จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านท่าแค)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านท่าแค)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 02:34:19 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านท่าแค)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

เหรียญภัทรบิฐ (บัลลังก์) หรือ ฑมรุ (กลอง)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

(ลบเลือน)

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปภัทรบิฐ

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.10 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง การวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี กำหนดเป็น “เหรียญภัทรบิฐ (บัลลังก์) หรือ ฑมรุ (กลอง)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2526

สถานที่พบ

แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ผู้พบ

กองโบราณคดี และกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์

ปัจจุบันอยู่ที่

ไม่ปรากฏหลักฐาน

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2527) : 20-27.
2) แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค (กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2527), 14-15.
3) การวิเคราะห์โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528), 108-109.
4) วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 74-75.

ประวัติ

เหรียญเงินนี้ขุดพบอยู่ในชั้นดินธรรมชาติที่ 2 ของหลุมขุดค้น SS. 9 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโรงเรียนบ้านท่าแค การขุดค้นทางโบราณคดีนี้เป็นการขุดค้นครั้งที่ 2 ของแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ดำเนินการโดย รัชนี บรรณานุรักษ์ นักโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน-5 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ซึ่งต่อมา ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาโบราณวัตถุที่ขุดพบที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นวิทยานิพนธ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 ซึ่งก็ได้กล่าวถึงเหรียญเงินนี้ว่า เป็นเหรียญเงิน มีตรารูปกากบาท อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม (?) แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ว่ามีลักษณะเช่นใด ต่อมา เมธินี จิระวัฒนา ได้เรียบเรียงข้อมูลเหรียญโบราณที่พบในประเทศไทยขึ้น เพื่อตีพิมพ์บทความชื่อ “เหรียญตรารุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-15“ ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) โดยเรียกเหรียญเงินนี้ว่า “เหรียญตรารูปทัมรุ/จารึกอักษรไม่ชัดเจน” ซึ่งก็หมายความว่า อีกด้านที่เป็นจารึกนั้น ลบเลือนไม่สามารถอ่านได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก โบราณวัตถุที่พบรวมสมัยกัน และเหรียญเงินที่มีจารึกของทวารวดีนั้น จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเหรียญเงินที่บ้านท่าแคนี้ น่าจะจารึกด้วยอักษรปัลลวะด้วยเช่นกัน

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื่องจากรูปอักษรลบเลือนมาก จึงน่าจะมีการศึกษาพิจารณารูปอักษรใหม่โดยละเอียดอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งมี “รูปบัลลังก์” หรือ “ภัทรปิฏะ” หรือ “ภัทรบิฐ” เป็นสัญลักษณ์ 1 ใน 108 มงคล ของอินเดียโบราณ รูปบัลลังก์ที่พบส่วนใหญ่บนเหรียญเงินทวารวดีนั้น นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในรูปสี่เหลี่ยมจะทำเป็นกากบาทไว้ แต่อย่างไรก็ตาม รูปลักษณะเช่นนี้ก็สามารถมองเป็นทัมรุ (กลอง 2 หน้า) ได้เช่นกัน

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามโบราณวัตถุร่วมสมัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) สุรพล นาถะพินธุ, “หลักฐานจากบ้านท่าแคและข้อคิดบางประการเกี่ยวกับชุมชนโบราณในที่ราบภาคกลางตอนล่าง,” เมืองโบราณ 10, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2527) : 20-27.
2) ภูธร ภูมะธน, แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค (กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2527), 14-15.
3) ทนงศักดิ์ หาญวงษ์, การวิเคราะห์โบราณวัตถุทีได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองจังหวัดลพบุรี (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2528), 108-109.
4) เมธินี จิระวัฒนา, “เหรียญตรารุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-15,” ศิลปากร 34, 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 69-86.
5) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.2 การใช้เหรียญโลหะมาตรฐานเป็นสื่อกลางการค้าขาย,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 124-133.

ภาพประกอบ

ภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534)