บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 83 บทความ

ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

11 เมษายน 2562

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)--------------------เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี                 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009             แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum             ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ             การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์             คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต             การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม             วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg             คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม             เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908             นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ             ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ                 ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด             ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน             ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย             การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี             ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน             Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich ผลงาน Dying Tecumseh ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg             ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน             ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์: กรณีศึกษาข้อตกลงการบริหารจัดการร่วม

15 กุมภาพันธ์ 2561

บ้านประวัติศาสตร์อดัมส์ ตั้งอยู่ในเมืองเดดวูด รัฐเซาธ์ดาโกตา เป็นอาคารสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนที่งดงาม และยังคงรักษาการตกแต่งดั้งเดิมเอาไว้ได้ทั้งหมด ก่อสร้างในปี ค.ศ. 1892 เคยได้รับการขนานนามจากสื่อว่าเป็น “บ้านที่โอ่อ่าที่สุดในฝั่งตะวันตกของมิสซิสซิปปี” ปัจจุบัน ตามที่แมรี่ คอปโค(Mary Kopco) ผู้บริหารของบ้านให้ข้อมูล บ้านได้ฟื้นกลับมามีชีวิตเหมือนดังเดิมหลังจากบูรณะไปเป็นเงินทั้งสิ้นราว 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงการบริหารจัดการร่วมระหว่างเทศบาลเมืองเดดวูด และคณะกรรมการกลุ่มผู้บริหารบ้าน

ความหมายและความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์

24 ตุลาคม 2560

พระราชวังไป วังเจ้านาย บ้านบุคคลที่มีชื่อเสียง สตูดิโอศิลปิน บ้านคหบดี บ้านคนธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าเคหสถานนั้นจะหรูหราอลังการหรือเป็นเพียงกระท่อมมุงจาก หากได้รับการอนุรักษ์และเปลี่ยนแปลงหน้าที่การใช้งานจากที่พักอาศัยไปสู่แหล่งเรียนรู้ อย่างง่ายที่สุดเรียกได้ว่าสถานที่แห่งนั้นคือพิพิธภัณฑ์บ้านหรือพิพิธภัณฑ์บ้านประวัติศาสตร์ (historic house museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประเภทอื่น โดยเฉพาะในประเด็นการอนุรักษ์ตัวเรือนหรือสถานที่ เครื่องเรือน เครื่องใช้ การสร้างบรรยากาศ และการนำเสนอ

บทเรียนจากอีโนลา เกย์

23 กุมภาพันธ์ 2565

“คุณต้องการทำนิทรรศการเพื่ออยากให้เหล่าทหารผ่านศึกรู้สึกดี   หรือคุณต้องการที่จะทำนิทรรศการที่นำพาผู้ชมให้ได้ย้อนคิดถึงผลพวงจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น?  ...ตอบอย่างจริงใจเลยนะ ผมไม่คิดว่าเราจะทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้” ทอม เคราช์ (Tom Crouch) ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน             การจัดแสดงเครื่องบิน B -29  อีโนลา เกย์(Enola Gay) ในวาระครบรอบ 50 ปี การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนถึงวิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น  การจัดแสดงในครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญโดยเฉพาะให้กับวงการพิพิธภัณฑ์ นักประวัติศาสตร์   และผู้เกี่ยวข้องในสังคมอเมริกัน  ในประเด็นเกี่ยวกับการรักษาอิสระทางความคิดและความซื่อสัตย์ทางวิชาการ  แรงกดดันและการแทรกแซงทางการเมืองต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  การต่อรองเกี่ยวกับการจัดแสดง  รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่นำเสนอในนิทรรศการให้กับสาธารณะ  บทความนี้พยายามแสดงให้เห็นลำดับเหตุการณ์โดยสังเขปของข้อโต้เถียงกรณีนิทรรศการอีโนลา เกย์ และรีวิวความคิดความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับคนทำงานพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ เมื่อเสรีภาพทางวิชาการถูกสั่นคลอน           อีโนลา เกย์ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29  ตั้งชื่อโดยนักบินผู้ขับเครื่องบินลำนี้ คือ พอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts,Jr) ตามชื่อมารดาของเขา  เป็นเครื่องบินที่ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1945  และถูกนำออกมาจัดแสดงในปี ค.ศ. 1995 โดยพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน  โดยเป็นนิทรรศการที่กระพือแรงปฏิกิริยาจากสาธารณะหลายฝ่ายทั้ง ทหารผ่านศึก สื่อมวลชน นักการเมือง นักวิชาการ และภัณฑารักษ์  เกี่ยวกับบทบาทของพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์สาธารณะในสังคมอเมริกัน           นิทรรศการนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าด้วยเรื่องบริบทของการทิ้งระเบิดปรมาณู และผลพวงของการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกในโลกที่ฮิโรชิมา โดยเนื้อเรื่องนำไปสู่การตั้งคำถามว่า การใช้ระเบิดปรมาณูเป็นความจำเป็นทางการทหารหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าญี่ปุ่นกำลังยอมแพ้อยู่แล้ว  การนำเสนอทำนองนี้นำมาซึ่งความไม่พอใจของเหล่าทหารผ่านศึก ที่เห็นว่าวิธีการนำเสนอดังกล่าวบิดเบือน  ไม่ถูกต้อง ไม่รักชาติ เหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามไปสู่การเมือง เมื่อสมาชิกรัฐสภากว่า 40 คน ลงนามในจดหมายให้ไล่ผู้อำนวยพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวออก           การโต้เถียงในเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์  วารสารวิชาการ  และเวทีเสวนาวิชาการ แต่การโหมกระพือข่าวจากฝ่ายสื่อมวลชนยิ่งสร้างความไม่พอใจกระจายออกไปเป็นวงกว้าง  บางคนส่งจดหมายแสดงความไม่พอใจส่งมาถึงพิพิธภัณฑ์สัปดาห์ละเป็นร้อยฉบับ ขณะที่ก็มีผู้ประท้วงฝั่งตรงกันข้ามขว้างปาของเหลวสีแดงใส่วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ชูป้าย “อย่างทำแบบนี้อีก” “อย่าทำแบบฮิโรชิมาอีก” (Dubin, 1999, pp. 200,222)           จำนวนข้อโต้เถียงที่เกิดจากนิทรรศการชุดนี้มีมากเป็นประวัติการณ์ อาทิ วารสาร Journal of American History อุทิศเนื้อที่ 3 ใน 4 ของวารสารฉบับหนึ่งว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง ทั้งในประเด็นข้อกังวลของนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนิทรรศการนี้ รวมถึงการตีความต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ และการสนทนา(dialogue)สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการทำงานของนักประวัติศาสตร์  มีหนังสือรวมบทความต่างๆเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ออกมาจำนวนมาก  มีงานตีพิมพ์มากมายออกมา ทั้งรวมบทความต่างๆ   มีการพิมพ์ซ้ำบทนิทรรศการฉบับแรกพร้อมกับคำอธิบายโดยสังเขปและข้อวิพากษ์  รวมถึงคำอธิบายที่มาที่ไปอย่างละเอียดถี่ถ้วนของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ   นอกจากนี้สมาคมกองทัพอากาศ(The Air Force Association: AFA) องค์กรอิสระไม่แสวงกำไร ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกองกำลังทางอากาศ  เป็นแนวหน้าในการวิพากษ์พิพิธภัณฑ์ยังได้รวบรวมเอกสารมากมายได้แก่ สำเนาการให้ข่าว จดหมาย บันทึก รายงาน และบทความข่าวจากทั่วประเทศ บทวิเคราะห์ บทนิทรรศการชุดแรก  ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด และบันทึกสำคัญต่างๆ จำนวนมหาศาล (Dubin, 1999, pp. 191-192) วารสาร The Journal of American History (Dec 1995) มีเนื้อหาข้อโต้เถียงอีโนลา เกย์ กว่าค่อนเล่ม (ภาพจาก http://jah.oxfordjournals.org/)             อย่างไรก็ดีเหตุการณ์การแทรกแซงการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ของเหล่าบรรดานักการเมือง สร้างความสั่นสะเทือนในแวดวงภัณฑารักษ์ในประเด็นอิสระทางความคิด  นักวิชาการในมหาวิทยาลัยไม่พอใจในระบบการเซ็นเซอร์เนื้อหา ที่สั่นคลอนความซื่อสัตย์ทางวิชาการ และการหวังผลทางการเมืองเพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์             แม้สถาบันสมิธโซเนียนจะเคยเผชิญกับปัญหาการพยายามแทรกแซงและแรงกดดันทางการเมืองและสังคม เช่นในปี ค.ศ. 1989 เมื่อสหรัฐอเมริกาฉลอง 200 ปีของรัฐธรรมนูญ สถาบันสมิธโซเนียนตัดสินใจที่จะเน้นเหตุการณ์การกักขังชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในค่ายกักกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณชนบางส่วนรวมทั้งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนพยายามกดดันให้สถาบันสมิธโซเนียนเปลี่ยนใจ แต่เลขาธิการสถาบันในตอนนั้นยืนหยัดต่อความซื่อสัตย์ทางวิชาการ (แฟรงค์ โพรแชน, 2547, หน้า 23)           แต่สำหรับเหตุการณ์อีโนลา เกย์ ในตอนแรกสถาบันสมิธโซเนียนพยายามเจรจาต่อรอง โดยยืนยันความถูกต้องทางความคิดในเรื่องที่เป็นประเด็นขัดแย้ง แต่ด้วยกระแสกดดันจากนักการเมือง องค์กรทางทหารผ่านศึก  นักรณรงค์ ทำให้ในที่สุดเลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียนตัดสินใจหั่นนิทรรศการเวอร์ชั่นสุดท้ายกลายเป็นนิทรรศการตัวใหม่ที่มีเนื้อหาที่เบาลง ในชื่อ “อีโนลา เกย์: บางสิ่งที่เป็นมากกว่าเครื่องบิน” (Enola Gay: Something More Than an Airplane)  ส่วนหนึ่งของบทนำของนิทรรศการความว่า “มันเป็นเครื่องบินเหมือนกับลำอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ตามสายพานของการทำสงครามมากเป็นพันๆ ครั้ง  เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแนวหน้าในตอนนั้น แต่มีเพียงหนึ่งเดียวที่ 50 ปีต่อมา ดูเหมือนจะเป็นที่น่าประทับใจมากกว่าเครื่องบินลำอื่น ในฐานะเครื่องบินที่มีชื่อเสียง”             อย่างไรก็ดียังปรากฏร่องรอยของข้อโต้แย้งในนิทรรศการนี้อยู่บ้าง เช่น วีดิโอส่วนสรุปที่จัดแสดงข้างๆ ภาพถ่ายเก่าของลูกเรือ B-29 ใจกล้าที่เต็มไปด้วยสีหน้ายังเยาว์วัยพร้อมๆ กับความทรงจำของพวกเขา  นักบินพอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts, Jr) กล่าวว่า คุณไม่สามารถเล่นบท “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า” ได้ เมื่อย้อนมองกลับไปตอนสงครามโลกครั้งที่สองหรือตอนสิ้นสุดสงคราม  เขาเน้นย้ำว่าวีรบุรุษและผู้ที่รักชาตินั้น “ประสบความสำเร็จในการยุติการนองเลือด หลังจากนั้นทุกคนก็กลับบ้าน” (Dubin, 1999, p. 224)           ต่อมา มาร์ติน ฮาร์วิต (Martin Harwit) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ  ตัดสินใจลาออก  ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ประท้วงในงานวันเปิดนิทรรศการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1995 ว่านิทรรศการเวอร์ชั่นนี้ เป็นการ “อำพรางข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์  ปัจจุบันอีโนลา เกย์ จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์สตีเวนส์ เอฟ อัดวาร์-เฮซี่ (Steven F. Udvar-Hazy Center) ศูนย์แห่งใหม่ของพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ โดยปราศจากบริบทประวัติศาสตร์ (Kurin, 1997, p. 71) นิทรรศการอีโนลา เกย์ ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1995 (ภาพจาก http://collections.si.edu/)   ตัวบท: ต้นทางของการโต้แย้ง           ข้อเสนอแรกเริ่มของการจัดทำนิทรรศการนี้เริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 ภายใต้ชื่อชุดนิทรรศการ  “บนทางแพร่ง: การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง ระเบิดปรมาณูและต้นกำเนิดสงครามเย็น”  (The Crossroads: The End of World War II,the Atomic Bomb and the Origins of the Cold War) โดยมาร์ติน ฮาร์วิต ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ  ได้หารือกับองค์การทหารผ่านศึก นักประวัติศาสตร์ของกองทัพ นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง  เขาวางแผนว่าส่วนหนึ่งของนิทรรศการจะนำเสนอทั้งเรื่องบนฟ้าและบนดิน หมายถึงนำเสนอเครื่องบินอีโนลา เกย์ควบคู่ไปกับภาพซากปรักหักพังของเมืองฮิโรชิมาที่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิด วัตถุพยานต่างๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว  รวมถึงเอกสารและความเป็นมาของโครงการให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่การตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูลูกแรกของ (Dubin, 1999, p. 186)           ตัวบทดั้งเดิมของนิทรรศการประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1. “การต่อสู้ไปสู่การจุดสิ้นสุด” ซึ่งจะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง  2. “การตัดสินใจทิ้งระเบิด” ที่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น  3. “การใช้ระเบิดปรมาณูครั้งแรกของโลกในการโจมตีทางอากาศ” นำเสนอประสบการณ์ของนักบินที่ทิ้งระเบิด  4. “นคร ณ เวลาสงคราม” อธิบายตำแหน่งบนผิวดินที่ถูกทิ้งระเบิด และ 5. “มรดกแห่งฮิโรชิมาและนางาซากิ” ที่อธิบายจุดเริ่มต้นของแข่งขันในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และสงครามเย็น (Smithsonian Institution Archives, 1994)           แต่บทนิทรรศการที่ถูกพูดถึงและเผยแพร่ส่งต่อกันมาก ทั้งในสื่อและนักรณรงค์ ที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาการนำเสนอของนิทรรศการ  แม้ว่าตัวบทนี้ไม่ได้ถูกจัดแสดงและแก้ไขไปแล้วก็ตามคือ           “ในปี ค.ศ. 1931 กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดแมนจูเรีย หกปีต่อมายึดส่วนที่เหลือของจีน จากปี ค.ศ. 1937 ถึง 1945 จักรวรรดิญี่ปุ่นทำสงครามอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นกระทำอย่างก้าวร้าวและโหดร้ายทารุณ  การสังหารหมู่ชาวจีนหลายหมื่นคนที่นานกิงในปี ค.ศ. 1937 เป็นการกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพญี่ปุ่นที่ช็อกคนทั่วโลก มีการทำทารุณอย่างโหดร้ายต่อประชาชนทั่วไป แรงงานที่ถูกเกณฑ์มา นักโทษสงคราม รวมถึงการใช้มนุษย์เป็นเหยื่อในการทดลองอาวุธชีวภาพ        ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นบุกฐานทัพอเมริกันที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ ฮาวาย และบุกโจมตีดินแดนฝ่ายสัมพันธมิตรในแถบแปซิฟิกอย่างกะทันหัน  ความโกรธแค้นต่อญี่ปุ่นขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ สงครามครั้งนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างจากการต่อสู้กับเยอรมนีและอิตาลี มันเป็นสงครามการแก้แค้น สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มันเป็นสงครามเพื่อปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก  เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945 เป็นที่ปรากฏแก่ทั้งสองฝ่ายว่านี่คือการต่อสู้เพื่อจะยุติ” (ข้อความเน้นโดยผู้เขียน)                     บทนิทรรศการดั้งเดิมเจ้าปัญหาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะข้อความที่เน้น ถูกฝ่ายทหารผ่านศึกและผู้สนับสนุนมองว่าทำให้คนอเมริกันกลายเป็นผู้ร้าย เป็นคนเหยียดเชื้อชาติและอาฆาตพยาบาท ในขณะที่ญี่ปุ่นได้รับการยกย่องว่าปกป้องตัวเอง แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ได้นำข้อเขียนเหล่านั้นออกไปและแก้ไขใหม่  แต่ข้อความเดิมๆ ดังกล่าวก็ถูกอ้างอิงกันไปกันมาโดยไม่มีบริบท เป็นผลให้บิดเบือนสารที่ภัณฑารักษ์ตั้งใจจะสื่อ (Dubin, 1999, p. 198)           หากพิจารณาจากตัวบทนี้ ชัดเจนว่าภัณฑารักษ์ไม่ได้กล่าวบิดเบือนการกระทำผิดของญี่ปุ่น และไม่ได้ให้อภัยการกระทำของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าภัณฑารักษ์พยายามทำความเข้าใจทัศคติของทั้งสองฝ่าย เป็นการสร้างความ “สมดุล”  ในความหมายของทอม เคราช์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติ “มีคนคิดว่ามันยุติธรรมแล้วที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ที่มาจากความสูง 30,000 ฟุต  ผมคิดว่ามันก็ดี แต่ผมไม่คิดว่าเป็นการบอกเล่าได้อย่างยุติธรรม  คุณควรจะต้องนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนพื้นดินด้วย” (Dubin, 1999, p. 198)           ประเด็นเรื่อง “ความสมดุล” ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการโต้เถียงครั้งนี้ ประโยคที่ว่า “สงครามการแก้แค้น” และ “การปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว” เป็นวลีที่ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งในสื่อและท่ามกลางฝ่ายที่ต่อต้านนิทรรศการ  อย่างไรก็ดีผู้อำนวยพิพิธภัณฑ์ก็ให้เหตุผลเรื่องความสมดุลนี้ว่า เขาต้องการชดเชยความตระการตาและขนาดอันมโหฬารของการจัดแสดงเครื่องบินอีโนลา เกย์ ด้วยการจัดแสดงวัตถุพยานจากการทิ้งระเบิดที่เป็นต้นทุนราคาแพงของมนุษยชาติ (Dubin, 1999, p. 199)           ของชิ้นเล็กๆ บางชิ้นที่ถูกหยิบยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ในฮิโรชิมาและนางาซากิ แม้จะเป็นวัตถุชิ้นเล็กๆ แต่มีพลังอธิบายมหาศาล เช่น เสื้อผ้าที่ย่างเกรียม นาฬิกาข้อมือที่ถูกหลอมไปกับข้อมือในวินาทีที่ถูกระเบิด กล่องใส่อาหารของเด็กนักเรียนหญิง(ข้าวและถั่วเกรียมเป็นคาร์บอน แต่ร่างของเธอสูญสลาย) ฝ่ายผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่าวัตถุเหล่านี้กระตุกหัวใจของผู้ชม และอาจหันเหความสนใจของผู้ชมจากเรื่องวีรกรรมและความจำเป็นของปฏิบัติการของทหาร (Dubin, 1999, p. 199) นาฬิกาที่หยุดเดินในวินาทีที่โดนแรงระเบิด จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Hiroshima Peace Memorial Museum (ภาพจาก  Takasunrise0921, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1180462)           สุดท้ายชุดนิทรรศการถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ปฏิบัติการครั้งสุดท้าย: ระเบิดปรมาณูกับการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง” (The Last Act: The Atomic Bomband The End of World War II)  และจากที่เคยมีพื้นที่จัดแสดงราว 5,500 ตารางฟุต นำเสนอเครื่องบิน ภาพถ่าย เอกสารต่างๆเกี่ยวกับสงครามแปซิฟิก การทิ้งระเบิด และผลพวงหลังสงครามสิ้นสุด รวมถึงการอภิปรายในเรื่องวิทยาศาสตร์ การทูต และมิติทางมนุษย์ของวิกฤตการณ์ครั้งนี้  ถูกลดลงเหลือแค่การจัดแสดงชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบินอีโนลา เกย์ ได้แก่ ลำตัว ส่วนหาง เครื่องยนต์สองเครื่อง และใบพัด พร้อมกับวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับลูกเรือและนักบินพอล ดับเบิลยู ทิบเบตส์ จูเนียร์ (Paul W. Tibbetts,Jr) และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องบิน ภาพถ่ายการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 และภาพข่าวหนังสือพิมพ์หนึ่งวันหลังจากที่ระเบิดถูกทิ้งที่ญี่ปุ่น (Dubin, 1999, p. 201) อีโนลา เกย์และเหล่าลูกเรือ นักบินพอล ทิบเบตส์(คนกลาง) (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:B-29_Enola_Gay_w_Crews.jpg) ข้อท้าทายและบทเรียนกรณีอิโนลา เกย์ จากสมิธโซเนียน           สถาบันสมิธโซเนียน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1846 หรือเมื่อกว่า 170 ปีที่แล้ว มีหน้าที่เพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ด้วยการวิจัย การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมอื่นๆ แม้จะตั้งขึ้นในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากรัฐบาลกลาง แต่ก็มิใช่หน่วยงานราชการ มีฐานะเป็นมูลนิธิของรัฐบาล มีคณะกรรมการกำกับดูแลประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการนี้เป็นผู้คัดเลือกและกำกับการทำงานของเลขาธิการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบัน (แฟรงค์ โพรแชน, 2547, หน้า 5,21) นั่นหมายถึงว่านักวิชาการและภัณฑารักษ์ไม่ใช่เป็นหนี้บุญคุณรัฐบาลหรือมีอิสระในการทำงานตามความสนใจส่วนตัว แต่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสาธารณะและต้องตรวจสอบได้           กำเนิดและภารกิจของสถาบันสมิธโซเนียนมีความหมายต่อความเชื่อถือและความไว้วางใจของสาธารณชน  ริชาร์ด คูริน(Richard Kurin) ผู้ช่วยเลขาธิการด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สถาบันสมิธโซเนียน ได้ทบทวนและย้อนมอง(สถาบัน)ตนเอง และมีทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ที่อีโนลา เกย์ กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง นอกจากเพราะเป็นการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกแล้ว  ยิ่งกว่านั้นด้วยเพราะเป็นเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อน เป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อถกเถียงโดยสถาบันสมิธโซเนียนในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ถ้าประชาชนไม่ชอบประวัติศาสตร์ที่อยู่ในหนังสือ พวกเขาก็ไม่ซื้อหนังสือเล่มนั้น ถ้าพวกเขาไม่ชอบรายการสารคดีทางประวัติศาสตร์ทางโทรทัศน์ พวกเขาก็เปลี่ยนช่อง แต่ถ้าประวัติศาสตร์ถูกนำเสนอในนิทรรศการที่ทำโดยสถาบันสมิธโซเนียนในฐานะสถาบันที่สาธารณชนเป็นเจ้าของ มันไม่ง่ายที่จะเพิกเฉย (Kurin, 1997, p. 73)           ตลอดเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่สถาบันสมิธโซเนียนทำเป็นสิ่งที่ไว้วางใจของสาธารณชน  ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อตั้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม คนอเมริกันหรือแม้กระทั่งคนทั่วโลกคาดหวังว่าสถาบันสมิธโซเนียนต้องยุติธรรมและซื่อตรงในการสรรหาหรือนำเสนอความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ เมื่อสถาบันสมิธโซเนียนละเมิดความไว้วางใจนั้น จึงเข้าใจได้ว่าจะสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คน สถาบันสมิธโซเนียนมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งต่อคนอเมริกัน ต่อรัฐสภา ต่อนักวิชาการ ต่อผู้สนับสนุนทุน ต่อคู่ค้า และต่อเจ้าหน้าที่  ซึ่งยากมากในการรับผิดชอบต่อคนทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน บางครั้งเกิดข้อขัดแย้ง ผู้คนต่างคาดหวังว่าสถาบันสมิธโซเนียนจะนำทางสังคมด้วยความน่าเชื่อถือ พลังทางปัญญา ไม่ใช่มาเทศนาศีลธรรม หรือมีเรื่องทางการเมืองและผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง (Kurin, 1997, pp. 73-74)           ในฐานะสถาบันทางวิชาการและมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ผ่านการทำนิทรรศการ ข้อท้าทายหนึ่งที่ต้องเผชิญคือ ไม่ง่ายที่จะสร้างหนทางจากความรู้(knowledge) ไปสู่ความจริง (truth) นิยามของสิ่งที่เรียกว่าความจริงในปัจจุบันดูจะบอกได้ยาก การศึกษาในปัจจุบันเรารับมือกับความเป็นพหุกระบวนทัศน์ กรอบคิดการรื้อสร้างที่ทำให้เห็นความเป็นจริงในหลายเวอร์ชั่น  พิพิธภัณฑ์ควรตะหนักให้มากขึ้นต่อบทบาทของตนในการผสมผสานและเรียงร้อยข้อเท็จจริงต่างๆ ไปสู่การเล่าเรื่องอย่างสอดคล้องต่อผู้ชม  และจำเป็นจะต้องทำความชัดเจนให้มากยิ่งขึ้นต่อวิธีการที่เติมช่องว่างของความรู้ด้วยการตีความและคาดเดาของเราเอง   (Kurin, 1997, pp. 74-75)           คูรินจึงแนะนำสามแนวทางที่ควรจะพิจารณาในการทำนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประการแรกคือ เคร่งครัดให้มากในการประเมินข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอ  ประการที่สองทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ในการหาทางเลือกที่หลากหลายต่างๆ ในการเล่าเรื่อง  และประการที่สามสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีแก่ผู้ชมถึงกระบวนการจัดทำนิทรรศการ  ผ่านป้ายคำอธิบายของพิพิธภัณฑ์และบทความในแคตตาล็อก  จะเห็นว่าบทนิทรรศการอีโนลา เกย์ มีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างข้อเท็จจริง(fact) กรอบการเล่าเรื่อง และการตีความ ยกตัวอย่างบทนิทรรศการดั้งเดิมที่ถูกพูดถึงกันมาก “สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่สงครามครั้งนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างจากการต่อสู้กับเยอรมนีและอิตาลี มันเป็นสงครามการแก้แค้น สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มันเป็นสงครามเพื่อปกป้องวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวของพวกเขาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก”  คำบรรยายที่ไม่ได้จัดแสดงนี้ เต็มไปด้วยความรู้สึกของอำนาจที่จับต้องไม่ได้ เหมือนเป็น “คำพูดของพระเจ้า” ซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยเหมาะสม  สุดท้ายพิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องคิดมากขึ้นเกี่ยวกับการสื่อความหมายของถ้อยคำและบริบทของการนำเสนอทั้งวัตถุที่วางแสดงข้างๆ ภาพถ่าย คำอธิบาย และสิ่งประกอบนิทรรศการ รวมถึงผู้ชมที่เป็นคนที่เรื่องของนิทรรศการกำลังพูดถึง (Kurin, 1997, pp. 75-76)           ข้อท้าทายอีกประการคือ ไม่เพียงแต่ความรู้จะกลายเป็นปัญหามากขึ้นในการนำเสนอแล้ว ยังดูเหมือนว่ามันถูกแพร่กระจายมากขึ้นและทำได้ง่ายขึ้นกว่าศตวรรษที่ 19 ความรู้ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกง่ายขึ้นผ่านหลายช่องทางทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ความรู้มาจากหลายวงหลายระดับ นักวิชาการและภัณฑารักษ์จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ถือครองความรู้แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป (Kurin, 1997, p. 76)           ในแง่ข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์  จริงๆ แล้วข้อมูลดิบเกือบทั้งหมดเป็นคำบอกเล่าปฐมภูมิมากกว่าความเรียง เป็นมุมมองเชิงประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่าการรวบรวมและเรียบเรียง ผู้คนในฐานะตัวละครในประวัติศาสตร์จึงสำคัญมาก ทหารผ่านศึก นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่และคนอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการอีโนลา เกย์ เป็นเจ้าของความรู้ในสิ่งที่พวกเขาทำและมีความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำ เสียงของพวกเขาจำเป็นต้องถูกพิจารณาทั้งในฐานะข้อเท็จจริง  แนวทางการสร้างเรื่องเล่า ไปจนถึงการพัฒนาเป็นนิทรรศการ ในความเห็นของคูรินเขาคิดว่า แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกพยายามทำแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ ส่วนฮาร์วิต ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติเห็นว่านิทรรศการได้มีเสียงของพวกทหารผ่านศึกแล้ว แต่ทหารผ่านศึกกลับเห็นว่าพวกเขายังไม่ได้ยินเสียงนั้น สิ่งที่พวกเขาพูดไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง (Kurin, 1997, p. 76)           สำหรับคูรินแล้วเห็นว่า ในมุมมองของฮาร์วิต เขากำลังมองหาความจริงและคนอื่นพยายามปิดบังการค้นหานั้นและการนำเสนอของเขา  ฮาร์วิตใช้ความคิดเห็นของนักฟิสิกส์เข้ามาในการตีความ  เขาเชื่ออย่างซื่อๆว่ามีความจริงทางประวัติศาสตร์และมุ่งมั่นเพื่อค้นหามัน เขาล้มเหลวในการอธิบายอคติความเชื่อ แรงจูงใจ และเป้าหมายของเขาในการบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นไปว่าติเตียนทหารผ่านศึก นักการเมือง หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่สถาบันสมิธโซเนียนว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัว  ฮาร์วิตต้องการข้อเท็จจริงแต่สอบตกต่อการแสดงคำขอบคุณต่อการถักร้อยข้อเท็จจริงที่มาจากเสียงของทหารผ่านศึกเหล่านั้น เขาเห็นการเป็นตัวแทนทางประวัติศาสตร์ของอีโนลา เกย์ในเชิงทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นอื่นๆ ที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงและตีความจากข้อเท็จจริงนั้นตามหลักเหตุผล (Kurin, 1997, pp. 76-77)           ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ไม่ควรแค่ฟังเสียงของผู้คนที่นำเสนอ เพียงเพราะความเหมาะสมทางการเมืองและค่านิยมที่ทำตามๆ กันมาเท่านั้น แต่ควรพยายามอย่างจริงจังเพื่อฟังเสียงเหล่านั้น เพราะอาจมีความเห็นที่แหลมคมและมีคุณค่าอยู่ในสาระที่พวกเขาพูด  มิเช่นนั้นแล้วมิได้หมายความว่าภัณฑารักษ์และนักวิชาการจะเพียงแค่ละเลยความรับผิดชอบของตนเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความซื่อตรงในทางปัญญาต่อผู้คนที่พวกเขากำลังนำเสนอ  การมีอยู่ของเสียงเหล่านั้นจะไม่นำไปสู่ประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายมากไปกว่าประวัติศาสตร์เลวร้ายที่ถูกให้ซ่อนเร้นเสียงของพวกเขาเหล่านั้น ดังที่มีคนเคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ที่มีความทรงจำใส่เข้าไปเท่ากับเป็นประวัติศาสตร์ที่ดี (Kurin, 1997, p. 77)           กรณีอีโนลา เกย์ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางทางสาธารณะ มีการสะท้อนความคิดความเห็นในแง่มุมต่างๆ เห็นการแสดงความรับผิดชอบเกิดขึ้น มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนที่หลากหลายของเหล่านักวิชาการและคนทำงานพิพิธภัณฑ์ และในวงการต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการวิเคราะห์และตีความอย่างต่อเนื่องในกรณีนี้ (Kurin, 1997, p. 82) มีการศึกษาย้อนหลังอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องในข้อโต้เถียงเกี่ยวกับอีโนลา เกย์ อาจเรียกได้ว่าเรื่องดังกล่าวค่อยๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง  จนแม้ในปี ค.ศ. 2003 เมื่อเครื่องบินเจ้าปัญหาลำนี้ย้ายไปจัดแสดงอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งชาติแห่งใหม่ ก็ยังมีการโต้เถียงเกิดขึ้นอีก (Gallagher, 2000)           ลำดับเหตุการณ์ข้อโต้เถียงเรื่องอีโนลา เกย์  มีผู้รวบรวม และแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา ได้แก่ (Gallagher, 2000) ช่วงเวลา คำอธิบาย 1. การต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย (ค.ศ. 1981 – 15 เม.ย. 1994) ข้อเสนอการจัดนิทรรศการครบรอบ 50 ปี สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองของสถาบันสมิธโซเนียนนำโดยโรเบิร์ต แมคคอมิกส์ อดัมส์ เลขาธิการสถาบัน และมาร์ติน ฮาร์วิต ผอ.พิพิธภัณฑ์ ถูกตั้งคำถามเป็นการเฉพาะจากสมาคมกองทัพอากาศ 2. ขบวนการต่อต้าน (16 เม.ย. 1994 – 26 ต.ค. 1994) ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้รับการจัดตั้งขึ้นจาก สมาคมทหารผ่านศึก  สมาชิกรัฐสภา และบรรดาทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยพุ่งเป้าไปที่นิทรรศการของสมิธโซเนียน มีความพยายามแทรกแซงให้แก้บทนิทรรศการ ไม่มีบทนิทรรศการใดเป็นที่พอใจของเหล่านักวิพากษ์วิจารณ์ 3. นิทรรศการถูกระงับ (26 ต.ค. 1994 – 1 มี.ค. 1995) กลุ่มนักประวัติศาสตร์ปกป้องพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มกำลัง แต่ข้อโต้เถียงกันเรื่องจำนวนชีวิตที่รักษาไว้ได้จากการทิ้งระเบิดที่ต่อรองให้มีในนิทรรศการสามารถได้รับการยอมรับจากผู้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม และเลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียนคนใหม่ ไมเคิล เฮย์แมน ยอมรับว่าพิพิธภัณฑ์ทำผิดพลาด  มีการระงับนิทรรศการ และมีแผนจะทำนิทรรศการตัวใหม่ที่จะไม่เป็นที่โต้แย้ง 4. นิทรรศการได้รับการอนุญาต (1 มี.ค. 1994 – 30 มิ.ย. 1995) ในช่วงเวลาก่อนเปิดตัวนิทรรศการ กลุ่มนักประวัติศาสตร์ถามหาเวทีสัมมนาสาธารณะระดับชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้  สถาบันสมิธโซเนียนพยายามควบคุมสถานการณ์โดยจัดสัมมนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เรื่องสังคมประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน และมาร์ติน ฮาร์วิต ผอ.พิพิธภัณฑ์ยื่นหนังสือลาออกเพียงสองวันก่อนมีการเริ่มไต่สวนในวุฒิสภา 5. การปะทุขึ้นมาอีกของข้อโต้แย้ง (28 มิ.ย. 1995 – 1996 และ 2003) ข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการนำเสนออีโนลา เกย์ในประวัติศาสตร์ว่าควรเป็นอย่างไร ค่อยๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง และข้อโต้เถียงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2003 เมื่อเครื่องบินดังกล่าวถูกย้ายไปจัดแสดงเป็นการถาวร ณ พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศแห่งใหม่ที่เวอร์จิเนีย  อีโนลา เกย์ จัดแสดง ณ ศูนย์สตีเวนส์ เอฟ อัดวาร์-เฮซี่ (Steven F. Udvar-Hazy Center) เวอร์จิเนีย (ภาพจาก elliottwolf - Own work, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=28966342)           แม้การโต้เถียงเรื่องอีโนลา เกย์ จะเป็นมรดกอันขมขื่นของสถาบันสมิธโซเนียน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้สถาบันสมิธโซเนียนจัดทำและประกาศใช้แนวปฏิบัติสำหรับการจัดการกับการโต้เถียง(guidelines) แนวปฏิบัตินี้เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์แสดงจุดมุ่งหมายหรือแนวคิดของการจัดแสดงที่ผ่านการแนะนำของกลุ่มที่ปรึกษา สำหรับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ต้องรับผิดชอบต่อนิทรรศการภายใต้ขอบเขตอำนาจของตัวเอง และต้องหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสมิธโซเนียนในกรณีที่เกิดความไม่ลงรอยในทางสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ แต่แนวปฏิบัติจะไม่ใช่การนำทางพิพิธภัณฑ์ในการจัดการกับปัญหา เพียงเป็นการตั้งคำถามอย่างมีทักษะ มีเหตุผล และแหลมคม  แนวปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่ต้องการให้มีการประเมิน  การเทียบมาตรฐาน และการใช้ปัญญาของคนทำงาน โดยไม่มีข้อยกเว้นให้กับนักวิชาการสถาบันสมิธโซเนียนและภัณฑารักษ์จากงานส่วนกลางที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ (Kurin, 1997, p. 82)           คูรินทิ้งท้ายว่า สำหรับภัณฑารักษ์แล้ว การนำเสนอข้อเท็จจริง มรดกวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการเฉลิมฉลองความสำเร็จของมนุษยชาติ แต่ควรที่จะสร้างความเข้าใจและเผยให้เห็นถึงชะตากรรม ความทุกข์ยาก ความชั่วร้ายของมนุษย์ได้ในขณะเดียวกัน ดังนั้นศิลปะงานภัณฑารักษ์คือการผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ตีความและความทรงจำ ระหว่างการเฉลิมฉลองความสำเร็จและการเผยด้านมืด  และระหว่างมรดกและประวัติศาสตร์ โดยผ่านการพยายามแปลความหมายทางวัฒนธรรมและสื่อสารสัญญะบางอย่างไปสู่สำหรับผู้ชมที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่นำเสนอ (Kurin, 1997, p. 82). บรรณานุกรม แฟรงค์ โพรแชน. (2547). เรียนรู้จากสถาบันสมิธโซเนียน: บทเรียน(ที่ดีและไม่ดี)จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา. Learning from the Smithsonian: Lessons(Good and Bad) from the United States National Museum (หน้า 23). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Edward J. Gallagher. (2000). The Enola Gay Controversy. เรียกใช้เมื่อ 29 Febuary 2016 จาก Lehigh University Digital Library: http://digital.lib.lehigh.edu/trial/enola/ Richard Kurin. (1997). Reflections of a Culture broker: a View fron the Smithsonian. Washington: Smithsonian Institution Press. Smithsonian Institution Archives. (14 Jauary 1994). First Script of the Enola Gay Exhibit Completed. เรียกใช้เมื่อ 01 03 2016 จาก Smithsonian Institution Archives: http://siarchives.si.edu/collections/siris_sic_2315 Steven C. Dubin. (1999). Display of Power: Controversy in the American Museum from the Enola Gay ti Sensation. New York: New York University Press.

ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

02 ตุลาคม 2558

วัตถุหรือข้าวของ เป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนความทรงจำ ให้ย้อนระลึกถึงเรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกับมัน ไม่เพียงเล่าถึงชีวิตของคนที่เคยใช้หรือวิถีชุมชนในอดีต แต่วัตถุยังสามารถบอกเล่าปรากฏการณ์บางอย่างของสังคม  กิจกรรมร้อยของร้อยเรื่องร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จัดขึ้นในพ.ศ. 2558  จึงเป็นการชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ค้นหาเรื่องราวและความหมายของวัตถุในมุมมองที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นการเพิ่มเรื่องเล่าให้กับวัตถุในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังเชื่อมโยงคนกับคน คนกับข้าวของ คนกับชุมชน ทั้งในท้องถิ่นเดียวกันและท้องถิ่นอื่นๆ  ที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้เคียง แต่มีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกัน ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จึงไม่ใช่การแสดงจำนวนแต่เป็นการเชื่อมโยงร้อยเรียงระหว่างคน เรื่องราว และวัตถุ  ที่ทำให้เห็นชีวิตคนทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกระบวนการที่ศูนย์ฯ นำมาใช้ในการ ร้อยของ ร้อยเรื่อง และร้อยคน  หรือที่เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์ หนึ่งในทีมงานเรียกว่า recollection คือการสร้างพื้นที่ให้คน ของ และเรื่องมาเจอกัน เพื่อร่วมกันทบทวนความรู้ แชร์เรื่องเล่าและประสบการณ์  รวมถึงการร่วมกันสร้างเรื่องเล่าใหม่ ทำให้เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ ความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่  ความรู้ที่ได้จากการสืบค้น แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบันทึกเรื่องราว  และกระบวนการการร่วมกันสร้างความรู้ดังกล่าว ปลายทางคือต้นฉบับหนังสือ “ร้อยของ ร้อยเรื่อง เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น”  เพื่อเป็นพื้นที่หนึ่งในการบันทึกและถ่ายทอดความรู้ท้องถิ่น - เวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์รวมภาค:ชี้แจงโครงการและหาผู้ร่วมก่อการ -กระบวนการเริ่มจากการชักชวนชาวพิพิธภัณฑ์ให้เลือกวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ที่ยังมีการใช้งานอยู่ในชุมชน โดยแบ่งหมวดหมู่วัตถุเพื่อเป็นกรอบกว้างๆ ในการคัดเลือกวัตถุมาเล่าเรื่องใน 6 หมวดหมู่  คือ การทำมาหากิน การแต่งกาย  การรักษาโรค ของใช้ในบ้าน  การละเล่น/บันเทิงเริงรมย์ และศาสนาและความเชื่อ  แล้วให้ชาวพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของวัตถุชิ้นนั้น โดยมีแบบบันทึกข้อมูลวัตถุ เพื่อช่วยให้ผู้สืบค้นข้อมูลนึกออกว่ามีวัตถุแต่ละชิ้นจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง  และนำข้อมูลนั้นมานำเสนอในการประชุมเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั้งประเทศที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2557  เวทีนี้มีพิพิธภัณฑ์ส่งวัตถุและเรื่องเล่ามามากว่า 180 ชิ้น จากพิพิธภัณฑ์ 70 แห่ง โดยแบ่งกลุ่มนำเสนอแบบคละภาค  และพยายามจัดให้พิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุในหมวดหมู่เดียวกันมาอยู่เวทีนำเสนอกลุ่มเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าวัตถุคล้ายกันแต่อาจใช้งานต่างกัน คำเรียกชื่อวัตถุต่างกัน  การให้ความหมายหรือคุณค่าแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ภูมิภาค นอกจากนี้การแลกเปลี้ยนในเวทียังทำให้ขอบเขตหรือนิยามความหมายของหมวดหมู่ชัดเจนขึ้น เพราะชาวพิพิธภัณฑ์ได้ช่วยกันกำหนดนิยามของแต่ละหมวดหมู่ เช่น “ของใช้ในบ้าน” จะหมายถึงอะไรได้บ้าง ใช้นอกบ้านถือเป็นของใช้ในบ้านหรือไม่ อย่างไร การทำมาหากินจะหมายถึงอะไรบ้าง  ข้อท้าทายประการหนึ่ง ที่ทีมงานมักจะถูกถามว่าทำไมต้องเป็นของที่ยังใช้งานอยู่  เพราะของในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่ใช้แล้ว และมักจะกล่าวว่าพิพิธภัณฑ์มีของเก่าแก่ทรงคุณค่ามากมายน่าจะหยิบมานำเสนอ ดีกว่าวัตถุที่ยังมีการใช้งานอยู่ซึ่งดูเป็นวัตถุธรรมดาสามัญ  ซึ่งก็เป็นความจริงที่แต่ละพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุศิลปวัตถุที่มีความเก่าแก่ หาดูได้ยาก บางชิ้นมีความลวดลายวิจิตร งดงาม เป็นที่ภาคภูมิใจเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่เหตุที่ทีมงานเสนอว่าให้เป็นวัตถุที่ยังใช้งานอยู่เพราะเรา(ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ทีมงานศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้สนใจ) สามารถหาที่มาที่ไปได้ของวัตถุได้  ไปพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องได้ เห็นบริบทของวัตถุ ความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ  ทำให้เรื่องเล่ามีชีวิตชีวา  และเห็นความหมาย หน้าที่ ความสำคัญของวัตถุที่ยังคงใช้สืบมาถึงปัจจุบันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง   แบ่งกลุ่มนำเสนอข้อมูลวัตถุ ในเวทีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เดือนธันวาคม - แบบบันทึกข้อมูลวัตถุ : เครื่องมือช่วยคิดว่าเราจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง -หลังจากการประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือนธันวาคม ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากวงแลกเปลี่ยนและข้อมูลวัตถุเบื้องต้นที่ชาวพิพิธภัณฑ์นำเสนอ มาพัฒนาแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลเพื่อเพิ่มมุมมองและครอบคลุมเรื่องเล่าบางอย่าง  และเชื่อว่าแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่จะช่วยให้ผู้เล่าเรื่องหรือผู้สืบค้นข้อมูลมีมุมมองในการเล่าเรื่องมากขึ้น  เห็นเรื่องเล่าเฉพาะวัตถุแต่ละชิ้นมากขึ้น และที่สำคัญคือมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนกับวัตถุ ในช่วงเวลาต่างๆแบบบันทึกข้อมูลวัตถุที่ทีมพัฒนาขึ้น พยามนำเสนอมุมมองให้ผู้ที่ไปสืบค้นข้อมูลมีมุมมองวัตถุในมิติต่างๆ ทั้งที่เห็นเป็นรูปธรรมและนามธรรม ความเป็นรูปธรรมเช่นลักษณะวัตถุอันประกอบด้วยวัสดุ รูปทรง สีสัน ลวดลาย บางชิ้นอาจมีคำจารึก ร่องรอยการใช้งาน และสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่จะรู้ได้จากประสบการณ์ และคำบอกเล่าจากความทรงจำ เช่น ชื่อเรียกท้องถิ่น วิธีผลิต ผู้สร้าง ผู้ผลิต   วิธีการใช้งาน  ประวัติความเป็นมา ความเชื่อ การได้มาของวัตุ ความสำคัญ  เป็นต้น  ทีมงานนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกและเล่าเรื่องของชาวพิพิธภัณฑ์ที่ได้นำเสนอในครั้งแรก กรอกในแบบบันทึกข้อมูลชุดใหม่ แล้วส่งกลับให้ชาวพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ชาวพิพิธภัณฑ์ค้นคว้าข้อมูลที่ยังไม่ได้เล่า  หรือมุมมองที่ยังสามารถค้นคว้าเรื่องราวของวัตถุนั้นได้อีก เพื่อให้ค้นคว้าต่อ แล้วนำมาคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนาระดับภูมิภาค ในการประชุมเครือข่าย 4 ภูมิภาค- เวทีเครือข่าย 4 ภูมิภาค : กระชับพื้นที่วงสนทนา -เวทีเครือข่ายระดับภูมิภาค ที่จัดขึ้น อีก 4 ครั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อมูลที่ชาวพิพิธภัณฑ์ได้ไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีแนวคำถามให้ชาวพิพิธภัณฑ์ไปค้นคว้าต่อจากแบบบันทึกข้อมูลที่ส่งกลับไปให้ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่วัตถุ  นอกจากนำเสนอข้อมูลเพิ่มแล้ว ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันในระดับภูมิภาค ซึ่งมีจุดร่วมกันบางอย่างที่จะช่วยกันเพิ่มมุมมองในการเล่าเรื่องให้กับวัตถุในระดับลึกขึ้น ในเวทีนี้เราเห็นการนำเสนอของเรื่องจากผู้เล่าหลายกลุ่ม บางเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคนที่เคยใช้  บางคนเป็นช่างทำวัตถุนั้นๆ เรื่องเล่าบางเรื่องมาจากการเคยเห็นเคยพบหรือมีผู้ถ่ายทอดให้ฟัง ข้อมูลวัตถุในเวทีนี้จึงมีจุดร่วมบางอย่างและความแตกต่างกันในรายละเอียด  เช่น ชื่อเรียก วัสดุ วิธีผลิต วิธีใช้ ผู้ใช้ ผู้ผลิต ความต่อเนื่องในการใช้งานในแต่ละท้องถิ่น  ความต่างกันมีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิประเทศ ทรัพยากร  เศรษฐกิจ ความเชื่อ  ฯลฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่า การเปรียบเทียบ เชื่อมโยงเรื่องเล่าและข้าวของของพิพิธภัณฑ์ตนเองกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง หลากหลาย เช่นกวัก อุปกรณ์หนึ่งในการปั่นด้ายสำหรับทอผ้า มีการใช้งานในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือ และภาคกลาง นอกจากใช้ในการปั่นฝ้ายแล้ว กวักยังถูกนำมาใช้ในการละเล่นเช่นการเล่นผีบ่ากวัก คุณยงยุทธ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านมณีทอง จังหวัดลำพูน เล่าว่า ช่วงปีใหม่เมือง(สงกรานต์) เขาจะเล่นผีบ่ากวัก เป็นผีอะไรก็ได้ อุปกรณ์ที่ใช้เล่นมีกวัก (บางแห่งแต่งตัวให้เป็นคน โดยส่วนหัวทำจากน้ำเต้า) ใช้ไม้ฮวกทำเป็นแขน เอาเสื้อใส่ และมีไม้ส้าวยาวๆ มีสวยดอกไม้ ดอกไม้จะใช้ดอกซอมพอหรือหางนกยูง มีน้ำขมิ้นส้มป่อย เวลาเล่นจะเล่นตามลานบ้าน เล่นตอนกลางคืนส่วนใหญ่ผู้เล่นเป็นหญิงสูงอายุ(เป็นแม่เฮือน) มีคำร้องเช่น  “.. เอาไม้ส้าวตีไปที่ดาวสุกใส..” การถามจะมีคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”  ถ้าใช่ก็แกว่ง ไม่ใช่ก็นิ่ง  ถามไม่ดี พิเรนทร์ ก็จะไปโขกหัว สนุกสนาน เป็นผีที่สนุกสนาน  ก่อนผีจะออกจะเอาน้ำขมิ้นส้มป่อย รดที่ตัวบ่ากวัก และจะออกไป  คนที่มาดูเมื่อก่อนจะเป็นหนุ่มสาวทั้งในหมู่บ้านเดียวกัน และหมู่บ้านใกล้เคียง  หนุ่มสาวถามเรื่องแฟน ส่วนการสานกวักที่ใช้ทอผ้าเชื่อว่าเวลาสาน ต้องไปสานนอกบ้าน ถ้าสานในบ้านเขาบอกว่ามันขึด ต้องไปสานในวัดในห้วย  คุณนเรนทร์จากมิกกี้เฮ้าส์ จังหวัดลำพูนกล่าวว่าที่ทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน มีผีหม้อนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนวันที่พระจันทร์เต็มดวง คุณสุทัศน์ จากพิพิธภัณฑ์เล่นได้ จังหวัดเชียงรายช่วยเสริมว่าการห้ามสานกวักในบ้าน ต้องใช้ไม้ผิว ซึ่งมีความคม ซึ่งในบ้านอาจมีเด็กเล็กซุกซน คมไม้ไผ่อาจบาดได้   คุณวินัย ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแผ่นดินล้านนา จ.พะเยาเล่าว่าเคยเห็นการเล่นผีหม้อนึ่ง  เป็นหม้อที่นึ่งข้าวเหนียว  เป็นต้นนอกจาก ”ผีบ่ากวัก” ในภาคเหนือที่นำเสนอโดยบ้านมณีทองยังมีการเล่น “นางกวัก” ที่นำเสนอโดยศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย จังหวัดลพบุรี ซึ่งจะเล่นกันในช่วงสงกรานต์ และช่วงประเพณีกำฟ้าของชาวพวน โดยกวักและข้าวของที่ใช้ทำนางกวักต้องเป็นของแม่หม้าย ส่วนคนจับกวัก(คนอัญเชิญ) ต้องเป็นแม่หม้าย เดิมมักเล่นตามทางสามแพร่ง เชิญผีทางหลวง ผีทั่วไป คนที่เพิ่งตาย  ปัจจุบันเชิญเจ้าพ่อสนั่นเพราะเชิญผีอื่นอาจเป็นผีที่ไม่ดีมาเข้ากวัก จึงเชิญเฉพาะเจ้าพ่อสนั่นซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชน เมื่อเชิญวิญญาณมาแล้วก็จะถามคำถาม มีทั้งเวลาเรื่องธรรมชาติ การเล่าเรียน เรื่องลูกหลาน เรื่องทั่วไป เมื่อก่อนเขียนคำตอบบนดิน ต่อมาเขียนในกระด้งใส่ทรายเพราะต้องไปแสดงที่อื่น ถาม-ตอบ ใช่ -ไม่ใช่ เมื่อก่อนจะเล่นตอนกลางคืน ปัจจุบันเล่นได้ทั้งกลางวันและการคืน ส่วนมากเป็นการเล่นสาธิตในงานประเพณีข้อมูลเรื่องนางกวักหรือผีบ่ากวักจากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์สองแห่ง การนำเสนอในเวทีภูมิภาคทำให้เห็นจุดร่วมถึงความเชื่อบางอย่าง เช่น การละเล่นเกี่ยวกับผีเรื่องผีที่มีหลากหลาย การใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวมาสื่อถึงผี บางแห่งอาจใช้วัสดุอุปกรณ์การเล่นต่างกัน ความเชื่อในเรื่องขึด หากเปรียบเทียบข้ามภาค(ภาคเหนือกับภาคกลาง) การเล่นนางกวักของมีทั้งความเหมือนและแตกต่าง โดยที่ใช้กวักเป็นอุปกรณ์การเล่นเหมือนกันคือกวักทอผ้า  แต่ต่างกันที่รายละเอียด เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทำนางกวัก ของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทรายต้องเป็นกวักของแม่หม้าย (ของบ้านมณีทองไม่ต้องแต่งตัวให้กวักก็ได้หรือแต่งตัวก็ได้แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของแม่หม้าย)  ผู้เล่นของพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ต้องเป็นแม่หม้าย แต่ของบ้านมณีทองเป็นผู้หญิงใครก็ได้ และผีที่เชิญพิพิธภัณฑ์ไทยพวนวัดบ้านทราย ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากผีทั่วไป มาเป็นผีดี “เจ้าพ่อสนั่น” ที่เป็นที่นับถือของชุมชน  ส่วนเรื่องที่ถามในกรณี ของบ้านทรายมักจะเป็นเรื่องทั่วไป เรื่องลูกหลาน ส่วนของบ้านมณีทองการเล่นผีบ่ากวักเป็นพื้นที่หนึ่งของการพบปะกันของคนหนุ่มสาว เป็นต้น   ร้อยเรื่อง และร้อยของ : หลังจากพิพิธภัณฑ์นำเสนอข้อมูลแล้ว ทีมงานได้ชักชวนให้ชาวพิพิธภัณฑ์ลองดูว่า จากวัตถุจากเรื่องที่แต่ละแห่งนำเสนอ  ถ้าจะลองเล่าเรื่องที่แสดงวิถีชีวิตของคนในแต่ละภูมิภาค จากวัตถุที่มี จะเล่าเรื่องอะไรบ้าง ที่แสดงถึงวิถีชีวิตท้องถิ่น (กระบวนการนี้ทำในภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคเหนือ) การเล่าเรื่องของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ นำมาผูกโยงกับงานประเพณี เช่นงานพระธาตุ งานลากพระ โดยสมมุติให้มีตัวละครดำเนินเรื่อง และพบเจอวัตถุต่างๆ อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ชายหนุ่มหญิงสาวควงคู่ไปดูการแสดงชายหนุ่มแต่งตัวด้วยผ้าจวนตานี เหน็บกริช พกกล้องยาสูบ หญิงสาว แต่งตัวด้วยชุดยะหยา ก่อนสวมใส่ชุดต้องรีดผ้าให้เรียบ ด้วยเตารีด ไปดูการแสดงหนังตะลุงแก้บนทวด ใช้รูปแสดงยักษ์ผู้ ฤาษี  ข้างโรงหนังตะลุง ขายขนมครก  ขนมก้อ ดูเสร็จกลับบ้าน จุดไต้ หุงข้าว แล้วไปอาบน้ำที่บ้อน้ำใช้ติมาตักน้ำ เป็นต้น บางแห่งเล่าเรื่องขนม โดยใช้วัตถุที่เป็นอุปกรณ์ทำขนม เช่น เบ้าหนมก้อ รางหนมครก ป้อยตวงสาร   ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคอีสานเชื่อมโยงวัตถุ 1 ชิ้นกับบริบทต่างๆ ในชุมชน ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น แหเปิดจอม เป็นเครื่องมือจับปลาของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่สามารถทำแหที่ใช้ได้แม้ในสภาพแหล่งน้ำที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น สวะ หนาม ใช้กับแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง และตื้น จับปลาตัวใหญ่ได้  คนหว่านแหต้องแข็งแรง ต้องไปกันเป็นทีม ปลาที่ได้ ทั้งเอาไปทำปลาร้า ขาย เป็นต้น ทำให้เห็นว่าวัตถุไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวหรือเล่าเฉพาะเรื่องของตัวเองแต่ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนลักษณะพื้นที่ สภาพแหล่งน้ำ การดำรงชีพ ส่วนพิพิธภัณฑ์ภาคเหนือ เช่น พิพิธภัณฑ์ไหล่หินเล่าวิถีชีวิตของเกษตรกรบ้านไหล่หินที่ทำนาโดยใช้แรงงานจากวัวควาย ก๊างป๋อเป็นเครื่องมือ ที่ใช้ในการถักเชือกสำหรับร้อยจมูกวัวควาย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวนาจะร่วมกันเกี่ยวข้าวและนวดข้าว การนวดข้าวจะใช้ไม้ม้าวข้าว คีบข้าวแล้วตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง และหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะมีงานบุญคือการตานข้าวใหม่ซึ่งจะมีการประดับตุงที่วัดที่เป็นสถานที่จัดงาน  เป็นต้นกระบวนการร้อยของและร้อยเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นวิธีการเล่าเรื่อง ตามความถนัด ธรรมชาติและชีวิตประจำวันของคนแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งอาจแตกต่างกับการเล่าเรื่องของนักวิชาการหรือคนในอาชีพอื่นๆ  อย่างไรก็ตามการเล่าเรื่องของแต่ละแห่งสะท้อนให้เห็นสีสัน และลักษณะของผู้คนในแต่ละถิ่นได้อย่างน่าสนใจ  และอาจสื่อสารกับคนในท้องถิ่นเดียวกันได้เข้าใจมากกว่า เพราะมีวัฒนธรรมร่วมกัน ติดตั้งเครื่องมือบางอย่าง: เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ต่อ กระบวนการสำคัญที่ทีมงานคำนึงถึงคือการเพิ่มทักษะหรือการให้เครื่องมือบางอย่างกับผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำไปใช้ต่อได้ ขั้นต่อไปของการพัฒนาต้นฉบับคือชาวพิพิธภัณฑ์จะต้องกลับไปเขียนบทความและถ่ายภาพวัตถุแล้วส่งมาให้กับทีมงานเพื่อใช้ทำต้นฉบับหนังสือ การเรียนรู้วิธีการเขียนและการถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความรู้และความมั่นใจในการสร้างเรื่องเล่าที่มาจากคนท้องถิ่นเอง เครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะนำมาใช้ในการเขียนบทความในครั้งนี้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้สื่อความหมายในพิพิธภัณฑ์ เช่น ใบความรู้ แผ่นพับ ป้ายนิทรรศการ ฯลฯสร้างภาพ    จะถ่ายภาพอย่างไรให้สวยและสื่อ ทีมงานจัดให้มีการพูดคุยเพื่อแนะนำวิธีการถ่ายภาพอย่างง่ายเพื่อถ่ายภาพให้สวย และสื่อความหมาย โดยช่างภาพมือสมัครเล่นแต่ชอบการถ่ายภาพ มาแนะนำวิธีการถ่ายรูปเพื่อนำมาใช้ในสิ่งพิมพ์ โดยใช้กล้องธรรมดาๆ แบบที่ใครก็มี   โดยใช้แสง มุมมอง ฉากถ่ายภาพ  ทั้งการถ่ายเฉพาะวัตถุ และการถ่ายวัตถุกับบริบทการใช้งานเพื่อสื่อหน้าที่การใช้งานของวัตถุ โดยให้ชาวพิพิธภัณฑ์เห็นตัวอย่างภาพถ่ายวัตถุที่มีการใช้แสง มุมกล้องแบบต่างๆ  เพื่อให้เห็นตัวอย่าง และ รู้วิธี เพื่อนำไปใช้ได้ สร้างเรื่อง : เรื่องเล่าที่เขียนและเล่าโดยชาวพิพิธภัณฑ์  การบันทึก/การเขียนเป็นอุปสรรคของหลายคน รวมถึงชาวพิพิธภัณฑ์บางคน  บางคนถนัดที่จะเล่าเรื่อง เวลาเล่าจะเล่าได้อย่างออกรส และมีลีลาการเล่าที่น่าสนใจ แต่เวลาที่จะลงมือเขียนอาจไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะเขียนอะไร หรือกังวลว่าเขียนแล้วจะไม่เป็นวิชาการ ข้อจำกัดนี้หลายคนอาจบอกว่าปัจจุบันมีวิธีการบันทึกเรื่องราวได้หลายรูปแบบทั้งการบันทึกเสียง ภาพเคลื่อนไหว  อย่างไรก็ตามการเขียนก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการบันทึกเรื่องเล่า และความรู้สึกของผู้คน นิทรรศการบางนิทรรศการ หนังสือบางเล่ม ใช้คำบรรยายและภาพมาช่วยสื่อเรื่องเล่าได้อย่างมีพลังและน่าสนใจโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอื่นๆ  เราจึงอยากให้ชาวพิพิธภัณฑ์ทดลองเขียน ไม่ต้องมากมายหรือจะต้องคำนึงเรื่องความเป็นวิชาการ แต่เขียนโดยใช้คำพูดของตนเองเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ในการเขียนมาช่วยแนะนำและชักชวนให้เขียนแบบง่ายๆ แต่ได้ใจความ และแสดงถึงหัวใจของสิ่งที่เราอยากสื่อได้จริงๆ แล้วเราก็พบว่า ทุกคนกำลังจะก้าวข้ามพ้นอุปสรรค หลายคนพบว่าการเขียนไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป - เก็บข้อมูลภาคสนาม ล้อมวงสนทนากลุ่มย่อย -หลังการประชุมเครือข่ายภูมิภาคเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม  ชาวพิพิธภัณฑ์กลับไปทำงานต่อโดยเลือกเรื่องที่จะเล่าของวัตถุชิ้นนั้น เขียนเป็นบทความหรือข้อมูลกลับมาให้กับทีมงาน ซึ่งทีมงานได้นำมาร่วมกันอ่าน  รวบรวมเนื้อหาและวางเค้าโครงหนังสือคร่าวๆ หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมบางเรื่อง การลงพื้นที่ ทำให้ทีมงานซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความรู้อะไรเกี่ยวกับวัตถุเลย ได้เห็นและเข้าใจวัตถุและบริบทวัตถุมากขึ้น ขณะเดียวกันการเก็บข้อมูลก็ทำให้เกิดวงสนทนาเล็กๆ โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือนักวิชาการศูนย์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ คนในชุมชนที่มีมีประสบการณ์โดยตรงกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ยกตัวอย่างวงสนทนาเรื่องชุดเซิ้งหรือชุดเจยที่บ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ที่นี่ทั้งชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่ในอาคารใดอาคารหนึ่ง วัตถุจึงเก็บรักษาไว้ที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของ  แม่นันทาซึ่งเป็นเจ้าของชุดเซิ้งและเป็นนางเซิ้ง เล่าว่าพ่อของแม่นันทาเป็นคนริเริ่มการทำชุดเซิ้งและขบวนเซิ้งบั้งไฟขึ้นในชุมชนเพื่อใช้เซิ้งบั้งไฟในงานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแล ซึ่งเมื่อก่อนขบวนเซิ้งเป็นผู้ชายทั้งหมดแต่แต่งตัวเป็นผู้หญิง สวมเสื้อและนุ่งผ้าซิ่นสีดำ สวมกวยหัวและกวยนิ้วที่สานจากไม้ไผ่  ซึ่งทางผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเพิ่งได้รู้ว่าเมื่อก่อนเซิ้งเป็นผู้ชายเพราะรุ่นของตัวเองก็เห็นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  แต่เคยเห็นภาพถ่ายเก่าที่ผู้ชายสวมชุดผู้หญิง แต่ยังไม่เคยหาข้อมูลว่าคืออะไร  วงสนทนาดังกล่าวจึงเป็นการเติมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการเซิ้ง นอกจากนี้ มีข้อแลกเปลี่ยนกันในการเรียกชื่อ ว่า “เซิ้ง “ หรือ “เจย” แม่นันทา และคณะไม่เคยได้ยินคำว่าเจย แต่ได้ยินคำว่า เซิ้ง และในบทกลอนที่ร้อง ก็มีคำว้าเซิ้ง ส่วนเจยเคยได้ยินแต่เจยป๊กล๊ก ซึ่งไม่มีขบวนมีแต่การเต้น ส่วนทางพ่อสุทธิและพี่นันทวรรณซึ่งเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่าเป็น เจย เพราะมีบทเจยและเป็นคำเรียกที่มีเฉพาะพื้นที่ที่อยู่รอบเมืองหามหอกซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ การเจยมีหลายแบบ แต่ส่วนมากจะเป็นคำสอน ส่วนนักวิชาการศูนย์ฯ ในฐานะผู้ร่วมวงสนทนาได้ เสริมว่าเคยได้ยิน “เจี้ย” ซึ่งมีทางภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคำสอน  ซึ่งดูคล้ายกับเจยซึ่งเป็นคำสอนเช่นกัน  ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้แต่สร้างความอยากรู้ที่ทำให้ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านขี้เหล็กใหญ่ สนใจที่จะค้นคว้าหาความหมายต่อ เป็นต้น วงสนทนากลุ่มย่อย พื้นที่การแลกเปลี่ยน และสร้างความรู้เราได้อะไรจากกระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์หรือ  recollection   1. เกิดพื้นที่ในการร่วมกันสร้างความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีผู้ร่วมสนทนาจากหลายกลุ่ม และขยับจากผู้มีความรู้(ความรู้ที่อยู่ในตัวคน) มาเป็นผู้สร้าง(ลงมือเขียน บันทึก)ความรู้ ด้วยตนเอง2. ความรู้ (ที่อยู่ในของ+คน และความรู้จากการแลกเปลี่ยน) ความรู้ดังกล่าว เช่น ความรู้เกี่ยวกับนิเวศ พืชพรรณ กระบวนการผลิต วิธีการใช้งาน การหาอยู่หากิน ภูมิปัญญา ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ  การค้นหาเรื่องราววัตถุในแง่ต่างๆ ทำให้เกิดการทบทวนความรู้ ข้อมูลใหม่ มุมมองใหม่ เรื่องเล่าใหม่ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชุมชน  วัฒนธรรม   การร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราว เติมเต็มข้อมูล และเชื่อมโยงเรื่องราววัตถุกับผู้อื่น รวมถึงการเล่าเรื่องร่วมกัน เกิดเรื่องราวใหม่ ความรู้ใหม่ และแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน  3. กระบวนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันพัฒนาต้นฉบับหนังสือ ร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น และเครือข่ายพิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการตั้งแต่การเลือวัตถุ การเล่าเรื่อง การเขียน การตรวจสอบข้อมูล  ต้นฉบบับหรือหนังสืออาจเป็นปลายทางที่บันทึกความสำเร็จและความรู้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้สร้างพื้นที่การทำงานของเครือข่าย พัฒนาความสัมพันธ์ และการสร้างความรู้ร่วมกันของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ กระบวนการร้อยของ ร้อยเรื่อง ร้อยเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ หลังจากนี้ทีมและเครือข่ายจะร่วมกันวางเค้าโครงเรื่องราวที่ได้ รวบรวมและเรียบเรียง ให้อ่านเข้าใจง่าย น่าสนใจ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ฯลฯ พิพิธภัณฑ์แห่งไหนหยิบวัตถุอะไรมาเล่า  วัตถุแต่ละชิ้นจะมีความน่าสนใจอย่างไร แต่ละขั้นตอนจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

        ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   - ปฐมบทของการเดินทาง -         แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง         ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล         วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม  ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน         รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย           เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   - หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต -            ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย                  ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี                   ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ           ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์          ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา”ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว (น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)          ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย            นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา           วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น         ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!     - เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง -         คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995            กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย             ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน           การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด          การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง             การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ          เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”  ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด         กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 –19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม         กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร            ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”         “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง         ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    - ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา -         ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 –18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง              อาข่า         ความหลากหลายของชาติพันธุ์              ม้ง             ปีใหม่ม้ง              ไทลื้อ         จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า              เมี่ยนเย้า     ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย              มุนเย้า         พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า              ไทดำ         การทำเตียงนอน              ขมุ            การจักสานและทอผ้ากี่เอว                  การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน           เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน         การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย   ภาพโดย ปณิตา  สระวาสี         หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Taraเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น           ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARAบอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์          ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์          ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว         ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Taraบอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    - นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า -         ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว          “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง ภาพโดยปณิตา  สระวาสี           พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี         “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง            นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-onและเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว              มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป            ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.          

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

22 กันยายน 2558

บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์             ข้อเขียนนี้พัฒนามาจากบันทึกภาคสนามของผู้เขียน เมื่อครั้งไปเยือนเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2552  แม้จุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนั้นคือ การสัมภาษณ์ Tara Gudjadhur และทองคูน  สุดทิวิไล สองผู้อำนวยการหญิงของ “ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา”  (Traditional Arts and Ethnology Centre) แต่การได้เดินท่องไปตามตรอกซอกซอย  พบปะพูดคุยกับผู้คนต่างๆ ทำให้เห็นชีวิตและได้ย้อนคิดกับความเป็นไปของเมืองและผู้คน   ปฐมบทของการเดินทาง           แม้การเดินทางมาหลวงพระบางครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรก  แต่เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา จึงอดตื่นเต้นไม่ได้ เหมือนจะได้ไปเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมาหลายปี  ก่อนหน้านี้ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางเข้าออกหลวงพระบางและประเทศลาวหลายครั้ง เพราะความจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับการเรียน หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่ได้มีโอกาสไปเมืองหลวงพระบางอีก เพียงแต่ได้ยินคำบอกเล่าจากหลายทางเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเมือง           ก่อนเดินทางทั้งเตรียมคำถามการสัมภาษณ์  หาข้อมูลเรื่องที่พัก แต่โชคดีที่ตอนนั้น “กฎ” เพื่อนร่วมงานในตอนนั้น กำลังทำวิจัยร่วมกับทีมนักโบราณคดีต่างประเทศที่หลวงพระบาง จึงไหว้วานให้ช่วยจองที่พักให้ ไม่ไกลจากศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา ที่จะไปเก็บข้อมูล           วันวาเลนไทน์ ปี พ.ศ. 2552 ผู้เขียนและอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์ เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินแห่งชาติลาว  ผู้โดยสารบนเที่ยวบินส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  เครื่องบินที่นำเราสู่เมืองหลวงพระบางเป็นเครื่องบินใบพัดขนาดเล็ก หลังจากที่เครื่องบินอยู่บนน่านฟ้าราวหนึ่งชั่วโมง  ผู้บัญชาการบิน(ตามภาษาลาว) ที่ผู้เขียนยังจำชื่อได้คือ “กัปตันสมนึก” เดินออกมาจากห้องนักบิน  เพื่อไปเข้าห้องน้ำที่ด้านหลังตัวเครื่อง  ผู้โดยสารฝรั่งด้านหน้าทำท่าทางตกใจและเอ่ยปากถามกัปตัน  ผู้เขียนไม่ได้ยินคำถามถนัดนัก  เพียงแต่ได้ยินคำตอบจากกัปตันชัดเจนว่า “no problem”  พร้อมกับสีหน้ายิ้มแย้ม    ผู้โดยสารบางคนอาจไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพการบินของประเทศเล็กๆ ในแถบเอเชีย บางครั้งข้อมูลที่อ่านมาจากคู่มือนักท่องเที่ยว ก็เล่าแบบชวนน่าหวาดเสียว จนดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ไม่ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด  เมื่อล้อแตะรันเวย์สนามบินหลวงพระบาง เสียงปรบมือจากผู้โดยสารต่างชาติดังลั่นโดยพร้อมเพรียงกัน           รถโดยสารเคลื่อนออกจากสนามบินราวเที่ยงเศษเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบาง มุ่งหน้าไปยัง เรือนพักในซอยข้างไปรษณีย์หลวงพระบาง  เรือนพักดังกล่าวเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่ถึงปี  ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบหลวงพระบางคือหลังคาทรงจั่ว ป้านหน่อยๆ   สังเกตว่าเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่ในเขตเมืองหลวงพระบางล้วนเป็นรูปทรงนี้ทั้งสิ้น  ในซอยนี้มีเกสเฮ้าส์ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง    ในขณะที่ซอยข้างๆ  สามารถเดินทะลุถึงกันก็มีอีกจำนวนไม่น้อย            เราเดินไปแลกเงินที่บู๊ทแลกเงินของธนาคาร อัตราแลกคือ 1 บาทเท่ากับ 241 กีบ  แล้วจึงเดินฝ่าไอแดดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไปยังหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  วันนี้เป็นวันเสาร์นักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ  ทราบทีหลังว่านักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งกลับมาจากการเที่ยวงานบุญช้าง ที่แขวงไชยะบุรี  ซึ่งใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชม.จากหลวงพระบาง   หอคำหลวง พิพิธภัณฑ์เจ้ามหาชีวิต  ก่อนเข้าชม เราเดินไปปีกขวาของหอคำเพื่อไปสักการะพระบาง  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาวก่อน เล่าต่อมากันว่าที่จริงพระบางที่ประดิษฐานอยู่ที่นี่ไม่ใช่องค์จริง  ส่วนองค์จริงนั้นว่ากันว่าถูกเก็บไว้ยังสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าคือที่ไหน ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร   จากนั้นเราจ่ายค่าตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์คนละ 30,000 กีบ ราคาเท่าๆ กับดูหนังในเมืองไทย 1 เรื่อง ในขณะที่คนลาวเสียค่าเข้าชมประมาณ 5,000 กีบ ซึ่งราคาเท่าๆ กับที่คนไทยจ่ายเงินเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย        ผู้เขียนมาหลวงพระบางครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 เคยเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ว่าข้างในจัดแสดงอะไร  การมาเยี่ยมชมครั้งนี้จึงรู้สึกเหมือนกับว่าได้มาชมครั้งแรก   ในวังเจ้ามหาชีวิตหรือหอพิพิธภัณฑ์ อากาศเย็นสบายผิดกับด้านนอก  น่าเสียดายที่ห้ามถ่ายภาพ  ห้องแรกคือห้องท้องพระโรง เป็นห้องที่สวยงาม ฝาผนังติดกระจกสีโดยรอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและนิทานพื้นเมืองของชาวลาว  ถัดมาด้านขวาเป็นห้องรับรอง ภาพวาดขนาดใหญ่เต็มฝาผนังของจิตรกรชาวฝรั่งเศสทำให้ห้องนี้ดูแปลกตา  แม้ภาพเขียนจะเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนลาว  ผู้เขียนสังเกตว่าอากัปกิริยาบางอย่าง หรือรูปหน้าคนบางคนกระเดียดไปทางฝรั่ง โดยเฉพาะเด็กน้อยชาวลาวคนหนึ่ง  ตามรายทางรอบระเบียงมีกลองมโหระทึกจัดแสดงไว้อยู่หลายใบ            ห้องบรรทม  มีเครื่องเรือนไม่กี่ชิ้น อาทิ เตียง  โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า  เครื่องเรือนแต่ละชิ้นเป็นไม้อย่างดี  ดูบึกบึนเพราะใช้ไม้ชิ้นใหญ่ทำ แต่ก็ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายแกะสลัก  ในหนังสือของอาจารย์  Grant  Evans  เรื่อง The Last Century of Lao Royalty: a Documentary History, 2009. ตีพิมพ์ภาพเก่าของห้องบรรทมและเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฝาผนังแขวนภาพถ่ายขาวดำของเจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้ายและพระบรมวงศานุวงศ์  ภาพเจ้าสะหว่างวัดทะนา เจ้ามหาชีวิตองค์สุดท้าย  ผู้เขียนเคยเห็นภาพของพระองค์ในหนังสืออื่นมาบ้างแล้ว    แต่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพของพระชายา พระโอรส และพระธิดาทุกพระองค์     ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่า ภาพถ่ายราชวงศ์นี้แววตาทุกคนดูเศร้าสร้อย  ผู้ชมส่วนใหญ่คงจะทราบกันดีกว่าทุกพระองค์สวรรคตเมื่อครั้งถูกส่งตัวไป “สัมมนา” ณ แขวงทางเหนือ  แน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ไม่ได้ถูกบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์    ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ห้องบรรทมไม่มีห้องน้ำในตัว(น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไปถึง เรื่องความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมเรื่องห้องน้ำในสังคมคนเอเชีย)            ว่าไปแล้วเมื่อพระราชวังเก่าถูกแปรเป็นพิพิธภัณฑ์   พฤติกรรมของคนดูค่อนข้างแตกต่างกับเมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปกติธรรมดาทั่วไป  คือวังเก่าเป็นส่วนผสมของความเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวและข้าวของในฐานะพิพิธภัณฑ์กับความเป็นพื้นที่ที่ไม่ปกติธรรมดา นำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมการเข้าชมบางอย่างแก่ผู้ชมหรือไม่ผู้ชมก็กำหนดพฤติกรรมการเข้าชมด้วยตัวเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เช่น การเดินชมด้วยความสำรวมเป็นพิเศษ  เอาเข้าจริงการชมพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าที่ไหน นอกเหนือจากสิ่งที่เขาตั้งใจจัดแสดงที่เราชมแล้ว   เรายังใช้เรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เรารับรู้มาก่อนหน้า มาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติการการดูด้วย ยกตัวอย่างที่ผู้เขียนรู้ว่าที่นี่เป็นพระราชวังเก่าของเจ้ามหาชีวิต กอรปกับเคยอ่านประวัติชีวิตและชะตากรรมของราชวงศ์ที่ประทับในวังแห่งนี้  จึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษต่อภาพถ่ายเก่าของเจ้ามหาชีวิตและราชวงศ์  ขนาดคิดไปได้ว่าคนในภาพมีสายตาเศร้าสร้อย             นอกจากเครื่องเรือนและการประดับประดาหรูหรากว่าปกติสามัญ ตามแบบฉบับวิถีของผู้ปกครอง    สังเกตว่าพื้นที่ของพระราชวังหรือพิพิธภัณฑ์  สะท้อนการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับความเป็นลาว  เช่น สถาปัตยกรรมและภาพวาดบนฝนังที่วาดโดยศิลปินฝรั่งเศส  อยู่ไม่ไกลจากภาพประดับกระจก(แบบเดียวกับที่วัดเชียงทอง)ที่ห้องท้องพระโรง  รวมถึงโบราณวัตถุที่ล้ำค่า  ที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา วัตถุที่จัดแสดง อาทิ  พระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่ได้มาจากวัดวิชุน กลองมโหระทึก ฉลองพระองค์  เอกสาร หนังสือ   ล้วนจัดแสดงตามวิธีการอนุรักษ์ เช่น  จารึกวางอยู่ในกล่องพลาสติกใสเพื่อป้องกันการสัมผัส  เครื่องแต่งกายแขวนไว้บนไม้ที่หุ้มนวมและผ้าดิบ เพื่อป้องกับการเป็นรอยพับ   เอกสารที่เป็นกระดาษจัดแสดงบนชั้นไม้ที่วางรองด้วยกระดาษไร้กรด เป็นต้น  ทราบภายหลังว่าทองคูน  ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา เป็นภัณฑารักษ์ของที่นี่ด้วย  เธอได้รับการอบรมเรื่องการอนุรักษ์วัตถุและการจัดแสดงจากหลายสถาบัน อาทิ สมิธโซเนียน และที่ญี่ปุ่น           ห้องสุดท้าย จัดแสดงของที่ระลึกที่ผู้นำประเทศต่างๆ มอบให้เจ้ามหาชีวิตของลาวและผู้นำประเทศลาว  ผู้เขียนอยากดูของที่ระลึกที่สหรัฐมอบให้ลาว เพราะเคยอ่านหนังสือมาว่าสหรัฐมอบเศษหินบนดวงจันทร์ให้ลาว   ใครๆ ก็รู้ว่าช่วงนั้นลาวเป็นประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในวงล้อมของคอมมิวนิสต์  คำหวานที่ประธานาธิบดีสหรัฐเขียนมาพร้อมๆ กับของที่ระลึกที่มอบให้ลาวน่าสนใจ  ในตู้กระจกในส่วนจัดแสดงของที่ระลึกจากสหรัฐฯ  จัดแสดงสะเก็ดหินจากดวงจันทร์ ที่ยานอพอลโลไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกพร้อมกับธงชาติลาวอันจิ๋ว   พร้อมจดหมายน้อยที่ผู้นำสหรัฐเขียนมาว่า  ธงชาตินี้ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานอพอลโล เมื่อยานจอดบนดวงจันทร์ นักบินก็ได้นำธงชาติผืนนี้ลงไปด้วย!      เมืองหลวง ชีวิต  ผู้คน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง           คนลาวมักเรียกเมืองหลวงพระบางสั้นๆ ว่า “เมืองหลวง” หลวงพระบางตั้งอยูทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเมืองเก่าแก่ริมน้ำโขงสบน้ำคาน  เคยเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตของลาวมาหลายยุคสมัย เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น ด้วยมรดกสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนยังคงพยายามรักษาและสืบทอดจากรุ่นสู่สู่ จนยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1995   กาลเวลาผ่านเลย กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถม เป็นธรรมดาที่บางอย่างต้องเปลี่ยนไป ร้านรวงเก๋ๆ  มีอยู่ทั่วไปทุกตรอกซอย  ให้บรรยากาศคล้ายร้านที่เชียงใหม่   ตามฮอม(ซอย) ที่เคยเป็นดินลูกรังถูกปูด้วยอิฐดินเผาสวยงาม   เดินสบายไม่ต้องกลัวเปื้อนน้ำขี้เลนเหมือนแต่ก่อน เมืองดูสะอาดมากขึ้นโข   ขณะเดียวกันก็มองเห็นและรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  คือพื้นที่ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนหลวงพระบางอีกต่อไป  แต่เป็นเมืองแห่งเกสเฮ้าส์และร้านรวงที่ออกแบบชิคๆ คนฮิปๆ นั่งจิบกาแฟแคมทาง  โดยเฉพาะถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางเมือง  เจ้าของเกสเฮ้าส์และร้านรวงส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ล้วนเปลี่ยนมือไปเกือบหมดแล้ว  เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ใช่คนหลวงพระบาง ร้านขายผ้าพื้นเมืองบางร้านเป็นของฝรั่ง  เกสเฮ้าส์ 2-3 แห่ง เจ้าของก็เป็นนักธุรกิจไทย   ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคือบ้านของเพื่อนคนลาว  บ้านหลังนี้เป็นตึกแถวไม้สองชั้น อยู่ในเขตบ้านวัดแสน  ริมถนนสีสะหว่างวง  ถนนสายหลักของเมือง  เรียกว่าเป็นทำเลทอง  บัดนี้เจ้าของให้บริษัททัวร์เช่าระยะยาวไปแล้ว  ส่วนตัวเขาเองและครอบครัวเลือกที่จะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่นอกเมืองแทน  การที่คนดั้งเดิมย้ายออกจากเมือง มีผลกระทบต่อประเพณีทางศาสนาในวัดพื้นที่ชั้นในของเมือง  ผู้คนที่เข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลสำคัญๆ บางตาลงมาก เพราะศรัทธาวัดเดิมต่างย้ายถิ่นอาศัยไปนอกเมืองเกือบหมด การซ่อมแซมและสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่ชั้นในของเมืองหลวงพระบาง  แปลนก่อสร้างและวัสดุที่ใช้จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทางยูเนสโกวางไว้  เราจึงเห็นเกสเฮ้าส์ที่สร้างใหม่หลายแห่งหน้าตาและแบบแปลนดูคล้ายๆ กันไปหมดคือ แบบที่เรียกว่าเรือนพื้นถิ่นหลวงพระบาง    การเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการเป็นเมืองมรดกโลก  ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมืองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   คนนอกอย่างผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าตลาดดาลา  ตลาดที่อยู่กลางเมืองหลวงพระบางได้รับการปรับโฉมใหม่  ออกแบบสวยงาม สะอาด   มีที่จอดรถ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ตลาดไม่คึกคักเหมือนเก่า ตลาดใหม่นี้เปิดมาได้ปีนึงแล้ว  ร้านค้ายังเปิดไม่เต็ม  บางล็อกจึงดูหงอยเหงา  แม่ค้าร้านขายผ้าบอกว่าค่าเช่าแพงขึ้น  ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นนักท่องเที่ยวหรือคนลาวไปเดินเหมือนกับแต่ก่อน   ร้านขายผ้าทอพื้นเมืองร้านหนึ่งอ้างว่าของที่เขาขายไม่เหมือนของในตลาดมืด  แสดงว่าคู่แข่งสำคัญของตลาดดาลาคือตลาดมืด หรือตลาดกลางคืน   นอกจากนี้ยังมีร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อแบรนด์เนม  ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมือง  ร้านขายเครื่องเงิน  ร้านขายทอง  ร้านขายแบบเรียนและเครื่องเขียน ผู้เขียนจำร้านนี้ได้เพราะเคยอุดหนุนหลายครั้งเมื่อหลายปีก่อน   ร้านขายมือถือ MP3    ร้านกาแฟ            เดินไปตามถนนเห็นชื่อร้านหรือเกสเฮ้าส์ เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายร้าน เช่น บ้านพักชื่อบ้านไทลื้อ  ร้านอาหารขมุ  สปาขมุ  ทราบมาว่าพนักงานนวดตัวนวดเท้าส่วนใหญ่เป็นขมุ  บางร้านเขียนป้ายไว้ว่า “นวดแผนลาว”   ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบคำคล้ายๆ กันที่เรียกว่า “นวดแผนไทย”    ซึ่งคำว่านวดแผนลาวก็ไม่น่าจะใช่ศัพท์ภาษาลาว  ปัจจุบันศัพท์ในภาษาลาวได้รับอิทธิพลทางภาษาไทยจากสื่อไทย  โดยปัจจุบันลาวนิยมใช้ทับศัพท์ภาษาไทยและแปลงเสียงให้เป็นลาวอยู่หลายคำ  ถ้าฟังเพลงสมัยใหม่ของลาวจะเห็นได้ชัด           กิจกรรมความบันเทิงในเมืองหลวงพระบางสำหรับการท่องเที่ยวดูจะมีมากขึ้น   เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจจะมีเพียงการแสดงโขนพระลักษณ์ พระราม  ขับทุ้มหลวงพระบาง  แสดงรอบค่ำที่หอประชุมด้านหน้าวังเจ้ามหาชีวิต  ปัจจุบันมีกิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย อาทิ  ทุกเย็นวันเสาร์และวันพฤหัสบดี  หน้าศูนย์วัฒนธรรมเด็ก ใกล้ตลาดดาลา จะมีเด็กนักเรียนมายืนแจกแผ่นโฆษณาการแสดงหุ่นอีป๊อก(หุ่นกระบอก) ที่แสดงโดยนักแสดงเด็กที่ได้รับการฝึกสอนจากคณะหุ่นอีป๊อกรุ่นใหญ่  การขับร้องดนตรีพื้นเมือง  และการเต้นรำของชนเผ่าต่างๆ  การบายศรีสู่ขวัญ และเสริฟของว่างและน้ำชาระหว่างชมการแสดง  เริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 – 19.30 น. ราคาบัตรเข้าชมคนละ 50,000 กีบ  เย็นวันแรกที่เราไปถึง เราก็ได้ใบปลิวโฆษณามา แต่ไม่ได้เข้าไปชม           กิจกรรมบันเทิงยามค่ำคืนที่ขาดไม่ได้ในหลวงพระบางยามนี้คือ  การช็อปปิ้งในตลาดมืด  ราว 4 โมงเย็น พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มกางเต้นท์และนำข้าวของมาจัดเรียงในล็อกของตนบนถนนศรีสะหว่างวง ตั้งแต่หน้าน้ำพุข้างหน้าการท่องเที่ยวลาว ไปจนสุดกำแพงด้านตะวันออกของวังเจ้ามหาชีวิต  ระยะทางราว 500 เมตร   และซอยด้านข้างวังอีกราว 100 เมตร  ข้าวของที่ขายจะจัดเป็นโซน อย่างน้อย 2 โซนคือ  อาหารอยู่บริเวณต้นถนนติดกับน้ำพุ  หลังจากนั้นจะเป็นของที่ระลึก ร้านส่วนใหญ่จะขายเหมือนๆ กัน อาทิ  ผ้าทอพื้นเมือง  ผ้าเย็บมือของม้ง(ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง  ย่าม ผ้ากันเปื้อน  รองเท้าแตะ  กระเป๋าใส่สตางค์) ลวดลายผ้าม้งหลากหลายมากขึ้น  ลายที่เห็นบ่อยที่สุดคือ ช้าง นอกจากนี้ยังมี ผ้าจากจีน เครื่องเงิน  โคมไฟกระดาษสา  ภาพวาด  ภาพพิมพ์ลายพื้นเมือง  หนังสือ           ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าที่มาขาย 4-5 คน ทุกคนมาจากนอกเมืองทั้งหมด พอตกเย็นจึงจะเข้ามาตั้งร้านขายของ  “นางวอน” เป็นคนไทลื้อ บ้านผานม กลางวันทอผ้า ตอนเย็นจึงเอาผ้าออกมาขาย  บ้านผานมเป็นตลาดขายผ้าใหญ่และมีชื่อของเมืองหลวงพระบาง  แต่นางวอนไม่มีแผงขายผ้าที่ผานม เธอบอกว่าตลาดขายผ้าที่นั่นค่าเช่าแผงแพงและตลาดก็เต็ม  ส่วนที่นี่เก็บค่าเช่าเดือนละ 4,000 กีบ แบ่งเป็นค่าแผง 2,000 และค่าไฟ 2,000 กีบ แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าเป็นรายปี   ที่น่าสนใจคือ แผงของเธอมีผ้าเปียวไทดำขายด้วย ซึ่งเธอบอกว่าทอลายเองและเย็บเองโดยจำและประยุกต์ลวดลายเอาเอง  ในที่สุดผ้าเปียวผืนงามนี้ก็ถูกจับจองโดยผู้ร่วมทริปของผู้เขียน ซึ่งได้สำทับว่าเป็น “ผ้าไทดำ ตำ(ทอ)โดยไทลื้อ”           “นางใจ”  เป็นไทลื้อบ้านผานม  ตอนกลางวันเธอเป็นพนักงานร้านอาหาร ตอนเย็นนำผ้าจากบ้านตัวเองและรับมาจากที่อื่นเพื่อมาขายที่ตลาด  นางใจเล่าว่า บ้านเธอมีแม่เฒ่าที่ยังทอผ้าอยู่  ในอนาคตเธอวางแผนว่าจะเปิดร้านขายผ้า และโรงเรียนสอนตำแผ่น(ทอผ้า) ริมน้ำคาน ที่บ้านของเธอเอง           ผู้หญิงไทดำอีกคนหนึ่งที่มีแผงขายกางเกงผ้าฝ้าย  เธอเล่าว่าอพยพทั้งครอบครัวมาจากแขวงพงสาลี เพื่อมาค้าขายอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  รวมถึงเด็กๆ ชาวม้งอีก 2-3 ที่คุยด้วย พวกเธอเล่าให้ฟังว่า อาศัยอยู่นอกเมืองไม่ไกลจากสนามบิน ผ้าที่มาขายเป็นฝีมือการเย็บของพวกเธอเอง  พอเราซื้อคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งที่นั่งขายอยู่ติดกันก็มักจะบอกให้ช่วยซื้อผ้าของเธอบ้าง  เมื่อวิญญาณนักช็อปเข้าสิง จึงอดไม่ได้ที่ต้องอุดหนุนทั้งสองร้าน    ศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา           ผู้เขียนไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและชนเผ่าวิทยา 2 ครั้ง ครั้งแรกอยากจะไปเดินชมนิทรรศการเสียก่อน เพื่อเวลาไปสัมภาษณ์จะได้มีประเด็นซักถาม  ที่นี่เปิดตั้งแต่ 9.00 – 18.00 น.  เสียค่าเข้าคนละ 40,000 กีบ การจัดแสดงเริ่มด้วยนิทรรศการที่อธิบายข้อมูลทั่วไปของประเทศลาว  ข้อมูลชนเผ่า เช่น ตระกูลภาษา ข้อความที่อธิบายมี 2 ภาษา คือ ลาวและอังกฤษ  หลังจากนั้นการจัดแสดงจะแบ่งมุมต่างๆ รวมทั้งหมด 7 ชนเผ่า คือ อาข่า ม้ง ไทลื้อ เมี่ยนเย้า มุนเย้า(แลนแตน) ไทดำ และขมุ  ซึ่งชนเผ่าที่จัดแสดงในชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบางและแขวงทางเหนือของประเทศ  โดยแต่ละเผ่าจะมีธีม(theme) หลักของตัวเอง           อาข่า             ความหลากหลายของชาติพันธุ์           ม้ง                ปีใหม่ม้ง           ไทลื้อ             จากฝ้ายกลายเป็นเสื้อผ้า           เมี่ยนเย้า          ศิลปะการปักผ้าและลวดลาย           มุนเย้า            พิธีกรรมความเชื่อลัทธิเต๋า           ไทดำ             การทำเตียงนอน           ขมุ                การจักสานและทอผ้ากี่เอว           การจัดแสดงแต่ละเผ่า ประกอบด้วยวัตถุ ภาพถ่าย  ป้ายคำอธิบายธีม ป้ายคำอธิบายวัตถุ  สิ่งที่น่าสนใจคือ ป้ายคำอธิบายธีมของทุกเผ่าล้วนขึ้นต้นด้วยการ ยกคำพูดของสมาชิกชนเผ่านั้นขึ้นมา(quotation) เป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเองหรือของสังคมในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน  เช่น  มุมจัดแสดงของเผ่ามุนเย้า  มีคำพูดหมอผีประจำเผ่าคนหนึ่งบอกว่า “...ตัวเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอผีตั้งแต่ปี 1961 แต่มีโอกาสจัดพิธีกรรมเพียง 2 ครั้งเท่านั้น  คนสมัยนี้ไม่ได้สนใจการใช้หมอผีรักษา ส่วนใหญ่ไปโรงหมอกันหมด...”    ป้ายคำบรรยายวัตถุบางชิ้นค่อนข้างอ่านยากเพราะติดอยู่ในระดับต่ำกว่าสายตาเกินไป  บางชิ้นต้องนั่งยองๆ อ่าน           การจัดแสดงมีพื้นฐานมาจากการวิจัยและเก็บข้อมูลภาคสนามของพิพิธภัณฑ์  เทคนิคการจัดแสดงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปมาใช้  ส่วนใหญ่ยังเป็นการอธิบายผ่านตัวอักษรและภาพประกอบกับคอลเล็กชั่น   มีป้ายห้ามจับสิ่งของที่จัดแสดง  ของส่วนใหญ่เป็นการทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นนโยบายของพิพิธภัณฑ์ ที่จะไม่ซื้อของจากชาวบ้าน   ของบางชิ้นเช่น คอลเล็กชั่นเกี่ยวกับพิธีกรรมเต๋าที่เป็นเสื้อผ้าและภาพวาด  หยิบยืมมาจากนักสะสมต่างชาติ ซึ่งเขียนระบุไว้ในป้ายคำอธิบาย             หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้อำนวยการทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ ที่อายุเพียง 30 ปีเศษ  Tara เป็นคนสัญชาติอเมริกัน จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้านมานุษยวิทยาและการท่องเที่ยว  เข้ามาทำงานเป็นเอ็นจีโอในลาวด้านการท่องเที่ยว สามารถพูดภาษาลาวได้  และสนใจเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าของลาวมาก  จากนั้นจึงคิดก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรม/พิพิธภัณฑ์ ที่ให้ความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเธอเห็นว่ายังไม่มีในเมืองหลวงพระบาง   โดยควักทุนส่วนตัวร่วมกับเพื่อนคนลาว คือ ทองคูน ภัณฑารักษ์ประจำหอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง  เธอจะเข้ามาดูแลที่นี่เฉพาะตอนพักกลางวันและหลังเลิกงานประจำเท่านั้น             ที่นี่จดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรธุรกิจ ซึ่ง TARA บอกว่าง่ายกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรทางวัฒนธรรมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพราะทางการลาวค่อนข้างเข้มงวดและใช้เอกสารรับรองเยอะ  ทุนประเดินคือเงินส่วนตัว  ต่อมาขอทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ  ขณะที่คุยกันเธอเล่าว่าเพิ่งได้รับทุนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการทำนิทรรศการชั่วคราวตัวใหม่  นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังหารายได้จากการทำร้านขายของที่ระลึก และร้านกาแฟ ที่อยู่บริเวณด้านหลังพิพิธภัณฑ์ ของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์  ค่อนข้างแตกต่างจากของที่วางขายทั่วไปในเมือง เพราะที่นี่จะออกแบบแล้วสั่งให้ชาวบ้านทำโดยเฉพาะ  ของส่วนใหญ่มีดีไซน์ที่ทันสมัย สีสันสดใส เช่น กระเป๋าสะพาย  ตุ๊กตา  พวงกุญแจ  เครื่องจักสาน ผ้าพันคอ  ผ้าทอพื้นเมืองของชนเผ่าต่างๆ  หมวก เสื้อผ้าชาติพันธุ์  หนังสือ ซีดี   ทุกชิ้นติดป้ายราคาของเป็นยูเอสดอลล่าร์            ในขณะที่เราสัมภาษณ์สลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาลาว สังเกตว่าทั้งคู่ดูยุ่งอยู่มาก  มีเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอยู่ไม่ได้ขาด  ในห้องทำงานที่เราสัมภาษณ์มีอาสาสมัครช่วยงานเป็นชาวต่างชาตินั่งทำงานอยู่ด้วย  ทั้งสองบอกว่ายังขาดผู้ช่วยทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์  อาสาสมัครหาไม่ยากแต่สิ่งที่ยากคือ รัฐบาลลาวค่อนข้างเข้มงวดเรื่องนักวิจัยต่างชาติที่จะทำวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในลาว  รวมถึงเรื่องการจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ต้องส่งเนื้อหาไปให้ทางการอนุมัติก่อน จึงจะจัดแสดงได้  การจัดทำนิทรรศการในช่วงการก่อตั้งไม่เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าต้องไม่จัดแสดงในประเด็นที่อ่อนไหว           ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ  ในวันที่เราไปชมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมไม่ขาดสาย ในสมุดเยี่ยมชม ข้อเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  Tara บอกว่ามีคนลาวมาดูบ้าง แต่ไม่มาก    นิทรรศการง่ายงามในร้านค้า           ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 แห่งในหลวงพระบาง ที่ทำโดยองค์กรธุรกิจในเมืองหลวงพระบาง คือ ร้านออกพบตก และร้านกบน้อย  ทั้งสองร้านมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลในวัฒนธรรมลาว “ร้านออกพบตก” ร้านขายผ้าพื้นเมือง ทั้งผ้าเก่า ผ้าใหม่ ผ้าดีไซน์ร่วมสมัย นอกจากขายผ้าแล้ว ยังจัดสัมมนาและทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการทอผ้า เจ้าของเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษร่วมทุนกับคนลาว  นิทรรศการของร้านออกพบตกจัดแสดงอยู่ที่ “Fibre2Fabril Gallery” ซึ่งเป็นห้องแถว 1 ห้องติดกับร้านออกพบตก สาขาบ้านวัดหนอง (มีทั้งหมด 3 ร้าน)  ช่วงที่เราไปเป็นนิทรรศการชื่อว่า Same Same But Different  เป็นการนำเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชนเผ่ามานำเสนอ ได้แก่ ไทลื้อ ไทแดง ไทเหมย ม้ง ขมุ   การจัดแสดงมีป้ายคำอธิบายหลัก บอกถึงความหลากหลายของผ้าทอในลาว  การจัดแสดงพยายามนำตัวอย่างเครื่องแต่งกายจากเผ่าต่างๆ  มาแบ่งประเภทให้เห็นวัสดุธรรมชาติที่ถักทอที่หลากหลาย เช่น ฝ้าย ไหม ใยกัญชง  พนักงานของร้านออกพบตกเป็นชายชาวขมุ  ชื่อคูน อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ในพงสาลี เข้ามาบวชเณรเพื่อเรียนหนังสือในวัดที่หลวงพระบาง  นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสกลับบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่คือตั้งใจเรียนและทำงานหาเงินที่เมืองหลวง  เมื่อเราถามถึงย่ามที่ทอจากใยพืชชนิดหนึ่งของขมุที่จัดแสดงอยู่   เขาเล่าว่าแม่เขายังทำอยู่และเคยทำให้เขาด้วย สีหน้าดูแช่มชื่นเมื่อพูดถึงครอบครัวและบ้านเกิด และยังเชิญชวนให้ไปเที่ยวบ้านเขาที่พงสาลี           “ร้านกบน้อย”  ร้านขายเครื่องแต่งกายและผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  เจ้าของเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ชั้นล่างเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการที่ชื่อว่า “Stay Another Day” นิทรรศการนี้ทำโดยลูกสาวเจ้าของร้านร่วมกับเพื่อน  โดยได้ทุนสนับสนุนจาก IFC (International Finance Corporation: World Bank Group) และการท่องเที่ยวประเทศลาว เป็นความพยายามสนับสนุนข้อมูลการท่องเที่ยวในอีกมุมมอง ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  โดยให้ช่วยกันเที่ยวในลาวยาวนานอีกนิด  อุดหนุนสินค้าของคนพื้นเมือง  แล้วจะภาคภูมิใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและประโยชน์แก่ท้องถิ่นในวงกว้าง  นิทรรศการผสมผสานระหว่างวัตถุ  ป้ายคำอธิบาย  วิดีโอ  Hand-on และเกมส์ต่างๆ เช่น เกมส์  tic tac toe  ที่ให้ผู้ชมลองใช้ความคิด เลือกเปิดแผ่นกระดานว่า 3 ใน 9 ภาพของที่ระลึกบนแผ่นกระดานอันไหน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากประเทศลาว    มีนิทรรศการหนึ่งที่พูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรม ตั้งชื่อบนป้ายนิทรรศการว่า “กรรไกรเล่มสุดท้ายในหลวงพระบาง”  โดยนำกรรไกรเหล็กเพียงอันเดียวมาติดบนแผ่นอิงค์เจ็ท  มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า  กรรไกรเล่มนี้ทำโดยลุงคนหนึ่ง ที่เป็นช่างคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในบ้านหาดเหี้ยน  เนื่องจากลูกหลานไม่สนใจสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ต่อ  ลุงคนนี้อาจจะหยุดตีกรรไกรในที่สุด  แต่ถ้านักท่องเที่ยวช่วยกันถามหาหรือให้ความสนใจกับการทำกรรไกร อาจจะช่วยให้ภูมิปัญญาแขนงนี้ยังคงอยู่เมืองหลวงพระบางต่อไป  ที่สุดแล้วระหว่างการพัฒนาและการปกปักรักษามรดกวัฒนธรรม ยังคงปะทะ ต่อรอง และดำเนินไปโดยไม่มีวันจบสิ้น ณ พื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรม “เมืองหลวงพระบาง”.