1. โกวิท คติการ : สาธารณประโยชน์ทั้งห้า ซึ่งสร้างพร้อมกันในครั้งนั้น ได้แก่
(1) ถนนจากสำโรง ยาวตั้งแต่สะพานสำโรงจดประตูเมืองสงขลา คือที่เป็นถนนไทรบุรี ตอนสี่แยกทางตะวันตกเฉียงใต้ของวัดโพธิ์ปฐมมาวาส สงขลา จนทุกวันนี้ ที่ตรงนี้เดิมมีประตูเมืองที่ชาวบ้านเรียกว่า ประตูไชย ส่วนถนนตั้งแต่ประตูเมืองจนถึงสำโรงนั้น เดิมคงเป็นทางเล็กๆเพิ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2388 ดังกล่าวแล้ว ปรากฏเป็นศิลาจารึกว่ากว้าง 5 วา ยาว 80 เส้น
(2) บ่อน้ำ มีอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ของศาลาที่ไว้ศิลาจารึก รวม 2 แห่งด้วยกัน
(3) สะพาน คือสะพานข้ามคลองสำโรง เดิมใช้ศิลารองแล้วปูเรียงด้วยไม้แก่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 เมื่อพระยาชลบุรานุรักษ์มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ได้รื้อสะพานเดิมเสียแล้วจึงได้สร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทน และสมัยต่อมาได้ตกแต่งทันสมัยขึ้นดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
(4) ศาลา เท่าที่เห็นมีอยู่ 3 แห่ง คือ ทางทิศเหนือของสะพานข้ามคลองสำโรง ห่างจากสะพานประมาณ 15 เส้น มีอยู่หลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนไทรบุรี อีกหลังหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานข้ามคลองสำโรงตรงสามแยก ส่วนศาลารายทางอื่นๆ นั้น จะสร้างพร้อมกันในคราวนี้หรืออย่างไร ในศิลาจารึกมิได้บอกว่ามีอยู่กี่แห่ง
(5) ศาลเทพารักษ์ เข้าใจว่าคงจะเป็นศาลาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลาทวด ซึ่งสร้างแบบศาลเจ้าที่อยู่ใกล้กับป่าช้าจีนมาเก๊า ริมถนนสายสงขลาไปตำบลทุ่งหวัง
|