จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี บนพระพิมพ์ 2 (สาริปุตโต)

จารึก

จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี บนพระพิมพ์ 2 (สาริปุตโต)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 18:16:46 )

ชื่อจารึก

จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี บนพระพิมพ์ 2 (สาริปุตโต)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 11-12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

พระพิมพ์ (ปางสมาธิ)

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง กำหนดเป็น “64/2506” (ใช้เลขทะเบียนเดียวกับ “จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี บนพระพิมพ์ 1 (เมตฺเตยโก)”)
2) ในวารสาร Fragile Palm Leaves no. 7 (December 2545/2002) กำหนดเป็น “จารึกหลังพระพิมพ์พุทธสาวก 2”

ปีที่พบจารึก

ระหว่างการขุดแต่งโบราณสถานในวันที่ 5 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน พ.ศ. 2506

สถานที่พบ

เจดีย์หมายเลข 11 เมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้พบ

นายสมศักดิ์ รัตนกุล (ผู้ควบคุมการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน)

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

พิมพ์เผยแพร่

1) รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (พระนคร : ศิวพร, 2509) : 16-17.
2) Fragile Palm Leaves no. 7 (December 2545/2002) : 11-14.

ประวัติ

พระพิมพ์องค์นี้ถูกพบในการขุดแต่งเจดีย์หมายเลข 11 ในเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน พ.ศ. 2506 นายสมศักดิ์ รัตนกุล ผู้ควบคุมการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถาน ระบุว่า พบในบริเวณทิศใต้ของเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการพบโบราณวัตถุอื่นๆ ในบริเวณเจดีย์ดังกล่าว ได้แก่ พระพุทธรูปสำริดปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ 4 องค์ เสาหินแปดเหลี่ยม และแท่นหินสี่เหลี่ยมจำหลักลวดลาย โดยทั้งหมดถูกกล่าวถึงใน รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานเมืองเก่าอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งตีพิมพ์เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 โดยในรายงานดังกล่าวมีการอ่าน-แปลจารึกที่ปรากฏด้านหลังพระพิมพ์องค์นี้ด้วย ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ ได้เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์ ฯ ดังกล่าวเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพระพิมพ์ จึงได้พบพระพิมพ์องค์นี้รวมถึงองค์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการอ่าน-แปล จึงได้ทำการอ่าน-แปลทั้งหมดลงในบทความชื่อ “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะพบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี” ตีพิมพ์ในวารสาร Fragile Palm Leaves เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงพระนามของพระสารีบุตร ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะผู้มีปัญญามาก เป็นชาวเมืองราชคฤห์ซึ่งใช้ชีวิตอย่างสำราญจากการชมมหรสพต่างๆ วันหนึ่งเกิดความเบื่อหน่าย เห็นว่าชีวิตไร้แก่นสาร จึงชวนเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ซึ่งเป็นเจ้าสำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงจนจบ แต่ทั้งสองเห็นว่าวิชาการต่างๆ ที่ตนเรียนรู้ยังไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด จึงแยกย้ายกันออกแสวงหาอาจารย์ที่สอนแนวทางที่ดีกว่า วันหนึ่งพระสารีบุตรได้พบพระอัสสชิเถระขณะโปรดสัตว์ เห็นกิริยาอันน่าเลื่อมใสจึงเข้าไปนมัสการขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิจึงแสดงคาถาอันเป็นแก่นแห่งอริยสัจ 4 ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ตสํ เหตุํ ตถาคโต (อาห) เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ พระสารีบุตรได้ฟังคาถาดังกล่าวจึงเกิด “ดวงตาเห็นธรรม” ได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงไปกล่าวคาถานี้ให้โกลิตะฟังและได้บรรลุเช่นกัน ทั้งสองจึงเข้าบวชในพุทธศาสนาและบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรบรรลุช้ากว่า โกลิตะหรือพระโมคคัลลานะ 7 วัน โดยบรรลุในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งมีการประชุมใหญ่อันเรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ณ เวฬุวัน พระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป พระสารีบุตรเป็นเถระรูปแรกที่มีความคิดในการสังคายนาพระธรรมวินัย แต่ยังไม่สำเร็จลุล่วงท่านก็นิพพานไปเสียก่อน โดยก่อนที่จะนิพพานนั้น พระสารีบุตรและพระจุนทะซึ่งเป็นน้องชาย ได้กลับไปยังตำบลนาลันทา บ้านเกิดของท่าน เพื่อโปรดมารดาซึ่งยังไม่ได้นับถือพุทธศาสนาให้บรรลุธรรม

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากรูปอักษรปัลลวะซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) กรมศิลปากร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน เมืองเก่าอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (พระนคร : ศิวพร, 2509), 16-17.
2) ปีเตอร์ สกิลลิ่ง และศานติ ภักดีคำ, “จารึกพระสาวกและจารึกพระเจ้าศุทโธทนะพบใหม่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง,” Fragile Palm Leaves no. 7 (December 2545/2002) : 11-14.
3) เสฐียรพงษ์ วรรณปก, “พระสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวา,” ใน พุทธสาวก พุทธสาวิกา : ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี สมัยพุทธกาล (กรุงเทพฯ : สถาบันบันลือธรรมและธรรมสภา, 2544), 25-28.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : Fragile Palm Leaves no. 7 (December 2545/2002)