จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

จารึกเสาแปดเหลี่ยม (ลพบุรี)

จารึก

จารึกเสาแปดเหลี่ยม (ลพบุรี)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566 01:30:48 )

ชื่อจารึก

จารึกเสาแปดเหลี่ยม (ลพบุรี)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมศาลสูงเมืองลพบุรี, Lŏp’bύri (Sαn Sung) (K. 409), จารึกที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูง เมืองลพบุรี, K.409, ลบ. 1

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

ราว พ.ศ. 1314

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 8 ด้าน มี 24 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายหยาบ

ลักษณะวัตถุ

เสาแปดเหลี่ยม หัวเสาทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจำหลักลวดลาย

ขนาดวัตถุ

กว้างด้านละ 9 ซม. สูง 145 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 1”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “หลักที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมศาลสูงเมืองลพบุรี”
3) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “Lŏp’bύri (Sαn Sung) (K. 409)”
4) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 กำหนดเป็น “จารึกที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูง เมืองลพบุรี”
5) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกเสาแปดเหลี่ยม”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

ศาลพระกาฬ (เดิมเรียกว่า ศาลสูง) ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปตุ์)

ปัจจุบันอยู่ที่

หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472), 21-24.
2) Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 82-85.
3) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2504), 8-11.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 57-66.
5) จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 62-69.

ประวัติ

จารึกหลักนี้เดิมอยู่ที่ศาลสูงเมืองลพบุรี ต่อมาพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ไปพบเข้า จึงย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่อยุธยาพิพิธภัณฑถาน (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา) ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทราบจึงตรัสสั่งให้ย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะรู้กันว่าจารึกหลักนี้จารึกด้วยอักษรโบราณรุ่นก่อนอักษรขอมก็ตาม แต่เนื่องจากภาษาบนจารึกหลักนี้ ไม่ใช่ทั้งภาษาสันสกฤต บาลี หรือ เขมร ดังนั้นจึงยังมีผู้ใดในขณะนั้น สามารถอ่านได้ ต่อมาเมื่อ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้เข้ามารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ในหอพระสมุดวชิรญาณ ท่านจึงได้พยายามอ่านจารึกหลักนี้ แล้วพบว่ามีคำที่ส่อให้เห็นว่าเป็นภาษามอญ เช่น “เวาอฺ” กับ “กฺยาก” ท่านจึงคัดลอกคำจารึกทั้งหมด ส่งไปให้นักปราชญ์ที่ชำนาญในการอ่านศิลาจารึกภาษามอญ เช่น ศ. บลักเดน ที่กรุงลอนดอน นายดูรัวแซลล์ หัวหน้าการรักษาของโบราณในประเทศพม่า และ นายเรเวแรนต์ ฮัลลิเดย์ ผู้สอนศาสนาคริสตัง ที่เมืองเมาะลำเลิง ซึ่งท่านทั้ง 3 เห็นด้วยว่าคำจารึกนี้เป็นภาษามอญจริง แต่แปลยากมากเพราะเป็นภาษามอญโบราณ ดังนั้น ในการอ่านครั้งแรกโดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ นั้น จึงแปลจารึกออกเป็นคำๆ บางคำเท่านั้น และได้นำไปตีพิมพ์ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2472 ในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2473 นายฮัลลิเดย์กับนายบลักเดน ได้ร่วมกันอ่านและแปลจารึกหลักนี้และนำไปตีพิมพ์ในวารสารสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ (BEFEO) เล่มที่ 30 ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการปรุงเนื้อหาของหนังสือประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 ใหม่อีกครั้ง และตีพิมพ์ใหม่โดยใช้ชื่อว่า ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ซึ่งในครั้งนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้นำคำแปลที่นายฮัลลิเดย์ได้แปลไว้มาตีพิมพ์รวมไว้ด้วย และเมื่อหอสมุดแห่งชาติได้เข้ามาศึกษาจารึกหลักนี้ใหม่จึงได้มีการศึกษาอ่าน-แปลกันอีกครั้ง โดยนายเทิม มีเต็ม และนายจำปา เยื้องเจริญ และนำคำอ่านและแปลใหม่นี้ตีพิมพ์ในหนังสือจารึกในประเทศไทย เล่ม 2 เมื่อปี พ.ศ. 2529

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อหาในจารึกนี้ แบ่งเป็น 4 เรื่อง กล่าวถึงการทำบุญของบุคคลและคณะบุคคลต่างๆ กัน โดยการถวายสัตว์, สิ่งของ และข้าพระแก่พระพุทธรูป

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

รูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) R. Halliday and C. O. Blagden, “Les Inscriptions Môn du Siam,” Bulletin de l’École Française d’Éxtrême-Orient XXX (1930) : 82-85.
2) เทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ, “จารึกเสาแปดเหลี่ยม,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 : อักษรปัลลวะ อักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 12-21 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 57-66.
3) ยอร์ช เซเดส์, “จารึกที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมที่ศาลสูง เมืองลพบุรี,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 8-11.
4) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 18 จารึกบนเสาแปดเหลี่ยมศาลสูงเมืองลพบุรี,” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย ([กรุงเทพฯ] : โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472), 21-24.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-19, ไฟล์; LB_009p1)