จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 4

จารึก

จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 4

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 15:50:31 )

ชื่อจารึก

จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 4

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกที่ฐานพระพุทธรูปอักษรและภาษามอญโบราณ องค์ที่ 3

อักษรที่มีในจารึก

หลังปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 14

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

พระพิมพ์

ขนาดวัตถุ

กว้าง 9 ซม. สูง 12 ซม. หนา 3 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511) กำหนดเป็น “จารึกที่ฐานพระพุทธรูปอักษรและภาษามอญโบราณ องค์ที่ 3”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

เจดีย์หมายเลข 9 เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511) : 108-111.

ประวัติ

พระพิมพ์องค์นี้ถูกพบที่เมืองโบราณฟ้าแดดสูงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ประสาร บุญประคอง เป็นผู้อ่านจารึกซึ่งปรากฏบริเวณฐานพระพิมพ์ และฉ่ำ ทองคำวรรณ เป็นผู้แปล และตรวจแก้ โดยมีการตีพิมพ์คำอ่าน-แปลดังกล่าวลงใน บทความชื่อ “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ” วารสารศิลปากร ปีที่ 11 เล่มที่ 6 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นการอ่าน-แปลจารึกที่ปรากฏบนพระพิมพ์จากเมืองฟ้าแดดสูงยาง จำนวน 4 องค์ โดยองค์ที่ 1 และ 2 มีความใกล้เคียงกันทั้งลักษณะของพระพิมพ์ รูปแบบอักษรและข้อความจารึก จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองน่าจะมาจากพิมพ์เดียวกัน ส่วนองค์ที่ 3 และ 4 นั้น (พระพิมพ์องค์นี้ในบทความคือ องค์ที่ 4) น่าจะเป็นพิมพ์ที่ = ผาสุข อินทราวุธ (และคนอื่นๆ) (ในรายงานการขุดค้นเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์) จัดให้เป็น พิมพ์ที่ 4 ในจำนวน 7 พิมพ์ที่พบในเมืองโบราณดังกล่าว พระพิมพ์องค์นี้เป็นภาพพระพุทธเจ้าครองจีวรห่มคลุม ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนบัลลังก์ พระหัตถ์แสดงปางธรรมจักร ล้อมรอบด้วยประภามณฑล มีพระโพธิสัตว์นั่งประนมมืออยู่ 2 ข้าง ถัดขึ้นไปเป็นรูปบุคคลยืนถือแส้ข้างละ 1 คน ด้านหลังมีบุคคลอีก 2 คนยืนถือพัดโบก (วาลวิชนี) และฉัตร ตอนบนสุดมีฉัตรประดับ พระพิมพ์รูปแบบเดียวกับพระพิมพ์องค์นี้ นอกจากจะถูกกล่าวถึงใน รายงานการขุดค้นเมืองฟ้าแดดสูงยาง ว่าพบในบริเวณโบราณสถานหมายเลข 9 และ 12 แล้ว ยังเคยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 2 จำนวน 2 องค์ ที่มีข้อความจารึกเดียวกัน และเป็นข้อความเดียวกับจารึกบนพระพิมพ์องค์นี้ รวมถึงองค์ที่ 3 ที่ถูกกล่าวถึงใน วารสารศิลปากรด้วย โดยเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดต่างๆ ของพระพิมพ์และตัวอักษรที่ปรากฏ ทั้งใน วารสารศิลปากร และ หนังสือจารึกในประเทศไทยแล้ว พบว่าทั้งหมดไม่ใช่องค์เดียวกัน แต่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างมาก คาดว่าอาจถูกสร้างขึ้นด้วยพิมพ์เดียวกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันก็เป็นได้ แนวความคิดดั้งเดิมในการสร้างพระพิมพ์นั้น เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ในการไปบูชาสังเวชนียสถานทางพุทธศาสนา 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) จึงมักพบพระพิมพ์ในรูปแบบที่อยู่ใต้ซุ้มปรกโพธิ์ และซุ้มพุทธคยา เป็นต้น โดยเมื่อมีการไปบูชาสถานที่ดังกล่าว ก็จะมีการนำพระพิมพ์ของศาสนสถานนั้นๆ ติดตัวกลับไป ต่อมากลายเป็นวัตถุที่คนยากจนนิยมสร้างไว้เพื่อบูชา หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อที่ว่า พุทธศาสนาจะเสื่อมลงในพุทธศักราช 5000 ตามคัมภีร์ของลังกา จึงได้มีการสร้างพระพิมพ์และจารึกคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการฝังพระพิมพ์ไว้ตามเจดีย์ต่างๆ หากพุทธศาสนาเสื่อมไป ไม่มีใครรู้จักหลักธรรมต่างๆ อีก เมื่อมาพบพระพิมพ์เหล่านี้ ก็อาจมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ ผู้คนจะได้กลับมานับถือพุทธศาสนาอีกครั้ง นอกจากนี้ในคติเถรวาทสมัยทวารวดี ยังมีการสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพ หรือเป็นภาพเล่าเรื่องแสดงพุทธประวัติ หรือเหตุการณ์ตอนสำคัญในทางพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ ส่วนศรีวิชัยทางภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามหายาน มีการสร้างพระพิมพ์รูปโพธิสัตว์ เพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย โดยนำเถ้ากระดูกมาผสมกับดิน แล้วทำเป็นพระพิมพ์โดยไม่เผา (พระพิมพ์ดินดิบ) เพราะถือว่าเผาผู้ตายไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนที่นิยมทำเป็นรูปโพธิสัตว์นั้น ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความคิดเห็นว่า อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์จะพาวิญญาณผู้ตายให้พ้นทุกข์ ขึ้นสู่สวรรค์ แต่ในปัจจุบัน พระพิมพ์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คนนิยมมีไว้เป็นเครื่องรางของขลัง เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ซึ่งต่างไปจากแนวคิดเดิม อนึ่ง เมืองฟ้าแดดสูงยาง (หรือสงยาง) ซึ่งเป็นสถานที่พบพระพิมพ์ดังกล่าว ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำปาว ในแอ่งโคราช แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายด้านหนึ่งสอบคล้ายใบเสมา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัย 5 ระยะ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก) (พุทธศตวรรษที่ 3-7) สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ 7) สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 17-18) และสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 19-23) โดยมีความรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยทวารวดี ซึ่งมีการพบร่องรอยโบราณสถาน และโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ใบเสมาหิน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคอีสาน ส่วนใหญ่สลักเป็นภาพพุทธประวัติ และชาดก, พระพิมพ์มีจารึก (อักษรหลังปัลลวะ), เศษภาชนะดินเผา, เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงการสร้างพระพิมพ์องค์นี้เพื่อท่านปิณญะอุปัชฌายาจารย์

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ในบทความเรื่อง “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ” วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 ได้กำหนดให้เป็นอักษรมอญโบราณ แต่เมื่อพิจารณาจากรูปอักษรที่ปรากฏแล้ว น่าจะเป็นอักษรหลังปัลลวะ อีกทั้ง พระพิมพ์องค์อื่นๆที่พบในเมืองโบราณฟ้าแดดสูงยางก็ถูกจัดเป็นอักษรหลังปัลลวะ (ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 2) ซึ่งนอกจากรูปอักษร ลักษณะของพระพิมพ์และ สถานที่พบที่เหมือนกันแล้ว ข้อความจารึกก็ยังใกล้เคียงกันมาก ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา จึงขอจัดจารึกบนพระพิมพ์ชิ้นนี้ เป็นจารึกอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก
: 1) ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านจารึกที่ฐานพระพุทธรูป อักษรและภาษามอญโบราณ,“ ศิลปากร 11, 6 (มีนาคม 2511) : 108-111.
2) ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2534), 4-10.
3) ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), 103-104.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2511)