เชิงอรรถอธิบาย |
1. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : “อวยะชา” คือ ศิวลึงค์ (หม่อมราชวงศ์สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้อธิบายไว้ใน แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 11 ฉบับที่ 1-3 (มกราคม-ธันวาคม 2520, หน้า 131)
2. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : อาจจะพิมพ์คำว่า “บ้าน” ตกไป เพราะ คำว่า “ขฺมฺวาญฺ” เป็นชื่อหมู่บ้าน
3. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : ข้อความในส่วนนี้ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ แม้ว่าในคำแปลที่พิมพ์เผยแพร่ใน จารึกในประเทศไทย นี้ จะระบุว่า “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ส่งกองทัพเข้าขัดขวางประชาชนผู้ทำลายเทวสถานในภัทรปัตตนะและสตุกรันสิ” ซึ่งตรงกับข้อความที่ระบุไว้ ในหนังสือ Inscription of Kambuja ของ R.C. Majumdar (no. 152) หน้า 368 ดังนี้ก็เป็นที่ทราบดีว่าผู้แปลได้แปลข้อความมาจากคำแปลภาษาอังกฤษของ R.C. Majumdar อีกทั้งยังมีคำแปลข้อความในตอนนี้ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกันคือในหนังสือ The Sdok Kak Thomฺ Inscription Part II ของ Adhir Chakravarti หน้า 143 ระบุไว้ว่า “Then His Majesty Nirvānฺapada marched his army with a view to (suppressing) the remove the gods installed at Bhadrapattana and Stuk Ransi.” อย่างไรก็ตามยังมีข้อความแปลที่มีความขัดแย้งแบบตรงกันข้ามคือ “ดังนั้นพระบาทนิรวาณบทได้รวบรวมกองทัพของพระองค์เพื่อจะทำลายประติมากรรมที่ภัทรปัตตนและสตุกรันสิ” แปลโดย หม่อมราชวงศ์สุภัทรดิศ ดิศกุล (เผยแพร่ในแถลงงานประวัติศาตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2521, หน้า 86) ซึ่งมีความหมายต่างกับข้อความข้างต้นมาก และเมื่อพิจารณาข้อความในจารึกที่ว่า “…นิรฺวฺวาณปท กฺรีฑา วล ปิ อฺนกฺ โตกฺ วฺระ อายฺ ภทฺรปตฺตน นุ สฺตุกฺ รนฺสิ…” ซึ่งมีความหมายว่า “พระนิรวาณบท (พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) ได้กรีฑาพลเพื่อ….ผู้ที่ยกเอาเทวรูปแห่งหมู่บ้านภัทรปัตนะและสตุกรันสิไป” จะเห็นว่าข้อความยังมีความหมายไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงยังไม่อาจระบุได้ว่าข้อมูลใหนถูกต้อง
4. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : จะเห็นว่าตัวเลขที่ระบุปีที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ส่งกองทัพเข้าขัดขวางประชาชนไม่ให้ทำลายเทวสถานในภัทรปัตตนะและสตุกรันสิที่พิมพ์เผยแพร่ในคำอ่านและคำแปลนั้นไม่ตรงกัน โดยในคำอ่านระบุว่าเป็นปีที่ 2 ส่วนในคำแปลระบุเป็นปีที่ 10 และเมื่อตรวจสอบจากเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่า ในหนังสือ Inscription of Kambuja ของ R.C. Majumdar (no. 152) หน้า 368 ระบุว่า “In the tenth year of the king Śivācārya restored the temples which belonged to the family.” ส่วน ในหนังสือ The Sdok Kak Thomฺ Inscription Part II ของ Adhir Chakravarti หน้า 143 ระบุไว้ว่า “When his majesty had reigne only for two years, Steŋ Añ Śivācārya erected once again the images of god belonging to his family” และใน Bulletin de l’Ecole Française d’Extrême-Orient XIV-XX ของ Louis FINOT หน้า 73 ระบุคำอ่านไว้เป็น “man vrahฺ svey rāja chnāmฺ 2 guhฺ….” ดังนั้นจึงยังไม่อาจระบุได้ว่าข้อมูลใหนถูกต้อง และเมื่อพิจารณาจากประวัติจารึกเห็นว่าผู้แปลได้แปลข้อความในจารึกมาจากคำแปลภาษาอังกฤษของ R.C. Majumdar จึงทำให้ข้อมูลคำแปลไม่สัมพันธ์กับคำอ่าน
5. คณะทำงานฐานข้อมูลจารึกฯ (2547) : คำนี้ ในหนังสือจารึกในประเทศไทยผู้แปลได้ปริวรรตเป็น “เวทนอบ” แต่ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้แก้ไขคำปริวรรตเป็น “เชงทนบ” ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาจากรูปคำอ่าน “เลงฺทฺนาปฺ” แล้วเห็นว่าที่จริง คำนี้น่าจะอ่านเป็น “เชงฺทฺนาปฺ” มากกว่า เพราะคำนี้ได้ปรากฏมาแล้วครั้งหนึ่งในด้านที่ 3 บรรทัดที่ 1 เป็นคำเขมร ที่หมายถึง บริเวณรอบๆ ของที่ราบลุ่ม การที่ หนังสือจารึกในประเทศไทย อ่านเป็น “เลงฺทฺนาปฺ” และปริวรรตเป็น “เวทนอบ” นั้นคงจะเนื่องมาจากเกิดความผิดพลาดในการพิมพ์
|