จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 2)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 2)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 02:54:51 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 2)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปหม้อปูรณฆฏะ หรือ หม้อปูรณกลศ

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

เมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติ

ไม่มีข้อมูลที่ตีพิมพ์เผยแพร่ แต่มีกล่าวอ้างถึงอยู่ในบทความของ ณัฏฐภัทร จันทวิช เรื่อง “อารยธรรมโบราณที่อู่ทอง” ตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการทัศนศึกษาชื่อ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยกล่าวเพียงว่า เหรียญเงิน และแม่พิมพ์ของเหรียญนี้พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เหรียญเงินด้านหน้าเป็นรูปหม้อปูรณฆฏะ ด้านหลังเป็นจารึกอักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12 อ่านได้ความว่า “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลว่า พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ” ส่วนแม่พิมพ์โลหะรูปหม้อปูรณฆฏะที่พบในเมืองอู่ทอง แสดงว่าในช่วงสมัยทวารวดีนั้น เมืองอู่ทองน่าจะผลิตเหรียญเงินแบบนี้ขึ้นใช้ภายในอาณาจักร

เนื้อหาโดยสังเขป

คำจารึกที่ว่า “ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่จริงของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับทั้งเอกสารจีนร่วมสมัยและโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง-ป่าสัก ในประเทศไทย ส่วนด้านหน้าของเหรียญทำเป็นรูปหม้อปูรณฆฏะนั้น ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ในหนังสือทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี ว่า “ปูรณฆฏ หรือ กมัณฑลุ หรือ กลศ จัดเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และสัญลักษณ์ของศิริ ตามความเชื่อของชาวอินเดียทุกศาสนา ปูรณฆฏะ คือ หม้อน้ำที่มีพันธุ์พฤกษาหรือไม่มีพันธุ์พฤกษา กมัณฑลุ คือ หม้อน้ำมีพวย และ กลศ คือ หม้อน้ำไม่มีพวย” เหรียญเงินที่มีจารึกลักษณะเช่นนี้ ปัจจุบันได้สำรวจพบแล้วในหลายพื้นที่ คือที่เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) เมืองคูเมือง (จังหวัดสิงห์บุรี) เมืองพรหมทิน (จังหวัดลพบุรี) เมืองดงคอน และเมืองอู่ตะเภา (จังหวัดชัยนาท)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
ณัฏฐภัทร จันทวิช, “อารยธรรมโบราณที่อู่ทอง,” ใน เอกสารประกอบการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง, 2542), 16.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : เอกสารประกอบการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (สุพรรณบุรี : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง, 2542)