จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์

จารึก

จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 22:01:35 )

ชื่อจารึก

จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

อักษรตัวเขียนด้านหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์ กิ่งอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม, มค. 4

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 14

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผาสีแดง

ลักษณะวัตถุ

พระพิมพ์ดินเผาแบบรูปทรงสี่เหลี่ยม (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 8.30 ซม. สูง 14.00 ซม. หนา 0.50 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “มค. 4”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 23 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2523) กำหนดเป็น “อักษรตัวเขียนด้านหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์ กิ่งอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม”

ปีที่พบจารึก

16 มิถุนายน พ.ศ. 2522

สถานที่พบ

กู่สันถรัตน์ ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

ผู้พบ

นายช้า ศิริโภคารัตนา

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดมหาชัย ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม (คณะสำรวจฯ ขอเข้าพบ พระครูอรุณทยานุวัฒน์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านเล่าให้คณะฯ ฟังว่า พระอริยานุวัตร์ เจ้าอาวาสวัดมหาชัย ได้ยืมมาจากคหบดีผู้หนึ่งในเขตอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์ก็มีการปรับปรุงหลายครั้ง กอปรกับเจ้าอาวาสได้มรณภาพ จึงไม่ทราบว่าจารึกหลักที่ตามหาอยู่ที่ใด ซึ่งสันนิษฐานไว้สองกรณี 1.ผู้เป็นเจ้าของได้นำกลับไปแล้ว 2.จารึกมีขนาดเล็ก จึงยังหาไม่พบ สำรวจเมื่อ 24-27 สิงหาคม 2559)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 23 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2523) : 63-66.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 110-111.

ประวัติ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2522 พระอริยานุวัตร์ (อารี เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้นำพระพุทธรูปแบบพระพิมพ์ดินเผาจำนวน 1 องค์ ด้านหลังปรากฏอักษรตัวเขียนด้วยเส้นสีแดงมาที่หอพระสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจารึก งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาว่าเป็นอักษรและภาษาใด ในการนี้ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมพิจารณากันแล้วเห็นว่า ภาษาจารึกที่ปรากฏอยู่ ณ ด้านหลังพระพิมพ์ดินเผานั้น วรรคต้นบรรทัดที่ 1 มีรูปเค้าน่าจะเป็นภาษามอญได้ กล่าวคือ พบคำซึ่งอ่านได้ว่า “กยากจ์” จึงได้ขอให้นายจำปา เยื้องเจริญ ผู้เชี่ยวชาญอักษรและภาษามอญ งานบริการหนังสือภาษาโบราณ เป็นผู้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และผลของการพิจารณาได้เป็นที่ยุติว่า รูปอักษรที่เขียนด้านหลังพระพิมพ์ดินเผาดังกล่าวเป็นภาษา “มอญ” งานบริการหนังสือภาษาโบราณจึงได้มอบหมายให้นายจำปา เยื้องเจริญ ทำการอ่านถ่ายถอดอักษร และแปลข้อความจากรูปอักษรที่เขียนด้านหลังพระพิมพ์ดินเผาเป็นอักษรและภาษามอญ-ไทยปัจจุบัน เพื่อประโยชน์และหลักฐานในด้านอักษรและภาษาตลอดจนประวัติศาสตร์และโบราณคดีสืบต่อไป

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื่องจากจารึกชำรุดบางส่วน ข้อความที่จารึกจึงไม่สมบูรณ์ พบเพียงข้อความกล่าวถึงพระพิมพ์องค์นี้โดยไม่ปรากฏรายละเอียดอื่นใด

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดเป็นรูปแบบอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
1) จำปา เยื้องเจริญ, “คำอ่านและคำแปล อักษรตัวเขียนด้านหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์ กิ่งอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม,” ศิลปากร 23, 6 (มกราคม 2523) : 63-66.
2) จำปา เยื้องเจริญ เทิม มีเต็ม และประสาร บุญประคอง, "จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผากู่สันถรัตน์ ," ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลลวะ อักษรมอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2559), 110-111.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 23 ฉบับที่ 6 (มกราคม 2523) : 63-66.