จารึกธรรมจักร (ชัยนาท)

จารึก

จารึกธรรมจักร (ชัยนาท)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 08:45:14 )

ชื่อจารึก

จารึกธรรมจักร (ชัยนาท)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ชน. 14, จารึกธรรมจักร, จารึกธรรมจักร 2 (มโนรมย์)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด รอบวงธรรมจักร (ธรรมจักรแตกชุดมากไม่ครบเต็มวง)

วัตถุจารึก

ศิลา

ลักษณะวัตถุ

ธรรมจักร

ขนาดวัตถุ

กว้าง 19 ซม. ยาว 100 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ชน. 14”
2) ในหนังสือ โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา กำหนดเป็น “จารึกธรรมจักร”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2531

สถานที่พบ

หมู่ที่ 5 ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท

ผู้พบ

นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย

ปัจจุบันอยู่ที่

นายแพทย์สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย จังหวัดชัยนาท

พิมพ์เผยแพร่

โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534), 18-19, 179-181.

ประวัติ

ธรรมจักรศิลาทำจากหินชนวนชิ้นนี้ พบเป็นชิ้นส่วนแตกหักกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ของบ้านหัวถนน ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยพบเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่กระจายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากแนวฐานอิฐราว 2-3 เมตร ซึ่งสามารถต่อเข้าด้วยกันได้ราวหนึ่งในสองของขนาดธรรมจักร ส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีนั้น ได้พบชิ้นส่วนขนาดต่างๆ กัน กระจายอยู่โดยรอบฐานอิฐภายในรัศมี 2-4 เมตร แต่ไม่สามารถที่จะต่อให้เต็มตามรูปแบบเดิมได้ เพราะชิ้นส่วนใหญ่ๆ ไม่พบจากการขุดค้น รวมทั้งเสาแปดเหลี่ยมก็ไม่พบเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมจักรดังกล่าวต้องมีเสาแปดเหลี่ยมรองรับแน่นอน เพราะได้พบชิ้นส่วนเสาแปดเหลี่ยมขนาด 30 x 40 ซม. ซึ่งมีหน้าเหลี่ยมด้านละ 20 ซม. แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นเสาขนาดใหญ่ อาจจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 50-60 ซม. เพื่อสามารถรองรับตัวธรรมจักรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้สันนิษฐานได้ว่า ธรรมจักรศิลาดังกล่าวตั้งอยู่บนเสาแปดเหลี่ยม และรองรับด้วยฐานอิฐรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เมตร ธรรมจักรดังกล่าวถูกทำลายแตกเป็นชิ้นเล็กๆ จำนวนมากอยู่รอบฐานอยู่ในระดับ 20-140 ซม. โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือพบชิ้นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาต่อรวมกันได้ครึ่งหนึ่ง

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อความที่จารอยู่บนธรรมจักรองค์นี้ เป็นความที่คัดมาจาก ข้อที่ 16 ของเรื่องปฐมเทศนา ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีเนื้อหาโดยย่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสีแล้ว ครั้งแรกภิกษุปัญจวัคคีย์ แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง แต่เมื่อทรงเตือนให้นึกถึงว่า เมื่อก่อนพระองค์ไม่เคยตรัสบอกเลยว่าตรัสรู้ บัดนี้ตรัสบอกแล้ว จึงควรตั้งใจฟัง ก็พากันตั้งใจฟัง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดยมีความตอนที่เกี่ยวข้องกับคำจารึกแปลได้ว่า [15] “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแลความกำหนดรู้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขสมุทยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 46-47.
2) สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529), 213.
3) จารึก วิไลแก้ว, “การขุดค้นทางโบราณคดีที่ฐานธรรมจักร,” ใน โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา (กรุงเทพฯ : โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534), 18-19.
4) ชะเอม แก้วคล้าย, “ภาคผนวก : จารึกธรรมจักรและเสาแปดเหลี่ยม,” ใน โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา (กรุงเทพฯ : โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534), 178-181.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534)