที่จะช่วยปกป้อง อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับภาวะการสูญสลายนั้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผ่านและถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คน อีกรุ่นหนึ่ง   เป็น ธรรมดาที่วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒน์ไปตามกาลเวลา  วัฒนธรรมประเพณีในอดีตที่ไม่มีประโยชน์ในเชิงหน้าที่การใช้งานก็ค่อยๆ สูญสลายไป  การปกป้องและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะการแสดง ที่เราเห็นจากพิพิธภัณฑ์ข้างต้น ไม่ใช่การแช่แข็งมรดกวัฒนธรรมที่ไม่มีหน้าที่ต่อสังคมแล้ว  เหมือนกับที่เราเห็นจากพิพิธภัณฑ์ของรัฐตามหน่วยงานราชการหรือที่จัดสร้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่อาคารใหญ่โตหรูหรา   หากแต่เนื้อในไร้ชีวิตชีวา  จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแข็งทื่อไม่ตรงกับ สภาพความเป็นจริง  ขาดการต่อยอดองค์ความรู้จากข้าวของที่จัดแสดง และที่สำคัญคือขาดการเชื่อมโยงกับชุมชนหรือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน     อย่าง ไรก็ดีมรดกวัฒนธรรมบางอย่างที่แม้จะอยู่ในภาวะอันตราย แต่ยังมีศักยภาพที่จะมีชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวของมันเองเช่นกัน เราเห็นพลวัต การปรับตัว การพัฒนา การนำการตลาดเข้ามาช่วย ทำให้มรดกเหล่านั้นยังคงมีชีวิตต่อไป บางอย่างก็เฟื่องฟูขึ้นมาทันตาเช่น การทอผ้าที่สุโขทัย หรือการทำของเล่นที่เชียงราย ควรกล่าวด้วยว่าการอนุรักษ์และปกป้องมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นจะยั่งยืนได้ก็ ต่อเมื่อเริ่มมาจากฐานความรู้ของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือมาจากพื้นฐานความต้องการของเจ้าของวัฒนธรรมเอง ชุมชนมีส่วนร่วมในการพยายามปกปักรักษา เป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ที่ตรงกับความ

เรื่องเล่า ประสบการณ์ และเสียงของผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย

08 สิงหาคม 2562

          เมื่อสองสามปีที่แล้วในงานสัมมนาทางวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ของมิวเซียมสยาม คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) นำเสนอเรื่อง “เสียงของผู้ชนะ: เล่าเรื่องชาติจากมุมของผู้หญิงเวียดนาม” [1] เธอเล่าถึงวีรกรรมหรือวีรสตรีผู้กอบกู้ชาติ ที่เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา แต่พวกเธอมีส่วนในขบวนการกอบกู้เอกราชและสร้างชาติ และกลายมาเป็นเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์อย่างภาคภูมิ ซึ่งจุดประกายให้ผู้เขียนกลับมาย้อนคิดถึงเรื่อง “ผู้หญิง” ในพิพิธภัณฑ์ของไทย           คำถามที่เกิดขึ้นคือ พิพิธภัณฑ์ในไทยเปิดพื้นที่สำหรับเรื่องเล่าและเรื่องราวของผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน ผู้หญิงแบบไหนที่ถูกเล่าในพิพิธภัณฑ์ พวกเธอถูกนำเสนอในบริบทใด การตีความ สร้างความหมาย เพื่อสื่อสารกับสาธารณะเป็นอย่างไร ข้อเขียนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนต่อพิพิธภัณฑ์ไทยที่ว่าด้วยเรื่องผู้หญิง ผ่านประสบการณ์การเยี่ยมชม การสัมภาษณ์ การทบทวนจากหนังสือ งานเขียน และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะเริ่มจากการมองภาพรวม ทบทวนให้เห็นความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง จากนั้นเลือกกรณีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผู้หญิง 3 แห่ง เพื่อฉายภาพเชิงลึกให้เห็นเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของผู้หญิง ว่าพวกเธอต้องการสนทนาอะไรกับสังคม อันได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เงื่อนไขสำคัญที่เลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งดังกล่าวมีอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือพิพิธภัณฑ์ทั้งสามแห่งแสดงถึงความหลากหลายของเรื่องราวและเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ และประการที่สองคือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมและได้สัมภาษณ์เจ้าของหรือภัณฑารักษ์ที่มีส่วนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย: ภาพจากการสำรวจเบื้องแรก           จากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แสดงตัวเลขให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง คือ 1,470 แห่ง(ณ มกราคม 2561) (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547) มีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยรัฐหรือราชการ และพิพิธภัณฑ์ที่ทำโดยชาวบ้าน สัดส่วนเกือบครึ่งต่อครึ่ง เนื้อหาที่นำเสนอก็หลากหลายมาก ส่วนใหญ่กว่าครึ่งว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ นอกนั้นเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดี ฯลฯ           ในเบื้องแรกผู้เขียนลองเจาะจงไปดูพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง ทั้งจากฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของผู้เขียนเอง เห็นว่าแม้จำนวนพิพิธภัณฑ์ไทยที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงมีไม่มากนัก แต่หากจะมองทะลุไปถึงหัวข้อ(theme)ของการเล่าเรื่อง พบว่า “พื้นที่ผู้หญิง” ที่ได้รับการนำเสนอมีความน่าสนใจและค่อนข้างหลากหลาย อาทิ วีรกรรม งานสาธารณะประโยชน์ ครอบครัว ผลงาน การหาเลี้ยงชีพ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก           “วีรสตรี” ในตำนานและประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อที่คนทั่วไปคุ้นเคยเช่น ท้าวสุรนารี ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พระนางจามเทวี วีรกรรมของกลุ่มสตรีดังกล่าวผู้เขียนพบว่ามักได้รับการบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์เมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในต่างจังหวัด ที่มีส่วนจัดแสดงย่อยว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอวีรกรรมระดับชาติ หากแต่เป็นความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดแสดงเรื่องราวของท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมานำเสนอเรื่องของท้าวสุรนารี          ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสตรีในประวัติศาสตร์ที่มิใช่ชนชั้นนำในพิพิธภัณฑ์บ้างแล้ว คือ พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่หยิบยกเรื่อง “นางสุด” หญิงมอญที่ได้สามีเป็นชาวฮอลันดาและมีบทบาททางการค้าและสายสัมพันธ์กับต่างชาติ มาเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของพิพิธภัณฑ์ ด้วยเหตุว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่อต้องการอธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้าผ่านผู้คนธรรมดา นางสุดจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถานีการค้าฮอลันดากับราชสำนักมากกว่าที่จะเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ราชวงศ์ต่อราชวงศ์ (ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559, pp. 255-256)          “พระราชกรณียกิจ” ของเจ้านายเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร ประเด็นนี้มักได้รับการบอกเล่าอยู่ในกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เป็นชนชั้นปกครอง อาทิ ชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเกี่ยวกับงานสาธารณสุข ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี หรือการพัฒนาฐานะและคุณภาพชีวิตราษฎรไทยผ่านการส่งเสริมงานทอผ้าและศิลปาชีพรวมถึงความงดงามในฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าประวัติชีวิตเจ้าดารารัศมี ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมล้านนาเข้ากับสยาม พิพิธภัณฑ์วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ที่ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมอาชีพของพสกนิกรในจันทบรีและชีวิตบั้นปลายที่เรียบง่ายในวังสวนแก้วจันทบุรีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  การค้นหาที่มาของบ้านเกิดของสมเด็จย่าและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรุงเทพฯ และหอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเชียงราย          อย่างไรก็ดีกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เล่าเรื่องงานสาธารณะประโยชน์ของเจ้านายฝ่ายใน ยังมีบางพิพิธภัณฑ์ที่มิได้เล่าเรื่องประวัติชีวิต วีรกรรมหรือพระราชกรณียกิจที่เรามักรู้อยู่แล้ว แต่เปิดมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในครอบครัว ที่เป็น “ลมใต้ปีก” คอยสนับสนุนหน้าที่การงานของสามีและลูก ซึ่งที่ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือสามัญต่างก็มีแง่มุมดังกล่าวที่ไม่ต่างกัน ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในส่วนต่อไป ในกรณีของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯกลุ่มช่างทอ ที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จ.เชียงใหม่ (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)           “กิจกรรมเพศภาวะหญิง” เช่น งานทอผ้า งานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเย็บปักถักร้อย อาหารงานครัว เป็นอีกหัวข้อของพิพิธภัณฑ์ที่พบว่ามักจะเล่าเกี่ยวกับผลงานของผู้หญิง อาทิ สปัน แกลเลอรี่ กรุงเทพฯ ที่จัดแสดงผลงานตัดเย็บเสื้อผ้าของสปัน เธียรประสิทธิ์ เจ้าของห้องเสื้อที่มีชื่อเสียงในอดีต พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครใต้ ที่มีส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับจักรเย็บผ้ากับสตรี พิพิธภัณฑ์กลุ่มผ้าและสิ่งทอต่างๆ ที่จัดแสดงอุปกรณ์ทอผ้า เทคนิคการทอ และผลงานของช่างทอที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จังหวัดแพร่ สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ จังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท มุมจัดแสดงครัวไฟของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่นำเสนอเสียงแม่กำลังสอนลูกสาวทำแกงส้ม เป็นต้น          นอกจากนี้ยังเห็นประเด็นเกี่ยวกับ “อาชีพ” ของผู้หญิง หนึ่งในนั้นคืออาชีพหมอตำแย ภายในหอประวัติศาสตร์สุขภาพ จังหวัดนนทบุรี เป็นเรื่องเล็กๆของ“ยายเนียมและยายสวาด” หมอตำแยกับภูมิปัญญาทำคลอดที่กำลังสาบสูญ  นำเสนอเรื่องราวและจดจำสิ่งที่พวกเธอได้ทำหรือทิ้งไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของสังคม            น่าสนใจว่าเรื่อง “ความรักหรืออารมณ์ความรู้สึก” ของผู้หญิง มีนำเสนอในมุมจัดแสดงเล็กๆ ในพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่อำเภอขุนยวม การเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองของอนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่ได้เพียงแต่นำเสนอภาพสงคราม สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐหรือกองทัพ หากให้ภาพของคนเล็กคนน้อยท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์ โดยมีมุมที่สื่อถึงมิตรภาพและความผูกพันในฐานะเพื่อนมนุษย์  ให้ความสำคัญต่อ “อารมณ์และความรู้สึก” ของทั้งทหารญี่ปุ่นและชาวบ้าน โดยเฉพาะผ่านการนำเสนอ “ความรัก”ของแม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมา หญิงสาวชาวขุนยวมกับทหารญี่ปุ่นที่เป็น “รักระหว่างรบ” ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง           ผู้เขียนขอเลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งเป็นตัวแทนได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ 2.พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และ3.พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เพื่ออธิบายในแง่ลึกเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่แตกต่างกัน ผ่านเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของพวกเธอ ผ่านพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และกระบวนการจัดการของภัณฑารักษ์หรือเจ้าของพิพิธภัณฑ์ 1. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า: เรื่องเล่าของผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่น           สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถือได้ว่าเป็นผู้หญิงในแวดวงชนชั้นสูงคนหนึ่งท่ามกลางไม่กี่พระองค์ที่มีเรื่องราวบอกเล่าเป็นการเฉพาะในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ ภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยอนุรักษ์ตึกพระพันวัสสา ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อใช้เป็นตึกอำนวยการและตรวจโรค เป็นตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรปประยุกต์ อีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม อาคารจัดแสดงสำคัญคือพระตำหนักใหญ่ ที่เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2498          ที่มาของกำเนิดและความสำคัญของการมีพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งอยู่ในบริบทสำคัญสองประการ ประการแรกคือเป็นพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีส่วนในการริเริ่มก่อตั้ง สภากาชาดในกรณีพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ และมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่พระองค์ทรงเป็นประธานในกรณีวังสระปทุม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงมีเกร็ดเกี่ยวกับครอบครัวที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้มาก่อนหรือไม่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั่วไป ประการที่สองลักษณะของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองเป็นอาคารประวัติศาสตร์ โดยปกติพิพิธภัณฑ์อาคาร/บ้านประวัติศาสตร์มักมีพลังในการถ่ายทอดและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมกับการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์  เพราะตัวอาคารประวัติศาสตร์เองเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์หรือช่วงเวลาสำคัญในอดีต  สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญทางสังคมและการเมือง จึงง่ายที่จะสร้างจินตนาการของผู้ชมผ่านพื้นที่จริงที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้งานจริง  และเหมาะที่จะเล่าชีวประวัติและ “การทำงาน” ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพื้นที่จริงที่เป็นอาคารจัดแสดง          พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายใน ที่นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชีนี พระบรมราชเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนแล้วแต่มีแกนหลักการเล่าเรื่องที่ไม่แตกต่างกัน คือเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แสดงให้เห็นพระราชจริยวัตร และแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือภาพแทนของสตรีชนชั้นสูงดังกล่าวไม่ได้เล่าเรื่องเพียงแค่ประวัติ แต่มักมาพร้อมกับ “การทำงาน” เสมอ การทำงานในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการสมทบทุนก่อตั้งโรงพยาบาล กิจการสภากาชาด การสนับสนุนการศึกษาผ่านการก่อตั้งโรงเรียน พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียน  การทำนุบำรุงพุทธศาสนา หรือกิจกรรมเพศภาวะหญิง เช่น การส่งเสริมงานฝีมือ งานเย็บปักถักร้อย เช่น ทอผ้า  และเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกร           พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการจัดแสดง “การทำงาน” ของพระองค์ท่านอย่างตรงๆ พิพิธภัณฑ์อุทิศพื้นที่อาคารที่เคยเป็นตึกอำนวยการและตรวจโรคของโรงพยาบาลมาก่อนในการนำเสนอเรื่องราวของผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาล  แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5  ดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เป็นพระราชนัดดา ส่วนที่สองจัดแสดงเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณ ที่เป็นเรื่องด้านการแพทย์ เล่าถึงการสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา  เพื่อรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับอาคารที่จัดแสดงที่ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง งานสังคมสงเคราะห์ที่ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคแก่ประชาชนในยามที่บ้านเมืองและประชาชนมีความเดือดร้อน มีการจัดแสดงโมเดลจำลองสถานการณ์งานสังคมสงเคราะห์ของพระองค์ งานสภากาชาดไทย ทรงริเริ่มจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม หรือ สภากาชาดไทยในปัจจุบัน ส่วนที่สามจัดแสดงเครื่องเรือนของพระองค์ในพระตำหนักที่ประทับ และส่วนสุดท้ายว่าด้วยเรื่องประวัติและพัฒนาการของโรงพยาบาล          ในขณะที่แกนการเล่าเรื่องในพระตำหนักใหญ่ของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯแตกต่างออกไป คือเป็นการผสมผสานระหว่าง “การทำงาน” และ “ครอบครัว” เพราะนี่คือ “บ้าน” ของพระองค์ท่าน วิธีเล่าเรื่องคือการไล่ลำดับตามห้องในพระตำหนัก และตามช่วงชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก   การเล่าเรื่องแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย (ตามคำอธิบายในเอกสารของพิพิธภัณฑ์)          ช่วงที่ 1 ช่วงเวลาที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสั่งซื้อเครื่องเรือนจากต่างประเทศ เพื่อเตรียมการรับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายหลังที่ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนี และเสด็จฯกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2457 (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) มีห้องรับแขก และห้องพิธี เป็นห้องตัวแทนที่นำเสนอเหตุการ์สำคัญอาทิ งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ และงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร) เมื่อปี พ.ศ.2493 รวมถึงงานวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 65-68)          ช่วงที่ 2 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุขจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ. 2466 การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระราชบิดา(ห้องเทา) และห้องทรงพระอักษร (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่แสดงถึงการทรงงานของสมเด็จพระราชบิดา เช่น หนังสือเกี่ยวกับวิชาแพทย์ สาธารณสุข กิจการทหารเรือ ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และไทย อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ และพระรูปพระราชธิดาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เป็นต้น(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 70-71)          ช่วงที่ 3 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชโอรสธิดา 3 พระองค์ ครอบครัวมหิดลประทับที่พระตำหนักใหม่ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างประทาน ส่วนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประทับที่ตำหนักใหญ่ การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ ห้องบรรทม และส่วนที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าบริเวณระเบียงชั้น 2 หน้าห้องบรรทม (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555, pp. 10-11) ในหนังสือประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เขียนอธิบายถึงความสำคัญไว้ว่า “ที่ประทับแห่งนี้(เฉลียงพระตำหนักชั้นบน-ผู้เขียน) มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าคือ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ...”(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 77)          การนำชมและเอกสารประกอบการเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่มิได้หรูหราฟุ่มเฟือย การเลือกใช้เครื่องเรือนคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเช่น ระหว่างสั่งเครื่องเรือนจากฝรั่งเศสได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ประสงค์ที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย ทรงพยายามยกเลิกการสั่งเครื่องเรือนดังกล่าวหรือปรับเปลี่ยนการประดับตกแต่งเป็นแบบไม้ล้วนไม่ปิดทองเป็นต้น    ทรงอบรมพระราชนัดดาให้รู้จักประยุกต์สร้างสรรค์ข้าวของที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่โปรดให้ซื้อของฟุ่มเฟือยราคาแพง ภาพถ่ายพระพระราชโอรสและพระราชนัดดา ของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดง ล้วนแสดงความผูกพันใกล้ชิดกับพระราชโอรสและพระราชนัดดา           อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดแสดงในพื้นที่ห้องทรงพระสำราญ ที่แสดงโต๊ะทรงพระอักษร พระรูป เอกสารและสิ่งของที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจต่อสาธารณชน เช่น กิจการด้านสภากาชาด ความสนพระราชหฤทัยเหตุการณ์บ้านเมืองและต่างประเทศ หรือเรียกว่าการมีบุคลิกภาพของการมี “ความรู้” และ “ความทันสมัย”ของพระองค์ สื่อผ่านส่วนจัดแสดงโต๊ะวางหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พระองค์ท่านเคยทรง ได้แก่ The Queen, Country Life และ The National Geographic Magazine   สำหรับผู้เขียนห้องทรงพระสำราญคือพื้นที่ส่วนตัว แต่กลับเลือกนำเสนอเรื่องทางการคือ “การทำงาน” ของพระองค์ท่านเป็นสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ห้องทรงอักษรหรือห้องทำงานกลับจัดแสดงเรื่องการทรงงานของพระราชโอรส คล้ายกำลังจะบอกว่า “งาน” ที่แม้จะเกี่ยวกับบ้านเมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นงานในพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อผู้หญิงทำ งานนั้นจะถูกทำให้ “เบา” ลงไปในทันที จึงง่ายที่จะผลักไปสู่พื้นที่ส่วนตัว           กล่าวโดยสรุป การเล่าเรื่องชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าแบบเป็นทางการแบบพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ แต่เป็นการเล่าที่ซ้อนอยู่ภายใต้สองพื้นที่ พื้นที่แรกคือ ซ้อนอยู่ภายใต้ประวัติชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สะท้อนอุดมคติในฐานะการเป็นแม่ที่เลี้ยงดูและเอาใจใส่พระราชโอรสอย่างดี รวมถึงความผูกพันที่มีต่อพระราชโอรสและพระราชนัดดา และพื้นที่ที่สองคือ การเล่าเรื่องการทำงาน(ที่บ้าน)ที่เป็นเรื่องทางการและสาธารณะ ซ้อนลงไปในพื้นที่ส่วนตัว อย่างไรก็ดีการนำเสนอสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าผ่านการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งฉายภาพการเป็น “ผู้หญิง” ที่สละตัวตนเพื่ออุทิศให้แก่ทั้งสมาชิกในครอบครัวและคนอื่น และสำคัญคือพิพิธภัณฑ์ช่วยเปิดพื้นที่สนทนาถึง “ข้างหลัง” ของความสำเร็จในการเมืองการปกครองของผู้ชายที่ผู้หญิงมีส่วนสำคัญอยู่ด้วย ซึ่งไม่ค่อยปรากฏมากนักในงานเขียนประวัติศาสตร์ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆชั้นบนพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ภาพโดยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) 2. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา: ประสบการณ์ของผู้หญิงบนผืนผ้า           “พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา” หรือบางคนเรียกขานว่า “บ้านไร่ไผ่งาม” เพราะอุโมงค์ทิวไผ่สีเขียวสดทอดตัวยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร ตลอดสองฝั่งระยะทางจากถนนใหญ่เข้าสู่พิพิธภัณฑ์  สถานที่แห่งการอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้า และที่รำลึกและเชิดชูชีวิตและผลงาน ของ “ป้าดา” หรือนางแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินช่างทอผ้า เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าของล้านนา ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ             “ป้าดา” (พ.ศ. 2462- 2536) เกิดและเติบโตที่บ้านห้วยม่วง ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สมรสกับร้อยตรีมาลัย บันสิทธิ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว คือ นางเสาวนีย์ บันสิทธิ์   ในสมัยก่อนผู้หญิงกับการทอผ้าเพื่อใช้เองเป็นเรื่องปกติในสังคมเกษตรกรรม   ป้าดาปั่นฝ้ายเป็นตั้งแต่อายุเพียง 7-8 ขวบ และเริ่มทอเมื่ออายุราว 12 ขวบ โดยได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดโดยแม่อุ้ยเลี่ยม  ป้าดาเริ่มทอผ้าอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2503 หลังจากที่สามีเสียชีวิต  โดยชักชวนเพื่อนบ้านมารวมกลุ่มทอผ้าใต้ถุนบ้านของป้าดา เริ่มจากกี่ 4 หลัง จนขยายเป็น 30 หลังในเวลาต่อมา(อำนวย จั่นเงิน, 2545, หน้า 34-37)           ชื่อเสียงของผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความงดงามของผืนผ้าที่สะท้อนความนึกคิด ฝีมือ และพลังสร้างสรรค์ของป้าดา คุณสมบัติที่โดดเด่นของป้าดาและผ้าทอของบ้านไร่ไผ่งามที่ไม่เหมือนใคร คือ การใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง  ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากพันธุ์ไม้พื้นเมืองหลากชนิดที่ป้าดาทดลองและคิดค้น การออกแบบลวดลายการทอเฉพาะตัวจากประสบการณ์และธรรมชาติรอบตัว ทำให้คุณภาพ สีสัน และลายผ้างดงามมีเอกลักษณ์ชัดเจน           หลังจากที่ป้าดาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2536 คุณเสาวนีย์ บันสิทธิ์ บุตรสาวคนเดียวของป้าดา และคุณเนาวรัตน์ หลานสาว ได้สานต่องานอันเป็นที่รักของแม่และยาย คือการทอผ้า และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดาขึ้น  โดยใช้เรือนไม้โบราณซึ่งเป็นบ้านที่ป้าดาอาศัยมาตั้งแต่ย้ายกลับมาจากเมืองเชียงใหม่ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน           พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงเพียงลวดลายผ้าว่ามีกี่แบบกี่ประเภท แต่สะท้อนงานทอผ้า ลวดลายผ้า เสมือนเป็นจดหมายเหตุของครอบครัว ที่หลอมรวมความทรงจำระหว่างคนในครอบครัวและป้าดาเข้าด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เกี่ยวพันกับผู้หญิง แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความเป็นบ้าน ครอบครัว  แม่ ยาย ทวด ผสานกับงานศิลปะ รวมถึงการนำเสนอเรื่องธุรกิจในแง่การส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับผู้หญิงในหมู่บ้านที่ป้าดาและครอบครัวจ้างมาทอผ้าหรือรับซื้อวัตถุดิบต่างๆ             ชั้นบนของตัวบ้าน ยังคงรักษาพื้นที่ใช้สอยแบบเดิมของบ้านเอาไว้ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ฝาผนังแขวนภาพถ่ายป้าดา และครอบครัว ในช่วงวัยต่างๆ  รวมถึงผลงานที่ลงตามหนังสือและสื่อต่างๆ ทำให้ผู้ชมร่วมจินตนาการถึงวิถีการดำเนินชีวิตของป้าดาที่เรียบง่าย เป็นชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้ามาเกือบทั้งชีวิต ในขณะที่โถงกลางบ้านจัดเป็นส่วนจัดแสดงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า  มีตัวอย่างลายผ้าหลากหลายไม่ซ้ำกันที่ป้าดาได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว การนำชมและสื่อประชาสัมพันธ์ล้วนขับเน้นความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของป้าดา  ที่ลองผิดลองถูกกับการย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติจากชิ้นส่วนต่างๆ ของพรรณไม้           ส่วนใต้ถุนบ้านยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศและหน้าที่เดิม คือเป็นสถานที่สนับสนุนการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติของบรรดาช่างทอผ้าของบ้านไร่ไผ่งาม ที่เป็นแม่อุ๊ย คุณป้า คุณน้า ที่มีฝีมือในการย้อมและทอผ้า ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง เวียนกันมาทอผ้า หากว่างเว้นจากการทำสวนไร่นา                    อาณาบริเวณของบ้านไร่ไผ่งาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ที่ป้าปลูกไว้สำหรับใช้ย้อมด้วย เช่น คำเงาะ มะตูม และยังมีโรงไม้ที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์และกรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ตัวอย่างเมล็ด เปลือกไม้ หรือใบไม้สำหรับย้อม เช่น ฝาง  คราม  คำเงาะ มะเกลือ เพกา  มีบ่อหมักสีธรรมชาติ  มีฉางเก็บข้าวขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บฝ้าย  มีโรงเก็บเปลือกไม้ เมล็ด ฝัก และส่วนต่างๆ ของพันธุ์ไม้นานาชนิดสำหรับย้อม สมัยที่ป้าดายังมีชีวิต เมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนป้าดาจะนำชมการย้อมและทอ และอธิบายให้ความรู้เรื่องการทอผ้าและขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ยังมีอาคารหลังเล็กที่เป็นส่วนจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือ หนังสือ ของที่ระลึก สำหรับผู้สนใจ           ความเป็น “ผู้หญิงพิเศษ” ของป้าแสงดาได้รับการบอกเล่าของถ่ายทอดผ่านทั้งหนังสือที่วางขายในพิพิธภัณฑ์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ รวมถึงคำพูดของหลานสาวคนเดียวของป้าดา ขณะนำชมพิพิธภัณฑ์           “ความรักที่ป้ามีต่อพืชพันธุ์นั้นมากล้น และบอกได้ด้วยว่ามันงามอย่างไร น้ำหมอกน้ำเหมยที่จับดอกฝ้ายตุ่น คุณลองนึก ฝ้ายชนิดเป็นปุยขาวกับผ้าฝ้ายตุ่นสีน้ำตาลอ่อนๆ หายาก เวลาจับหยดน้ำเล็กๆ จะพราวสวย...ทุกอย่างเอาไปจากธรรมชาติรอบตัว ตรงนี้แหละที่คนทั่วไปไม่เห็น” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 34-35)           “ป้าได้พบว่าผ้าที่ย้อมมะเกลือแล้วย้อมสีอื่นทับ สีจะติดดี แล้วป้าก็ยังได้สังเกตว่า น้ำยางกล้วยเปื้อนผ้าแล้วซักไม่ออก จึงลองใช้ใบตองเผาไฟทำน้ำด่างขี้เถ้า ผสมกับมะเกลือย้อมเป็นสีรองพื้น ปรากฏว่าสีติดดี และซักแล้วสีไม่ตก ไม่ซีด...” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 81)           “เวลาคุณยายขายผ้าคุณยายบอกลูกค้าว่าผ้าคุณยายมีหมื่นสีหมื่นลาย เราโกรธว่าคุณยายทำไมโกหก หมื่นสีหมื่นลายเป็นไปได้อย่างไร เราไม่ยอม ไปเอาผ้าที่มีสีเยอะที่สุด นับกันเลยกับคุณยาย คุณยายอมยิ้ม คุณยายยกผ้าผืนที่พี่เอามาให้ ยายบอกว่าหนูเอาไปใช้ หนูดูนะทุกครั้งที่ซักจะมีสีใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ หนูเด็กแต่คลิกอ่ะ พี่น้ำตาซึม คุณยายฉันเป็นผู้หญิงพิเศษจริงๆ  แล้วทุกครั้งที่เราซัก ก็จะมีสีใหม่ผุดขึ้นมา ไม่ต้องพูดเยอะ แต่เราเก็ตเลย...ทุกคนมาอยู่ห้องนี้จะรู้สึกได้ถึงคุณยาย ถึงความพิเศษของงานที่คุณยายทำ มันเกินกว่าผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ ทำ พี่ว่าคุณยายเป็นผู้หญิงที่วาดรูปบนผืนผ้า เราเคยคุยกับเขาอย่างนั้น คุณยายก็ยิ้ม อ้าวเหรอ...ผ้าของคุณยายมีวิญญาณของคุณยาย มีความรู้สึก มีความสุข ความรักของคุณยายในการออกแบบผ้า ทุกคนเห็นรู้สึกได้เลย ไม่ใช่ผ้าผืนธรรมดาเพราะมันผ่านความคิดการกรองของคุณยาย” (เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559)           จะเห็นได้ว่าภาพของป้าแสงดาทั้งในพิพิธภัณฑ์และในสื่อต่างๆ คือศิลปิน การทอผ้าและผลงานของป้าแสงดาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงงานฝีมือ(craft) แต่ถูกมองว่าเป็นงานศิลปะ(art) งานทอผ้าที่เคยถือเป็นงานเชิงประเพณีของผู้หญิง ถูกยกฐานะเป็นการแสวงหาความรู้ มีการคิดวิเคราะห์และสร้างความหมาย เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การฝึกฝนด้วยตนเอง ผ่านคำอธิบายที่ปรากฏในสื่อนิทรรศการ หนังสือที่จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์และมูลนิธิที่เขียนถึงป้าแสงดา และตลอดจนหลานสาวผู้ใกล้ชิด           ความเป็นศิลปินที่แสดงออกผ่านทักษะการทอผ้าและการออกแบบลวดลายและเทคนิควิธีที่ไม่เหมือนใคร ล้วนต่างฉายออกมาให้ผู้คนได้ประจักษ์ ผ่านการยกย่องเชิดชูป้าแสงดาทั้งการให้รางวัลศิลปินแห่งชาติ และพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่ทายาทก่อตั้งหลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้วเพียง 1 ปี และการสนับสนุนของเหล่านักวิชาการสายวัฒนธรรมและการศึกษา สะท้อนการไม่ได้ “เพิกเฉย” ของสังคมต่อประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้บรรลุถึงความหวังและความปรารถนา ได้ทอผ้า ได้สร้างสรรค์งานอันเป็นที่รัก ได้สร้างฐานะทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับยังดำรงบทบาทของความเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นยายของคนในครอบครัวโถงนอกชานชั้นบนของตัวบ้าน ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายป้าดา วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการทอผ้า (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) 3. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์: เสียงของผู้หญิงบริการในสงครามแห่งศีลธรรม           โสเภณีและการค้าประเวณีมักมีภาพลักษณ์หรือถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายผิดศีลธรรมของสังคม เชื่อว่าหญิงที่ค้าประเวณีเป็น “คนแปดเปื้อน” ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือปลดปล่อย เป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำ เป็นความเบี่ยงเบน เป็นความตกต่ำของผู้หญิง (ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546, หน้า 17)  แม้จะถูกสังคมตราว่าผิดศีลธรรม แต่ในความเป็นจริงการค้าประเวณีเพิ่งจะถือว่าผิดกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการออกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 เพื่อต้องการป้องกันและควบคุมการแพร่กามโรค มีการจดทะเบียนสำนักโสเภณี ทำทะเบียนรายชื่อโสเภณี มีการแขวนโคมเขียวหน้าที่ประกอบการ พระราชบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโสเภณีฉบับแรกของไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าประเวณีแบบถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก  จนเมื่อปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 ดังกล่าว และประกาศใช้พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ขึ้นแทน ระบุโทษถึงขั้นปรับ จำคุก และบังคับฝึกอาชีพอื่น เหตุมาจากการปฏิบัติตามประกาศของสหประชาชาติในเรื่องการกำจัดการค้าประเวณี ปัจจุบันพรบ.นี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนำมาใช้แทน (ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549, หน้า 123-124 และน้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557) ในปัจจุบันโสเภณีจึงถูกประณามจากสังคมทั้งด้านศีลธรรม และด้านเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมายที่รัฐพิจารณาว่าต้องกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทย           “ปัญหานี้เป็นปัญหาของสังคม เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยทัศนคติผิดศีลธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์เท่านั้นเอง” (จันทวิภา, 2559)           น้อย เจริญสุข เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการในประเทศ เธอมองว่าหญิงบริการมิใช่คนที่ชั่วร้ายผิดศีลธรรม  แต่เธอมีทัศนะว่าความขั่วร้ายที่ควรกำจัดคือ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบหรือการแสวงหาผลประโยชน์ในร่างกายของผู้หญิงมากกว่า ไม่ใช่ตัวการค้าประเวณี  เธอสนับสนุนแนวคิดการทำให้การค้าประเวณีให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย มองหญิงบริการในฐานะอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่งในสังคม เป็น “พนักงานบริการ” (sex worker) ไม่ใช่ “โสเภณี”(prostitute)           เอ็มพาวเวอร์ (Empower) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 ช่วงเวลาเดียวกับที่เพลง One Night in Bangkok กำลังฮิต ตลอดการทำงานกว่าสามสิบปี เอ็มพาวเวอร์เป็นทั้งสถานที่พบปะสังสรรค์ของพนักงานบริการ เป็นโรงเรียนกศน.สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวทีสะท้อนเสียงและมุมมองจากพนักงานบริการ เป็นองค์กรตัวแทนประสานความร่วมมือกับองค์ภาครัฐและเอกชนที่ทำงานในประเด็นปัญหาใกล้เคียงกัน  เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตสื่อเผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศ และในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสังคมในนามพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, pp. XII-XIII)           การทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตลอดหลายสิบปี กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนและองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่อบรม ฝึกงาน ดูงานของนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แพทย์ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรู้สึกว่าคนหน้าใหม่เหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการและแสวงหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานบริการจากมูลนิธิมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงพนักงานบริการที่เป็นเป้าหมายแรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การก่อตั้ง “นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์” ขึ้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.  2559 (จันทวิภา อภิสุข, 2559)           พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อยู่บนชั้น 3 ของมูลนิธิ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในประเทศไทย และกิจกรรมของมูลนิธิ โดยกำหนดไว้บนแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าหญิงบริการหรือพนักงานบริการคือ “อาชีพ” หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ดังที่ระหว่างการนำชมส่วนจัดแสดงถุงยางอนามัย จันทวิภา เปรียบเทียบความเป็นอาชีพที่ไม่ต่างกับอาชีพอื่น           “ถุงยางอนามัยควรจะเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน เหมือนกับช่าง ช่างทั้งหลายเวลาไปทำงาน เขาก็จะมีค้อน มีคีม มีไขควงมีอะไรอยู่ในนี้ แล้วเขาก็จะถือไป ของเราก็มีเหมือนกันเป็นอุปกรณ์การทำงาน”            “No more Sewing Machine พอกันทีจักรเย็บผ้า!” เอ็มพาวเวอร์ได้รับบริจาคจักรเย็บผ้าจำนวนมากในยุคที่คนมองว่างานเย็บผ้าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับฝึกอาชีพหญิงบริการ  จักรเย็บผ้าหลังหนึ่งจึงถูกเก็บไว้เป็นระลึกและนำมาจัดแสดงตรงทางเข้า เรียกว่าเป็นการโหมโรงที่สั่นคลอนทัศนคติของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับหญิงบริการ  สื่อให้เห็นมุมมองของสังคมที่มักมองผู้หญิงแบบเหมารวมว่า ผู้หญิง=งานเย็บปักถักร้อย ในระยะแรกจักรเย็บผ้าถูกนำมาเป็นเครื่องมือฝึกอาชีพให้กับผู้กระทำผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ถูกจับมารับโทษในสถานสงเคราะห์ โดยรัฐหวังว่าโครงการการฝึกอาชีพเย็บผ้าจะทำให้หญิงบริการมีอาชีพใหม่แทนการขายบริการทางเพศ ในขณะที่การทำงานของมูลนิธิต่างออกไปคือทุกคนสามารถเข้ามาเรียนหนังสือ ฝึกอาชีพได้ สามารถเข้าออกได้อิสระ ดังทัศนะของจันทวิภาที่ว่า           "โครงการต่างๆ ที่นั่นมันก็เหมือนกับว่า เป็นโครงการสำหรับคนทำผิดเท่านั้นและเป็นโครงการที่มาแทนความผิดทางกฎหมาย ถ้าเกิดไม่ได้รับความผิดไม่ได้ถูกขัง ก็จะไม่ได้รับโครงการแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนก็รู้สึกว่าได้อยู่ในโครงการนี้ได้เพราะทำความผิด ไม่ใช่ว่าได้เพราะจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็เลยต่างกันตรงนี้นิดเดียว”(จันทวิภา อภิสุข, 2559)           ส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การค้าประเวณี นำเสนอให้เห็นว่าธุรกิจการค้าประเวณีในไทยมีมาตั้งแต่อดีต รูปแบบวิวัฒน์ไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มด้วยการย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2223 สมัยอยุธยาที่มีบันทึกว่ามีการออกใบอนุญาตให้ข้าราชการเปิดซ่องโสเภณีในนามของรัฐ ในช่วงอยุธยาตอนนั้น มีหญิงทำงานในนี้ถึง 600 คน ลูกค้ามีทั้งคหบดีไทย ชาวต่างชาติ กะลาสีเรือ นักเดินทางและพ่อค้า การค้าประเวณีในไทยขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชนคนจีน ในปี พ.ศ. 2393 ธุรกิจการค้าประเวณีย่านบางกอกมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านคนจีน “ตรอกสำเพ็ง”  ในปี พ.ศ.2432 เฉพาะตรอกสำเพ็งมีโรงโสเภณี 71 โรง โรงฝิ่น 245 โรง โรงพนัน 128 โรง เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารกองทัพสัมพันธมิตรเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ชาวตะวันตกกลายเป็นลูกค้าใหม่ และธุรกิจนี้ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่มีการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย พัทยากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของบรรดาจีไอ ลูกค้ารายใหญ่คนสำคัญที่ว่ากันว่าทำรายได้เข้าประเทศไทยหลายร้อยล้านบาทต่อปี (มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559, หน้า 11-25)           พิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองลักษณะสถานบริการรูปแบบต่างๆ มาให้ผู้ชมที่ไม่เคยเข้าได้สัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด อาทิ บาร์อะโกโก้ มีที่มาจากนวนิยายชื่อ วิสกี้กาลอร์(Whiskey Galore) เกี่ยวกับเรือสินค้าที่มีเหล้าวิสกี้อยู่บนเรือ ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ เมื่อถูกฉายในฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเป็น Whiskey A Gogo ซึ่ง  a gogo หรือ au gogo ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Galore คือมากมายเหลือเฟือ  จริงๆ ข้อดีของเสาอะโกโก้คือ เป็นการเซฟคนเต้นไม่ให้ตกเวที ขณะที่เต้นโคโยตี้อาจจะตกเวทีก็เป็นได้  ผู้ชมจะขึ้นไปโหนเสาอะโกโก้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 ที่เชียงใหม่เจ้าหน้าที่ได้รื้อเสาอะโกโก้ออกจากบาร์ ด้วยเหตุผลว่าเสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพและไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา           พื้นที่อีกครึ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของเอ็มพาวเวอร์ หนึ่งในนั้นคือ “บาร์แคนดู-บาร์ยุติธรรมเราทำเองได้”   สื่อสารผ่านงานศิลปะดินปั้นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า mini-bar series ของ “เล็ก” สมาชิกหนึ่งของเอ็มพาวเวอร์ที่ต้องการสร้างบาร์ในฝันของตนเองจึงทำงานศิลปะนี้ถ่ายทอดลักษณะบาร์ที่ตัวเองอย่างจะทำ ส่วนจัดแสดงนี้สะท้อนถึงความรักและจิตใจที่อ่อนโยนของมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งผ่านงานศิลปะ แม้เธอจะทำอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับแต่มีผลงานศิลปะที่สะท้อนประสบการณ์และตัวตนอย่างชัดเจน และในที่สุดบาร์ในฝันก็เกิดขึ้นได้จริง บาร์แคนดูตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นบาร์ที่พนักงานลงหุ้นกันเองและบริหารงานกันเอง พนักงานมีเวลาหยุดพักระหว่างการทำงาน มีห้องพักผ่อน ไม่มีการเก็บหัวคิวพนักงาน ไม่มีบังคับดื่ม บังคับออฟ ฯลฯ ตอนกลางวันบาร์นี้เป็นศูนย์เอ็มพาวเวอร์เชียงใหม่ด้วย           สื่อและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ ใช้วิธีการอุปมาอุปไมยเข้ามาอธิบายหลักคิดและการทำงานของมูลนิธิ  หนึ่งในนั้นคือส่วนจัดแสดงที่เป็นเวทีมวยด้านหนึ่งมีตัวการ์ตูนที่ชื่อฮันนี่-บีกำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เช่น การล่อซื้อ  พรบ.การค้ามนุษย์  ตราบาป  ฯลฯ และข้อเขียนว่า “Learning by Doing”  อุปมาอุปไมยว่ามวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัว ผู้ที่เป็นนักมวยต้องมีความกล้าหาญ ได้รับการฝึกฝนและออกอาวุธอย่างถูกวิธีและถูกเวลา การเป็นพนักงานบริการก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไรจะรุกเมื่อไรจะถอย จะลดการถูกเอาเปรียบได้อย่างไร รวมถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายอย่างไร           ในช่วงที่โรคเอดส์กำลังระบาดและสังคมไทยขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ ทำให้คนตื่นตระหนักและรังเกียจหญิงบริการซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ เอ็มพาวเวอร์จึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่า “อาชีพไม่ใช่สาเหตุของการแพร่เชื้อ แต่ร่วมเพศที่ไม่ปลอดภัย แพร่เชื้อได้” มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการจัดแสดงหุ่นอาชีพต่างๆ ที่ล้วนต้องพกถุงยางอนามัย เพื่อการร่วมเพศอย่างปลอดภัยไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร เป็นการเตือนสติตัวเอง           กิจกรรมที่ดูจะเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จคือ “โครงการแรงงานไร้พรมแดน” หรือรู้จักกันดีในนาม “การเดินทางของคำจิ่ง” ที่เริ่มจากการพบว่าเริ่มมีผู้หญิงข้ามแดนเข้ามาสู่ธุรกิจค้ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ  การเดินทางของคำจิ่งเป็นโครงการศิลปะเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความคิด ความฝัน ของผู้คนที่อพยพจากต่างถิ่นมาอยู่แถวชายแดนประเทศไทย โดยใช้ชื่อคำจิ่งเรียกแทนแรงงานผู้อพยพ โดยให้บรรดาแรงงานข้ามแดนสร้างหุ่นตุ๊กตาปั้นกระดาษหรือเปเปอร์มาเช่เป็นรูปครึ่งตัวคนเพื่อแทนตัวเอง ดั้งนั้นหุ่นกว่า 250 ตัวหน้าตาจะไม่เหมือนกันเลย จากนั้นจึงพาหุ่นคำจิ่งเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นความฝันของคนปั้นตุ๊กตา มีการบันทึกภาพถ่ายไว้ทุกที่ๆ คำจิ่งเดินทางไป การเดินทางของคำจิ่งได้รับรางวัล “อิสรภาพแห่งการสร้างสรรค์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2552           ตุ๊กตาคำจิ่งที่หลงเหลือจากการทำโครงการถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ของ “คำจิ่ง” เมื่อครั้งตอนที่อพยพเข้าประเทศไทย เช่น ปิ่นโตสนามที่พวกเธอใส่ข้าวมากินระหว่างรอนแรมเป็นเวลากว่า 3 วันกว่าจะถึงเมืองไทย  ผ้าห่ม  กระบอกน้ำ           จันทวิภา อภิสุข เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่งว่า “มีคนบอกว่ากลุ่มทำเหมือนสนับสนุนให้มีอาชีพโสเภณี  ถ้าคิดสั้นๆ ก็อาจเหมือนใช่ แต่ถ้ารู้จักมองยาวๆ สักหน่อยก็จะเห็นว่า การช่วยคนๆ หนึ่งให้รู้จักต่อสู้กับชีวิตอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น เสียเปรียบน้อยลง ถูกขูดรีดน้อยลงก็เป็นการดีไม่ใช่หรือ...” (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, หน้า 7)           ท่ามกลางปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนของการค้าประเวณี พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผู้หญิงบริการยังสามารถส่งเสียง บอกเล่าความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก มีเหตุมีผล ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจสถานภาพการทำงานของพวกเธอ แม้ว่าจะตกอยู่ในเงื่อนไขที่เป็นรองและเป็นความที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเธอ สถานบริการ หรือลูกค้าก็ตาม ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (ภาพโดย ศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)ส่งท้าย: พิพิธภัณฑ์กับพื้นที่สนทนากับสังคม          ผู้เขียนเห็นว่า แม้พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในไทยจะมีไม่มากนัก แต่น่ายินดีที่เห็นพิพิธภัณฑ์เปิดพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าเธอจะเป็นใครทำอาชีพใด แม้พิพิธภัณฑ์ในหน่วยงานภาครัฐหรือเชิงสถาบันที่เล่าเรื่องผู้หญิงมักเป็นเรื่องผู้หญิงชนชั้นสูง เรื่องราวที่จัดแสดงผูกโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม การเมืองเรื่องของชนชั้นนำ สถาบันกษัตริย์  “เรื่องเล่า” ของหญิงชนชั้นนำจะเป็นเรื่องการทำงานในแง่สังคมสงเคราะห์ และกิจกรรมเชิงประเพณีของผู้หญิง แต่อย่างน้อยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่ได้เปิดพื้นที่ให้เห็นแง่มุมของผู้หญิงที่มีบทบาทไม่ต่างกัน ไม่ว่าเธอจะสูงศักดิ์หรือสามัญ คือบทบาทของครอบครัว ความเป็นแม่ ความเป็นย่า ที่หล่อหลอม สนับสนุน และอยู่เบื้องหลังการทำงานและความสำเร็จของ “ผู้ชาย” คือพระราชโอรส พระราชนัดดา เป็นความเสียสละของเจ้านายฝ่ายหญิงที่แทบไม่ปรากฏในงานเขียนประวัติศาสตร์ไทย ตำราเรียน หรือในพื้นที่อื่นๆ           พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เล่าถึงประวัติชีวิตและประสบการณ์ของนางแสงดา บันสิทธิ์ “ความเป็นผู้หญิงเก่ง” ของผู้หญิงสามัญ ที่ไม่ใช่เก่งหรือเชี่ยวชาญที่ทำกิจกรรมแบบที่ผู้ชายทำ แต่เก่งในกิจกรรมของเพศภาวะผู้หญิง คือการทอผ้า อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ที่เปิดพื้นที่สำหรับ “ประสบการณ์” ของหญิงชาวบ้าน ที่แสดงให้เห็นถึงความรักและการอุทิศตนในงาน ความผูกพันในครอบครัว และความเรียบงามในการดำเนินชีวิต คู่ขนานไปกับการทำงานเชิงประเพณีของผู้หญิงแต่ได้รับการยกระดับว่าเป็นงานศิลปะระดับสูง           “เสียง” ของผู้หญิงบริการที่ได้รับการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เปิดโอกาสแก่ผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์ในด้านลบและแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ให้บอกเล่าชีวิต ประสบการณ์ ความฝัน และโลกของผู้หญิงบริการจากมุมของพวกเธอ เสียงดังกล่าวกระตุกให้ผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนทัศนคติของตัวเองต่อผู้หญิงบริการ ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่สนทนากับสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อถกเถียงกับบรรทัดฐานทางเพศ แบบแผนการเจริญพันธุ์และเพศสัมพันธ์ ความฉ้อฉลของระบบกฎหมาย หรือพูดอีกอย่างว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่คนเล็กคนน้อยใช้ในการส่งเสียง เสริมกำลัง ต่อสู้กับอคติและความไม่เท่าเทียมในสังคม           เรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทยทั้งสามกรณีที่ยกมา ทำให้เห็นบริบทใหม่ที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ไทยอย่างน้อยสามประการ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ เกิดกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เน้นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็นของชิ้นเอก ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติ แต่ขยายความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต เหตุการณ์หรือความทรงจำในชีวิตประจำวันที่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่หรืองดงาม สิ่งที่จัดแสดงไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุศิลปะชิ้นเอก แต่อาจเป็นเรื่องราวหรือวัฒนธรรมของสามัญชนคนทั่วไป (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557, หน้า 8-9)   ผู้คนภาคภูมิที่จะเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเองที่แตกต่างหรือไม่มีในเรื่องเล่าของรัฐ กล้านำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี ข้าวของ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ทำให้เราได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของป้าแสงดา แม่อุ๊ยแก้ว หรือยายเนียมกับยายสวาด และคาดว่าจะมีเรื่องของผู้หญิงอีกไม่น้อยที่เป็นคนเล็กคนน้อย ไม่ได้เป็นเลิศในด้านใด หากแต่มีคุณค่าหรือคุณลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่ควรค่าแก่การบันทึก เรียนรู้ และจดจำ           ประการที่สอง การตีความและเล่าเรื่องด้วยวัตถุหรือหลักฐานใหม่ๆ เปิดให้พิพิธภัณฑ์สนทนากับสังคมในหลากแง่มุมมากขึ้น เช่น การเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่ออธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้า ผ่านผู้คนธรรมดามากกว่าเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ นำไปสู่การเล่าเรื่องผ่าน “นางสุด” หญิงมอญ ของพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา  หรือการตีความและนำเสนอความเป็นครอบครัวและเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายในครอบครัวของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเรามักไม่ค่อยได้พบในประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือในพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องบุคคลสำคัญในราชวงศ์ที่เคยมีมา           ประการที่สาม การนำเสนอเหตุการณ์ร่วมสมัย เรื่องราวด้านมืดของมนุษย์ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ เป็นการพลิกกลับขนบบางอย่างของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรับรู้โดยทั่วไป ว่าเป็นพื้นที่ของการนำเสนอเรื่องราวที่งดงาม ศิลปวิทยาการของมนุษยชาติ การรำลึกนึกถึงและยกย่องบุคคลสำคัญบุคคลในความทรงจำ การนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงบริการของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่แห่งของพิพิธภัณฑ์ไทยที่หลุดจากกรอบความคิดของการทำพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ ที่เราพบเห็นโดยทั่วไป           สุดท้ายนอกเหนือการสดุดีคุณงามความดี ความรู้ และประสบการณ์ของผู้หญิงในเรื่อง “การบ้าน” แล้ว หากพิพิธภัณฑ์ไทยจะเขยิบไปสู่การเล่าเรื่อง การรับฟังประสบการณ์ และบทบาทของผู้หญิงในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทาง “การเมือง” ซึ่งแทบไม่ปรากฏในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไทย ดังที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในประเทศเวียดนาม น่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สนทนาเรื่องบทบาทของผู้หญิงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น บรรณานุกรม จันทวิภา อภิสุข, 2559. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ [บทสัมภาษณ์] (28 มิถุนายน 2559). ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546. ผู้หญิงกับความรู้ในจักรวาลของผู้ชาย: ความหมาย การมองเห็นโลก และระบอบอำนาจความจริง. ใน: ส. สิทธิรักษ์, บ.ก. ผู้หญิงกับความรู้ 1 (ภาค 2). กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 1-22. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559. ห้องเรียนประวัติศาสตร์ในงานพิพิธภัณฑ์. ใน: อ. ชูศรี, บ.ก. พิ(ศ)พิธภัณฑ์ บทความเลือกสรรจากการประชุมวิชาการ MUSEUM REFOCUSED. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, หน้า 253-256. น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557. Reading Between Lines: empower in the press, since 1985 ระหว่างบรรทัด: เอ็มพาวเวอร์ในหน้า นสพ. ตั้งแต่ 2528. 1st บ.ก. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา [บทสัมภาษณ์] (21 ธันวาคม 2559). ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549. โสเภณี(Prostitution): แนวความคิดที่แตกต่าง. วารสารรามคำแหงฉบับมนุษยศาสตร์, มกราคม-มิถุนายน, 1(26), หน้า 121-137. ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555. การศึกษารูปแบบกืจกรรมทางการศึกษาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า,กรุงเทพฯ: วิทยานิพนธ์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2549. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: ระยะที่ 2 ปีที่ 1 วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : กรณีศึกษา,กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557. คำให้การของคนทำพิพิธภัณฑ์. ใน: ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, บ.ก. คนทำพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, หน้า 6-23. มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551. เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559. นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์ งานบริการทางเพศ ในสังคมไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. [ออนไลน์] Available at: http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/index.php [เข้าถึง1 พฤษภาคม 2560]. อำนวย จั่นเงิน บก., 2536. แสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศศิลป์(การทอผ้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. อำนวย จั่นเงิน, 2545. แสงดา บันสิทธิ์ เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าแห่งล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ และนางเสาวนีย์ บันสิทธิ์.   [1] สามารถชมวิดีโอย้อนหลังการบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในเวียดนามได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9RcsZFnLa4Qหมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์, 2562, 25 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รวมบทความจากสนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

บทบาทของยูเนสโกกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ข้าพเจ้าได้อ่านข่าวเกี่ยวกับความต้องการทวงเครื่องประดับพระเศียรสมัยอยุธยาคืนจากพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาแล้ว เนื้อหากล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 (The UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export and Transfer of Ownership of Cultural Property 1970) ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ   ข้าพเจ้าจึงขอใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาข้างต้น รวมทั้งบทบาทขององค์การยูเนสโกกับการคืนมรดกทางวัฒนธรรม จุดประสงค์ของบทความนั้นเพียงเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ และได้ติดตามข่าวต่างๆทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมาย แต่ยังมองไม่ออกและไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและมาตราการต่างๆที่มีอยู่เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในระดับนานาชาติ   1.  ความเป็นมา : การขโมย การยึดเอามา การลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย   การเคลื่อนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมออกจากประเทศดั้งเดิมสามารถทำได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่ การใช้กฏของผู้ชนะภายหลังการทำสงคราม ผู้ชนะยึดเอาสมบัติของผู้แพ้มาเป็นของตน การปฏิบัติเช่นนี้มีมาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น กรณีของกษัตริย์บาบิโลเนียนที่นำเอาสมบัติจากสุสานกษัตริย์ฟาโรห์ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน กรณีของทหารโรมันที่นำเอาสมบัติจากประเทศผู้แพ้สงครามกลับไปประดับประดาเมืองหลวงของตนหรือ กรณีเจงกีสข่านที่ยึดเอาวัตถุมีค่าต่างๆ จากผู้แพ้ในประเทศจีนและเอเชียกลาง...   อีกวิธีหนึ่งคือ ขบวนการโยกย้ายสมบัติทางวัฒนธรรมในช่วงการล่าอาณานิคม ซึ่งบางครั้งไม่มีการทำสงครามหรือการเข้ายึดครองโดยใช้กำลังทหารแต่อย่างใด แต่กลับมีส่วนที่ทำให้วัตถุทางวัฒนธรรมไหลออกจากประเทศต้นกำเนิดทั้งจากประเทศในเอเชีย อัฟริกาและอเมริกาใต้ไปอยู่ในประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก การโยกย้ายดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน การใช้กฎผู้ชนะก็ยังมีควบคู่กันไป เช่น กรณีการนำโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ เคลื่อนย้ายวัตถุสู่ประเทศฝรั่งเศสโดยกองทัพนโปเลียน หรือการนำประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนจากกรีกไปยังประเทศอังกฤษโยลอร์ดเอลจิน ซึ่งในปัจจุบันนี้วัตถุเหล่านั้นจัดแสดงใน British Museum ที่กรุงลอนดอน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของทหารเยอรมันที่ยึดเอาสมบัติต่างๆ ของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้แม้วิธีการเคลื่อนย้ายวัตถุแบบเป็นระบบจากเจ้าของเดิมข้างต้นจะลดน้อยลง เนื่องจากการลดจำนวนลงของสงครามระหว่างประเทศ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ภายในประเทศกลับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางกฏหมายและการเมืองในการนำวัตถุทางวัฒนธรรมกลับมาประเทศต้นทางมากกว่า นอกจากนี้ในกรณีที่มีสงครามภายใน การเคลื่อนย้ายจะเกิดในลักษณะของพ่อค้าที่ฉวยโอกาสระหว่างที่เหตุการณ์ความไม่สงบดำเนินไป ด้วยการลักลอบเอาวัตถุทางวัฒนธรรมออกไปขาย วิธีการที่พ่อค้าใช้คือ การเสนอซื้อวัตถุดังกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งเจ้าของวัตถุยอมขายวัตถุนั้นๆ เพื่อการยังชีพของตน ขณะเดียวกัน ค่านิยมศิลปะจากวัฒนธรรมอื่นของนักสะสมชาวตะวันตก เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้การลักลอบและการค้ามรดกวัฒนธรรมที่ผิดกฏหมายกลายเป็น "อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ"   เมื่อการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมกลายสภาพสู่ปฎิบัติการไร้พรมแดน องค์การนานาชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูเนสโก สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ (ICOM) องค์การศุลกากรโลก (WCO) หรือตำรวจสากล (INTERPOL) ต่างหามาตราการและการทำงานร่วมกัน เพื่อสะกัดกั้นการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมายข้ามชาติและให้ความช่วยเหลือในด้านการส่งคืนวัตถุสู่ประเทศต้นกำเนิด รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกองค์กร ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงแต่บทบาทขององค์การยูเนสโก เพราะองค์การนี้เป็นผู้บุกเบิกแนวคิด สรรหามาตรการต่างๆ และเป็นองค์กรสำคัญในการประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศมาตั้งแต่เริ่มแรก   2.  ด้านกฎหมาย : การจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ   เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง จากนั้น ประเทศต้นกำเนิดดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของ การเรียกร้องการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วง เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญทางกฎหมายภายในประเทศของผู้ถือครองวัตถุ เช่น การคุ้มครองผู้ซื้อ หรือระยะเวลาที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ในประเทศที่ถือครอง จากสภาพของปัญหาที่กล่าวมา องค์กรกลางระหว่างประเทศอย่างยูเนสโกจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศและจรรยาบรรณเพื่อการสะกัดกันการลักลอบและการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการส่งเสริมมาตรการป้องกัน เช่น การจัดทำทะเบียนวัตถุ และในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในการส่งคืนวัตถุ   อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ   2.1. การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในกรณีสงคราม   องค์การยูเนสโกได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมกรณีพิพาททางอาวุธ ค.ศ. 1954 และ พิธีสาร ค.ศ. 1954 และ ค.ศ. 1999 โดยมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้   ในกรณีสงคราม ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้าไปยึดครอง ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องเก็บรักษาและดูแลวัตถุทางวัฒนธรรมที่นำเข้ามาโดยตรงและโดยอ้อมจากประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ก็ตาม ในกรณีที่สงครามสงบแล้ว ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองที่พบในประเทศของตนแก่ทางการของประเทศที่เคยถูกยึดครอง   ข้อบังคับในการส่งคืนนี้จะใช้ทั้งในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ถูกส่งออกนอกประเทศต้นกำเนิดโดยผิดกฎหมาย และในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ภายใต้การดูแลรักษาในระหว่างสงครามจากประเทศที่เข้าเป็นภาคี พิธีสารยังเสริมอนุสัญญาระหว่างประเทศ ค.ศ. 1954 ในประเด็นที่สำคัญอีกสองประการคือ วัตถุทางวัฒนธรรมจะไม่สามารถถูกใช้เป็นค่าชดเชยสงคราม และประเทศที่เป็นผู้ยึดครองในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ในการสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้ายึดครอง จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ถือครองวัตถุที่บริสุทธิ์ใจและนำวัตถุนั้นส่งคืนแก่ประเทศที่ถูกยึดครองด้วย   2.2. การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมในยามสงบ   เมื่อภาวะการสงครามระหว่างประเทศมีน้อยลง ประกอบกับปรากฎการณ์ของการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการขุดค้นและการขโมยวัตถุทางวัฒนธรรมจากแหล่งโบราณคดีและจากสถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ และนำไปขายเปลี่ยนมือแบบข้ามชาติ องค์การยูเนสโกจึงได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การร่างอนุสัญญาและภายหลังการประกาศใช้อนุสัญญาฉบับนี้มาใช้ ยูเนสโกต้องประสบปัญหาอย่างหนักทั้งจากการคัดค้านและกดดันจากประเทศมหาอำนาจที่มักจะเป็นประเทศที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ อยู่ในประเทศของตน รวมทั้งการทำความเข้าใจกับประเทศเล็กๆ ที่มักจะเป็นผู้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรม   อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาบุกเบิกในเรื่องการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพราะเดิมทีการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมักไม่สามารถปฏิบัติตามมาตราการทางกฎหมายด้วยเหตุผล 2 ประการคือ กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของบางประเทศที่มักจะลดสถานะของวัตถุทางวัฒนธรรมลงเป็นเพียงวัตถุธรรมดาที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เนื้อหาของกฎหมายมักสนับสนุนเสรีภาพของการไหลเวียนของวัตถุและให้การคุ้มครองแก่ผู้ครอบครองที่บริสุทธิ์ใจ   ฉะนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศเป็นไปได้ อนุสัญญา ค.ศ. 1970 มาตรา 7 จึงกล่าวถึง หน้าที่ของรัฐภาคีผู้ครอบครองวัตถุและได้รับการร้องขอในการส่งคืนวัตถุ จะต้องติดต่อและส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมบางประเภทแก่ประเทศต้นกำเนิด ภายหลังการดำเนินการเจรจาทางการฑูตกับประเทศผู้ร้องขอ (รัฐภาคีต้นกำเนิด) และประเทศผู้ร้องขอจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือครองที่บริสุทธิ์ใจหรือถูกต้องตามกฎหมาย   ประเด็นเรื่องค่าชดเชยที่เหมาะสมแก่ผู้ถือครองที่บริสุทธ์ใจหรือถูกต้องทางกฎหมายนี้เอง ทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการลักลอบการค้าวัตถุทางวัฒนธรรม ทำให้หลายประเทศดังกล่าว รวมทั้งไทย เกิดความลังเลใจในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ จุดยืนที่นำมาใช้ในการตอบโต้ต่อเนื้อหาในอนุสัญญาดังกล่าวมีอยู่ว่า ทำไมประเทศที่ยากจนและตกเป็นเหยื่อจะต้องหาเงินไปจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการแลกเอาวัตถุทางวัฒนธรรมที่ตนต้องสูญเสียไป นอกจากเงินชดเชยแล้ว การส่งคืนวัตถุทางวัตนธรรมกลับคืนย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย ทั้งค่าขนส่ง ค่าประกัน ตลอดจนการจัดเตรียมสถานที่ จนทำให้มีตัวแทนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมคืนแก่ประเทศดั้งเดิม   อนึ่ง แม้ว่า มาตรา 7 ในอนุสัญญาฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม แต่อนุสัญญาจะสามารถปฏิบัติได้จริงต่อเมื่อกฎหมายภายในแต่ละประเทศภาคีนั้นเปิดโอกาสให้กระทำได้ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่บรรจุอยู่ในโครงการการพัฒนากฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน   สำหรับอนุสัญญา ค.ศ. 1970 คำว่า วัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย นั้นหมายรวมถึง   วัตถุที่ไม่มีใบอนุญาตการส่งออกจากประเทศต้นกำเนิด การซื้อหรือการนำเข้าวัตถุที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ จากสถานที่สาธารณะของพลเรือนและของศาสนา หรือสถาบันอื่นๆ ที่คล้ายคลึงของประเทศภาคี และมีการส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย การส่งออกหรือการเปลี่ยนแปลงการครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมโดยใช้กำลัง อันเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเข้ายึดครองของต่างชาติ   อนุสัญญานี้ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังและปัจจุบันนี้มีประเทศที่เป็นภาคีแล้ว 106 ประเทศ ซึ่งรวมประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ประเทศเหล่านี้มักถูกประนามจากเวทีโลกว่าเป็นประเทศผู้บริโภควัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ ในที่นี้มีเพียงฝรั่งเศสเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน ซึ่งตอนนี้ทางองค์การยูเนสโกก็กำลังคาดหวังกับการเข้าเป็นภาคีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเปลี่ยนมือที่สำคัญของขบวนการการค้าวัตถุทางวัฒนธรรมอยู่เช่นกัน   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ยังไม่ให้สัตยาบัน แต่การเข้าเป็นภาคีก็มีส่วนทำให้เกิดกรณีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมแก่ประเทศต้นกำเนิด ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวและที่เคยเป็นข่าวกันประมาณ 8 ปีมาแล้วคือ กรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งคืนประติมากรรมเศียรนาคแก่ประเทศไทยในปี ค.ศ. 1997 ประติมากรรมนี้เคยเป็นส่วนประดับของปราสาทพนมรุ้ง แต่ถูกนำเอาออกไปนอกประเทศไทยโดยทหารอเมริกันในช่วงที่อเมริกายังมีฐานทัพอยู่ในภูมิภาคราว ค.ศ. 1972 และ 1973 กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้สอบสวนจนสามารถสาวถึงผู้ที่ถือครองและทำพิธีส่งมอบคืนแก่ประเทศไทย ในครั้งนั้นเอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า การส่งคืนครั้งนี้เป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา 1970 ของยูเนสโก ซึ่งประเทศที่เป็นภาคีจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งกลับวัตถุทางวัฒนธรรมที่ได้มาโดยมิชอบคืนแก่ประเทศที่มา   2.3. การประสานงานกับสถาบันนานาชาติเพื่อเอกภาพของกฎหมายเอกชน (UNIDROIT)   ยูเนสโกได้ติดต่อยูนิดรัวท์ เพื่อการจัดทำ อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมหรือส่งออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้ตั้งค.ศ. 1995 เรามักเรียกกันสั้นๆว่า อนุสัญญา UNIDROIT อนุสัญญาฉบับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอนุสัญญาที่เสริมกันกับอนุสัญญาของยูเนสโก ค.ศ. 1970 นั่นคือ ขณะที่อนุสัญญา ค.ศ. 1970 เป็นอนุสัญญาระหว่างรัฐบาล อนุสัญญา UNIDROIT นั้นเปิดโอกาสให้ทั้งรัฐหรือบุคคลอื่นๆที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ รัฐและเอกชนสามารถไปร้องเรียนต่อศาลในต่างประเทศได้ อนุสัญญา UNIDROIT จะอุดช่องโหว่ในเรื่องการคืนสมบัติวัฒนธรรม ที่มักจะไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องจากกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ   อนุสัญญา UNIDROIT จะให้ประโยชน์แก่การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ มากกว่าสิทธิในการถือครอง อย่างไรก็ตาม ผู้ถือครองสามารถได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมหากสามารถพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจในขณะที่เข้าถือครองของวัตถุทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้   นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ขยายบทบาทในฐานะที่เป็นองค์กรเพื่อการต่อสู้กับการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม โดยมีการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ค.ศ. 2001 ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายที่สำคัญคือ การให้รัฐภาคีออกมาตราการทางกฎหมายเพื่อการสะกัดกั้นการนำเข้า การค้า และการถือครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้นํ้าที่ถูกส่งออกนอกประเทศโดยมิชอบ เป็นต้น   3. ด้านองค์กร : การจัดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ก่อนการประกาศอนุสัญญายูเนสโก ค.ศ. 1970 กำเนิดมาจาก การประชุมคณะทำงาน โดยความเห็นชอบขององค์การยูเนสโกที่ กรุงเวนีส ในปี ค.ศ. 1976 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกนำออกไปในช่วงการเข้ายึดครองโดยกำลังของต่างชาติและในช่วงสมัยอาณานิคม กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด ข้อสรุปสำคัญจากการประชุมคือ ควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการประสานในการเจรจา การหาข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมทั้งเสนอทางออกที่เป็นไปได้เพื่อการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   องค์การยูเนสโกจึงได้มีมติให้จัดตั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ประกอบด้วยสมาชิก 22 คนซึ่งได้รับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก และมีการประชุมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี บทบาทของคณะกรรมการนี้ เป็นเสมือนคณะที่ปรึกษา และเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจา แต่มิใช่องค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งบังคับให้คืนวัตถุทางวัฒนธรรม   ในปี ค.ศ. 1981 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ได้จัดทำแบบฟอร์มการร้องเรียนการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการจัดรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นมาตราฐานสำหรับการนำเสนอต่อคณะที่ประชุม และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในกรณีมีการเปิดการเจรจาระหว่างคู่กรณี   ตัวอย่างผลงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ เช่น กรณีการดูแลการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่เก็บรักษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาแก่พิพิธภัณฑ์ Corinthe ในประเทศกรีก การส่งคืนผ้าโบราณที่มีการนำเข้าโดยผิดกฎหมายในประเทศแคนนาดาคืนแก่ประเทศโบลีเวีย หรือ เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการฯ ก็รับเรื่องคำร้องของตัวแทนจากประเทศกรีกต่อประเทศอังกฤษ ในการส่งคืนประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนที่ถูกนำเอาไปไว้ที่ประเทศอังกฤษราวต้นคริสตศตวรรษที่ 19 รวมทั้งกรณีคำร้องของประเทศตุรกีในการส่งคืนสฟิงค์ Boguskoy ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งเบอร์ลิน แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอ ผลการเจรจาและติดตามความคืบหน้ากันต่อไป   4. ด้านการเงิน : การจัดตั้งกองทุนเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1978 ได้เห็นชอบกับผลการศึกษาในเรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีทางในการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมเพื่อการรวบรวมมรดกที่กระจัดกระจายโดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศจัดทำการศึกษาข้างต้น เพื่อการจัดตั้งกองทุนในการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   จนปี คศ. 1999 คณะกรรมการจึงได้จัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เงินกองทุนจะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกและภาคเอกชน เป้าหมายของกองทุนนี้ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการตรวจสอบวัตถุทางวัฒนธรรมจากผู้เชี่ยวชาญ การขนส่ง ค่าประกัน รวมทั้งการติดตั้งที่ได้มาตราฐานเพื่อการจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่จะส่งคืน รวมทั้งการจัดอบรมเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศต้นกำเนิดด้วย จะสังเกตได้ว่า นโยบายของกองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เงินแก่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกในการนำไปใช้เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ผู้ครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์ใจแต่อย่างใด แต่เป็นกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือและให้บริการในด้านเทคนิคและการอบรม รวมทั้งให้การสนับสนุนอื่นๆ อาจจะเป็นในรูปเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ   อนึ่ง หลักเกณฑ์การจัดทำโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากกองทุนฯ คือ ผู้ขอการสนับสนุนจะต้องดำเนินการในนามของรัฐบาล ทั้งนี้วัตถุนั้นอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนก็ได้ วัตถุที่จะเรียกร้องกลับคืนจะต้องเป็นวัตถุที่ได้สูญเสียไปในช่วงอาณานิคม จากการยึดครองจากต่างชาติ หรือ จากการครอบครองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งยังเป็นวัตถุที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันทางจิตใจกับประชาชนของประเทศที่ยื่นคำร้อง เป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นวัตถุที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและการศึกษาของชาติ   นอกจากนี้ ประเทศที่ยื่นคำร้องในการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมจะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศนั้นจัดทำมาตราการต่างๆ ที่จริงจังในการต่อสู้กับขบวนการการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม หรือการวางนโยบายในการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ส่วนการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนจะมีขึ้นในวาระการประชุม แต่ในกรณีเร่งด่วน ประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศฯ สามารถอนุมัติเงินสนับสนุนได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ หรือปฏิเสธการขอการสนับสนุนและเลื่อนการพิจารณาสำหรับการประชุมครั้งถัดไป นอกจากหลักเกณฑ์พื้นฐานข้างต้นแล้ว ลำดับความสำคัญของการคัดเลือกโครงการขอรับการสนับสนุนจะเน้นไปที่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกที่มีการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมของตนอย่างมาก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา   บทสรุป   หากเราย้อนไปดูในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมิได้เคยใช้เทคนิคและขบวนการต่างๆ ขององค์การยูเนสโก เพื่อนำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหลวงพ่อศิลาและพระนารายณ์บรรธมสินธุ์ ต่างก็เป็นการเจราจาแบบทวิภาคีคือระหว่างไทยกับคู่กรณีโดยตรง หากแต่ในกรณีแรก ฝ่ายไทยได้จ่ายเงินซื้อวัตถุคืนจากผู้ครอบครอง และในกรณีหลัง ฝ่ายไทยใช้แรงกดดันผ่านสื่อและประชาชน จนทำให้สมาคมเอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาออกเงินซื้อคืนให้ไทย หรือในกรณีการส่งชุดเครื่องสังคโลกคืนไทยโดยสถาบันสมิทโซเนียนนั้น การส่งคืนวัตถุเป็นผลมาจากจรรยาบรรณของคนทำอาชีพพิพิธภัณฑ์   แต่เราคงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญขององค์การยูเนสโกกับการต่อสู้ขบวนการลักลอบขนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมในเวทีโลก เพราะ องค์การฯ ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นมาและปัญหามาช้านาน รวมทั้งการจัดทำมาตราการต่างๆ การจัดตั้งคณะทำงานและกองทุนช่วยเหลือ แต่มาตราการที่มีอยู่มักไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในประเทศไทยเท่าใดนัก ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลข้างต้นจะมีส่วนให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับทราบ และเข้าใจถึงปัญหาและมาตราการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติได้ชัดเจนขึ้น   --------------------------- ที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่ http://portal.unesco.org/ * จิรศรี บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและการจัดการวัฒนธรรม ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),38-47.  

พิพิธภัณฑ์ลาว: จินตนาการเรื่องชาติและความทรงจำทางประวัติศาตร์

21 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากจินตนาการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และเป็นสถานที่แสดงความทรงจำของชาติ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากสำนึกของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนในสำนึกดังกล่าวคือการรักษาไว้ซึ่ง "มรดก" (heritage) แม้บางครั้งมรดกที่ว่านั้นมีอายุเพียงแค่ไม่กี่สิบปี การพยายามอนุรักษ์มรดกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า "มรดก" ของพวกเขานั้นกำลังจะสูญสลายไปในไม่ช้านี้ รัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องพิพิธภัณฑ์และให้ความสำคัญในเรื่องของ "มรดก" โดยจินตนาการพิพิธภัณฑ์ของรัฐลาวสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (The Ecole Francaise d’Extreme Orient) ก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน ในปี ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งอินโดจีนขึ้น (Directorate of Museums and Historical Monuments of Indochina) เพื่อปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ทั่วอินโดจีน เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเวียงจันทน์ ฝรั่งเศสจึงเริ่มกระบวนการปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ธาตุหลวงและโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศลาว ต่อมาสถานที่ดังกล่าวเหล่านั้นถูกผนึกรวมเป็นชุดภาพสัญลักษณ์อาณานิคมฝรั่งเศส เหมือนว่าถ้าเห็นธาตุหลวงต้องนึกถึงลาว หรือเห็นนครวัดต้องนึกถึงกัมพูชา ต่อมาภายหลังชุดภาพสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วประเทศลาว อาทิ วัดเชียงทองเป็นตัวแทนของหลวงพระบาง ทุ่งไหหินเป็นตัวแทนของเชียงขวาง ธาตุอิงฮังเป็นตัวแทนของสะหวันนะเขต และวัดพูเป็นตัวแทนของจำปาศักดิ์ ธาตุหลวงเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ หรือในบางครั้งใช้ประตูชัยเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ การให้ความหมายของภาพชุด "มรดก" ลาวดังกล่าวยังพบอยู่ในธนบัตรและแสตมป์ ภาพตัวแทนที่ปรากฏในบริบทต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่ทรงอำนาจอย่างมากในการสร้างจินตนาการความเป็นชาติลาว ความเกี่ยวข้องของคนลาวเองในพิพิธภัณฑ์วิทยาเกิดขึ้นก็ เมื่อล่วงเข้าทศวรรษที่ 1930 เมื่อเจ้าสุวันนะพูมา (เจ้าสุวันนะพูมาเป็นโอรสองค์ที่สามของมหาอุปราชบุนคง(วังหน้าของกษัตริย์ ลาว) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ผู้แปล) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และได้เข้ามารับผิดชอบงานปฏิสังขรณ์หอพระแก้วในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย เจ้าสุวันนะพูมาได้เขียนไว้ในรายงานการปฏิสังขรณ์หอพระแก้วว่า "คนลาวแม้จะไม่ได้มั่งมีอะไรแต่เต็มใจที่จะทำบุญและบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซม ศาสนสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศของพวกเขา" 30 ปีให้หลังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติการบูรณะหอพระแก้ว แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแต่อย่างใด "หอพระแก้วได้รับการปฏิสังขรณ์โดยคนลาวเอง และไม่ใช่เป็นความภาคภูมิเพียงเล็กน้อยสำหรับฉัน(เจ้าสุวันนะพูมา-ผู้แปล) ต่อเกียรติภูมิของหอพระแก้วที่เป็นจุดศูนย์รวมใจของเพื่อนรวมชาติ แต่การบูรณะหอพระแก้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติลาว" (ปัจจุบันหอพระแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป กลองสำริด -ผู้แปล) ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกเน้นย้ำและตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัย อาณานิคมเสียใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติในกลุ่มลัทธิหลังอาณานิคม แม้กระทั่งหลังปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธาตุ หลวงที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ไม่กล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ที่ทำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ผลงานที่ระบอบเก่าเคยทำก็ถูกขับออกไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐบาลในระบอบใหม่ในปี ค.ศ.1980 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว(Lao Museum of the Revolution) ก่อตั้งขึ้นภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม เมื่อนโยบายจินตนาการใหม่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจากแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดลง การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันมีน้อยลง นิทรรศการแสดงความขัดแย้งทางพรมแดนไทย-ลาวที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เริ่มลดน้อยลง(กรณีบ้านร่มเกล้าและสามหมู่บ้าน-ผู้แปล) คนลาวจำนวนไม่มากนักที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนดูส่วนหนึ่งคือเด็กนักเรียนและสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรุ่นเยาว์ที่ถูกเกณฑ์มาชม กลุ่มผู้ชมที่ดูจะกระตือรือล้นในการเข้าชมดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ในสายตาของคนไทยประเทศลาวคือความเป็นอื่น คนไทยต้องการสัมผัสกับคอมมิวนิสต์จริง ๆ หลังจากที่เคยได้ยินแต่การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ แม้คนไทยจะเห็นว่าวัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ของลาวคล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเห็นว่าพัฒนาการชาติลาวและการประสานรวมความเป็นชาติลาวแตกต่างจากไทยอย่างไร ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ" (Lao National Museum)ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" ตั้งอยู่ชานกรุงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสถานที่ดำรงรักษา ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปหัตถกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว อย่างไรก็ดีเมื่อพิพิธภัณฑ์นี้เปิด มันกลับกลายเป็นสถานที่ปิกนิกและพักผ่อนหย่อนใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยวชาวไทยไป ด้านหนึ่งทำเป็นสวนสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่าในลาวมาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" แต่ทั้งที่อ้างตั้งแต่แรกก่อสร้างว่า "วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างในสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านลาวสูงและลาวเทิงกลับมีส่วนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีแต่เพียงบ้านของลาวลุ่มเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น นัยหนึ่งที่สวนแห่งนี้จัดให้มีสวนสัตว์ ศูนย์แสดงรูปจำลองไดโนเสาร์ (เป็นการอ้างถึงว่ามีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในแขวงสะหวันนะเขต) และบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในบริเวณเดียวกัน จึงคล้ายกับเป็นสิ่งยืนยันอคติในส่วนลึกที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวกที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) และล้าหลัง (backward)กล่าวได้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในลาวเกิด ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมืองได้รับการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวได้ กล่าวถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวงว่าเป็นผู้มีส่วนในการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานในหลวงพระบางหลังจากถูกทำลายในศตวรรษที่ 19 (จากศึกฮ่อ-ผู้แปล) แม้เป็นการกล่าวถึงอย่างรวบรัด แต่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์กลายเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของรัฐบาลลาว ในระบอบใหม่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเลือกตีความหรือกีดกันบทบาทของ กษัตริย์เมื่อต้องเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบางแปลและเรียบเรียงจาก Evans, Grant. 1998. "Statue and Museums." in The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books, pp. 114-128.

การเชื่อมโยงอดีตและอนาคต ท่ามกลางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์เอเชีย 4 แห่ง(บทความแปล)

23 สิงหาคม 2556

แปลจากบทความ Caroline Turner. "Linking Past and Future: Cultural Exchanges and Cross-Cultural Engagement in Four Asian Museums" . Humanities Research. Vol.IX. No.1,2002. โดยวรวรรณ  กัลยาณมิตร ช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 เอเชียเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในหัวข้อนี้เราจะมาดูกันว่าพิพิธภัณฑ์ในเอเชียทั้ง 4 แห่ง (2 แห่งในญี่ปุ่นและ 2 แห่งในจีน) จะนำกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเข้ามาใช้ในงานนิทรรศการและการจัดการงานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ไม่ละทิ้งการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับอนาคตเพื่อการเรียนรู้ภายในชุมชนด้วย นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 จะเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์อย่างไร และพิพิธภัณฑ์จะสามารถผลิตผลงานอันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่เป็นสากล รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศในลักษณะที่ไม่มีอคติได้อย่างไร ในเวลานี้พิพิธภัณฑ์ทั้งตะวันออกและตะวันตกกำลังเผชิญอยู่กับกระแสอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติและบางครั้งยังรวมถึงเรื่องสังคมและวัฒนธรรมของคนในชาติที่จะต้องเหมือน ๆ กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ Enshrined กล่าวว่าวัฒนธรรมกระแสหลักและมุมมองด้านชาติพันธุ์ที่เอาแต่มุ่งไปสู่เรื่อง “ความเป็นอื่น” โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โดยมากแล้วเป็นปัจจัยที่ร่างภาพของวัฒนธรรมในปัจจุบัน รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหายุ่งยากของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ออสเตรเลีย คือเรื่องการผสมผสานกลุ่มชนดั้งเดิมเข้าด้วยกัน ภายในกรอบแนวคิดเรื่องสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย แม้ว่าแนวคิดนี้จะได้รับการตระหนักมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม สำหรับพิพิธภัณฑ์ในเอเชียซึ่งเป็นจุดหลักของบทความนี้ เราจะพูดถึงการมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตเพื่อการเรียนรู้ของชุมชน และยังเปรียบเสมือนตัวแบบของการพัฒนาในด้านการจัดนิทรรศการที่คำนึงถึงวัฒนธรรมอื่น ๆ ในระดับสากล หรือวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ พิพิธภัณฑ์จะต้องเปรียบดั่งบริบทหนึ่งที่จะแปรรูปประวัติศาสตร์ให้ออกมาเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ได้ส่วนบทบาทของรัฐและชุมชนคือตัวชี้วัดที่จะบ่งถึงความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาผ่านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1952 เปรียบเหมือนผลิตผลของระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนแต่ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้ถูกก่อสร้างใหม่อีกครั้งในปี 1996 และแน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางวัฒนธรรมสากลของจีนในอนาคต พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสากล โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ว่าจะให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้นำของพิพิธภัณฑ์ศิลปะในจีนในศตวรรษที่ 21 ดีหรือไม่ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่น (Minpaku) โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น สร้างขึ้นในปี 1974 ในสมัยที่ญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและมีความมั่นใจที่จะก้าวเข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจระดับโลก และการท้าทายตะวัน ตกต่อประเด็นที่ว่าเอเชียนั้นด้อยทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวัตถุ ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ 20 จากพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก และยัง พัฒนานโยบายที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ในการนำเสนอเรื่องราวธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกูโอกะแห่งใหม่ที่เปิดเมื่อปี 1990 ถือเป็นผลิตผลในยุคหลังสมัยใหม่ของญี่ปุ่น โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่บุกเบิกการให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเอเชียอย่างเป็นสากล รวมทั้งการพัฒนาศิลปะเอเชียใหม่ๆ ด้วย พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ : นกหงส์ไฟแห่งเอเชีย หากพูดถึงเอเชียในศตวรรษที่ 21 แล้วคงไม่มีที่ใดเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากร 19 ล้านคนซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของจีน บ้างก็ว่าเมืองนี้เปรียบได้กับไข่มุกแห่งเอเชีย และนอกจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่เปิดเมื่อปี 1996 ถือเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่เหมาะสมยิ่งของเซี่ยงไฮ้ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้นี้ก่อสร้างขึ้นโดยความเห็นชอบของนายกเทศมนตรีเชนหยีในปี 1952 โดย Jason Kaufman ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปี 1996 ลงใน Art Newspaper ได้ระบุว่าสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จำนวนมากมาจากต่างประเทศ เนื่องจากวัตถุหลายชิ้นถูกขายออกนอกประเทศไปในราคาถูกๆ วัตถุทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายไปที่ไต้หวัน ต่อมาเมื่อมีการค้นพบทางโบราณคดีจึงทำให้เกิดการประสานงานระหว่างพิพิธภัณฑ์ในจีนพิพิธภัณฑ์ในฮ่องกงและแม้แต่พิพิธภัณฑ์ของตะวันตก อาคารของพิพิธภัณฑ์ได้รับการออกแบบโดยสถาบันสถาปัตยกรรมเซี่ยงไฮ้ โดยเงินลงทุนในการก่อสร้างส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หากพิจารณาตัวอาคารแล้วจะพบว่าเป็นอาคารสัณฐานกลมตั้งอยู่บนฐานรูป สี่เหลี่ยม อันสะท้อนให้เห็นถึงหลักปรัชญาของชาวจีนที่เชื่อว่าโลกของเราเป็นสี่เหลี่ยมและอยู่ใต้สวรรค์ที่เป็นวงกลม ในปี 1990 พิพิธภัณฑ์มีความเป็นอิสระมากขึ้นในการทำงานร่วมกับต่างชาติ นอกจากนี้ วัตถุที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มีความเป็นสากลและมีส่วนในการขยายงานวิจัยและงานทางวิชาการอันจะนำไปสู่การอธิบายถึงตัววัตถุนั้นๆ ได้ หากเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ก่อนที่จะมีการปรับปรุง ผู้ชมพบแต่ความเสื่อมโทรมและสกปรก ซึ่งถือเป็นลักษณะทั่วไปขององค์กรอยู่ในความดูแลของรัฐ นอกจากนี้การนำเสนอเรื่องราวที่มีคุณภาพหรืองานในแวดวงวิชาการออกสู่สาธารณชนก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากภัณฑารักษ์หรือเจ้าหน้าที่มากนัก ดร. หม่าเชงหยวน ผู้ดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1984 และเป็นบุคคลที่ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ขึ้นในเวลาต่อมา บอกกับเราว่า ในระยะของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน เขาถูกกลุ่ม Red Guards จับตัวไปและกักขังไว้ในพิพิธภัณฑ์นานหลายเดือนเนื่องจากถูกต้องสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายศัตรู อย่างไรก็ตาม กลุ่มRed Guards ไม่ต้องการที่จะทำลายวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ต้องพบกับความผันผวนทางการเมืองมาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ดร.หม่าคงเริ่มวางแผนการปรับปรุงและเปิดพิพิธภัณฑ์อีกครั้งในปี 1996 เนื่องมาจากที่เขาได้มีโอกาสดูแลการค้นพบทางโบราณคดี และกระแสการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ในปัจจุบันได้รับการพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนแปลงสูงและเติบโตขึ้นมาในช่วงยุ่งยากอย่างสูง เพราะอิทธิพลของงานพิพิธภัณฑ์ในระดับโลกที่มุ่งเน้นความเป็นสากลผ่านการจัดนิทรรศการมาตั้งแต่ปี 1980 ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มีวัตถุที่จัดแสดงกว่า 120,000 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็น 11 ห้องจัดแสดงถาวร ซึ่งแต่ละห้องก็ล้วนแล้วแต่มีของที่น่าสนใจ รวมทั้งยังมีการใช้เทคนิคและการจัดแสงไฟที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในโลก แต่ทว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเอเชียยังคงสลัดภาพลักษณ์ที่แข็งทื่อและโบราณออกไป ไม่ได้เสียทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าแม้วัตถุที่นำมาจัดแสดงจะทรงคุณค่า แต่นำไปใช้ในการตีความหรือต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยได้เพียงเล็กน้อยเท่า นั้น ด้วยเหตุนี้พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้จึงแก้ไขปัญหาด้วยการจัดสถานที่สำหรับเป็น ห้องสมุด และพื้นที่สำหรับงานวิจัย อันประกอบด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับงานวิจัยครบครัน นอกจากนี้ยังถือว่าการให้ความรู้และฝึกอบรมเป็นภารกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ได้ส่งผลงานนิทรรศการไปร่วมแสดงยังต่างประเทศ อันถือเป็นความพยายามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าในวงวิชาการได้ การดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นภารกิจหลักของพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 1980 ด้วย อย่างไรก็ตามการจัดแสดงในต่างประเทศต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและกรอบแนวคิดเรื่องชาติ ยกตัวอย่างเช่น การใช้สีขาวและดำเพื่อแสดงพรมแดนแผนที่ของจีนกับไต้หวันแทนการใช้สีที่แตกต่าง เพื่อจะได้ไม่ต้องระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ เป็นต้น ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่ได้รับความสนใจมากคือ พื้นที่ในการจัดแสดงศิลปะของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งไม่อาจจัดแยกออกมาเป็นเอกเทศ แต่มักจะรวมอยู่ในการจัดแสดงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะในห้องที่นำเสนอเกี่ยวกับยุคสำริด ดร.หม่าเป็นผู้ริเริ่มนโยบายการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งแว่นแคว้นที่เป็นอิสระและอยู่รายล้อมจีนอย่างเช่น ซินเจียง มองโกเลียและธิเบต โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอความเป็นจริงทางวัฒนธรรม หรือนำเสนอภาพเพื่อจะนำไปสู่ความปรองดองกันในทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้เป็นผู้นำในด้านการเปิดมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์อิสระต่างๆ ให้กับพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ในจีน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคตะวันตกของจีนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มชนที่อยู่ภาคตะวันออกอย่างเซี่ยงไฮ้มากนัก โดยรวมแล้วพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้มุ่งจุดสนใจไปที่การแลกเปลี่ยนอย่างมีพลวัตตลอดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีน เนื้อหาสาระในพิพิธภัณฑ์กล่าวถึงบริบททางวัฒนธรรมของจีนกว่า 4,000 ปี อันเป็นการให้ความสำคัญกับอดีตที่สามารถเชื่อมโยงกับปัจจุบันและอนาคตได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ใครก็ตามที่รู้จักอดีตเขาคนนั้นก็จะกำหนดอนาคตได้” นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการวิจัยและค้นคว้า ทาวิชาการ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ของวิชาการ อันหมายถึงการดำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายด้วย พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้และงานแสดงศิลปะ : ณ ทางแยก ถ้าหากว่าพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้คือการผสมผสานกันระหว่างอดีตและอนาคต พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ก็ถือเป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลายภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความคิดที่จะรวบรวมศิลปินในยุคปัจจุบันเพื่อแสวงหาแนวทางร่วมกันในการนำเสนอความซับซ้อนของงานศิลปะร่วมสมัย นอกจากนี้การแสดงงานศิลปะแห่งเซี่ยงไฮ้ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2006 ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอแนวทางแห่งศิลปะจีนยุคใหม่ ถึงแม้ว่าจีนจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใดอย่างสมบูรณ์ แต่ความเจ็บปวดจากการสงครามที่เกิดขึ้นจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจลบเลือนไปได้ นับแต่นั้นเซี่ยงไฮ้จัดว่าเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอิทธิพลทางการค้าของตะวันตกและญี่ปุ่นที่แผ่กระจายเข้ามาจนสิ้นสุดลงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง แม้แต่การเปิดแสดงงานศิลปะ 2000 ซึ่งนับว่าเป็นการนำเสนอแนวทางการจัดแสดงศิลปะแนวใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์นั้น ก็ยังจัดขึ้นในพื้นที่ของห้องสมุดศิลปะที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นยุคอิทธิพลต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาหลังยุคอาณานิคมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมงานศิลปะของจีน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของงานศิลปะแบบเซี่ยงไฮ้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อีกด้วย ส่วนการแสดงศิลปะเซี่ยงไฮ้ครั้งที่ 3 ยังได้รวบรวมการนำเสนอผลงานผ่านดาวเทียม เพื่อตอบสนองกระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งการแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นในโลกสมัยหลังอาณานิคม ด้วยเหตุนี้ การแสดงในครั้งดังกล่าวเป็นที่รู้จักของภัณฑารักษ์ชาวต่างประเทศอย่างรวดเร็ว และยังทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเมืองสำคัญในสายตาของพวกเขาด้วย การจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์แต่ละครั้งมักจะเป็นการร่วมงานกันของภัณฑารักษ์จากหลายประเทศรวมทั้งจากเซี่ยงไฮ้เองด้วย อย่างไรก็ตามหัวหน้าทีมงานยังคงเป็น ฟางเซงเสียน ภัณฑารักษ์ชาวจีน โดยมีผู้ร่วมทีมเป็นชาวญี่ปุ่นรวมทั้งภัณฑารักษ์ชาวจีนที่ไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอย่าง หัวฮั่นหลู ร่วมงานด้วย ลักษณะการทำงานเช่นนี้เท่ากับเป็นการลบล้างความคิดเกี่ยวกับว่า ใครคือผู้ครอบครองและมีอิทธิพลต่องานศิลปะจีนเพราะทุกชาติต่างก็มีส่วนร่วมในการจัดแสดงศิลปะจีนได้เท่าๆ กัน แม้กระนั้นก็เป็นที่น่าสนใจว่า ศิลปินส่วนมากที่มีผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นชาวจีน รองลงมาคือญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีศิลปินจากชาติอื่นในเอเชียบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ด้วยความพยายามดึงชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมงานนี้เอง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในการเปิดพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปะ 2000 อย่างเป็นทางการ กล่าวคือ มีการกีดกันไม่ให้ชาวจีนบางส่วนเข้าร่วมงาน ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากมาย แต่จากรายละเอียดในบทความ “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้จะต้องไม่กลายเป็นตลาดแสดงศิลปะจีนโดยการนำของชาวตะวันตก” ของ วังหนานหมิง ระบุว่า โลกตะวันตกอาจจะกดดันงานศิลปะของจีนเพื่อให้ยอมตามภาพลักษณ์ที่พวกเขาวาดไว้ให้ อย่างที่แสดงให้เห็นแล้วในงานเปิดพิพิธภัณฑ์ ทำให้สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคืองานศิลปะของจีนจะต้องไม่ใช่สินค้าในตลาดของชาวตะวันตก ดังนั้นการจัดแสดงศิลปะการหลุดพ้นจากการยึดตะวันตกเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งการพยายามเข้าหากระแสชาตินิยมให้มากขึ้นด้วยอย่างที่หัวฮั่นหลูได้แสดงความเห็นสำคัญไว้ว่า “ในโลกยุคหลังสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้ถูกมองว่ามีหน้าที่ในการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าด้วยกัน โดยไม่มีสังคมแบบตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นกระแสความเป็นตะวันออกที่ทันสมัยจึงเป็นบริบทที่การแสดงศิลปะเซี่ยงไฮ้ต้องเลือกมาใช้ ทำให้หลายคนมองว่าการแสดงงานศิลปะนี้มีความน่าสนใจและแตกต่างจากการแสดงศิลปะร่วมสมัยของนานาประเทศ หรือแม้แต่การแสดงงานศิลปะของจีนเองก็ตาม อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินคนหนึ่งที่เข้าร่วมการจัดแสดงงานศิลปะดังกล่าว ระบุไว้ในงานเขียนของเขาเมื่อปี 1997 ว่า ประวัติศาสตร์งานศิลปะสมัยใหม่ของจีน เป็นงานที่แสดงออกถึงการถูกทำลายตัวตนและจิตวิญญาณของตนเองอย่างเห็นได้ชัด เพราะการกลืนกลายทางวัฒนธรรมไปมาก โดยเฉพาะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นอ้ายเหว่ยเหว่ยจึงเป็นตัวแทนของศิลปินคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขความคิดเกี่ยวกับคุณค่าที่ทางจิตใจของงานศิลปะที่ตกต่ำ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับความอิสระและการแสดงแนวทางแบบชาตินิยมที่มีอยู่ในงานศิลปะจีน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่งานแสดงศิลปะของเซี่ยงไฮ้จะเป็นงานที่มีอิทธิพลต่องานแสดงศิลปะทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นนิมิตหมายใหม่แห่งการแสดงงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันด้วย ก้าวเข้าสู่กระแสโลก : พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งชาติ (Minpaku) โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1974บนพื้นที่ซึ่งเคยจัดงานโอซาก้า 1970 เวิลด์เอกซ์โปมาก่อน และเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1977 ด้วยการมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวในมุมมองด้านมานุษยวิทยาท้องถิ่นและชาติพันธุ์วิทยาเป็นสำคัญ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยอื่นๆ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ที่มีงานสถาปัตยกรรมอันน่าสนใจ อาคารของพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดย คิโชะคุโรคาวะ ที่จัดสร้างหลังคาให้เป็นแนวราบตามลักษณะหลังคาของสถาปัตยกรรมเฉพาะแบบญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งนี้มีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ที่นำเสนอแต่เรื่องราวของประเทศจีนในส่วนนิทรรศการถาวร และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของญี่ปุ่นหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Tohaku ที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนำเสนองานศิลปะตะวันออกรวมทั้งพระราชวังโบราณแบบต่างๆ Minpaku จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมวัฒนธรรมทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้และมีความตระหนักถึงความสำคัญในวัฒนธรรมอันแตกต่าง อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ไม่ได้เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์ทั่วไปที่นิยมจัดแบ่งการแสดงเรื่องราวทางชาติพันธุ์ออกเป็นลำดับชั้นแต่จะเน้นที่การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่าวัฒนธรรมเมือแบบสมัยใหม่ อีกทั้งยังพยายามลดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอันสืบเนื่องมาจากเรื่องราวทาง ประวัติศาสตร์ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าของชาวญี่ปุ่น นอกจากนี้ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์คือการให้ความรู้กับประชาชนในทุกถิ่นที่ของญี่ปุ่น ทำให้การจัดการประชุมทางวิชาการเป็นกิจกรรมสำคัญของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้ปรารภถึงบทบาทของสารคดีทางโทรทัศน์ที่มีมากขึ้น อันถือเป็นข้อยุ่งยากประการสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ แต่กระนั้นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นได้เปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานด้วยการมุ่งเน้นที่สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประเทศเกาหลีและวิถีชีวิตของชาวเกาหลีเมื่อครั้งที่เกาหลีและญี่ปุ่นร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดฟุตบอลโลก ซึ่งการจัดนิทรรศการเช่นนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกาหลีต้องตกเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้เกิดการส่งเสริมความเท่าเทียมกันให้แก่คนเกาหลีส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ในญี่ปุ่นด้วยจากตัวอย่างนี้คงพอทำให้เราเห็นภาพได้บ้างว่าการจัดนิทรรศการและการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความท้าทายต่อการบันทึกและบอกเล่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร เราพอทราบกันแล้วว่าการผูกติดอยู่กับกระแสแนวคิดชาติ ที่พยายามให้สังคมมีวัฒนธรรมเหมือน ๆ กันหมด ประกอบกับการให้คุณค่าในวัฒนธรรมกระแสหลักและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักจะถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” นั้นมีอิทธิพลต่องานพิพิธภัณฑ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงวัฒนธรรมในปัจจุบันบ้างไม่มากก็น้อย พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นพยายามให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไอนุ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่มีจำนวนไม่มากนักในประเทศญี่ปุ่น ทางพิพิธภัณฑ์ได้เชิญชาวไอนุจำนวนหนึ่งที่เป็นทั้งศิลปินและนักกิจกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้วย ไม่ได้เป็นเพียงแค่การดำเนินงานกันเฉพาะภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น การดำเนินงานเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ รวมทั้งทำให้พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าเชิงนโยบายมากกว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในโลก พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศิลปะและงานชาติพันธุ์ รวมทั้งความหมายของงานชาติพันธุ์วิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาในบริบทของศตวรรษที่ 21 ด้วย เนื่องจากพิพิธภัณฑ์บางแห่งในศตวรรษที่ 19 ยังคงมีลักษณะของแนวคิดแบบอาณานิคมแฝงอยู่ อย่างไรก็ตามแม้แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองกลับมีความคิดแบบชาวตะวันตกที่มักจะมองคนชาติอื่นว่าล้าหลังและแปลกประหลาด ดังนั้นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงพยายามที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะแบบญี่ปุ่นกับลักษณะแบบตะวันตกรวมทั้งการแสดงภาพที่มีพลวัตไม่หยุดนิ่งตายตัวของวัฒนธรรมด้วยด้วยเหตุนี้ความรู้สึกเมื่อได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นคือ การเปิดมุมมองที่สามารถสัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลายได้ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่มากความสามารถของพิพิธภัณฑ์ และมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนเป็นสำคัญ สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง : พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะและการแสดงศิลปะฟูกุโอกะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1999 โดยเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งฟูกุโอกะ ตั้งอยู่บนชั้นที่ 7 และ 8 ของอาคาร Hakata Riverain Complex ในย่านธุรกิจที่มีชื่อเสียงของคาวาบาตะ พิพิธภัณฑ์รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของเอเชียจากการแสดงงานศิลปะเอเชียที่มีชื่อเสียงซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1970 – 1980 งานศิลปะที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใช้เวลาในการรวบรวมมากว่า 20 ปี โดยจัดเป็นงานศิลปะเอเชียที่มีคุณค่าในระดับโลกเลยทีเดียวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่ทันสมัย สื่อโสตทัศนศึกษาและศูนย์การวิจัย อันนับเป็นภารกิจหนึ่งที่มุ่งจะให้ศิลปินเอเชียมีความชำนาญในงานศิลปะของตนมากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านศิลปะให้กับชุมชน โรงเรียนและเด็กๆ ด้วย การจัดแสดงงานศิลปะแห่งฟูกุโอกะที่จัดขึ้นทุก 3 ปีได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งกองทุนญี่ปุ่นที่ภายหลังกลายมาเป็น กองทุนญี่ปุ่นแห่งเอเชียที่ก่อตั้งขึ้นในเมืองโตเกียวเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา การก่อตั้งกองทุนนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนทัศนคติของชาวญี่ปุ่นจากที่เคยมองว่าตนเองเหนือกว่าชาติอื่นในเอเชีย ตามแบบที่อังกฤษมองชาติอื่นในยุโรป มาเป็นการมองว่าญี่ปุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย ทำให้กองทุนแห่งนี้พร้อมที่จะให้การสนับสนุนงานศิลปะทั้งในด้านการจัดนิทรรศการและการประชุมของประเทศต่างๆ ในเอเชียอย่างเต็มใจ ดังนั้นการจัดแสดงงานศิลปะแห่งฟูกุโอกะจึงเป็นเวทีหนึ่งในการแสดงออกว่าญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียและการผสมผสานกับศิลปะเอเชียอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมัครสมานปรองดองกันมากขึ้น มาซาฮิโร โยชิโรซึจิ หัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแสดงศิลปะเอเชียแนวใหม่ ได้มุ่งเน้นว่าศิลปะเอเชียมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ตนเองหลุดออกมาจากกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่รับมาจากยุโรป โดยสิ่งสำคัญคือการกลับไปตั้งคำถามเกี่ยวกับการพยายามทำให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางของระบบคุณค่าที่มีอิทธิพลต่อระบบคุณค่าของงานศิลปะในเอเชียไปด้วย อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้คงจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อปรับให้เข้ากับระบบสังคมและการเมืองของญี่ปุ่น แม้ว่าการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดนัก แต่วัตถุประสงค์ประการหนึ่งที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตที่เชื่อมโยงสังคมเพื่อการร่างภาพในอนาคตของชุมชนที่เต็มไปด้วยลักษณะความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวโดยสรุปแล้วพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 แห่งมุ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดการจัดการพิพิธภัณฑ์แบบตะวันออกทั้งในส่วนของการทำให้ความเป็นตะวันออกได้รับการพัฒนา รวมทั้งการศึกษาข้ามวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดพยายามเชื่อมโยงลักษณะแบบเอเชียเข้ากับแนวทางการจัดพิพิธภัณฑ์สากลที่ให้ ความสำคัญมากไปกว่าการยึดติดกับพื้นที่ทางกายภาพ พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ถือเป็นศูนย์กลางของการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ถาวร รวมทั้งการวิจัยและจัดแสดงวัฒนธรรมในอดีตที่มีความเชื่อมโยงกับปัจจุบัน ตลอดจนการนำเสนอเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมุ่งเน้นที่การปฏิสัมพันธ์อันเท่าเทียมกัน พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งญี่ปุ่นพยายามลบภาพวัฒนธรรมที่ม่เปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมที่มีชีวิตโดยผ่านกระบวนการของการตัดสินร่วมกันของชนทุกกลุ่มในวัฒนธรรมนั้น ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเซี่ยงไฮ้ ได้ให้ความสำคัญระหว่างความเป็นสากลกับความเป็นท้องถิ่นแบบจีนอันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้นำของพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั้งในจีนและในระดับสากล ด้วยการร่วมงานกันของศิลปินจากนานาประเทศในการจัดนิทรรศการ สำหรับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งฟูกุโอกะ ให้ความสำคัญกับลักษณะแบบสากลนิยมที่เข้ามามีอิทธิพลและควบคุมการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่มุ่งความโดดเดี่ยวของญี่ปุ่น ในการที่จะให้ความสนใจต่องานศิลปะของญี่ปุ่นในมุมมองแบบตะวันออกให้มากขึ้น หมายเหตุ ภาพประกอบจาก http://www.pbase.com/al309/museum http://www.minpaku.ac.jp http://faam.city.fukuoka.lg.jp/home  

"ภาพลักษณ์" เกย์-เลสเบี้ยน ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษ

25 มีนาคม 2556

หากมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเกย์-เลสเบี้ยนเกิดขึ้น คงมีไม่กี่แห่งที่นำเสนอชีวิตของเกย์-เลสเบี้ยนได้อย่างถูกต้องตามที่พวกเขาเป็นอยู่ในสังคม เหตุผลประการหนึ่ง คือ สังคมยังคงเกลียดและหวาดกลัวคนเหล่านี้ บทความนี้จะชี้ให้เห็นตัวอย่างการนำนิทรรศการที่เสนอภาพลักษณ์ของเกย์และเลสเบี้ยนในเชิงบวก รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าการทำงานของภัณฑารักษ์ยุ่งยากมากแค่ไหนต่อการเก็บข้อมูล และประชาชนมีปฏิกิริยาต่อนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์-เลสเบี้ยนอย่างไรบ้าง บทความนี้จะมุ่งศึกษาวิธีการของการเก็บสะสมข้อมูลหลักฐานต่างๆจากเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสควบคุมการนำเสนอภาพลักษณ์ของพวกเขาเอง   วัตถุหลักฐานของเกย์และเลสเบี้ยนในพิพิธภัณฑ์   ในปี ค.ศ. 1994 เกเบรียล เบิร์นได้ติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษ และถามว่าพิพิธภัณฑ์มีวัตถุหลักฐานอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยนเก็บไว้บ้าง เกเบรียลพบว่าพิพิธภัณฑ์ที่ไลเซสเตอร์มีหน้ากากของโจ ออร์ตัน และพิพิธภัณฑ์บางแห่งก็มีตราสัญลักษณ์ของชาวเกย์เลสเบี้ยน นอกจากนั้น ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ตมีเสื้อผ้าแนว "แฟชั่นท้องถนน" (street style) เก็บไว้หลายชุดเพื่อจัดทำนิทรรศการ และมีพิพิธภัณฑ์อีก 5 แห่งที่เก็บสะสมวัตถุในทำนองเดียวกันนี้ คือ กลาสโกว์, สโตค ออน เทร็น, แฮ็คนีย์, อีสลิงตัน และ เอ็นฟีลด์   6 ปี ต่อมา ผู้เขียนได้ติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างตน และพบว่าข้อมูลหลักฐานและวัตถุเกี่ยวกับเกย์ เลสเบี้ยนยังคงมีอยู่เท่าเดิม ยกเว้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอนจะมีของสะสมเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนประมาณ 50 รายการซึ่งถูกจัดแสดงในนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice พิพิธภัณฑ์ทีนและแวร์ คือพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวที่มีการเก็บสะสมวัตถุหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีโครงการที่ชื่อว่า "สร้างประวัติศาสตร์" (Making History) จึงทำให้มีการเก็บหลักฐานเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนร่วมด้วย โครงการดังกล่าวนี้ใช้เวลาหลายปีและมีคนเข้ามาร่วมประมาณ 200 คน แต่ละคนจะถูกขอให้บริจาคสิ่งของคนละ 5 อย่าง และสิ่งนั้นจะต้องสื่อความหมายหรือเป็นตัวแทนชีวิตของพวกเขา ในกลุ่มคนจำนวนนี้ จะมี 20 คนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล คนแปลงเพศ และคนที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับเพศตามธรรมชาติ   เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของสะสมทางประวัติศาสตร์สังคมของอังกฤษส่วนใหญ่ยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวแทนของชาวเกย์และเลสเบี้ยนมากนั้น มีภัณฑารักษ์ไม่กี่คนที่จะช่วยเก็บสิ่งของเหล่านี้ ภัณฑารักษ์มักจะอ้างเหตุผลที่แตกต่างกันไป บางคนมีความต้องการที่จะขอยืมวัตถุสิ่งเหล่านี้มาจากสมาคมและชมรมเกย์เลสเบี้ยนในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมวัตถุเหล่านี้จะเป็นอาสาสมัครที่ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงาน แม้แต่ในกลุ่มอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุดก็ยังมีอนาคตที่หล่อแหลม การยืมวัตถุสิ่งของในลักษณะนี้ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกย์และเลสเบี้ยน เพื่อที่จะคอยชี้นำว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ แต่กลุ่มอาสาสมัครส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อการเก็บสะสมวัตถุเหล่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือ ใครคือคนที่เหมาะสมสำหรับการทำหน้าที่จัดระเบียบวัตถุหลักฐานเหล่านี้   เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ในที่อื่นๆ เคยบอกว่าในพิพิธภัณฑ์ที่เขาทำงานอยู่มีวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน แต่สิ่งของเหล่านี้จะไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเกย์เลสเบี้ยน ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจำแนกวัตถุที่เป็นของเกย์และเลสเบี้ยน ในปี ค.ศ.1994 พิพิธภัณฑ์เอ็นฟีลด์ คือพิพิธภัณฑ์ที่มีการเก็บรวบรวมวัตถุที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ยังขาดความรู้เกี่ยวกับเกย์ พวกเขารู้จักแต่เพียงเสื้อผ้าและกางเกงยีนส์ของเกย์เท่านั้น วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงขาดข้อมูลและคำอธิบาย จึงทำให้ตัวตนของเกย์และเลสเบี้ยนขาดหายไปหรือกลายเป็นคนที่สาบสูญ   ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บางคนให้ความเห็นว่าสิ่งของหลายอย่างในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งของธรรมดาๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของเกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งไม่ต่างไปจากสิ่งของที่ผู้ชายผู้หญิงใช้กันทั่วไป ทัศนคตินี้อาจจะเป็นจริง เนื่องจากสิ่งของต่างๆเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ และไม่มีเครื่องหมายทางเพศคอยกำกับ อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวว่าผู้ใช้สิ่งของเหล่านั้นน่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่ถ้าของสิ่งนั้นบ่งบอกถึงความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนอย่างเปิดเผย เช่น สัญลักษณ์ของเกย์ไพรด์ (Gay Pride Badges) สิ่งของเหล่านี้ก็จะไม่มีเรื่องราวความเป็นมา หรือขาดความหมายในตัวมันเอง   ภัณฑารักษ์บางคนอธิบายว่าวัตถุบางชิ้นในพิพิธภัณฑ์อาจจะถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน และยกตัวอย่างวัตถุ เช่น เครื่องประดับที่ใช้กับคนที่ชอบเจาะหู เจาะจมูก เจาะลิ้น หรือโปสเตอร์เกี่ยวกับโรคเอดส์ วัตถุเหล่านี้จะถูกอธิบายว่าเป็นของเกย์และเลสเบี้ยน เพราะความหมายของการเป็นเกย์และเลสเบี้ยนอยู่ที่เพศรสและความปรารถนา แต่วัตถุสิ่งของเหล่านี้จะถูกอธิบายจากมิติทางเพศเพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกย์และเลสเบี้ยน ในขณะที่เกย์และเลสเบี้ยนมีส่วนที่เหมือนกับคนทั่วไปหลายอย่าง เช่น เกย์ส่วนใหญ่นิยมใช้เตารีดไอน้ำมากกว่าสวมห่วงไว้ที่อวัยวะเพศ แต่ชาวเกย์ก็มีการแต่งกายและพื้นที่พบปะสังสรรค์ต่างไปจากคนทั่วไป ชาวเกย์มีรสนิยมในการฟังเพลง และอ่านนิยายต่างไปจากคนอื่นๆ   อาจกล่าวได้ว่า เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งค่อนข้างสับสนว่าใครควรจะเป็นผู้ที่เก็บรวบรวม วัตถุหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเกย์และเลสเบี้ยน จะจดบันทึกวัตถุเหล่านี้อย่างไร และเรื่องอะไรบ้างที่ควรบันทึกไว้   การเก็บสะสมวัตถุของเกย์-เลสเบี้ยนในครอยดอน   ในปี ค.ศ 1995 พิพิธภัณฑ์ครอยดอนซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ได้เปิดนิทรรศการเรื่อง Lifetimes นิทรรศการเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนท้องถิ่นในช่วงปี ค.ศ.1830 จนถึงปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำเสนอชีวิตคนกลุ่มต่างๆ ในเขตครอยดอนซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าประทับใจในอดีต คนกลุ่มต่างๆเหล่านี้เคยจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ ช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีลมหายใจต่อไปได้ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ก็ยินดีที่จะนำเสนอชีวิตของพวกเขาตอบแทน ไม่ว่าพวกเขาจะกลับมาใช้บริการของพิพิธภัณฑ์หรือไม่ก็ตาม นิทรรศการส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ครอยดอนมักจะมาจากเรื่องราวและสิ่งของของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะลงไปสอบถาม พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่างๆมาจัดแสดงนิทรรศการ คำสัมภาษณ์ชาวบ้านจะถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ เพื่อเป็นคำอธิบายบนจอคอมพิวเตอร์ (touch screens) ใช้ประกอบนิทรรศการ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนที่บอกว่าตัวเองเป็นเกย์และเลสเบี้ยนจะไม่มีการนำข้อมูลมาแสดงในนิทรรศการด้วย   ในขณะที่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาทำนิทรรศการ นโยบายของพิพิธภัณฑ์ครอยดอยได้ตัดทิ้งข้อมูลของคนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนออกไป หลักฐานจากคำสัมภาษณ์บอกให้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ครอยดอนมีความรังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดนิทรรศการแล้ว สภาแรงงานแห่งครอยดอนก็พยายามที่จะนำเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนเข้ามาอยู่ในนิทรรศการด้วย เมื่อมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้นิทรรศการสมบูรณ์ขึ้น จึงมีการเริ่มโครงการพิเศษเพื่อเก็บข้อมูลจากคนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน ทั้งนี้เนื่องจากในเมืองครอยดอนมีประชากรที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็มีผู้ที่วิจารณ์กลับมา   กลุ่มเกย์ที่รณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมในทศวรรษที่ 70 มีพลังเข้มแข็งมากในลอนดอน และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อเนื่องผมรู้สึกชอบนิทรรศการเรื่องนี้ แสดงความคิดนิทรรศการที่ครอยดอนไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนเกย์และเลสเบี้ยปรากฎอยู่เลย ทำให้เกย์และเลสเบี้ยนกลายเป็นพวกไร้ตัวตน   เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ชื่อ จอห์น บราวน์ ตัดสินใจที่จะสัมภาษณ์เกย์ ส่วนราเชล เฮสเตด หัวหน้าฝ่ายบริการของพิพิธภัณฑ์เลือกที่จะสัมภาษณ์เลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์มีนโยบายที่จะใช้คนที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ เนื่องจากคนกลุ่มเดียวกันจะมีความรู้สึกเป็นมิตรกันมากกว่า จอห์น บราวน์ กล่าวว่าถ้าคนไม่มีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน คนๆนั้นก็จะไม่กล้าพูดเรื่องส่วนตัว ดังนั้นบราวน์จึงพยายามปรับหัวข้อสัมภาษณ์ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของคนกลุ่มนี้ ตัวอย่างคำถามเช่นเรื่องทางเพศอาจจะต้องปรับให้เหมาะสมกับคนแต่ละคน ราเชล เฮสเตดรู้สึกว่าการที่คนสัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นพวกเดียวกัน พวกเขาจะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันและมีอะไรเหมือนกัน ถ้าใช้คนสัมภาษณ์เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อาจทำให้คนๆนั้นไม่กล้าเปิดเผยความเป็นเกย์และเลสเบี้ยนออกมา   อย่างไรก็ตาม ราเชลได้ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่เธอต้องมีอัตลักษณ์หรือค่านิยมเหมือนกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ตัวอย่างเช่น หญิงชราบางคนที่ถูกราเชลสัมภาษณ์ค่อนข้างยึดถือแม่แบบของเลสเบี้ยนเป็น 2 แบบคือ แบบชายชาตรีและแบบสตรีอ่อนหวาน นักวิจัยลงไปสัมภาษณ์เกย์และเลสเบี้ยน18 คน และพบว่าผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งอยู่ในสมาคมเกย์เลสเบี้ยนแห่งเมืองครอยดอน อีกส่วนหนึ่งมาจากภายนอก ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์มีอายุตั้งแต่ 18-85 ปี ในจำนวนนี้มี 4 คนเป็นผู้พิการ และมีหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นไอริช จาไมกา และอินเดีย ผู้หญิงที่ถูกสัมภาษณ์ครึ่งหนึ่งมีบุตร ถึงแม้ว่าพวกเขาอยากจะนำเสนอเรื่องราวของตัวเองในนิทรรศการแต่ก็ยังกังวลเกี่ยวกับรูปแบบของการนำเสนอ เพราะพวกเขากลัวจะกลายเป็น "สูตรสำเร็จ" ของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน เกย์บางคนออกมาเตือนว่าพวกเขามิใช่พวกที่ชอบล่อลวงเด็กมาปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ บางคนก็ไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง ในกลุ่มเลสเบี้ยนที่ทำงานช่วยเหลือเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็ออกมาเตือนว่าประชาชนอาจโจมตีพวกเธอ เมื่อรู้ว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน เกย์บางคนก็อาจไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเพราะว่าพ่อแม่ของเขายังไม่เข้าใจเพศสภาพที่เขาเป็น   จอน คือคนที่มองโลกในแง่ดีเมื่อเริ่มต้นโครงการนี้ใหม่ๆ แต่เมื่อโครงการได้ดำเนินไปสักระยะหนึ่ง เขาก็เริ่มหดหู่เมื่อได้ทราบข้อมูลว่าเกย์ถูกกดขี่ข่มเหง และมีชีวิตที่ย่ำแย่ เกย์คนหนึ่งอายุประมาณ 80 ปี ยังคงรู้สึกเจ็บปวดทางใจตลอดเวลาเนื่องจากถูกสังคมรังเกียจมาตั้งแต่เด็ก จอนกล่าวว่าเขาไม่ค่อยรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกสังคมรังเกียจเท่าไรนัก แต่เกย์สูงอายุผู้นี้ยังคงมีความทรงจำที่ปวดร้าว ในขณะที่ ราเชลรู้สึกว่าเรื่องราวของเลสเบี้ยนค่อนข้างมีความสุข ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะรู้สึกกลัวต่อการถูกกีดกันจากสังคมบ้าง เลสเบี้ยนผู้หนึ่งเคยเข้าไปรักษาสุขภาพจิตในโรงพยาบาลในช่วงทศวรรษที่ 70 เนื่องจากเธอเป็นเลสเบี้ยน อย่างไรก็ตามเลสเบี้ยนยังคงเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อต้านการถูกกดขี่ข่มเหง และการทำงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายของเลสเบี้ยน เพื่อให้พวกเธอมีชีวิตรอดในสังคมได้   ทั้งราเชลและจอนได้ใช้เรื่องราวชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของผู้ให้สัมภาษณ์ คำถามที่ใช้ถามเกย์และเลสเบี้ยนเป็นคำถามเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ในช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ และแต่ละช่วงอายุจะมีสิ่งใดบ้างที่บ่งบอกถึงความทรงจำและนำมาแสดงในนิทรรศการ จะไม่มีการถามถึงเรื่องราวที่เป็นส่วนตัว เพื่อทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์สบายใจต่อการเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะใช้วัตถุบางชิ้นเพื่อแสดงชีวิตวัยเด็กของเธอในประเทศจาไมก้า ช่วงชีวิตวัยรุ่นของเธอเป็นช่วงที่เธอจะได้เป็นแม่ชี แต่เธอต้องประสบเคราะห์กรรมและต่อสู้กับโรคร้าย   วัตถุส่วนใหญ่ที่มาจากความทรงจำของเกย์และเลสเบี้ยน เป็นวัตถุที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีวัตถุบางชิ้นที่มาจากยุคก่อนสงคราม วัตถุเหล่านี้จะถูกนำมาจัดแสดงเพื่อชี้ให้เห็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเกย์และเลสเบี้ยน และทำให้สังคมรู้ว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตนมาช้านานแล้ว มิใช่เพียงปรากฏการณ์ในยุคสมัยใหม่ หนังสือของ Havelock Ellis เรื่อง Sexual Inversion ในปี ค.ศ.1896 ได้ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรก ที่อธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่อาชญากรรมหรือเป็นโรค เอลลิสเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นโฮโมเซ็กช่วล เอลลิสเคยอาศัยอยู่ในเมืองครอยดอนในช่วงวัยหนุ่ม และรู้จักกับอีดิธ ลีส์ ซึ่งเป็นแม่แบบให้เอลลิสอธิบายบุคลิกลักษณะของผู้ที่เป็นเลสเบี้ยน   ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุสิ่งของกับชีวิตของเกย์เลสเบี้ยนจะถูกสื่อสารออกมา ในเรื่องเล่าบนจอคอมพิวเตอร์แบบใช้นิ้วสัมผัส หรือ Touch Screens เรื่องราวต่างๆ จะมาจากความทรงจำของผู้เป็นเจ้าของวัตถุ ถึงแม้ว่าผู้วิจัยจะเลือกเรื่องราวบางตอนมานำเสนอ แต่เจ้าของเรื่องเล่านั้นจะมีส่วนปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมก่อนนำมาแสดงจริง เจ้าของเรื่องจึงเป็นผู้มีส่วนควบคุมในการแสดงนิทรรศการ   เรื่องเล่าในนิทรรศการ จะชี้ให้เห็นประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน เช่น เลสเบี้ยนบางคนพูดถึงการเป็นนางพยาบาล เช่นเดียวกับพูดถึงการมีบุตรโดยการทำเด็กหลอดแก้ว เกย์บางคนพูดถึงการฝังเข็ม และการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม อาจกล่าวได้ว่าตัวตนทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยนเป็นเพียงแง่มุมหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นในชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน เรื่องราวในนิทรรศการจึงเป็นเพียงเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตามที่เจ้าของเรื่องคิดว่าสำคัญ ตัวอย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเลสเบี้ยนคนหนึ่ง   เม็ก วิลเลียมส์ ที่ชุมชนธอร์นตัน ฮีธ เธอเกิดและเติบโตในเขตเวลส์ เล่าว่า "พ่อของฉันสร้างบ้านขึ้นมาหลังหนึ่ง ฉันช่วยพ่อสร้างมันขึ้นมาและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันสนใจงานก่อสร้าง" เมื่อเม็กออกจากโรงเรียนในปี ค.ศ.1969 เธอเข้าไปทำงานในร้านขายของแห่งหนึ่ง "ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้หญิงจะเข้าไปทำงานก่อสร้าง ฉันเคยฝึกงานด้านนี้มาก่อน แต่ตัวเลือกที่ทำได้ก็คือการเป็นช่างทำผม การเป็นคนงานก่อสร้าง หรือว่าเป็นลูกจ้างในร้านค้า" หลังจากที่เม็กย้ายมาอยู่ลอนดอนในปี ค.ศ.1981 "องค์กรแลมเบ็ธแนะนำให้ฉันฝึกงานเป็นผู้ช่วยก่อสร้าง ซึ่งมีผู้หญิงทำงานอยู่ด้วย ฉันจึงสมัครเข้าไปเป็นช่างก่อสร้าง มันค่อนข้างยากมากเพราะว่าฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวเข้ามาเรียนเรื่องช่างไฟฟ้า ทั้งๆ ที่มีผู้หญิงคนอื่นเรียนการเป็นช่างไม้และช่างทาสีอยู่แล้ว คนงานผู้ชายบางคนก็เข้าใจดี แต่บางคนก็นิสัยไม่ดี ผู้ชายประเภทนี้มักจะไม่ชอบเรียกเราว่า "เธอ" แต่พวกเขาคิดว่าผู้หญิงที่ทำงานก่อสร้าง คือพวกที่ต้องการเป็นผู้ชาย ดังนั้นเขาจึงเรียกฉันว่า "นาย" ตลอดเวลา" พวกเราสามคนที่เป็นผู้หญิงจึงถูกลวนลามทางเพศ ถึงแม้ว่าจะถูกฟ้องแต่ผู้ชายเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการลงโทษ ศาลสั่งให้พวกเราย้ายไปอยู่ที่เมืองโคเว็นทรี สองปีสุดท้ายของการฝึกงานของเม็กเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย มีผู้หญิง 2 คนที่ยกเลิกการฝึกงานก่อสร้าง เหลือเพียง 6 คนเท่านั้นที่ยังคงทำต่อไป เม็กเกือบจะยอมแพ้หลายครั้งเพราะความเครียด แต่ในที่สุดเม็กก็ได้รับประกาศนียบัตรและได้เป็นช่างไฟฟ้า   สิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการบางอย่าง เช่น เอกสารรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมของโฮโมเซ็กช่วล คือสิ่งของที่เป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงตัวตนทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยน ในขณะที่สิ่งของอื่นๆอาจไม่ได้บ่งบอกตัวตนทางเพศของพวกเขา เช่น ใบผ่านการฝึกงานเป็นช่างไฟฟ้า สิ่งที่ตามมาก็คือ นิทรรศการนี้อาจจะทำลายตัวตนของผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์พยายามหลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยการเก็บข้อมูลส่วนตัว ของเกย์เลสเบี้ยนไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประชาชนเข้ามาค้นคว้า พร้อมกับทำเอกสารประกอบนิทรรศการเพื่ออธิบายถึงชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน   พิพิธภัณฑ์หวังไว้ว่านิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนจะเป็นเครื่องมือ ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมและลดอคติ ซึ่งสังคมเคยกีดกันพวกเขาออกไป ราเชล เฮสเตดกล่าวถึงนิทรรศการนี้ว่า   ผู้มาชมนิทรรศการอาจต้องทบทวนสิ่งที่ตนเองเคยเชื่อและเคยมีอคติ เพราะพวกเขาจะได้พบเห็นชีวิตของคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาจะรู้ว่าเกย์เลสเบี้ยนมิใช่หุ่นแต่เป็นมนุษย์ที่กล้าพูด มีอารมณ์ขัน มีอารมณ์เศร้า และมีความรู้สึกโกรธเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เสียงพูดของเกย์และเลสเบี้ยนกว่า 300 ชีวิตในนิทรรศการนี้ได้สะท้อนเรื่องราวในอดีตที่พวกเขาเคยพบเจอมา และเรื่องราวของพวกเขาก็เป็นเรื่องราวปกติธรรมดาเหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่ว่าพวกเขาต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าคนทั่วไป   การนำชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนมาไว้ในประวัติศาสตร์ทางสังคม จำเป็นจะต้องอธิบายถึง "เพศวิถี" (Sexuality) ในมิติทางสังคมด้วย   วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนในนิทรรศการถาวรและชั่วคราว   ในปี ค.ศ.1994 แกเบรียล บอร์น ตั้งคำถามว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนบ้างไหม คำตอบคือมีนิทรรศการประเภทนี้อยู่ 8 ครั้ง ได้แก่ นิทรรศการเรื่อง Vera the Visible Lesbian ฐานข้อมูลของ The Hall Carpenter Archives ที่พิพิธภัณฑ์บรูซ แคสเซิล นิทรรศการเกี่ยวกับโจ ออร์ตันที่เมืองไลเซสเตอร์ นิทรรศการเรื่อง Street Style ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต นิทรรศการเรื่อง Love Stories และเรื่อง Fighters and Thinkers ในเมืองอีสลิงตัน นิทรรศการเรื่อง Glasgay ในเมืองกลาสโกว์ และนิทรรศการเรื่อง Positive Lives ในเมืองแบรดฟอร์ด   หลังจากปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา มีนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนอีก 13 ครั้ง นิทรรศการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกว้างๆ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนเพียงเล็กน้อย ได้แก่นิทรรศการเรื่อง Dressing the Male ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต เรื่อง Surrealism และ Fetishism ที่เมืองบริจตัน นิทรรศการเรื่อง North East Communities นิทรรศการสัญจรของไทน์และแวร์ นิทรรศการเกี่ยวกับหน้ากากของโจ ออร์ตันในเมืองไลเซสเตอร์ และนิทรรศการเรื่อง Every Object Tells a Story ที่พิพิธภัณฑ์น็อตติงแฮม แคสเซิล ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความรักของเกย์   ในนิทรรศการบางเรื่อง เรื่องราวของเกย์จะเกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เช่น นิทรรศการเกี่ยวกับสุขภาพที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ งานเทศกาลรำลึกโรคเอดส์ที่เมืองไลเซสเตอร์ นิทรรศการเรื่อง Brenda and Other Stories ที่พิพิธภัณฑ์วัลซัล และพิพิธภัณฑ์น็อตติงแฮม แคสเซิล นิทรรศการเรื่อง Graphic Responses ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต อาจมีการโต้แย้งว่าพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายต้องการทำให้เกย์เป็นเหยื่อของสังคม เพื่อที่จะทำให้นโยบายสุขภาพของชุมชนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามอันตรายที่แท้จริง ก็คือเมื่อเรื่องราวในแง่ลบของเกย์ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สังคมแล้ว ผู้ที่เป็นเกย์จะถูกมองว่าคือผู้ป่วย และสังคมก็จะตีตราว่าเพราะความเป็นเกย์จึงทำให้พวกเขาเป็นโรคเอดส์   มีนิทรรศการชั่วคราว 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนโดยตรง ได้แก่ นิทรรศการเรื่อง Pride Scotland ในเมืองกลาสโกว์ นิทรรศการภาพถ่ายเรื่อง London Pride ที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน และนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice ในปี ค.ศ.1999 ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เกย์เลสเบี้ยนในสังคมอังกฤษที่เต็มรูปแบบ ในนิทรรศการเรื่อง Capital Concerns ในพิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่บริเวณประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีคนเดินผ่านอยู่ตลอดเวลา นิทรรศการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โรมันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้มีอุปกรณ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เช่นยกหูโทรศัพท์เพื่อฟังเสียงบรรยาย ประชาชนเข้าไปค้นหาข้อมูลได้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจมีการถามว่า "คุณคิดอย่างไร" "คุณคิดว่าเกย์และผู้ชายมีสิทธิเท่าเทียมกันทางกฎหมายหรือไม่"   ในนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice มีเกย์หรือเลสเบี้ยนเข้าไปช่วยจัดการ อย่างไรก็ตาม การใช้บุคคลที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนเพื่อทำหน้าที่เพียงเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้นในนิทรรศการนี้ พวกเขาอาจต้องพบกับความกดดันมหาศาล เจ้าหน้าที่ที่เป็นเกย์คนหนึ่งไม่พอใจนิทรรศการเกี่ยวกับนักเขียนที่เป็นเกย์ เพราะการพูดถึงตัวตนทางเพศของนักเขียนในนิทรรศการเป็นการพูดเพียงมิติเดียว เพราะนักเขียนที่เป็นเกย์ยังเขียนนิยายแนวอื่นๆ ด้วย เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รู้สึกว่าตนเองทำงานอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยคนที่มีจิตใจคับแคบ เพราะชาวบ้านคิดว่านิทรรศการเรื่องนี้เป็นออกมาเรียกร้องของชาวเกย์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์คิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ แต่ก็รู้สึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งทำให้ตระหนักว่าสังคมยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยน จากการถูกทำร้ายอย่างรัดกุมและเข้มงวด   ปราการและขวากหนาม   วัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนที่ถูกจัดแสดงในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่าก่อนช่วงหน้านั้น แต่พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์สังคมส่วนใหญ่ยังคงสนใจจัดแสดงชีวิตของเกย์เลสเบี้ยนน้อยเกินไป หรือติดทิ้งเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนไปจากนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์บางแห่งถูกนักการเมืองท้องถิ่นแทรกแซงจนทำให้ไม่กล้าจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยน ประมาณ 2-3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในอังกฤษและเวลส์ต่างได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น มาตรา 28 ที่ระบุในกฎหมายรัฐบาลท้องถิ่นในปี ค.ศ.1988 ได้บัญญัติไว้ว่าห้ามมิให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมโฮโมเซ็กช่วล หรือจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล ถึงแม้ว่าจะไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดถูกฟ้องร้องตามกฎหมายนี้ แต่กฎหมายนี้ก็เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่รังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน   อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สนใจที่จะทำนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยน ในมาตรา 28 ระบุว่าเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับกับเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยน เจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าถ้ามีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเกย์เลสเบี้ยนแล้ว พวกเขาก็อาจตกงาน หรือไม่ได้รับงบประมาณ แต่เจ้าหน้าที่หลายคนก็ไม่สนใจเรื่องประเภทนี้เลย บางคนเชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถจัดนิทรรศการประเภทนี้ได้เนื่องจากไม่มีวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนเก็บไว้ การพูดแบบนี้แสดงว่าไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดเลยที่จะสนใจเก็บรวบรวมวัตถุเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนไว้ศึกษา พิพิธภัณฑ์บางแห่งหวาดกลัวว่าสังคมจะตำหนิ และคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับจัดนิทรรศการที่มีผู้ชมเป็นสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ยังคุ้นเคยที่จะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องความรักหรือการแต่งงานมากกว่าจะพูดถึงเกย์และเลสเบี้ยน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความสนใจจากพิพิธภัณฑ์ต่อการจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเพศโดยตรง อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงวัตถุทางเพศก็ยังเป็นเรื่องของผู้หญิงและผู้ชายทั่วไป   พิพิธภัณฑ์บางแห่งไม่เคยสนใจประเด็นเรื่องเพศ หรืออาจปกปิดความจริงเกี่ยวกับเพศที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการนั้น ในปี ค.ศ.1990 ที่ชิบเด็น ฮอลล์ ในเมืองฮาลิแฟ็ก มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวิตของแอนน์ ลิสเตอร์ซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการนี้มีการเปิดเผยชีวิตทางเพศของลิสเตอร์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นที่เมืองเคนซิงตันบ้านเกิดของลอร์ด ลีห์ตัน ก็มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับตัวเขา โดยมีการเปิดเผยว่าเขาไม่เคยแต่งงาน เพราะเขาอุทิศชีวิตให้กับงานศิลปะ นิทรรศการนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีการเปิดเผยตัวตนทางเพศของลอร์ด ลีห์ตัน ในเมืองครอยดอน มีการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเลสเบี้ยนที่เป็นแม่ชี ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีบาปเพราะเป็นเลสเบี้ยน แต่ในความจริงแล้วเธอถูกไล่ออกเพราะรู้ว่าคนรักของเธอที่เป็นแม่ชีคนหนึ่งแอบไปนอนกับบาทหลวง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปสอบถามความจริงกับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ ก็ไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นพวกรังเกียจเกย์และเลสเบี้ยน และพยายามใช้อำนาจของตัวเองบิดเบือนซ่อนเร้น หรือทำลายความจริงเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำไปโดยไม่เจตนาก็ตาม   สิ่งที่น่าหวาดกลัวคืออะไร พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่พยายามจัดนิทรรศการที่มีเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนรวมอยู่ด้วย ยังไม่ถูกลงโทษทางกฎหมาย และหวังว่ามาตรา 28 จะถูกแก้ไข นอกจากนั้น นิทรรศการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนต่างได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก ที่พิพิธภัณฑ์แห่งลอนดอน จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 95 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยที่มีการจัดนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice อีกประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์คิดว่าพิพิธภัณฑ์ควรจัดนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเกย์และเลสเบี้ยน   พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง เชื่อว่าตัวเองเป็นสถาบันที่สร้างและเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับสังคม ดังนั้นพิพิธภัณฑ์จึงแสดงบทบาทเป็นตัวแทนของสังคมรักต่างเพศ แต่ในกรณีของเกย์และเลสเบี้ยน พิพิธภัณฑ์คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็น "คนอื่น" ที่แตกต่าง ผู้ชมที่ได้ชมนิทรรศการเรื่อง Pride and Prejudice ตั้งข้อสังเกตว่า นิทรรศการนี้ควรทำให้ชีวิตของเกย์และเลสเบี้ยนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเป็นมนุษย์คนหนึ่งในโลกนี้   นิทรรศการเกย์และเลสเบี้ยน บทเรียนจากครอยดอน   การยากในการแก้ไขข้อมูลในคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนที่ใช้ประกอบนิทรรศการเรื่อง Lifetime เป็นผลเนื่องมาจากความล้าช้าในการวางแผนงานที่จำนำเรื่องราวของเกย์และเลสเบี้ยนไปแสดงในนิทรรศการ ดังนั้นเพื่อมิให้เจ้าของเรื่องและวัตถุสิ่งของเกิดความไม่พอใจ พิพิธภัณฑ์จึงต้องจัดนิทรรศการชั่วคราวเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด 3 เรื่อง คือ เรื่อง Communion ถ่ายภาพโดยโรติมี ฟานี คาโยดี นิทรรศการเรื่องนี้เป็นการนำเสนอชีวิตของชาวไนจีเรียที่เป็นโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตก นิทรรศการเรื่องที่สอง คือ Ain’t Ya Hungary? เป็นผลงานภาพถ่ายของเลสเบี้ยน ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของเลสเบี้ยนในชุดคาวเกิร์ล ไปจนถึงเสื้อผ้าแบบดาราฮอลลีวู้ด นิทรรศการเรื่องที่สาม คือ Dyke’s Delight เป็นภาพเขียนฝีมือของเลสเบี้ยนในเมืองครอยดอน หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สนับสนุนให้จัดนิทรรศการเหล่านี้ แต่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่นเสียก่อน   เมื่อมีการเปิดนิทรรศการ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนพอใจ แต่บางคนไม่เห็นด้วยที่ให้มีการจัดนิทรรศการเรื่องนี้ พิพิธภัณฑ์จะต้องส่งเนื้อหาของนิทรรศการ ไปให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบก่อนที่จะมีการเปิดนิทรรศการหลายเดือน หลังจากนั้นอีกหลายเดือน นักกฎหมายของรัฐออกมาเสนอว่านิทรรศการดังกล่าวนี้ขัดต่อมาตรา 28 ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายท้องถิ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 ดังนั้นรัฐจึงสั่งให้ยกเลิกนิทรรศการนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของเกย์และเลสเบี้ยนจากยูนิสัน ซึ่งเป็นองค์กรให้บริการเชิงพาณิชย์แก่สาธารณะก็ออกมาต่อต้านเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม และขอพบเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐบาล ตัวแทนชี้แจงว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เคยนำมาปฏิบัติ และทัศนคติของรัฐบาลต่อกฎหมายนี้ก็เชื่อว่าเป็นการแบ่งแยกกีดกัน ซึ่งควรจะยกเลิกกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐเสนอ  

พิพิธภัณฑ์: เป้าหมายหรือเครื่องมือของนโยบายทางวัฒนธรรม

30 กันยายน 2562

          มากกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วที่นโยบายทางวัฒนธรรมถือกำเนิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรสาธารณะในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สภาชุมชน จังหวัด รัฐบาล ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศในระดับทวีป(สภายุโรป) หรือกระทั่งระดับโลก (ยูเนสโก) จุดเริ่มต้นและทิศทางในปัจจุบัน           ตัวอย่างของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติเช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประเทศที่เพิ่มเรื่องสิทธิในการเข้าถึงวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส  อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1946 ใส่ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมไว้ในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน  “ประเทศชาติรับรองความเสมอภาคแก่เด็กและผู้ใหญ่ในการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอาชีพ และวัฒนธรรม” และข้อกำหนดนี้ยังคงรักษาไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับต่อมาที่ปรับปรุงใหม่ในสองปีหลังจากนั้น  คือวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948  และข้อกำหนดเช่นเดียวกันนี้ ได้รับการระบุไว้โดยสมัชชาสหประชาชาติในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในมาตรา 27(1) ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะและมีส่วนในความรุดหน้าและคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์” และข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบได้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (ค.ศ. 1989)           อย่างไรก็ดีแนวคิดการใช้นโยบายวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อขนบประเพณีเสรีภาพประชาธิปไตยและคุณค่าในบางประเทศ โดยเฉพาะขนบประเพณีของชาติในรัฐบาลขนาดเล็ก หรือประเทศที่ที่ปกครองแบบระบบสหพันธรัฐ ที่มีฉันทามติรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งในการกระจายอำนาจไปสู่รัฐต่างๆ ภายใน เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ในหลายประเทศยังคงมีความทรงจำไม่ค่อยจะดีนักต่อการทำงานแบบสั่งการและระบบการควบคุมของรัฐต่อองค์กรทางวัฒนธรรม หรือการอยู่ภายใต้นโยบายทางวัฒนธรรมของระบบการปกครองแบบเผด็จการในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าฝั่งซ้ายหรือขวาในทางการเมือง  ทำให้ทั้งนักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องไม่ใคร่เต็มใจที่จะนิยามและสนับสนุนนโยบายทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนนัก ตัวอย่างเช่น ในต้นทษวรรษที่ 1990 รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของอังกฤษได้รายงานในวาระการประชุมรัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของสหภาพยุโรป เขานำเสนอเหมือนกับรัฐมนตรีจากประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรเวลา 20 นาทีในนำเสนอบทสรุปอย่างย่อของนโยบายวัฒนธรรมของประเทศ  อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์ช่วงสุดท้ายไม่ถึงหนึ่งนาทีของเขามีใจความว่า “ประเทศของเราไม่มีนโยบายทางวัฒนธรรม และไม่เคยมี และมันเป็นนโยบายของรัฐบาลของเราที่ว่า เราไม่ควรจะมีนโยบายวัฒนธรรม ขอบคุณครับ” จากนั้นเขาก็นั่งลง           แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะบอกว่าไม่มีการเขียนนโยบายวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งผู้เขียนมีข้อโต้แย้งต่อคำกล่าวนี้อย่างน้อยสามประการ ประการแรกจริงๆ แล้วประเทศอังกฤษตีพิมพ์นโยบายทางวัฒนธรรมในทศวรรษที่ 1960 ภายใต้รัฐบาลผสม   ประการที่สองแม้จะปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายวัฒนธรรม แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมองหามาตราการทางการตลาดที่จะจูงใจให้คนทั่วไปสนับสนุนเงินสำหรับการขับเคลื่อนภาควัฒนธรรม   โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีสำหรับองค์กรที่สนับสนุน และการบริจาคเงินของบุคคล เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ  และเร็วๆ นี้ รัฐบาลยังผ่านกฎหมายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการจัดการภายในของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งชาติ โดยการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ภายใต้ดูแลของรัฐบาลกลางไปสู่การออกนอกระบบราชการ มีการบริหารกึ่งอิสระ สามารถจ้างงานและเลิกจ้างได้โดยตรง  นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีความต้องการอย่างแข็งขัน ในการแปรรูปองค์กรรัฐให้ดำเนินงานแบบเอกชน (privatization) อย่างน้อยองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การให้บริการ และทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น           ซึ่งนี่ไม่ใช่กรณีเดียว ปัจจุบันส่วนใหญ่ประเทศในยุโรปกำลังเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการขององค์กรให้บริการทางวัฒนธรรมเช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เคยรับคำสั่งโดยตรงจากส่วนกลางมาสู่การบริหารงานแบบมีคณะกรรมการบริการของตนเองที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบใช้จ่ายจากส่วนกลางที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี  หรือในบางกรณีมีเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์และองค์กรที่ให้บริการด้านมรดกวัฒนธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน ด้วยการเปิดโอกาสให้หารายได้ด้วยตนเองในรูปแบบต่างๆ และการระดมทุน ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะได้รับการโปรโมทอย่างชัดแจ้งหรือไม่ก็ตาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในโยบายทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่นี่ก็ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในนโยบายทางวัฒนธรรม อาณาจักรที่พร่ามัวของนโยบายทางวัฒนธรรม           อย่างไรก็ตามการที่ไม่ได้ตีพิมพ์หรือแถลงการณ์นโยบายทางวัฒนธรรมอย่างที่เป็นการทาง อาจจะดีในแง่ที่เราสามารถอนุมานนโยบายจากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีอำนาจ ยกตัวอย่างในช่วงระหว่างสิบปีของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐประชาชนจีนของเติ้ง เสี่ยวผิง ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 – 1989 มีเพียงประโยคเดียวที่เห็นความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม  มีงานวิจัยที่ศึกษาโดยนักศึกษาปริญญาเอกในความดูแลของผู้เขียนระบุว่า มีความเปลี่ยนแปลงและการพลิกกลับที่สำคัญหลายด้านในการปฏิบัติงานของรัฐบาลและพรรคที่เกี่ยวข้องในแง่มุมต่างๆ ด้านวัฒนธรรม  ซึ่งบ่งชัดถึงความเปลี่ยนแปลงคู่ขนานในนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้พูดตรงๆ ของผู้นำจีน           อย่างไรก็ตามแม้ที่ๆ มีนโยบายวัฒนธรรมที่ชัดเจนและนำไปใช้ แต่ก็ยังไม่มีความคงเส้นคงวาถึงรูปแบบอย่างที่ควรจะเป็น   สภายุโรปได้รวบรวมทำซีรีย์ชุดการรีวิววัตถุประสงค์ของนโยบายวัฒนธรรมระดับชาติของประเทศในยุโรปตั้งแต่ ค.ศ. 1986  สำหรับการรีวิวนี้ เริ่มจากองค์กรผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องภายในแต่ละประเทศเตรียมการสำรวจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของนโยบายวัฒนธรรมและข้อกำหนดทางวัฒนธรรม พร้อมกับการประเมินตนเอง   จากนั้นมีทีมขนาดเล็กของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศพิจารณานโยบายทางวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ดังกล่าวที่ส่งเข้ามา  โดยมีการศึกษา เก็บข้อมูล จดบันทึก และเยี่ยมเยือนแต่ละประเทศเพื่อพบปะกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องข้ามหน่วยงานในวงกว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ก่อนที่จะเตรียมการรีวิวเอกสารที่มีจำนวนมากพร้อมกับทำข้อเสนอแนะ  นี่คือลำดับการทำงานของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรม ก่อนจะได้เวอร์ชั่นสุดท้ายของการศึกษานโยบายทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศที่จะได้รับการเผยแพร่ออกมา   มากกว่ายี่สิบปีแล้วที่นโยบายวัฒนธรรมของ 27 ประเทศจากสมาชิก 46 ประเทศในปัจจุบันได้รับการรีวิวด้วยวิธีการนี้ คุณค่าที่ได้จากงานนี้คือ การได้เห็นความแตกต่างที่สำคัญในสิ่งที่รัฐบาลประเทศทั้งหลายเห็นว่าเป็นนโยบายวัฒนธรรม           ในบางกรณีจะเห็นว่า ในระดับกระทรวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อนโยบายทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่มักใช้คำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” (inputs) กับนโยบายทางวัฒนธรรม  ทั้งนี้สิ่งที่รัฐกระทำมีทั้งเชิงของการดูแล  ตั้งกฎระเบียบ การจัดการ และการให้งบประมาณกับสถาบันหรือองค์กรทางวัฒนธรรมต่างๆ  เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงอุปรากร โรงภาพยนตร์ วงออเคสตรา อนุสาวรีย์และแหล่งมรดกวัฒนธรรม   ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องของการเขียนคำของบประมาณสำหรับการพัฒนาและกิจกรรมใหม่ๆ ด้านศิลปะและมรดกวัฒนธรรม   กรณีดังกล่าวนโยบายทางวัฒนธรรมหมายถึงบทบาทของภาครัฐในการจัดหาบริการทางวัฒนธรรมให้กับประชาชน เช่น ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ หรือการปกป้องมรดกวัฒนธรรม รวมถึงการก่อตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมระดับชาติที่รัฐกำกับดูแลหรือให้งบประมาณ   สำหรับกรณีของพิพิธภัณฑ์ นโยบายทางวัฒนธรรมของรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเน้นการให้บริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ เช่น ข้อตกลงของรัฐที่จะให้การสนับสนุนสถาบันหรือองค์กรที่ให้บริการทางวัฒนธรรม รวมถึงการให้งบประมาณในการดำเนินงาน การก่อสร้างสร้างอาคารและการจัดหาคอลเล็กชั่น  อย่างไรก็ดีบ่อยครั้งที่รัฐบาลระบุกลุ่มเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน โดยกระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอต่อรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังก่อน เมื่อมีความชัดเจนแล้ว นโยบายจะถูกส่งผ่านไปยังภาคส่วนวัฒนธรรม นำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดสรรเงินงบประมาณและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนต่อไป             โมเดลของการนโยบายทางวัฒนธรรมและการบังคับใช้มีตัวอย่างเกิดขึ้นไม่เกินสิบกว่าปีมานี้เอง อย่างน้อยในระบอบปกครองประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งเป็นตัวอย่างของการฝืนใจที่จะมองวัฒนธรรมมากกว่าไปกว่าสินค้าและบริการสาธารณะที่มีสิทธิในตัวของมันเอง อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาหลายประเทศและหลายระบอบมองว่าสถาบันและการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างชาติมากกว่าแค่เรื่องวัฒนธรรม ข้อบกพร่องและจุดแข็งของนโยบายทางวัฒนธรรม           ระบอบนาซีในเยอรมนีได้กำจัด ทำลาย หรือขายงานศิลปะจำนวนมหาศาลที่ถูกพิจารณาว่าเป็น “ความเสื่อม” หรือไม่ก็เพราะรูปแบบศิลปะแบบโมเดิร์นหรือผลงานเหล่านั้นถูกสร้างสรรค์โดยศิลปินชาวยิว ระหว่างศตวรรษที่ยี่สิบ คอลเล็กชั่น การจัดแสดง และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นสิ่งที่ถูกรัฐควบคุมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองของผู้อำนวยการหรือภัณฑารักษ์ หรืออย่างน้อยที่สุดจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับนโยบายและวาระของรัฐบาล หรือกระทั่งเกี่ยวพันกับอคติส่วนบุคคลหรือรสนิยมของผู้นำเผด็จการ  แม้กระทั่งในผู้นำประชาธิปไตยเสรีนิยม พิพิธภัณฑ์อาจอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหรืออย่างน้อยคำขู่เรื่องการลดงบประมาณจากรัฐและการช่วยเหลืออื่นๆ  ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1990 มีประเด็นร้อนที่ถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ รวมถึงประเด็นคำอธิบายในนิทรรศการบทบาทของเครื่องบินทิ้งระเบิด B 29 ที่ชื่อ อิโนลา เกย์ ที่ทิ้งระบิดที่เมืองฮิโรชิมา ขณะที่นิทรรศการงานศิลปะร่วมสมัยหลายแห่งได้รับผลกระทบจากความพยายามที่จะตัดงบสนับสนุนงานพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลและองค์กรศิลปะของรัฐ           ต่อคำถามที่ว่าพิพิธภัณฑ์ควรถูกคาดหวังให้ทำงานที่ก้าวหน้าหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมหรือทางการเมือง  ไม่ว่าคำตอบนี้จะเป็นอะไรก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในหลายประเทศ พิพิธภัณฑ์ถูกคาดหวังการทำงานที่สำคัญอันดับแรกในเรื่องเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคมมากกว่าเรื่องวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ในเกือบทุกประเทศถูกพิจารณาในฐานะ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย  หลังจากพักผ่อนสนุกสนานจากชายหาด ชนบท และภัตตาคาร การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่เชิงมรดกวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แน่ล่ะว่าพิพิธภัณฑ์ต้องตอบสนองต่อสิ่งนี้และความต้องการต่างๆ ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ขึ้น  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหล่านี้ไม่เคยถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายของพิพิธภัณฑ์และเป็นความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมการทำงานของพิพิธภัณฑ์  นักท่องเที่ยวต่างประเทศกระเป๋าหนักกลายกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ระดับชาติและท้องถิ่น น่าเศร้าใจที่พบความเป็นจริงที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา พิพิธภัณฑ์ดูเหมือนให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มากกว่าประชาชนของประเทศ ซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์           ในหลายประเทศ ความต้องการของรัฐบาลขยายกว้างออกไปมากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่ารัฐบาลหรือองค์กรทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นที่ให้เงินทุนสนับสนุน จะให้เงินเฉพาะบางรูปแบบของสัญญา  วางอยู่บนข้อเรียกร้องเฉพาะอย่าง สามารถวัดผลได้ในทางปฏิบัติและมีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่มีปัจจัยที่กว้างมากขึ้น  ซึ่งหลายปัจจัยอาจไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับการปฏิบัติงานและความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์เลยก็ได้ ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาศิลปะ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ระดับชาติ รวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   ถูกให้ทำงานภายใต้ขอบเขตของนโยบายที่พัฒนาโดยสำนักนายกรัฐมนตรี   ลำดับความสำคัญจะเขียนไว้ในนโยบายและการให้เงินสนับสนุน  รวมถึงนโยบายของหน่วยบริการและข้อมูลทั้งหมดทั้งของหน่วยงานกลางและท้องถิ่นผ่านแอพลิเคชั่น “ e-government” ในระบบอินเตอร์เน็ต  โดยเน้นแก้ไขปัญหาการกีดกันทางสังคมที่หยั่งรากลึกในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส   ทั้งนี้ปัญหาการกีดกันทางสังคม ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหัวหน้าคณะรัฐมนตรี(senior minister) และส่วนงานอื่นทั้งหมดของการบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ใหม่สิบปีเน้นการกำจัดความด้อยโอกาสที่หยั่งรากลึก  กลุ่มเป้าหมายคือคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะครอบครัวยากจนที่มีเด็กและคนแก่, ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย, คนที่ผิดปกติทางสมอง และวัยรุ่นในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของสหราชอาณาจักร ได้รับการยอมรับ  แต่การจะทำแบบนี้ได้จะมีต้ององค์กรรองรับนโยบายทางวัฒนธรรม และองคาพยพอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างจริงจังต่อเป้าหมายนี้           ชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเกี่ยวข้องกับนโยบายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นบทแถลงการณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น  ในทางปฏิบัติ การแบ่งว่า ‘เป้าหมายหรือเครื่องมือ’ ของนโยบายวัฒนธรรมตามชื่อบทความคงจะเลือนหายไป เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลที่มีการทำงานในเชิงขนบต่อนโยบายทางวัฒนธรรม  ยังเริ่มคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญต่อเป้าหมายในเชิงการศึกษาและสังคมของประเทศชาติ. หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียงจาก Patrick J. Boylan, 2006. “Museum: Targets or Instruments of Cultural Policies?” in Museum International. Vol. 58, No.4) โดย ปณิตา สระวาสี.

กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์กับความพยายามของภัณฑารักษ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์ หรือ พิพิธภัณฑสถาน เป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาเก็บและจัดแสดงอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ละแห่งแต่ละที่ ต่างก็มีแนวทางของตนเอง ตามปัจจัยทางด้านวัตถุและบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ดังในกรณีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีบทบาทหน้าที่ในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเป็นภารกิจหลัก ดังนั้นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมจึงมุ่งที่จะรวบรวมหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการขุดค้น ขุดแต่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเป็นหลัก เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์วิจัยวัตถุเหล่านั้น และนำผลการศึกษาที่ได้ เผยแพร่ในลักษณะของการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ตามหลักการของพิพิธภัณฑสถานวิทยา อันเป็นลักษณะเฉพาะของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งหนึ่งในสังกัดกรมศิลปากร ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค ภายในเขตเมืองโบราณท้าวอู่ทอง อันเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่มีความสำคัญร่วมสมัยกับเมืองโบราณนครปฐม เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ มีอายุของแหล่งมากว่า 1,500 ปีล่วงมาแล้ว พิพิธภัณฑสถานฯ อู่ทองจัดตั้งขึ้นจากผลการขุดค้นทางโบราณคดีในเขตภาคกลางฝั่งตะวันตกและภาคตะวันตก ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2509 วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ เป็นโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ จัดอยู่ในรูปแบบศิลปะทวารวดี ที่เจริญขึ้นในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย กลุ่มศิลปะดังกล่าวมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โบราณวัตถุ ที่จัดแสดงและเก็บรักษาภายในความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑ์ มีมากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในฐานะตัวแทนวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มบนผืนแผ่นดินไทย และยังเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดานักศึกษาและนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีที่จะต้องเดินทางเข้ามาศึกษาเยี่ยมชมวัตถุเหล่านี้ เป็นประจำทุกปี ทว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กลับประสบปัญหามีจำนวนผู้เข้าชมน้อย อันเป็นปัญหาเดียวกับพิพิธภัณฑสถานอื่นๆ ในประเทศไทย แนวทางที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เลือกใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การจัดกิจกรรมเชิงรุก ทั้งภายในและภายนอกพิพิธภัณฑ์ มุ่งสร้างสรรค์ให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นที่เยาวชนไทยเป็นหลัก เนื่องจากเห็นความสำคัญของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในรากฐานทางวัฒนธรรม และความเข้มแข็งของสังคม ดังคำกล่าวว่า "การรักษาวัฒนธรรมไทย คือการรักษาชาติ ผู้ทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับทหาร คือการรักษาความเป็นชาติ ในที่นี้ก็คือวัฒนธรรมประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งในการบ่งบอกถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน และเยาวชนในฐานะผู้สืบทอด จึงควรได้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีรวมถึงวัฒนธรรมประจำชาติไว้เป็นพื้นฐานก่อนที่จะรับเทคโนโลยีจากภายนอกซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป ในช่วงต้นปีการศึกษาของแต่ละปี ประมาณเดือนพฤษภาคม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จะจัดทำหนังสือเชิญชวนให้คณะครูและนักเรียนภายในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมทวารวดีที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และในแต่ละช่วงของปีงบประมาณยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมทั้งวัฒนธรรมในด้านอื่นๆ ได้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับพิพิธภัณฑ์หลายโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนเกิดความคุ้นเคยและกล้าที่จะเข้ามาใช้บริการภายในพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างโครงการต่างๆ เช่น     - การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ในเดือนมกราคม     - กิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันไทยทรงดำ เดือนเมษายน     - กิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติและวันพิพิธภัณฑ์ไทย(จัดเป็นกิจกรรมเดียวกันเนื่องจากเป็นวันที่ต่อเนื่อง)     - การจัดบรรยายและจัดทำเอกสารประกอบการบรรยายทางด้านโบราณคดีสมัยทวารวดี     - โครงการเสริมสร้างความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแก่ครูสังคมศึกษา     - การจัดทำนิทรรศการพิเศษในวันสำคัญต่างๆ     - โครงการยุวชนพิพิธภัณฑ์ ให้ความรู้แก่นักเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ     - โครงการอบรมศิลปะภาคฤดูร้อน (แตกต่างกันในแต่ละปี เช่น ฝึกการทำเครื่องจักสาน ฝึกสอนดนตรีไทย ฯลฯ)     - พิพิธภัณฑ์สัญจรสู่สถานศึกษาและชุมชน ภัณฑารักษ์ผู้รับผิดชอบงานด้านวิชาการและการศึกษา เป็นผู้กำหนดกิจกรรมและโครงการเหล่านี้ขึ้นโดยความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการจำนวนหนึ่ง ในขณะที่หลายกิจกรรมมุ่งเน้นให้เยาวชนมาร่วมกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ แต่กิจกรรมบางโครงการ มุ่งเผยแพร่ความรู้และสานต่อความรู้เหล่านั้นสู่สังคม เช่น การให้ความรู้แก่ครูผู้สอนสังคมศึกษาและผู้นำเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถ และปราชญ์ชุมชนหลายท่านหลายหน่วยงาน อาทิ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี รวมไปถึงศิลปินอาวุโสของจังหวัด ในจำนวนกิจกรรมเหล่านี้ กิจกรรมหนึ่งที่จัดภายนอกเขตพิพิธภัณฑ์ นั่นคือโครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร รูปแบบการดำเนินงานเป็นการนำนิทรรศการพิเศษและนิทรรศการเกี่ยวกับการแนะนำการให้บริการของพิพิธภัณฑ์ไปจัดแสดงยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งภายในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยมุ่งที่จะปลูกจิตสำนึกในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดี โบราณสถานและโบราณวัตถุให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป เพื่อให้เยาวชนเห็นความสำคัญของพื้นที่ตนที่มีต่อประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาติ และรู้จักพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากขึ้น กิจกรรมภายในโครงการจะแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา ใช้ระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ช่วงแรกเป็นกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีในแต่ละท้องถิ่น เป็นการแนะนำแหล่งโบราณคดีและความสำคัญของแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัดอย่างคร่าวๆ ประกอบนิทรรศการที่นำไปจัดแสดง และทิ้งป้ายนิทรรศการเหล่านั้นไว้ที่โรงเรียนเพื่อให้ครูผู้สอนทำกิจกรรมกับนักเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นอีก 1 - 2 สัปดาห์จะกลับไปเก็บนิทรรศการ เป็นช่วงเวลาของการประเมินผลการติดตั้งป้ายนิทรรศการว่านักเรียนได้เข้ามาศึกษามากน้อยเพียงใด โดยการแบ่งกลุ่มตอบคำถาม และออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน นอกจากการประเมินดังกล่าวจะเป็นการทดสอบความรู้แล้ว ยังเป็นการสร้างความกล้าแสดงออกให้กับเยาวชนและเพิ่มความสนิทสนมระหว่างภัณฑารักษ์และกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย หลังจากกิจกรรมตอบคำถามผ่านไป จะเป็นการประมวลความรู้ เพื่อนำไปใช้ได้จริง เช่นการแนะนำสถานที่ต่างๆ ให้กับเพื่อนต่างถิ่น เป็นต้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก รองศาสตราจารย์ชนัญ วงษ์วิภาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์สว่าง เลิศฤทธิ์ และ อาจารย์อมรชัย คหกิจโกศล จากคณะโบราณคดี ร่วมให้ความรู้กับเยาวชนเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาจะแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดที่พิพิธภัณฑ์ไปทำกิจกรรม เช่น ถ้าทำกิจกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี ก็จะมีเนื้อหาการบรรยายที่เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดสุพรรณบุรีในด้านต่างๆ คือ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภาษาและวรรณกรรม ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ได้จัดกิจกรรมที่โรงเรียนต่างๆ ทั้งในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และต่างจังหวัด ได้แก่ โรงเรียนบรรหาร-แจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์, โรงเรียนสระยายโสมวิทยา อำเภออู่ทอง, โรงเรียนสงวนหญิง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี,โรงเรียนสวนแตงวิทยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี, โรงเรียนสรวงสุทธาวิทยา อำเภอศรีประจันต์, โรงเรียนทุ่งคลีโคกช้างวิทยา อำเภอเดิมบางนางบวช, โรงเรียนสายธรรมจันทร์ จังหวัดราชบุรี และโรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม ผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมนิทรรศการสัญจร คือ เยาวชนในแต่ละท้องถิ่นมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยรวมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้จักพิพิธภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์มากขึ้น นักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนติดต่อกับพิพิธภัณฑ์เมื่อต้องการค้นคว้าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งให้ความสนใจที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมของชาติต่อไป แนวทางการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นแนวทางหนึ่งของการนำเสนอพิพิธภัณฑ์ออกสู่สายตาชุมชน ที่นอกจากจะกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์มีมากขึ้นแล้ว จุดประสงค์หลักของการดำเนินโครงการที่ภัณฑารักษ์หวังไว้ ยังต้องการที่จะเสริมสร้างความรู้และต้องการแนวร่วมในการปกป้องคุ้มครองศิลปโบราณวัตถุของชาติ ที่อยู่ภายในท้องถิ่น เมื่อเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นได้พบเห็น จะได้รู้ถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป จึงจะถือว่า ภัณฑารักษ์และพิพิธภัณฑ์ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างสมบูรณ์ * ลักษมณ์ บุญเรือง ภัณฑารักษ์ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง สุพรรณบุรี

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์             ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   ปฐมบทของการเดินทาง           แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง           ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล           วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม    ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน           รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย            เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต  ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย        ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ            ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา” ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว(น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)            ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ  เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย             นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น           ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!      เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง           คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995   กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย   ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน  การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง    การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ            เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”   ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด           กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 – 19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม           กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร  ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ           ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”           “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง           ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา           ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 – 18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง           อาข่า             ความหลากหลายของชาติพันธุ์           ม้ง                ปีใหม่ม้ง           ไทลื้อ             จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า           เมี่ยนเย้า          ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย           มุนเย้า            พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า           ไทดำ             การทำเตียงนอน           ขมุ                การจักสานและทอผ้ากี่เอว           การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน  เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน           การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย             หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Tara เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น             ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARA บอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์            ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว           ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Tara บอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า           ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง  พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี           “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง  นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-on และเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว    มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป  ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.             

บทสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในพิพิธภัณฑ์และการอนุรักษ์วัตถุสะสมของกลุ่มชนพื้นถิ่น

22 มีนาคม 2556

    บทคัดย่อ - พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุจากกลุ่มชนพื้นถิ่นกำลังเปลี่ยนบทบาทและทิศทางไปพร้อมกับชุมชนที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายถึงวิถีการทำงานใหม่ในพิพิธภัณฑ์ และหมายถึงข้อเรียกร้องใหม่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวัตถุสะสม ผู้เขียนได้วิเคราะห์เหตุผลความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนข้อท้าทายใหม่ๆ ในจริยธรรม การปฏิบัติ คุณค่าของการอนุรักษ์ และข้อท้าทายเช่นนี้ยังส่งผลต่อความเป็นจริงของการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้สรุปว่า ข้อท้าทายส่งอิทธิพลต่อบทบาทและทัศนะของนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ การมองว่าสิ่งใดสำคัญต่อการอนุรักษ์ ใครควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และจะปฏิบัติการอย่างไร     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์     ในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย บริบทพิพิธภัณฑ์ที่มีนักอนุรักษ์วัตถุชาติพันธุ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่เก็บสะสมวัตถุจากชุมชนคนพื้นถิ่นในบริเวณพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากการนำเสนอวัฒนธรรมทางวัตถุเป็นสถานที่ของการนำเสนอวัฒนธรรมที่มีชีวิต ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นการเอื้อให้เกิดการนำเสนอวัฒนธรรมโดยเจ้าของวัฒนธรรมทางวัตถุเอง     เป็นที่ทราบกันดีว่า พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาทำหน้าที่ในการอนุรักษ์และจัดแสดงวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่มากในงานพิพิธภัณฑ์คือ บทบาทของกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมที่มีต่อโครงสร้างอำนาจเดิมซึ่งพิพิธภัณฑ์เคยมี แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่ในการทำงานระดับโครงการเฉพาะ เช่น การจัดนิทรรศการหรือการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมคืนต่อชุมชน มากกว่าที่จะเป็นการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ชนพื้นถิ่นมีโอกาสทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ และกลายเป็นคนในระบบงานพิพิธภัณฑ์ ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจและการควบคุมการนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาในขบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ชนพื้นถิ่น (First Nations) กลายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชนอเมริกันอินเดียน และสถาบันอื่นๆ ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นทั่วอเมริกาเหนือและนิวซีแลนด์ ฉะนั้น ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสมากขึ้นที่จะสัมผัสเสียงของสมาชิกของวัฒนธรรมพื้นถิ่นหนึ่งๆ มิใช่การรับรู้เพียงเสียงจากอดีตหรือจากความรู้วิชาการของภัณฑารักษ์ที่มิใช่ชนพื้นถิ่น     เมื่อพิจารณาจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาในประเทศหนึ่ง (หรือระดับจังหวัด รัฐ หรือภาค) ในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นเป็นผู้เก็บรวบรวมวัตถุเอง เราควรทบทวนขนบในการมองพิพิธภัณฑ์ได้แก่ "พิพิธภัณฑ์ วัตถุ และการเก็บสะสม" (Pearce 1992) มาเป็นการมองเจ้าของวัฒนธรรมวัตถุเหล่านั้นด้วย (originators of the object) (Ames 1992) ในขณะเดียวกัน แนวทางการทำงานใหม่เริ่มก่อตัวในพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องหรือความต้องการใหม่ๆ เข้ามาสัมพันธ์กับวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น การปรึกษาหารือหรือการต่อรองกับตัวแทนของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม หรือการขอคำแนะนำจากคณะกรรมการหรือกลุ่มผู้สูงวัยเพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์ ข้อเรียกร้องทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสะสมที่หมายรวมถึงการส่งสมบัติทางวัฒนธรรมคืน การยืมสิ่งของเพื่องานพิธีกรรม การจัดเก็บหรือการจัดแสดงที่คำนึงถึงความรู้สึกทางวัฒนธรรม การจัดพิธีกรรมในพิพิธภัณฑ์ และการปฏิบัติต่อวัตถุศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงทางจิตใจด้วยธรรมเนียมอันเหมาะสม และการจับต้องวัตถุสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้มาจากประเด็นสิทธิชนพื้นถิ่นและความเป็นเจ้าของ และการควบคุมว่าสิ่งใดเป็นหรือเคยเป็นของพวกเขา เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาใหม่ในศาลและความคิดเห็นสาธารณะในหลายประเทศ     ทิศทางใหม่ของพิพิธภัณฑ์ส่งผลต่องานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงบางประการกระทบต่อความคิดพื้นฐานงานอนุรักษ์ ที่ได้พัฒนาและสืบทอดงานพิพิธภัณฑ์วิทยาเดิม บทความนี้จะเน้นข้อท้าทายสำหรับนักอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ เมื่อข้อคำนึงทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เชิงกายภาพของวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่พวกเขาทำงานอยู่     ความเปลี่ยนแปลงในฐานะความท้าทายต่อการอนุรักษ์     งานอนุรักษ์พัฒนาเป็นสายงานเฉพาะ โดยเน้นไปที่การอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพของวัฒนธรรมทางวัตถุ ลักษณะหนึ่งของสายงานคือ ผู้ปฏิบัติจะยึดมั่นในงานที่ทำและ "ลูกค้า" ที่เขาจะต้องให้บริการ การยึดมั่นต่อความคิดดังกล่าวบางครั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงาน นักอนุรักษ์บางคนเห็นว่าวัตถุเป็นเสมือนลูกค้าคนสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า "ความซื่อสัตย์ของเราไม่ได้เป็นของสถาบัน องค์กร หรือเพื่อร่วมงาน แต่เป็นของวัตถุที่เฉพาะและไม่สามารถหาทดแทน วัตถุซึ่งกุมเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความต้องการ (Pearce 1992, 2) สำหรับพิพิธภัณฑ์แล้ว แนวคิดพื้นฐานที่มองความสำคัญของการอนุรักษ์ของชนพื้นถิ่น ด้วยการสนับสนุนต่อการแสดงความหมายที่มีชีวิต (living expression) มากกว่าการมองไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรมทางวัตถุ แนวคิดดังกล่าวถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างลุ่มลึก นักอนุรักษ์บางคนที่มีประสบการณ์อาจมองว่า เป็นความเสี่ยงต่อวัตถุเพื่อจะรับใช้คนในปัจจุบัน     ทิศทางใหม่ในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้แสดงให้เห็นข้อท้าทายต่อการอนุรักษ์ตามประเพณี ซึ่งพอจะแบ่งเป็นประเด็นดังนี้     1.วิธีการและข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ในฐานะการปฏิบัติเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งๆ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา การสร้างคลังที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหมายถึงการมีพื้นที่ที่อากาศจากภายนอกและแสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ชาวเมารีจะนำใบไม้สดวางบนวัตถุหรือแท่นจัดแสดงสำหรับเหตุผลทางวัฒนธรรรมที่เกี่ยวโยงกับการรำลึกถึง     2. จริยธรรมของการอนุรักษ์ จะเป็นความถูกต้องหรือไม่ที่งานสายอาชีพอนุรักษ์ที่จะต้องยึดมั่นต่อจรรยาบรรณ จะต้องเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุเพื่อเอื้อต่อการอนุรักษ์ความหมายเชิงวัฒนธรรม เช่น ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาช่วยสนับสนุนในขบวนการสร้างข้อตกลงสำหรับการยืมหน้ากากและตระกร้าที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์และเจ้าของวัฒนธรรม จุดประสงค์สำคัญเป็นไปเพื่อให้การยืมเป็นข้อคำนึงสูงสุด แม้ว่าการยืมนั้นจะรวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสวมใส่ หยิบจับ หรือการขนส่งภายใต้สภาพการขนส่งและสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ตาม     3. สิทธิอำนาจของนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในคลัง การครอบครอง และการดูแลกายภาพวัตถุของพิพิธภัณฑ์ สิทธิอำนาจของชนพื้นถิ่นมีมากขึ้นและส่งอิทธิพลต่อประเด็นที่กล่าวมา ข้อท้าทายนี้เป็นหนึ่งในข้อท้าทายสิทธิอำนาจของพิพิธภัณฑ์โดยองค์รวม     4. วิถีการทำงานของนักอนุรักษ์ นักอนุรักษ์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งต่างไปจากนักอนุรักษ์นิวซีแลนด์ โดยปกติแล้วจะไม่เริ่มต้นการอนุรักษ์โดยปราศจากวิธีการที่เหมาะสม และคำปรึกษาของเจ้าของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิหรือมีข้อคำนึงทางวัฒนธรรม     ประเด็นทั้งสี่ประเด็นนี้ส่งผลต่อการปฏิบัติของนักอนุรักษ์ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ส่งผลต่อกรอบการมองงานอนุรักษ์ ข้อเรียกร้องจากชนพื้นถิ่น และพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นสถานที่รับใช้ต่อชุมชนหรือเจ้าของวัฒนธรรม ท้าทายต่อกรอบความคิดเดิมที่วางเอาไว้ว่า พิพิธภัณฑ์คืออะไร กรอบความคิดเหล่านี้เน้นถึงสมมติฐานพื้นฐานของงานอนุรักษ์ เช่น คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุในลักษณะที่ออกไปจากวัฒนธรรมเดิม คุณค่าของการอนุรักษ์วัตถุโดยมองว่าเป็นองค์รวมของสิ่งของมากกว่าที่จะเป็นองค์รวมทางวัฒนธรรม ความสำคัญของการย้อนกลับมามองการผนวกระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน การให้คุณค่ากับวิทยาศาสตร์ในฐานะหนทางแรกของการหาคำตอบเกี่ยวกับการเก็บ การดูแลรักษา และในบางกรณีการปฏิบัติการต่อวัตถุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ข้อท้าทายต่อพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นบททดสอบกรอบความรู้งานอนุรักษ์ "ซึ่งเคยฝังแน่นอยู่ในผู้ปฏิบัติ" คำถามเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญ ชอบธรรม และมีเหตุมีผล และสิ่งใดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำต่อไป     คำถามต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นข้อขัดแย้งทางคุณค่าที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้         สิ่งใดที่ควรอนุรักษ์เมื่อมีเพียงลักษณะทางกายภาพของวัตถุที่ควรได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น         ความสำคัญของวัตถุเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดในกรอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นเพียงรูปลักษณ์ทางกายภาพ แนวคิดนี้ได้รับการขยายความโดยปรัชญา Mabel McKay ที่กล่าวไว้ว่า คนจักสานตระกร้าของชนเผ่า Pomo "ไม่สามารถแบ่งแยกทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัสดุที่เธอใช้จักสานออกไปจากการพูดถึงความฝัน การเยียวยา การทำนายทายทัก และกฎของเครื่องจักสานจากอดีต ด้วยเหตุนี้ สำหรับ Mabel แล้ว สิ่งที่กล่าวถึงจึงไม่สามารถที่จะแยกประเด็นทำความเข้าใจได้แต่อย่างใด" (Sarris 1993, 51)         ระบบคุณค่าของใครมีความสำคัญมากกว่ากัน         โดยปกติแล้ว พิพิธภัณฑ์นิยาม "ความสำคัญและลักษณะเฉพาะ" (AIC 1995, 23) ของวัตถุตามความหมายที่มาจากการวิจัยของภัณฑารักษ์สำหรับวัตถุที่บริบทต่างๆ ในระบบค่านิยมของพิพิธภัณฑ์ (หายาก สภาพ ของจริง ความสำคัญ และอื่นๆ) พิพิธภัณฑ์ "ชีวิต" ในช่วงหลังสมัยใหม่พยายามอย่างยิ่งในการให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมเจ้าของวัตถุ (หรือเรียกได้ว่า เป็นไปตามข้อประนีประนอมทางวัฒนธรรมสำหรับวัตถุศักดิ์สิทธิ์หรือมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมบางประการ) ดังนั้น ในพิพิธภัณฑ์เช่นที่กล่าวมา ความต้องการทางวัฒนธรรมที่ต้องการใช้วัตถุสักชิ้น และการดูแลวัตถุด้วยความเหมาะสมทางวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับต้นๆ มากกว่ากระบวนการมาตรฐานงานอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ นักอนุรักษ์ควรจะให้ความเคารพต่อความหมายทางวัฒนธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงาน และเรียนรู้วิธีการที่ Mabel McKay ดูแลเครื่องจักสานของเธอในลักษณะ "เธอบอกกับฉันถึงวิธีการหล่อเลี้ยงเครื่องจักสานด้วยการให้น้ำ 1 ครั้งต่อเดือน และเธอยังบอกกับฉันด้วยว่าจะต้องมีการสวด และเพลงใดบ้างที่จะต้องร้อง" (Sarris 1993, 61)? วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ควรได้รับการบันทึกหรือเป็นความเหมาะสมทางวัฒนธรรมหรือไม่?         ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า นักอนุรักษ์ในที่นี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นงานสะสมที่มาจากหลายหลากชาติและเงื่อนไขในเรื่องเวลา งบประมาณ และระยะทาง เหล่านี้คือเงื่อนไขที่อาจจะไปด้วยกันได้ไม่ดีนัก พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องพิจารณางานพิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับชนพื้นถิ่น ในขณะเดียวกันกับการทำความเข้าใจต่อความต้องการและการตัดสินใจของชนพื้นถิ่น ที่ไม่ใช่เฉพาะความต้องการของพิพิธภัณฑ์ ควรเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การพิจารณาถึงนัยสำคัญของเครื่องจักสานมิได้มองเพียงแต่ว่าวัตถุนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือมีเรื่องที่ควรระวังทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาไปถึงพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่านักอนุรักษ์จะตัดสินโดยอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติไปในลักษณะใด การตัดสินและกระบวนการจะสะท้อนว่านักอนุรักษ์สามารถผนวก "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแนวคิด" ได้หรือไม่ นั่นคือ คุณค่าของวัฒนธรรมโปโมที่นักอนุรักษ์ได้รับทราบ พร้อมไปกับการอนุรักษ์ลักษณะทางกายภาพ ที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของงานอนุรักษ์ที่นักอนุรักษ์ได้รับการถ่ายทอดมา         คุณภาพของวัตถุที่นักอนุรักษ์ต้องการรักษาและทำนุบำรุงมีความสอดคล้องต่อวัตถุนั้นหรือความสำคัญในคุณค่าทางวัฒนธรรมนั้นหรือไม่         จรรยาบรรณสำหรับนักอนุรักษ์ของรัฐในประเทศแคนาดากล่าวไว้ว่า "ทุกอย่างที่นักอนุรักษ์ทำต้องเป็นไปตามการเคารพต่อองค์รวมของสิ่งนั้น ทั้งลักษณะทางกายภาพ ประวัติศาสตร์ กรอบความคิด และความงาม (IIC-CG and CAPC 1989, 5) Guidance for Conservation Practice (1981) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเพื่อการอนุรักษ์แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "การอนุรักษ์เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แท้จริงของวัตถุนั้น" (UKIC 1981, 1) ในกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ องค์รวมที่แสดงให้เห็นความจริงเกี่ยวกับวัตถุเป็นการคำนึงถึงสภาพปัจจุบันและวัสดุที่ใช้ทำ และรวมถึงเวลาและเครื่องหมายบางอย่าง โดยปกติ การให้เหตุผลของภัณฑารักษ์เกี่ยวกับองค์รวมจะเน้นที่หลักฐานทางกายภาพที่ปรากฏในหรือบนวัตถุพอๆ กับงานบันทึก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าองค์รวมสาระสำคัญอยู่ที่การตีความมากกว่าคุณลักษณะที่ยึดติดกับตัววัตถุ ตัวอย่างเช่นข้อเท็จจริงที่มีการพิสูจน์ถึงเวลาและร่องรอยไม่ใช่ความจริงที่สำคัญกับตัววัตถุ ความหมายของวัตถุจึงไม่ปรากฏหากปราศจากการตีความ (Handler 1992; Pearce 1992) การตีความหมายถึงการเพิ่มเติมคุณค่าทางวัฒนธรรม และผลของการตีความปรากฏในฐานะของความจริง         ตัวอย่างต่อไปนี้จะสะท้อนให้เห็นความคิดดังกล่าว ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัย บริติชโคลัมเบีย (MOA) ยินยอมให้ครอบครัวของชนพื้นถิ่นครอบครัวหนึ่งยืมหน้ากากเพื่อใช้ในพิธีพอทแลท์ช เพราะวัตถุนั้นๆ มีความแข็งแรงและมีอายุตั้งแต่กลางศตวรรษที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นกลุ่มวัตถุที่มาจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือเดียวกัน และมีสภาพที่ใช้การได้ดีเช่นเดียวกัน แต่กลับเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นในช่วง 1825 หรือ 1790 วัตถุนั้นจะถูกมองเป็นสิ่งหายากที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตรงนี้ คงเป็นเรื่องอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่า พิพิธภัณฑ์จะยินยอมให้ยืมวัตถุเหล่านั้นเพื่อการร่ายรำ เวลาในกรณีที่ยกตัวอย่างมานี้แสดงให้เห็นคุณค่าที่สัมพัทธ์มากกว่าการยึดติดที่ข้อเท็จจริง         คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของ "องค์รวม" สะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่านักอนุรักษ์ควรทำอย่างไรต่อวัตถุชิ้นหนึ่งที่มาจากวัฒนธรรมอื่น ขณะที่คุณที่ผูกโยงกับวัตถุตัวนั้นขัดกับค่านิยมบางประการในงานอนุรักษ์         แล้วนักอนุรักษ์ในสายอาชีพจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด     จุดหมายใหม่สำหรับงานพิพิธภัณฑ์หมายถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีเป็นการเพิ่มความยากลำบากที่ต้องยอมรับมากขึ้นในวิชาชีพการอนุรักษ์ โดยภารกิจสำคัญคือการอนุรักษ์ที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลง ("การอนุรักษ์ที่ต้านทางการเปลี่ยนแปลง" เป็นคุณค่าพื้นฐานของขนบพิพิธภัณฑ์วิทยา การอนุรักษ์ดังกล่าวนำเสนอวัฒนธรรมในกรอบเวลาหนึ่งและสัมพันธ์กับ "การปรากฏตัวของข้อมูลทางชาติพันธุ์" ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ "แท้จริง")     อย่างไรก็ตาม ความหมายทางวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงไป และควรให้คุณค่าต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงการยอบรับต่อ "ความจริง" ซึ่งแตกต่างกันในเวลาที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นเรือแคนนูที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์การใช้งาน แต่ในปัจจุบัน คุณค่าและความหมายเปลี่ยนไปเรือกลายเป็นสิ่งตกทอดที่เหลืออยู่ (Phillips 1991, อ้างใน Clavir 1992 และ Feest 1995)     ด้วยการยอมรับความหมายทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป นักอนุรักษ์กำลังถูกตั้งคำถาม ไม่ใช่เพียงคุณค่าที่จับต้องได้ยากของวัตถุ แต่ยังต้องตระหนักและยอมรับกระบวนการที่ต่อเนื่อง และสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่า อันหมายถึงการคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุ้นเคยในงานอนุรักษ์ แนวคิดใหม่นี้ส่งผลต่อนักอนุรักษ์ในหลายๆ ทาง ทั้งธรรมชาติที่เปลี่ยนไปของงานพิพิธภัณฑ์ และบทบาทของงานสะสมในพิพิธภัณฑ์     การสังเกตการณ์     บริบทที่ท้าทายสำหรับจริยธรรมและการปฏิบัติในงานอนุรักษ์นำไปสู่คำถามพื้นฐาน ได้แก่ การอนุรักษ์วัตถุทางชาติพันธุ์ ปัจจัยที่กำหนดเหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับงานสะสมในทุกวันนี้ ไม่ว่าวัตถุเหล่านั้นจะได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ทั่วไป หรือหลังสมัยใหม่ หรือพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวิถีชีวิต? คำตอบจะปรากฏอยู่กับการทำงานที่จะยอมรับหรือปฏิเสธพัฒนาการเหล่านี้ และการประยุกต์ใช้จริง     ข้อท้าทายต่อกรอบการทำงานพื้นฐานมักออกมาในลักษณะที่ขัดแย้งต่อคนที่เชื่อในคุณค่าตามกรอบการทำงาน อันที่จริงแล้ว นักอนุรักษ์ควรทำตัวเป็นผู้ท้าทายต่อระบบ การถกเถียงทั้งด้วยอารมณ์ ความเชื่อ และเหตุผลเป็นสิ่งที่จะต้องการขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ว่านักอนุรักษ์ควรเผชิญหน้ากับชนพื้นถิ่นเจ้าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพื่อถกเถียงในประเด็นการอนุรักษ์ คนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทัศนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกัน     ทางออกหรือจรรยาบรรณที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และปรับเปลี่ยนไปต่อสถานการณ์ที่ต่างกัน นอกจากนี้ การลงมือกระทำขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่นในด้านกฏหมายและข้อเรียกร้องเชิงศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของชนพื้นถิ่นอย่างในแคนาดา นอกจากความซับซ้อนที่กล่าวถึง และการหาทางออกจากข้อกังขาเกี่ยวกับจรรยาบรรณ ข้อสังเกตที่กล่าวถึงนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันและที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป         การสังเกตการณ์ประการแรก : การตัดสินใจของพิพิธภัณฑ์         ในความเป็นจริง พิพิธภัณฑ์ต้องตัดสินใจทุกวันเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัตถุสะสม เราต้องพึงระลึกเสมอว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงการใส่ใจเฉพาะวัตถุของวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เราจะต้องปฏิบัติการด้วยเท่านั้น แต่ข้อท้าทายนี้ยังผลต่อการทำงานอนุรักษ์โดยรวม ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีวัตถุที่สามารถแตะต้องได้ในพิพิธภัณฑ์ การให้ยืมวัตถุบางชิ้นไปในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การเปิดพื้นที่ให้เช่าที่สามารถนำอาหาร เครื่องดื่ม หรือดอกไม้เข้าในไปส่วนนิทรรศการ หรือแม้แต่การขาดแคลนเงินทุนหรือการริเริ่มที่จะจัดสภาพคลังวัตถุในลักษณะที่เหมาะสม จากความเป็นมา ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดในทวีปอเมริกาเหนือที่สามารถเป็นตัวอย่างของมาตรฐานการดูแลที่สอดคล้องกับวัตถุวัฒนธรรมของชนอเมริกันและแคนาเดียนพื้นถิ่น         อนึ่ง การอนุญาตให้มีการใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดมาจากการเรียกร้องของชนพื้นถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเท่านั้น พิพิธภัณฑ์มากมายได้รับการเรียกร้อง "การสัมผัส" วัตถุที่กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทั่วไป ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิคเตอเรียแอนด์อัลเบริต์ที่จัดแสดงแจกันราชวงศ์หมิง ศตวรรษที่ 16 ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ในนิทรรศการที่ได้รับการออกแบบเป็นอย่างดี และแจกันเองกลับไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (Kerr 1995) หากให้ยกตัวอย่างอื่นเพิ่มเติม นักอนุรักษ์ยอมรับการใช้กลุ่มหนังสือเก่าและจดหมายเหตุในหอสมุด หรือการที่พิพิธภัณฑ์ให้ยืมวัตถุในการประกอบพิธีกรรม ในลักษณะเช่นนี้ มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอาคารและอยู่ภายใต้ข้อแนะนำเพื่อการอนุรักษ์         นักอนุรักษ์ผลงานศิลปะร่วมสมัยยอมรับการจัดแสดงผลงานของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ในลักษณะที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งถือเป็นความจงใจของศิลปินเอง และกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศยอมรับการกระทำดังกล่าว นักอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมยอมรับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อองค์รวมของอาคารเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบและแบบแผนการใช้งานใหม่ พิพิธภัณฑ์ทางการทหารเป็นตัวอย่างที่ดีแต่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ในอังกฤษและแคนาดา มีตัวอย่างการให้ยืมใช้วัตถุชั่วคราว เช่นเหรียญที่ระลึกให้ยืมชั่วคราวในพิธีรำลึกถึงอดีต ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่จะให้ยืมข้าวของในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการสู้รบประจำปี         คำสำคัญในที่นี้ ได้แก่ พิธีกรรม การใช้ การให้ยืมเพื่อใช้งาน การต่อรองกับผู้สร้างสรรค์งาน ผู้สร้างสรรค์ (เจ้าของ) มีสิทธิ์ไม่ใช่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ตัดสินใจในขณะที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากวัตถุ         การสังเกตการณ์ประการที่สอง : ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์         หลักฐานที่เห็นได้จากการปฏิบัติงานได้แก่ ฐานการคิดที่ปรับเปลี่ยนเนื่องจากการท้าทายชนพื้นถิ่นต่อพิพิธภัณฑ์ ณ วันนี้ เฉกเช่นในอดีต ปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ยังคงมีลักษณะที่แตกต่างจากทฤษฎีงานพิพิธภัณฑ์ คำถามง่ายที่สามารถยกขึ้นมาเช่น ทำไมห้องคลังจึงมีสภาพที่แน่นมากเกินไป ทำไมชื่อชนพื้นถิ่นที่ใช้เรียกบ้านเกิดหรือผู้คนจึงไม่ปรากฎในนิทรรศการถาวรหรือทะเบียนวัตถุ ทำไมแมลงที่เข้ามาเป็นเหลือบไรต่อวัตถุยังคงมีอยู่ แม้จะมีกระบวนการป้องกันที่เหมาะสม ทำไมพิพิธภัณฑ์ที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียงจึงยังไม่สามารถรักษาสภาพที่ดีสำหรับวัตถุสะสม หรือไม่สามารถสร้างมาตรการที่จะลดผลกระทบของแผ่นดินไหวในบริเวณที่จำเป็น หากพิพิธภัณฑ์ยังไม่สามารถใช้ความรู้ความชำนาญการจากความรู้ที่ตนเองสะสมตลอดหลายปี ทำไมใครสักคนจะต้องเชื่อการเติบโตขององค์กรพิพิธภัณฑ์ เมื่อชนพื้นถิ่นจากชุมชนแห่งหนึ่งเข้ามาชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ที่มาจากมรดกของชุมชน เขาอาจมีโอกาสพบข้อผิดพลาดในสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ปฏิบัติต่อวัตถุนั้นๆ         การสังเกตการณ์ประการที่สาม : ฐานร่วมกัน         แม้ว่าเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์หรือนักอนุรักษ์จะแตกต่างจากเป้าหมายของชุมชนคนพื้นถิ่นหรือปัจเจกชน แต่ฐานที่ร่วมกันสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เราไม่ควรสรุปความไม่ลงรอยโดยการวางการอนุรักษ์วัตถุไว้ตรงข้ามกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม         Deborah Doxtator ชาวแคนาเดียนพื้นถิ่นแสดงความคิดเห็นว่า จุดร่วมระหว่างชนพื้นถิ่นและพิพิธภัณฑ์แคนาเดียนที่ไม่ใช่ของชนพื้นถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องมาจาก "ความจริงที่ว่าแต่ละฝ่ายมีจุดหมายที่ต่างกัน นั่นคือ จุดหมายที่คู่ขนานกันไป" (Doxtator 1994, 22) จริงๆ แล้ว แม้จุดหมายจะเดินทางคู่ขนานกันไป แต่ผลกลับเป็นบวกได้ หากผลนั้นตอบสนองต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในห้องคลังสำหรับวัตถุที่มีเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์นิวเม็กซิโก แสดงให้เห็นความเคารพต่อวัตถุและผู้ชม ขณะที่ยังสามารถสะท้อนค่านิยมของงานอนุรักษ์ หรืออย่างศูนย์วัฒนธรรม U’mista อัลเบริต์ เบย์ ในบริติช โคลัมเบีย จัดแบ่งเครื่องประกอบพิธีกรรมพอทแลท์ชเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มวัตถุอายุเก่าและกลุ่มวัตถุร่วมสมัยที่สมาชิกในชุมชนสามารถยืมไปใช้ในพิธีกรรมได้ นักอนุรักษ์เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว         สุดท้าย ชนพื้นถิ่นยอมรับต่อมาตรฐานการดูแลและอนุรักษ์วัตถุที่อยู่พิพิธภัณฑ์ (Matlas 1993) ในจุดนี้ นักอนุรักษ์ยินยอมพร้อมใจ ลีโอนา สปาร์โร ที่ปรึกษากลุ่ม Masqueam ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว และได้เพิ่มเติมข้อพึงปฏิบัติด้วยว่า มาตรการใดๆ ที่ใช้ดำเนินการอนุรักษ์จะต้องไม่ขัดต่อองค์รวมทางวัฒนธรรมของวัตถุ หรือความต้องการของชุมชนที่จะเข้าไปใช้วัตถุ (Sparrow 1995)         การสังเกตการณ์ประการที่สี่ : กฎจรรยาบรรณ     อย่างน้อยที่สุด หนึ่งในกฎจรรยาบรรณของนักอนุรักษ์กล่าวไว้ว่า ชนพื้นถิ่นมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อมรดกวัฒนธรรมของตนเอง แม้ว่าเขาจะมิได้มีสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย ข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้มาจากการอนุญาตของสภาอนุสรณ์สถานและแหล่งมรดกระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites - ICOMOS) ตามกฎบัตรนิวซีแลนด์สำหรับการอนุรักษ์สถานที่และคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม     "มรดกของชนพื้นถิ่นเมารีและเมาริโอริ…ไม่สามารถแยกออกได้จากตัวตนและความรุ่งเรือง และกอปรขึ้นเป็นความหมายทางวัฒนธรรมจำเพาะ     ข้อตกลงไวแทนกิเป็นเอกสารก่อร่างชาติของเรา และเป็นฐานรองรับการคุ้มครองชนพื้นถิ่นในลักษณะที่ชนพื้นถิ่นมีส่วนรับผิดชอบต่อสมบัติ สถานที่สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เนื้อหาขยายขอบเขตความเป็นเจ้าของตามกฎหมายที่มีอยู่ ความรู้ในคุณค่าของมรดกเฉพาะเป็นปัจจัยในการเลือกผู้ที่ดูแลรักษา การอนุรักษ์สถานที่ที่กอปรด้วยคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการตัดสินใจของชุมชนคนพื้นถิ่น และควรที่จะเป็นไปในบริบทเช่นนี้เท่านั้น ข้อพึงระลึกในงานอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นถิ่นเลื่อนไหลและปรับเปลี่ยนไปตามความสืบเนื่องของชีวิต และความต้องการตามแต่ละปัจจุบันขณะ พร้อมไปกับความรับผิดชอบของการคุ้มครอง และความสัมพันธ์กับผู้คนที่จากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกล่าวถึงข้อปฏิบัติต่อการเข้าถึง สิทธิอำนาจ และพิธีกรรมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในระดับท้องถิ่น หลักพื้นฐานโดยทั่วไปของจรรยาบรรณและความเคารพทางสังคมย้ำให้เห็นว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่เราจะต้องใส่ใจอยู่เสมอ (ICOMOS 1993, Sec. 2)"     สรุป สิ่งที่จะได้กล่าวต่อไปนี้สะท้อนทัศนะต่อการทำงานอนุรักษ์แบบที่เคยปฏิบัติกันมา และไม่ต้องสงสัยเลยว่าความคิดเช่นนี้เป็นที่ยอมรับของนักอนุรักษ์วิชาชีพในช่วงเวลาที่ได้รับการบัญญัติขึ้นในปี 1986 "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะลดหรือเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับงานสะสม และต้านทานต่อทุกสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุหรือนำไปสู่การเสื่อมหรือทำลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเชิงรุกหรือตั้งรับ สภาพที่ดีของวัตถุเป็นข้อคำนึงเบื้องต้นเหนือการพิจารณาประเด็นอื่นใด (Ward 1986, 9) ในช่วงทศวรรษสั้นๆ จากนั้น สายอาชีพงานอนุรักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม ข้อตกลงที่สร้างขึ้นร่วมกับเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรม "หน้าที่ของนักอนุรักษ์คือการทำทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงหรือลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุสะสมในบางสถานการณ์ หน้าที่ของนักอนุรักษ์ได้แก่การให้ข้อมูล (เช่น ความเลี่ยง ทางเลือกในการปฏิบัติ จรรยาบรรณการอนุรักษ์ และกระบวนการ) และเสนอการปฏิบัติต่อสถานการณ์ที่อาจจะเสี่ยงต่อความเสียหายของวัตถุ ไม่ว่าเชิงรุกหรือรับ ขณะที่ข้อมูลและปฏิบัติการอนุรักษ์ดำเนินไปด้วยการพิจารณาสภาพของวัตถุที่เหมาะสมและเป็นการปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ควรดำเนินการคู่ขนานกันไปคือ การคำนึงถึงบริบทที่ใหญ่กว่าซึ่งเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมหรือผู้สืบทอดควรเข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานดังกล่าวด้วย" กรอบความคิดข้างต้นไม่ใช่การลบล้างกระบวนการทำงานของนักอนุรักษ์ที่เห็นว่าสิ่งใดสำคัญในการตัดสินใจอนุรักษ์ แต่เป็นการพยายามเปลี่ยนจุดเน้นไปที่บริบทที่ใหญ่กว่า ความคิดเช่นนี้ยอมรับคณะทำงานที่ควรมาจากหลายสาขาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการอนุรักษ์ คณะทำงานที่กล่าวถึงควรประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มเจ้าของวัฒนธรรมและวิชาชีพอื่นๆ กรอบความคิดที่ว่านี้พยายามจัดวางวิชาชีพนักอนุรักษ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์และเทคนิควิทยาในการอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรม แต่ความรับชอบของเขาและเธอควรเป็นการใช้ความรู้เพื่อคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอื่นในแต่ละกรณี มากกว่าจะเป็นการใช้ความรู้จัดการทุกอย่างด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด