จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 1)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 1)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 18:30:51 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (อู่ทอง 1)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

une médaille d’argent

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปแม่วัวกับลูกวัว

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร Arts Asiatiques XXV (1972) กำหนดเป็น “une médaille d’argent”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

เมืองโบราณอู่ทอง ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

ไม่ปรากฏหลักฐาน

พิมพ์เผยแพร่

1) Arts Asiatiques XXV (1972) : 58.
2) ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 125.

ประวัติ

เหรียญเงินนี้ ถูกกล่าวถึงในบทความทางวิชาการของฝรั่งเศสชื่อว่า Arts Asiatique เล่มที่ 25 ปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1977) เขียนโดย ฌ็อง บัวส์เซอลิเยร์ (Jean Boisselier) เรื่อง “Travaux de la Mission Archéologique Française de Thaïland (juillet-novembre 1966)” ซึ่งได้รายงานผลไว้ว่าในเมื่อปี พ.ศ. 2509 ได้สำรวจพบเหรียญเงินมีจารึกเหรียญหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ส่งให้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ อ่าน-แปลแล้วได้ความว่า “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” ซึ่งต่อมา พ.ศ. 2534 ชะเอม แก้วคล้ายได้เขียนบทความเกี่ยวกับการแปลคำอ่านบนจารึกที่มีข้อความนี้ ชื่อเรื่อง “ศรีทวารวดี” ตีพิมพ์ใน วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 ว่าควรจะแปลเป็น “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปแม่วัวกับลูกวัว เหมือนกันกับ “จารึกอักษรปัลลวะบนเหรียญเงิน 1 (นครปฐม)”

เนื้อหาโดยสังเขป

เหรียญเงินมีจารึกว่า “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” แปลว่า พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปแม่วัวกับลูกวัว ซึ่งเหมือนกันกับเหรียญเงินที่พบได้ในหลายๆ จังหวัดที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแม่วัวกับลูกวัวนี้ เหมือนกันกับ “จารึกอักษรปัลลวะบนเหรียญเงิน 1 (นครปฐม)” มาก ซึ่งอาจมาจากพิมพ์เดียวกันก็เป็นได้ คำจารึกที่ว่า “ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่จริงของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับทั้งเอกสารจีนร่วมสมัยและโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง-ป่าสัก ในประเทศไทย ส่วนด้านหน้าของเหรียญทำเป็นรูปแม่โคกับบุตรนั้น ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ในหนังสือทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี ว่า “โค เป็นสัญลักษณ์พลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาติ โดยพลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาตินี้ สัมพันธ์กับคติการนับถือพระแม่ หรือ เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัมพันธ์กับคติการบูชาคช-ลักษมี (เทพีแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์) สัญลักษณ์รูปแม่โคกับบุตร จัดเป็นหนึ่งในมงคล 108 ประการ และปรากฏบนตราประทับของกษัตริย์เมืองนคร ซึ่งเป็นรัฐอิสระที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของอินเดีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-10 จัดเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ และการที่กษัตริย์ทวารวดีเลือกสัญลักษณ์นี้มาใช้บนเหรียญของพระองค์ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์สามารถควบคุมธรรมชาติให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์” เหรียญเงินที่มีจารึกลักษณะเช่นนี้ ปัจจุบันได้สำรวจพบแล้วในหลายพื้นที่ คือที่เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) เมืองคูเมือง (จังหวัดสิงห์บุรี) เมืองพรหมทิน (จังหวัดลพบุรี) เมืองดงคอน และเมืองอู่ตะเภา (จังหวัดชัยนาท)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) J. Boisselier, “Travaux de la Mission Archéologique Française en Thaïland (juillet-novembre 1966),” Arts Asiatique XXV (1972), 52, fig. 85 a, b.
2) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.2 การใช้เหรียญโลหะมาตรฐานเป็นสื่อกลางการค้าขาย,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 124-133.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542)