จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

จารึกปราสาทเขาดุม

จารึก

จารึกปราสาทเขาดุม ด้านที่ 1

QR-code edit Share on Facebook

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เวลา 22:14:24

ชื่อจารึก

จารึกปราสาทเขาดุม

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

บร. 6, K. 515

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1599

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 19 บรรทัด

ผู้อ่าน

ชะเอม แก้วคล้าย (พ.ศ. 2541)

ผู้แปล

ชะเอม แก้วคล้าย (พ.ศ. 2541)

เชิงอรรถอธิบาย

1. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “เปาไจฺรกฺ” คงเป็นชื่อเฉพาะของบุคคลชื่อ “ไจรก” ที่ไม่สามารถแปลความหมายได้ แต่มีคำว่า “เปา” นำหน้า ซึ่งตามปกติแปลว่า “เด็ก” จะไม่สอดคล้องกับข้อความที่ว่า “ได้รับคำสั่งจากพระกัมรเตงอัญ” จึงแปลในความหมาย “ปุ” หรือ “โป” โดยการแผลง “อุ” หรือ “โอ” เป็น “เอา” ว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ ขุนนาง ผู้ได้รับเกียรติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น ในที่นี้จึงแปลว่า ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อ “ไจรก”
2. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ลำวางฺ” แปลว่า ตำบล อำเภอ มณฑล, เมื่อมี “วฺระ” นำหน้า เป็น “วฺระ ลํวางฺ” หมายถึงหัวหน้าตำบล อำเภอ หรือมณฑล, ในที่นี้จึงแปลว่า ผู้ปกครองมณฑล เพื่อให้เหมาะสมกับข้อความที่ว่า “ประกอบพิธีกรรมฉลองศาลประจำเมือง”
3. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ปาณฺฑิห” ความหมายของจารึกน่าจะเป็น “ปณฑิต” แปลว่า บัณฑิต หรือ ผู้เป็นบัณฑิต แต่อักษร “ห” ชัดเจน จึงอ่านเป็น “ปาณฺฑิห” ตามรูปอักษรจารึก แต่แปลว่า ผู้เป็นบัณฑิต เป็นวิเศษณะของกัมเสตงมะอาง ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดพิธีฉลองศาลประจำเมือง
4. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “ศาล” ในประโยคว่า “โฉฺลงฺ ศาล กฺรุงฺ วิษย” ยังเป็นที่แคลงใจว่าหมายถึงอะไรแน่ เพราะเมื่อแยกแปลแต่ละศัพท์ จะได้ดังนี้ “โฉฺลงฺ” แปลว่า ฉลอง การทำพิธีเปิด ปลุกเสกให้ขลัง, คำว่า “ศาล” แปลว่า ห้อง ห้องโถง ห้องประชุม ที่พักอาศัย ที่พักชั่วคราว, คำว่า “กฺรุงฺ” แปลว่า หัวหน้า สำคัญ กษัตริย์ ปกครอง เมืองหลวง, คำว่า “วิษย” แปลว่า ดินแดน อาณาเขต จังหวัด จึงรวมแปลเป็นกลางว่า ศาลประจำเมือง อาจหมายถึงศาลอันเป็นสถานที่ประชุมของราชการ หรืออาจหมายถึงศาลอันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ตามลัทธิทางศาสนา
5. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “เตงตวน” เป็นคำนำหน้า เรียกขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 1 พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนา ฉะนั้น คำว่า “เตงตวน” ในที่นี้ อาจจะหมายถึงขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยของพระองค์ หรือ หมายถึงพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 1 เอง ที่เป็นผู้สร้างศาลประจำเมือง เพื่อถวายพระกัมรเตงชคัต, คำว่า “กัมรเตงชคัต” หมายถึง เทวรูป หรือพระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นให้เป็นตัวแทนของเทพ พระพุทธเจ้า หรือกษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว ในที่นี้ น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปหรือรูปเหมือนของพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 1 ที่ขุนนางผู้นับถือพุทธศาสนาและมีความภักดีในพระองค์ สร้างศาลประจำเมืองอุทิศถวายพระกัมรเตงชคตดังกล่าว
6. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “สิงฺ” เป็นกริยา แปลว่า อยู่ อาศัย เป็นนามศัพท์แปลว่า การกระทำตามลัทธิศาสนา หรือกิจกรรมทางศาสนา ในที่นี้ แปลโดยใจความว่า ประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา, คำว่า “สมย” แปลว่า คำพูด คำสั่ง การประกาศ ในที่นี้ แปลว่า การอนุญาต, คำว่า “สรฺธายฺ” น่าจะมาจากคำว่า “สฺรธิ” หรือ “ศฺรธิ” ซึ่งแปลว่า ศรัทธา ความเชื่อ
7. ชะเอม แก้วคล้าย : ข้อความที่ว่า “ให้พระทั้งปวงประกอบพิธีกรรมตามหลักของศาสนา” หมายถึง การจัดงานฉลองศาลประจำเมืองนี้ให้พระ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระภิกษุในพุทธศาสนาประกอบพิธีกรรมตามหลักของพุทธศาสนา จะสอดคล้องกับข้อความที่ว่า “พวกเขาที่ได้รับอนุญาต และประชาชนทั้งปวงต่างมีความยินดี ทั้งนี้เพราะ พระเจ้าศรีอุทยาทิตยวรมันที่ 2 เป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ พระองค์ก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์ด้วยเช่นกัน พิธีกรรมบ้านเมืองก็น่าจะประกอบด้วยศาสนาพราหมณ์ แต่เมื่อผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งเคยรับราชการในสมัยพระเจ้าศรีสูรยวรมันที่ 1 ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์ ขออนุญาตประกอบพิธีกรรม จัดงานฉลองศาลที่สร้างอุทิศถวายพระกัมรเตงชคัตตามพิธีกรรมของพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงอนุญาติ จึงทำให้ประชาชนเกิดความปิติยินดีเป็นอย่างมาก กัมรเตงจึงให้จารึกแก่กัมรเตงชคัตไว้ด้วยความศรัทธา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความเจริญ ทั้งได้รวบรวมวัตถุสิ่งของที่ได้รับบริจาคเป็นอันมากให้โขลญพลผู้ตรวจการประจำเมือง ให้เตงตวน . . . ผู้รักษาการณ์ให้กัมรเตง ข้อความนี้แสดงให้เห็นการแสดงออกถึงความยินดีที่พวกเขาได้รับอนุญาต และแสดงให้เห็นว่าจารึกนี้มิใช่ของพระเจ้าศรีอุทยาทิตยวรมันที่ 2 แม้ว่าจารึกระบุมหาศักราช 978 อันเป็นรัชสมัยของพระองค์ แต่เป็นจารึกของกัมเสตงท่านหนึ่งที่ได้รับอนุญาตจากพระองค์ให้จัดพิธีกรรมฉลองศาลประจำเมือง ที่สร้างอุทิศถวายพระกัมรเตงชคัตเพื่อประกาศพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าศรีอุทยาทิตยวรมันที่ 2 ที่อนุญาตดังกล่าว จึงให้จารึกนี้ไว้ด้วยความความศรัทธา
8. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “สมย” แปลว่า คำพูด คำสั่ง การประกาศ ในที่นี้ แปลว่า การอนุญาต คำว่า “สรฺธายฺ” น่าจะมาจากคำว่า “สฺรธิ” หรือ “ศฺรธิ” ซึ่งแปลว่า ศรัทธา ความเชื่อ
9. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “องฺคาสฺ” เป็นกริยา แปลว่า รวบรวมถวาย รวบรวมให้ เป็นนามศัพท์ แปลว่า สิ่งที่รวบรวมมาได้ ซึ่งน่าจะเป็นวัตถุสิ่งของที่ได้รับบริจาค ในที่นี้จึงแปลเป็นนามศัพท์
10. ชะเอม แก้วคล้าย : ตั้งแต่บรรทัดที่ 12-19 อักษรจารึกชำรุดมาก ไม่สามารถอ่าน-แปลได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชื่อของบุคคลและข้าทาส
11. ชะเอม แก้วคล้าย : คำว่า “อศฺฏา ขฺญุ ํ . . . น ชฺวนฺ . . .” ไม่สามารถกำหนดได้ว่า 8, ข้าพเจ้า คืออะไร จะเป็นว่าบุคคลทั้ง 8 รวมทั้งข้าพเจ้า หรือบุคคลทั้ง 8 แล้วขึ้นข้อความใหม่ว่า “ข้าพเจ้า ได้ให้ . . . . .” นอกนั้นเป็นชื่อข้าทาสชายหญิง ที่นำหน้าชื่อด้วยคำว่า “ไต” และ “สิ”