จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

จารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญ (K. 1213)

จารึก

จารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญ (K. 1213) ด้านที่ 1

QR-code edit Share on Facebook

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เวลา 12:04:47

ชื่อจารึก

จารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญ (K. 1213)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

L'inscription Thaїe du Vatt Buddhaghosacary de Phnom-penh (K. 1213), ศิลาจารึกเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญ (K. 1213)

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2385

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 30 บรรทัด

ผู้อ่าน

1) Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546)
2) ศานติ ภักดีคำ (พ.ศ. 2549)

ผู้ปริวรรต

ศานติ ภักดีคำ (พ.ศ. 2549)

เชิงอรรถอธิบาย

1. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ปูระมี” Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) อ่านว่า “ปริเฉท”
2. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ศุภมัสดุ” หมายถึง ขอความดี/ความงามจงมี
3. ศานติ ภักดีคำ : “จุลศักราช 1201 ปีสุกรสังวัชระ เอกศก บุศยมาศ กาฬปักษดิถี จตุรัศมี โสรวาร” คือ วันเสาร์ (โสรวาร) แรม 4 ค่ำ (กาลปักษ์ดิถี จตุรัศมี) เดือนยี่ (บุษยมาส) ปีกุน (สุกรสังวัชระ) เอกศก จุลศักราช 1201 ศิลาจารึกหลักนี้ระบุว่าเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพออกมาพระตะบอง ซึ่งเมื่อสอบเทียบกับปฏิทินสำหรับค้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติ ของกรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ ไม่พบวันเวลาที่ตรงกับข้อความในจารึก วันซึ่งใกล้เคียงที่สุดควรเป็นวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2385 ส่วนหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ระบุว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพออกไปพระตะบองเมื่อ “…เมื่อ ณ เดือน 2 ขึ้น 13 ค่ำ” ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2382 แต่หนังสือประชุมหมายรับสั่งภาค 4 ตอนที่ 1 กลับระบุว่า มีการยกทัพออกไปเมื่อวันแรม 13 ค่ำ เดือน 1 ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2382 เมื่อพิจารณาเดือนจากที่ระบุไว้ในจารึก วันเวลาที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 น่าจะถูกต้องกว่าเพราะสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนบุศย คือ เดือนยี่ หรือ เดือน 2 ไม่ใช่เดือน 1 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ควรพิจารณากันต่อไป
4. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “พระบาทสมเดจ์บรมนารถบรมบพิตพระพุทธิเจ้าอยูหัวกรุงเทพมหานคร” หมายถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2367-2393
5. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ดำหรัด” การอ่านโดย Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) ได้ถ่ายถอดตามรูปแบบอักษรที่ปรากฏในจารึก ซึ่งอักษร “ด” มีลักษณะเหมือนอักษร “ค” โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นคำว่า “ดำรัส” เช่นเดียวกับ “เทวคา” ซึ่งเป็นคำว่า “เทวดา” ในบรรทัดที่ 21 เป็นต้น
6. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “มานพระบัณฑูร” หมายถึง มีคำสั่ง
7. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “เจ้าพญาบดินเดชาทีสมุหนายกอัครมหาเสนาธิบดีภัยพิริยปรากรมพาหุ” คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2320 ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 และได้เป็น จมื่นเสมอใจราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับพระราชทานยศเป็น พระนายเสมอใจราช และพระยาเกษตรรักษา ตามลำดับ เมื่อรัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดให้มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชสุภาวดี ร่วมปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ กรุงเวียงจันทน์ ได้รับความดีความชอบจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก ต่อมา ใน พ.ศ. 2372 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 53 ปี เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง โดยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆอยู่เสมอ เช่น วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) วัดพรหมสุรินทร์ และ วัดช่างทอง (อยุธยา) เป็นต้น
8. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “เผ่าพาลมฤจฉาทิฐิจิต” ในที่นี้หมายถึง ญวน (เวียดนาม) ที่เข้าไปครอบครองกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศราชของไทยทั้งที่รัชกาลที่ 1 ทรงเคยมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระเจ้ายาลอง (องเชียงสือ) กษัตริย์เวียดนาม ต่อมาเมื่อกัมพูชาคิดการกบฏและขอกำลังจากไทยไปช่วย ทางไทยเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะเอากัมพูชาคืนมาจากญวนได้ รัชกาลที่ 3 จึงส่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปตีได้ดินแดนต่างๆ แต่ไม่สามารถเข้าสู่กรุงพนมเปญได้ ต่อมาเกิดโรคระบาด ญวนจึงทิ้งเมืองย้ายไป ไทยจึงได้พนมเปญและหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ช่วงเวลาดังกล่าว กัมพูชาจึงแบ่งออกเป็น 2 ภาค โดย ภาคใต้ขึ้นอยู่กับญวน ส่วนภาคเหนืออยู่ในความดูแลของไทย โดยต่างฝ่ายก็ไม่สามารถปราบกันได้ เหตุการณ์ยืดเยื้อนานถึง 14 ปี จนเมื่อ พ.ศ. 2386 ทางญวนจึงขอเป็นไมตรีกับไทย
9. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “กำภุชประเทศ” คือ ประเทศกัมพูชา
10. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ปติสังขรณ์” (ปฏิสังขรณ์) ความหมายในสมัยโบราณหมายถึง การรื้อถอนลงแล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยอาจมีรูปแบบหรือตำแหน่งเดิมหรือไม่ก็ได้ ต่างจากปัจจุบันซึ่งหมายถึง การทำให้กลับคืนสู่สภาพอย่างที่เคยเป็นมา
11. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “พุทธ” Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) อ่านเป็น “พุตธ”
12. ศานติ ภักดีคำ : “พุทธศักราชล่วงได้ 2385 ปี พยัฆสังวัชร อาสุชมาศ กาฬปักษยดิถี อัฐมี คุรวาร” คือ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนอาสยุช (เดือน 11) ปีขาล พ.ศ. 2385 เมื่อสอบเทียบวันเวลาดังกล่าวกับปฏิทินสำหรับค้นวันเดือนจันทรคติกับสุริยคติของกรมวิชชาการ กระทรวงธรรมการ พบว่าตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2385 ซึ่งน่าจะเป็นปีที่บูรณะวัดพระพุทธโฆสาจารย์เสร็จสมบูรณ์และอาจเป็นปีที่สร้างจารึกหลักนี้ด้วย แต่วันเวลาดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏหลักฐานทั้งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์และพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา
13. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) แสดงความเห็นว่า หลังคำว่า “ยม” น่าจะเป็น “ราช”
14. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) แสดงความเห็นว่า หลังคำว่า “ทอง” (ท่อง) น่าจะเป็น “เที่ยว”
15. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “ภูมิเทวดา อารักษเทวดา พฤกษเทวดา แลอากาศเทวดา” “ภูมิเทวดา” (อารักษเทวดา) เป็นเทวดาที่สถิตย์อยู่ตามที่ต่างๆ โดยปกติอยู่ตามภูเขา “พฤกษเทวดา” (รุกขเทวดา) คือเทวดาที่สถิตย์อยู่ตามต้นไม้ มีอิทธิฤทธิ์และคอยช่วยเหลือมนุษย์ “อากาศเทวดา” หมายถึง เทวดาที่อยู่ในอากาศ
16. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “[พร]หม” Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) สันนิษฐานว่าเป็น [มหาพ]รหม
17. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : “กัลปนา” คือ การยกสิ่งของหรือที่ดินแก่วัด โดยนำผลประโยชน์ที่ได้มาบำรุงวัดและพระศาสนา
18. พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร : คำอ่านโดย Olivier de Bernon (พ.ศ. 2546) ปรากฏข้อความว่า “ก็จถึงซึงวิบัดบันดาร” หลังคำว่า “อกุศล”