อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 13, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 14, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 13-14, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรทวารวดี, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินดินดาน, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-เวทมนตร์คาถาในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-เวทมนตร์คาถาในพระพุทธศาสนา-พุทธอุทาน,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 13:24:27 )
ชื่อจารึก |
จารึกพุทธอุทานบ้านพรหมทิน |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
จารึกเมืองพรหมทิน 2, ลบ. 24 |
อักษรที่มีในจารึก |
หลังปัลลวะ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 13-14 |
ภาษา |
บาลี |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด จำนวน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
ศิลา ประเภทหินดินดาน |
ลักษณะวัตถุ |
แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 8 ซม. หนา 2 ซม. ยาว 12 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 24” |
ปีที่พบจารึก |
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 |
สถานที่พบ |
บ้านพรหมทินใต้ หมู่ที่ 10 ตำบลหลุมข้าว อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี |
ผู้พบ |
นายเกิด ชอนตะวัน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (สำรวจเมื่อ 17-20 มีนาคม 2560) |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 14-17. |
ประวัติ |
จารึกหลักนี้ พบโดยนายเกิด ชอนตะวัน ขณะที่กำลังไถนาอยู่ในที่ดินของตน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2524 ต่อมาเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี ได้ทราบจึงติดต่อขอรับมอบไว้เป็นสมบัติแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ ได้อ่าน-แปลข้อความในจารึกและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง โดยให้ชื่อจารึกว่าจารึกเมืองพรหมทิน 2 ต่อมา หอสมุดแห่งชาติได้นำจารึกหลักนี้ มาตีพิมพ์หนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น จารึกพุทธอุทานบ้านพรหมทิน เนื่องจากถึงแม้ว่าลักษณะสภาพของจารึกนี้ชำรุดมาก เส้นอักษรลบเลือน และขาดหายไปบางตอน แต่จะเนื้อความที่เหลืออยู่ก็ทำให้ทราบได้ว่าเป็นข้อความที่นำมาจาก “พุทธอุทาน” ในพระไตรปิฎก |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื้อความที่ปรากฏบนจารึกหลักนี้ คือ “พุทธอุทาน” ซึ่งเป็นคาถาอยู่ในพระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาคที่ 1 มหาขันธกะ เรื่องโพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ โดยมีเนื้อเรื่องโดยย่อว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ประทับ ณ โคนไม้โพธิริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้โพธิตลอด 7 วัน ในเวลาปฐมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย) สายเกิด แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า “เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งต้นเหตุ” ในเวลามัชฌิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาทสายดับ แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า “เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะได้ทราบถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัย” ในเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และ โดยปฏิโลม (ย้อนกลับ) แล้วทรงเปล่งอุทานความว่า “เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ดั่งดวงอาทิตย์ทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น”” จะเห็นว่าความในพระไตรปิฎกนั้น มีด้วยกัน 3 บท ส่วนความในจารึกนั้น แตกหักไปเป็นส่วนมาก จึงเหลือไว้เพียงบทที่ 2 |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
รูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ประกอบกับคำว่า “อถสฺส” ที่อักษร “ส” ซ้อน “ส” และ คำว่า “อภิญฺเยฺยํ” ก็มีลักษณะการซ้อนอักษร “ย” เหมือนกันกับในสำเนาจารึกวัดเสมาเมืองฯ นศ. 9 ด้านที่ 2 ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 นอกจากนี้ อักษร “ห” ประกอบสระ “อา” เป็น “หา” และ อักษร “ภ” ประกอบสระ “อา” เป็น “ภา” ก็มีรูปเหมือนกันกับจารึกโกตกปุระ และจารึกตะลังตุโวซึ่งกำหนดอายุไว้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีกล่าวในหนังสือ Indian Palaeography ของ Dr. A. H. Dani |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529) |