จารึกสถาปนาสีมา

จารึก

จารึกสถาปนาสีมา

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 23:28:14 )

ชื่อจารึก

จารึกสถาปนาสีมา

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกวัดศรีธาตุประมัญฌา, Inscriptions de Văt Si Th’at Prămănch’a (K. 981), ขก. 2, ขก. 2. K. 981, ศิลาจารึกขอนแก่น 2 เลขที่ ขก.2

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 13-14

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินทรายสีเทา

ลักษณะวัตถุ

เสากลม

ขนาดวัตถุ

ยาว 116 ซม. โดยรอบ 162 ซม. ศูนย์กลาง 53 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ขก. 2”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VII กำหนดเป็น “Inscriptions de Văt Si Th’at Prămănch’a (K. 981)”
3) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกสถาปนาสีมา”
4) พิพิธภัณฑสภานแห่งชาติ ขอนแก่น กำหนดเป็น “ศิลาจารึกขอนแก่น 2 เลขที่ ขก.2” 

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดศรีธาตุประมัญชา ตำบลจำปี อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์)

ผู้พบ

หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (สำรวจ 24 มีนาคม 2559)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 159-160.
2) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 280-283.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2559), 342-245.

ประวัติ

จารึกหลักนี้ แต่เดิมใช้ชื่อว่า “ศิลาจารึกปราสาทหินพิมาย” ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อแรกพบศิลาจารึกหลักนี้ เก็บอยู่ในบริเวณปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้สำรวจพบศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ใช้ชื่อว่า “ศิลาจารึกขอนแก่น เลขที่ ขก. 2” ซึ่งเป็นศิลาจารึกหลักเดียวกับศิลาจารึกปราสาทหินพิมายดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งได้ทราบว่าแต่เดิมได้พบศิลาจารึกหลักนี้ ที่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังเมื่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นขึ้นแล้ว จึงได้นำมาตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ต่อมา ปี พ.ศ. 2529 หอสมุดแห่งชาติได้พิจารณาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลาจารึกสถาปนาสีมา” แต่ยังคงเลขที่ไว้ตามเดิมคือ “ขก. 2”
อย่างไรก็ดี ปรากฏข้อมูลใหม่ในหนังสือ นำชมใบเสมาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ฉบับปี 2552 หน้า 46 ระบุว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลที่กลุ่มหนังสือ ตัวเขียน และจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร บันทึกไว้ว่า หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ได้ส่งสำเนาจารึกหลักนี้มาให้อ่านเมื่อปี พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2509 โดยให้ข้อมูลว่า ได้เคลื่อนย้ายมาจากวัดศรีธาตุประมัญฌา ตำบลจำปี จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากบริเวณดังกล่าวจะถูกน้ำท่วม ต่อมามีบันทึกว่าจารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่ปราสาทหินพิมาย และที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนั้นจึงถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตามลำดับ” ดังนั้น สถานที่ๆ พบจารึกหลักนี้ในเบื้องแรกจึงน่าจะเป็น วัดศรีธาตุประมัญฌา ตำบลจำปี จังหวัดอุดรธานี ดังกล่าว

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงการสร้างสิ่งของอันใดอันหนึ่งเป็นกุศลทาน มีอานิสงส์ยังให้เกิดความสุขในโลกสวรรค์

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

อ. ชะเอม แก้วคล้าย ได้อธิบายไว้ว่า
(1) สระ “อี” ของคำว่า “ไสมึ” ลากยาวลงต่ำเหมือนสระ “อี” ของคำว่า “ศฺรี” ในจารึกแผ่นทองแดงอู่ทอง ฉะนั้น จารึกทั้ง 2 หลักนี้จึงน่าจะอยู่ในยุคเดียวกัน
(2) คำว่า “สํฆสนฺมตา” (สํฆ + สตฺ + มตา) อักษร “ตฺ” ทีคำว่า “สตฺ” อยู่หน้าอักษร “ม” อันเป็นพยัญชนะโฆษะ ให้แปลงเป็น “นฺ” ได้ จึงอ่านเป็น “สํฆสนฺมตา” อักษร “ม” ที่ซ้อนแล้วมีรูปอย่างนี้ มีตัวอย่างในจารึกจังคอล พ.ศ. 1275 อันเป็นยุคเดียวกัน ดังนั้นจึงกำหนดได้ว่ารูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) George Cœdès, “Inscriptions de Văt Si Th’at Prămănch’a (K. 981),” in Inscriptions du Cambodge vol. VII (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1964), 159-160.
2) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกสถาปนาสีมา,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 280-283.

ภาพประกอบ

1) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 23-27 มีนาคม 2559
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566