เชิงอรรถอธิบาย |
1. ฉ่ำ ทองคำวรรณ : ม.ศ. 1238 = พ.ศ. 1859
2. ฉ่ำ ทองคำวรรณ : คำว่า “ขึ้นเก้าค่ำเดือนเจ็ด, เดือนหก, ศุกรพาร” นี้ ยังไม่ได้ความชัดว่า “ขึ้นเก้าค่ำ” เป็นดิถีของเดือนอะไร เพราะมีทั้งเดือนเจ็ดและเดือนหก นอกจากเราจะเอาคำว่า “โลย” ในจารึกซึ่งเทียบกับคำว่า “โดย” ที่แปลว่า “ตาม” ไปต่อกับ “ไพศาข” เป็น “ไพศาขโลย” และแปลว่า “ตามเดือนหก” หรือ แปลหักความว่า “สืบเนื่องมาจากเดือนหก” เช่น “ขึ้นเก้าค่ำเดือนเจ็ดซึ่งสืบเนื่องมาจากเดือนหก” จึงจะทราบว่า “ขึ้นเก้าค่ำ” เป็นดิถีของเดือนเจ็ด ขอให้นักโหราศาสตร์โปรดโปรดช่วยกันพิจารณาว่า “วันศุกร์ขึ้น 9 ค่ำใน พ.ศ. 1859” นั้นจะตรงกับเดือนอะไรกันแน่ ถ้า ม.ศ. 1238 (พ.ศ. 1859) ไม่ตรง โปรดเลื่อนไปหา ม.ศ. 1239 (พ.ศ. 1860) เพราะเลขท้ายของ ม.ศ. นั้น อาจเป็นได้ทั้งเลข 8 และเลข 9 คือ ถ้าดูเผินๆ ก็จะเห็นเป็นเลข 9 ถ้าเอาแบบตัวเลขในสมัยนั้นมาเทียบดูจึงจะเห็นเป็นเลข 8 ปัญหาเรื่องนี้ ก็เนื่องจากในจารึกนั้นไม่มีปี (12 นักษัตร) กำกับศักราช จึงทำให้การอ่านไม่แน่นอน
3. ฉ่ำ ทองคำวรรณ : “อุตรผลคุณี” เป็นชื่อฤกษ์ที่ 12 ได้แก่ดาวเพดาน
4. ฉ่ำ ทองคำวรรณ : คำว่า “น้ำ” ในที่นี้แปลมาจากคำจารึกว่า “ทิก” ซึ่งขอมเขียน “ทึก” เขาอ่านว่า “ตึ๊ก” แปลว่า “น้ำ” เช่น “น้ำสอง” ก็หมายความว่า “น้ำสอง (จำนวน)” และคำว่า “น้ำ” หรือ “ตึ๊ก” นี้ ขอมอาจใช้เป็นมาตรานับอย่างนาฬิกาก็ได้ เช่น “น้ำสอง” ก็หมายความว่า “เวลาสองชั่วโมง” ที่แปลเช่นนี้ก็เพราะในจารึกไม่มีคำกริยา จึงไม่ทราบว่า “ตึ๊ก” จะแปลว่าอะไรจึงจะได้ความ คือถ้ามีคำกริยาว่า “ถวาย” เราก็แปลว่า “ถวายน้ำสอง (จำนวน) ในเพลาวันหนึ่ง” หรือมีคำว่า “สักการ” เราก็จะแปลว่า “สักการสองชั่วโมงในเพลาวันหนึ่ง” หรือ “สักการวันละสองชั่วโมง”
|