จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 5

จารึก

จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 5

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 17:13:08 )

ชื่อจารึก

จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 5

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ตราประทับแก้วรูปวงรี, Inscription no. 7, Inscribed oval stone seal from Khuan Lukpat

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 11-12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

หิน

ลักษณะวัตถุ

ตราประทับทรงวงรี

ขนาดวัตถุ

กว้าง 1 ซม. ยาว 1.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร SPAFA Digest vol. VII,no. 1 (1986) กำหนดเป็น “Inscription no. 7” และ “Inscribed oval stone seal from Khuan Lukpat”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

บ้านควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

พิมพ์เผยแพร่

1) SPAFA Digest vol. VII no. 1 (1986) : 7-21.
2) วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกระบี่ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542), 168-172.

ประวัติ

จารึกในจังหวัดกระบี่ ค้นพบที่แหล่งชุมชนโบราณคดีควนลูกปัดซึ่งเป็นแหล่งชุมชนโบราณคอลองท่อม ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ได้พบอักษรจารึกในตราประทับซึ่งได้สำรวจพบและเอกชนครอบครองอยู่ บางชิ้นอยู่ที่วัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นจารึกบนแผ่นประทับตราอินเดียใต้ ภาษาสันสกฤต อักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 ในจารึกตราประทับนั้นมีรูปลักษณะของเส้นอักษรและคำอ่าน-แปล ซึ่งมีผู้บันทึกไว้เป็นหลักฐานในหนังสือสารานุกรมภาคใต้ เล่มที่ 3 หน้า 1202-1206
รูปอักษรในตราประทับเป็นอักษรด้านกลับและเมื่อกลับเส้นอักษรให้เป็นด้านตรงแล้ว จะเห็นได้ว่าลักษณะรูปสัณฐานของเส้นอักษรในจารึกตราประทับนี้ เหมือนกับรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยพระเจ้าศิวสกันทวรมัน กษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-12

เนื้อหาโดยสังเขป

เป็นตราประทับเพื่อกิจใดกิจหนึ่ง โดยจารึกไว้ว่า “ศฺรมฺมโน” แปลว่า “ความสุข” หรือ “ความยินดี” หรือ “คุ้มครอง“ หรือ ”ปฏิเสธ” ตราประทับรุ่นแรกๆ ที่พบทางภาคใต้นี้ ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ว่า การใช้ตราประทับเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารในระดับสถาบันต่างๆ ในสมัยทวารวดี ก็เช่นเดียวกับการใช้ระบบเหรียญกษาปณ์ คือ ชาวอินเดียในสมัยอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ 6-9) ได้นำตราประทับของอินเดีย (แบบที่ชาวกรีก-ชาวโรมัน และชาวเปอร์เซียนิยมใช้) มาใช้เป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ดังได้พบตราประทับของอินเดียและของโรมันในบริเวณเมืองท่าโบราณ เช่น คลองท่อม จังหวัดกระบี่ (ภาคใต้ของไทย) เมืองออกแก้ว (เวียดนามตอนใต้) และต่อมาในสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) ชาวอินเดียก็ได้นำตราประทับของอินเดียมาใช้ในดินแดนแถบนี้ ดังได้พบตราประทับของอินเดียจำนวนหลายชิ้น ในบริเวณเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองนครโบราณ เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (ราชบุรี) เมืองพรหมทิน เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี และเมืองจันเสน (นครสวรรค์) และในช่วงต่อมาได้มีการผลิตตราประทับขึ้นใช้เองโดยผู้นำชาวท้องถิ่น อาจสรุปได้ว่าชาวอินเดียได้นำตราประทับที่เคยใช้ในประเทศของตน มาใช้ในการติดต่อสื่อสารกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประชากรชาวทวารวดี และต่อมาได้มีการผลิตตราประทับขึ้นใช้โดยผู้นำชาวพื้นเมืองเอง เพื่อใช้ในกิจการด้านการเมือง การศาสนา การค้าและอื่นๆ ดังปรากฏว่าสัญลักษณ์ที่ใช้บนตราประทับนั้นสื่อความหมายหลายด้าน

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุโดยพิจารณาจากลักษณะรูปสัณฐานของเส้นอักษรในจารึกบนตราประทับนี้ ที่เหมือนกับรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยพระเจ้าศิวสกันทวรมัน กษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ  หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Kongkaew Veeraprajak, “Inscriptions from South Thailand,” SPAFA Digest VII, 1 (1986) : 7-21.
2) คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกระบี่ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542), 168-172.
3) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.3 การใช้ตราประทับ (Seals) เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 134-137.

ภาพประกอบ

ภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : SPAFA Digest VII, 1 (1986)