เชิงอรรถอธิบาย |
1. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ปฺราจฺยา” แปลว่า ชาวเมือง หรือชาวตะวันออก เมื่อลงแป้งแล้วลูบลบแป้งผิวหน้าออก จะเห็นว่า อักษร “ป” กับอักษร “ร” ไม่ต่อเนื่องกัน จึงดูเหมือนว่า อักษร “ร” มีเส้นต่อเนื่องจากอักษร “ป” จึงอ่านเป็น “ปฺราจฺยา” แม้แจกรูปเป็นเอกพจน์ แต่มีความหมายเป็นพหูพจน์
2. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “อายตฺ” แปลว่า ได้มาแล้ว ประกอบขึ้นจาก “อา” บทหน้า “อ” อาคม “อี” ธาตุ “อ” ปัจจัย “ตฺ” วิภัตติหมวดลัง อักษร “ต” ในศิลาจารึกไม่ค่อยชัดเจนนัก ปรากฏเพียงบางส่วน ต้องกำหนดตามหลักภาษาดังกล่าว จึงอ่านได้ความว่า “อายตฺ”
3. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “วิษฺยา” แปลว่า การตายเพราะได้รับพิษหรือการตายเพราะยาพิษ อักษร “ษ” ไม่ชัดเจน อันเนื่องจากศิลาผุกร่อน ทำให้ลายเส้นของรูปอักษรลบเลือน ต้องอาศัยการวิเคราะห์ประกอบการอ่านแปล เมื่อลงแป้ง รูปอักษรจะปรากฏเป็น “วิทฺยา” แปลว่า ความรู้ สังเกตให้ละเอียดอีกนิดจะพบว่าช่องไฟระหว่างอักษร “วิ” กับ “ทฺยา” นั้นห่างกันมากเกินไปและการลากเส้นหยักของรูปอักษร “ท” เอง ก็แคบเกินไป หลังอักษร “วิ” ยังมีเส้นที่บ่งบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของรูปอักษรอยู่ เมื่อลากเส้นนั้นให้ต่อเนื่องกับเส้นที่ปรากฏชัดด้านขวามือจะได้รูปเป็น “ป” , “ม” และ “ษ” เมื่อต่อเป็นคำ จะได้รูปเป็น “วิปฺยา”, “วิมฺยา” และ “วิษฺยา” ฉะนั้น จึงอ่านว่า “วิษฺยา” แปลว่า การตายเพราะยาพิษ
4. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ลพฺโธ” แปลว่า ผู้ได้แล้ว ที่มองเห็นชัดเจนคือ อักษร “ล” หรือ “ส” และ “ธ” ฉะนั้น ต้องค้นหาด้วยการวิเคราะห์ตามหลักภาษาว่าอักษรที่ไม่ชัดเจนนั้นคืออะไร อักษรที่ซ้อนอักษร “ธ” คือ “พ” และ “ท” ฉะนั้น จะได้คำว่า “ลพฺธ” หรือ “ลพฺโธ” หรือ “สทฺโธ” แต่คำว่า “สทฺธ” เป็นภาษาบาลี ในจารึกนี้เป็นภาษาสันสกฤต ฉะนั้น คำที่ใช้ได้คือ “ลพฺธ” หรือ “ลพฺโธ” เมื่อพิจารณาดูลายเส้นอักษรอีกครั้ง จะพบว่า เป็นไปได้ตามหลักภาษา เพียงแต่สระ “โอ” ลบเลือนไปบ้างเท่านั้น
5. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “มุญฺจติ” แปลว่า ย่อมพ้น ทุกตัวอักษรค่อนข้างจะชัดเจน จึงไม่มีปัญหาในการอ่านแปล แต่สระ “อุ” อยู่ที่ด้านข้างของอักษร “ม” จึงทำให้เข้าใจว่า เป็นที่ต่อเนื่องมาจากอักษร “ญ” ได้
6. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ปุณฺย” แปลว่า บุญ อักษรที่ชัดเจน คือ “ปุ” และ “ย” ส่วนการม้วนของอักษร “ณ” ไม่ชัดเจนนัก อาศัยการประกอบของรูปศัพท์ดังกล่าว จึงอ่านเป็น “ปุณฺย” เป็น “ปุณฺยํ” เพื่อให้รับกับ “ลพฺโธ” ซึ่งแปลว่า ผู้ได้รับ (ผล) บุญแล้ว
|