จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 1

จารึก

จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2567 21:48:49 )

ชื่อจารึก

จารึกบนพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

กส. 4 จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 3, จารึกที่ฐานพระพุทธรูปอักษรและภาษามอญโบราณ องค์ที่ 1

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 14

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

พระพิมพ์ (ปางสมาธิ)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 13 ซม. สูง 21 ซม. หนา 4 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กส. 4 จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 3”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511) กำหนดเป็น “จารึกที่ฐานพระพุทธรูปอักษรและภาษามอญโบราณ องค์ที่ 1”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511) : 108-111.

ประวัติ

พระพิมพ์องค์นี้ถูกพบที่เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่านจารึกซึ่งปรากฏบริเวณด้านหลังพระพิมพ์ และฉ่ำ ทองคำวรรณ เป็นผู้แปล และตรวจแก้ โดยมีการตีพิมพ์คำอ่าน-แปลดังกล่าวลงในบทความชื่อ “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ” วารสารศิลปากร ปีที่ 11 เล่มที่ 6 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นการอ่าน-แปลจารึกที่ปรากฏบนพระพิมพ์จากเมืองฟ้าแดดสูงยาง จำนวน 4 องค์ โดยองค์ที่ 1 และ 2 (พระพิมพ์องค์นี้ในบทความคือ องค์ที่ 1) มีความใกล้เคียงกันทั้งลักษณะของพระพิมพ์ รูปแบบอักษรและข้อความจารึก จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองน่าจะมาจากพิมพ์เดียวกัน ส่วนองค์ที่ 3 และ 4 นั้น น่าจะเป็นพิมพ์ที่ ผาสุข อินทราวุธ (และคนอื่นๆ) (ในรายงานการขุดค้นเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอ กมลาไสย จังหวัด กาฬสินธุ์) จัดให้เป็น พิมพ์ที่ 4 ในจำนวน 7 พิมพ์ที่พบในเมืองโบราณดังกล่าว พระพิมพ์องค์นี้เป็นภาพพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุม ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนบัลลังก์ พระหัตถ์แสดงปางธรรมจักร ล้อมรอบด้วยประภามณฑล มีพระโพธิสัตว์นั่งประนมมืออยู่ 2 ข้าง ถัดขึ้นไปเป็นรูปบุคคลยืนถือแส้ข้างละ 1 คน ด้านหลังมีบุคคลอีก 2 คนยืนถือพัดโบก (วาลวิชนี) และฉัตร ตอนบนสุดมีฉัตรประดับ พระพิมพ์รูปแบบเดียวกับพระพิมพ์องค์นี้ นอกจากจะถูกกล่าวถึงใน รายงานการขุดค้นเมืองฟ้าแดดสูงยาง ว่าพบในบริเวณโบราณสถานหมายเลข 9 และ 12 แล้ว ยังเคยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 จำนวน 2 องค์ ที่มีข้อความจารึกเดียวกัน และเป็นข้อความเดียวกับจารึกบนพระพิมพ์องค์นี้รวมถึงองค์ที่ 4 ที่ถูกกล่าวถึงใน วารสารศิลปากรด้วย โดยเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดต่างๆ ของพระพิมพ์และตัวอักษรที่ปรากฏ ทั้งในวารสารศิลปากร และ หนังสือจารึกในประเทศไทยแล้ว พบว่าทั้งหมดไม่ใช่องค์เดียวกัน แต่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างมาก คาดว่าอาจถูกสร้างขึ้นด้วยพิมพ์เดียวกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันก็เป็นได้ แนวความคิดดั้งเดิมในการสร้างพระพิมพ์นั้น เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการไปบูชาสังเวชนียสถานทางพุทธศาสนา 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ(สวนลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) จึงมักพบพระพิมพ์ในรูปแบบที่อยู่ใต้ซุ้มปรกโพธิ์ และซุ้มพุทธคยา เป็นต้น โดยเมื่อมีการไปบูชาสถานที่ดังกล่าว ก็จะมีการนำพระพิมพ์ของศาสนสถานนั้นๆ ติดตัวกลับไป ต่อมากลายเป็นวัตถุที่คนยากจนนิยมสร้างไว้เพื่อบูชา หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมลง ในพุทธศักราช 5000 ตามคัมภีร์ของลังกา จึงได้มีการสร้างพระพิมพ์และจารึกคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการฝังพระพิมพ์ไว้ตามเจดีย์ต่างๆ หากพุทธศาสนาเสื่อมไป ไม่มีใครรู้จักหลักธรรมต่างๆ อีก เมื่อมาพบพระพิมพ์เหล่านี้ ก็อาจมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ ผู้คนจะได้กลับมานับถือพุทธศาสนาอีกครั้ง นอกจากนี้ในคติเถรวาทสมัยทวารวดี ยังมีการสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพหรือเป็นภาพเล่าเรื่อง แสดงพุทธประวัติหรือเหตุการณ์ตอนสำคัญในทางพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ ส่วนศรีวิชัยทางภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามหายาน มีการสร้างพระพิมพ์รูปโพธิสัตว์ เพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย โดยนำเถ้ากระดูกมาผสมกับดิน แล้วทำเป็นพระพิมพ์โดยไม่เผา (พระพิมพ์ดินดิบ) เพราะถือว่าเผาผู้ตายไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนที่นิยมทำเป็นรูปโพธิสัตว์นั้น ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความคิดเห็นว่า อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์จะพาวิญญาณผู้ตายให้พ้นทุกข์ ขึ้นสู่สวรรค์ แต่ในปัจจุบัน พระพิมพ์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมีไว้เป็นเครื่องราง ของขลัง เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆซึ่งต่างไปจากแนวคิดเดิม อนึ่ง เมืองฟ้าแดดสูงยาง (หรือสงยาง) ซึ่งเป็นสถานที่พบพระพิมพ์ดังกล่าว ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำปาว ในแอ่งโคราช แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งสอบคล้ายใบเสมา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัย 5 ระยะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก) (พุทธศตวรรษที่ 3 - 7) สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ 7) สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) และสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23) โดยมีความรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยทวารวดี ซึ่งมีการพบร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ใบเสมาหิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคอีสาน ส่วนใหญ่สลักเป็นภาพพุทธประวัติ และชาดก, พระพิมพ์มีจารึก (อักษรหลังปัลลวะ), เศษภาชนะดินเผา, เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงพระเจ้าอาทิตย์

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ในบทความเรื่อง “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ” ในวารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511) กำหนดให้จารึกที่ปรากฏบนพระพิมพ์เป็นอักษรมอญโบราณ แต่เมื่อพิจารณาจากรูปอักษรที่ปรากฏแล้วน่าจะเป็นอักษรหลังปัลลวะ อีกทั้ง พระพิมพ์องค์อื่นๆ ที่พบในเมืองโบราณฟ้าแดดสูงยางก็ถูกจัดเป็นอักษรหลังปัลลวะ (จารึกในประเทศไทย เล่ม 2) ซึ่งนอกจากรูปอักษร ลักษณะของพระพิมพ์และ สถานที่พบที่เหมือนกันแล้ว ข้อความจารึกก็ยังใกล้เคียงกันมาก ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา จึงขอจัดจารึกบนพระพิมพ์ชิ้นนี้ เป็นจารึกอักษรหลังปัลลวะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ,” ศิลปากร 11, 6 (มีนาคม 2511) : 108-111.
2) ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2534), 4-10.
3) ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), 103-104.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511)