เชิงอรรถอธิบาย |
บุญเลิศ เสนานนท์ : ศิลาจารึกหลักนี้ กล่าวถึงเรื่องมงคล 108 ที่ปรากฏบนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ท่านแต่งร้อยกรองเป็นคาถาซึ่งเรียกว่า “ปัฐยาวัต ฉันท์” ที่ปรากฏมีเพียง 11 คาถาเท่านั้น เข้าใจว่ายังมีต่อไปอีก เพราะรวบรวมข้อความของมงคล 108 ไว้ยังไม่หมด และในคำจารึกนั้น มีบางคำที่ยากแก่การเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ ในการถอดคำแปลเพื่อให้ได้ใจความที่สมบูรณ์ จึงอาศัยคัมภีร์ใบลานอักษรขอมอยุธยา ภาษาบาลี เรื่องพุทธปาทลักขณะ ซึ่งในคัมภีร์ระบุว่า “อินทโชติเขียนถวายพระอาจาริยเจ้า” จารขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2294 ปีมะแม ในคัมภีร์กล่าวถึงมงคล 108 พร้อมทั้งบทอธิบายขยายความมงคลต่างๆ อีกมาก และได้นำเอาเฉพาะชื่อของมงคลมาไว้เพื่อให้พิจารณาตอนท้ายนี้ด้วย
การร้อยกรองนั้น มีข้อที่น่าสังเกตคือ บาทสุดท้ายของแต่ละคาถา ท่านจะสรุปด้วยคาถาว่า “ปาเท ทิสฺสนฺติ สตฺถุโน” ทุกตอนไป เป็นการร้อยกรองที่มีอรรถรสบริบูรณ์ไพเราะยิ่ง แสดงให้เห็นว่า วรรณกรรมบาลีด้านกวีร้อยกรองรุ่งเรืองมาแต่ครั้งก่อนแล้วแน่นอน และ การใช้ศัพท์ร้อยกรองนั้น บางศัพท์ท่านก็ใช้โดยวิธีรวมกันเสียก็มี อย่างเช่นในคาถาที่ 10 ศัพท์ว่า มหากุลพลาสตฺตา, ปกฺขิราชา จ อุตฺตโม, ในที่นี้แปลว่า “สัตว์จำพวกตระกูลใหญ่ ตระกูลที่มีกำลัง และพระยาปักษีตระกูลสูง” ซึ่งเมื่อแยกขยายออกจะได้ดังนี้
สัตว์จำพวกตะกูลใหญ่ ตระกูลที่มีกำลัง ได้แก่
พระยาช้างฉัททันต์ พระยาช้างเอราวัณ
พระยาช้างอุโบสถ
พระยาม้าวลาหก
พระยานาควาสุกี
พระยาเนื้อทรายทอง
พระยาเนื้อ
แม่โคอ่อน
สัตว์จำพวกปักษี ได้แก่
พระยาครุฑ
พระยาหงส์
พระยาไก่เถื่อน
พระยามังกรทอง
พระยาแมลงภู่ทอง
พระยานกกระเรียน
พระยานกจากพาก
พระยานกกระทาดง
พระยานกการะเวก
กินนร
กินรี
และยังมีที่ขาดหายไป เช่น
ท้าวมหาพรหม 4 หน้า
เรือทอง
บัลลังก์แก้ว
พัดใบตาล
เต่าทอง
เทวโลก 6 ชั้น
พรหมโลก 16 ชั้น
อนึ่ง ศัพท์บางศัพท์ที่เปลี่ยนไป และพยายามหาศัพท์ที่ใกล้เคียงที่สุดมาใช้แทนเพื่อแปลให้ได้ใจความ คือ
คาถาที่ 1 ศัพท์เดิม “วสฺสโก” เปลี่ยนเป็น “วฏฺฏํสโก”
คาถาที่ 3 ศัพท์เดิม “มณิวลวิชนิจ” เปลี่ยนเป็น “มณิวาลวีชนี จ”
คาถาที่ 5 ศัพท์เดิม “สมุทฺโธ” เปลี่ยนเป็น “สมุทฺทา”
คาถาที่ 6 ศัพท์เดิม “สิริโย” เปลี่ยนเป็น “สุริโย”
คาถาที่ 7 ศัพท์เดิม “สหทฺวิสหฺสาทิป” เปลี่ยนเป็น “สหทฺวิสหสฺสาทีป”
คาถาที่ 8 ศัพท์เดิม “ตากินฺนรมพหิ” เปลี่ยนเป็น “ตากินฺนรกินฺนรีโย”
คาถาที่ 9 ศัพท์เดิม “จกฺก” เปลี่ยนเป็น “จกฺกํ”
คาถาที่ 10 ศัพท์เดิม “สุสุมาปฏฺฐาโก” เปลี่ยนเป็น “สุสุมารปลฺลงฺโก”
อฏฺฐตฺตรสตมงฺคลานิ (มงคล 108)
1. “สติ” หญิงที่มีความซื่อสัตย์
2. “สิริวจฺโฉ” นางฟ้า
3. “นนฺทิยาวตฺตํ โสวตฺถิกํ” รูปสวัสดิกะ เวียนขวา
4. “วฏฺฏํสโก” ดอกไม้กรองบนศีรษะ
5. “วทฺธมานํ” ดอกพุดซ้อน
6. “ภทฺทปีธํ” พระแท่นอาสนะ
7. “ปาสาโท” ปราสาท
8. “องฺกุโส” ขอช้าง
9. “โตรณํ” โตมร (หอก)
10. “เสตฉตฺตํ” เศวตฉัตร
11. “รตฺนขคฺโค” พระขรรค์ไชยศรี
12. “โมรหตฺถํ” แววหางนกยูงมัดเป็นกำ
13. “อุณหิสํ” ผ้าโพกศีรษะ หรือ มงกุฎ
14. “รตฺนาวลฺลี” เชือกแก้ว
15. “มณิวาลวีชนี” พัดขนทรายแก้ว
16. “สุมนทามํ” พวงดอกมะลิ
17. “รตฺตุปฺปลํ” อุบลแดง
18. “นีลุปฺปลํ” อุบลเขียว
19. “เสตุปฺปลํ” อุบลขาว
20. “ปทุมํ” บัวหลวง
21. “ปุณฺฑริกํ ” บัวเผื่อน
22. “ปุณฺณฆโฏ” หม้อใส่น้ำเต็ม
23. “ปุณฺณจาติ” ภาชนะใส่น้ำเต็ม
24. “จตุสมุทฺโท” มหาสมุทรทั้ง 4
– “ปีตสาคร” แม่น้ำสีเหลือง
– “ขีรสาคร” แม่น้ำสีขาว
– “ผลิกสาคร” แม่น้ำสีแก้วผลึก
– “นีลสาคร” แม่น้ำสีเขียว
25. “จกฺกวาโฬ” จักรวาล
26. “หิมวา” ป่าหิมพานต์
27. “สิเนรุ” ภูเขาสิเนรุ
28. “สุริโย” พระอาทิตย์
29. “จนฺทิมา” พระจันทร์
30. “นกฺขตฺตา” หมู่ดวงดาว
31. “จตฺตาโร มหาทีปา” ทวีปใหญ่ 4 ทวีป
– จุตฺตรกุรุทวีป
– ปุพฺพวิเทหทวีป
– อมรโคยานทวีป
– ชมพูทวีป
32. “ทฺวิสทสฺสปริตฺตทีปปริวารา” ทวีปน้อยที่เป็นบริวาร 2,000 ทวีป
33. “สํปริวาโร จกฺกวตฺติราชา” พระเจ้าจักรพรรดิ์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร
34. “ทกฺขิณาวตฺตเสตสโข” สังข์ขาวทักษิณาวัตร
35. “สุวณฺณมจฺฉกยุคฺคลํ” คู่แห่งปลาทอง
36. “ยุคฺคลจกฺกํ” จักรคู่
37. “สตฺต มหาคงฺคา” แม่น้ำใหญ่ 7 สาย (ในอินเดีย)
– แม่น้ำคงคา
– แม่น้ำอจิรวดี
– แม่น้ำยมุนา
– แม่น้ำสรภู
– แม่น้ำมหิมหานที
– แม่น้ำสุรัสวดี
– แม่น้ำเนรัญชรา
38. “สตฺต มหาสรา” สระใหญ่ 7 สระ (ในอินเดีย) – สระอโนดาต
– สระกัณฑมุณฑะ
– สระรตการกะ
– สระฉัททันต์
– สระกุณาละ
– สระมัณฑากินี
– สระสีห์ปปาตะ
39. “สตฺต มหาเสลา” ภูเขาใหญ่ 7 เทือก
– ภูเขายุคนธร
– ภูเขาอิสินธร
– ภูเขากรวิก
– ภูเขาสุทัสสนะ
– ภูเขาเนมินธร
– ภูเขาวินตกะ
– ภูเขาอัสสกัณณะ
40. “สุปนฺนราชา” พระยาครุฑ
41. “สุสุมารราชา” พระยาจรเข้
42. “ธชปฏากา” ธงชัยและธงแผ่นผ้า
43. “รตนปาฏงฺกี” เก้าอี้แก้ว
44. “สุวณฺณจามโร” เนื้อทรายทอง
45. “เกลาสปพฺพโต” ภูเขาไกรลาส
46. “สิหราช” พระยาสีหราช
47. “พฺยคฺฆราชา” พระยาเสือโคร่ง
48. “ทีปิราชา” พระยาเนื้อ
49. “พลาหโก อสฺสราชา” พระยาม้าวลาหก
50. “อุโปสโถ วารณราชา” พระยาช้างอุโปสถ
51. “ฉทฺทนฺโต วารณราชา” พระยาช้างฉัททันต์
52. “วาสุกี อุรคฺคราชา” พระยานาควาสุกี
53. “หํสราชา” พระยาหงส์
54. “พลกุกฺกฏ อุสภราชา” พระยาอุสภไก่เถื่อน
55. “เอราวณฺโณ นาคราชา” พระยาช้างเอราวัณ
56. “สุวณฺณมํกโร” พระยามังกรทอง
57. “สุวณฺณภูมโร” พระยาแมลงภู่ทอง
58. “จตุมุโข มหาพฺรหมา” ท้าวมหาพรหม 4 หน้า
59. “สุวณฺณนาวา” เรือทอง
60. “รตนปลฺลงฺโก” บัลลังก์แก้ว
61. “ตาลปณฺณํ” พัดใบตาล
62. “สุวณฺณกจฺฉโป” เต่าทอง
63. “สวจฺฉกา คาวี” แม่โคอ่อน
64. “กินฺนโร” กินนร
65. “กินฺนรี” นางกินรี
66. “กรวิโก” นกการะเวก
67. “มยุรราชา” พระยานกยูง
68. “โกญฺจราชา” พระยานกกระเรียน
69. “จากวากราชา” พระยานกจากพาก
70. “ชีวญฺชีวกราชา” พระยานกกระทาดง
71. “ฉ กามาวจรเทวโลกา” กามาวจรเทวโลก 6 ชั้น
– จาตุมหาราชิกาเทวโลก
– ดาวดึงส์เทวโลก
– ยามาเทวโลก
– ดุสิตเทวโลก
– นิมมานรดีเทวโลก
– ปรนิมิตวสวัตตีเทวโลก
72. “โสฬส มหาพฺรหฺมโลกา” มหาพรหมโลก 16 ชั้น
– พรหมปาริสัชชาพรหมโลก
– พรหมปุโรหิตาพรหมโลก
– มหาพรหมาพรหมโลก
– ปริตตาภาพรหมโลก
– อัปปมาณาภาพรหมโลก
– อาภัสสราพรหมโลก
– ปริตตสุภาพรหมโลก
– อัปปมาณสุภาพรหมโลก
– สุภกิณหาพรหมโลก
– เวหัปผลาพรหมโลก
– อสัญญีสัตตาพรหมโลก
– อวิหาพรหมโลก
– อตัปปาพรหมโลก
– สุทัสสาพรหมโลก
– สุทัสสีพรหมโลก
– อกนิฏฺฐพรหมโลก
|