จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านคูเมือง)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านคูเมือง)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 11:22:58 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (บ้านคูเมือง)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

เหรียญเงินมีจารึก, จารึกบนเหรียญเงิน (บ้านคูเมือง), ลบ. 20

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปแม่วัวกับลูกวัว

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.70 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ลบ. 20”
2) ในหนังสือ การขุดค้นและการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กำหนดเป็น “เหรียญเงินมีจารึก”
3) ในหนังสือ จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง และ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกบนเหรียญเงิน (บ้านคูเมือง)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2522

สถานที่พบ

บริเวณโบราณสถานหมายเลข 19 บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ผู้พบ

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) การขุดค้นและการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี (กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524), 36.
2) จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 48-50.
3) วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2527) : 32-33.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 126-128.

ประวัติ

เหรียญเงินนี้ พบในราว พ.ศ. 2522 บริเวณเจดีย์หมายเลข 19 แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งต่อมาได้ตกมาเป็นสมบัติของนางแถม พุ่มพวง ต่อมาภาควิชาโบราณด้านหนึ่งเป็นรูปวัวมีโหนก กับลูกวัว ส่วนอีกด้านหนึ่งมีคำจารึกที่ชำรุดเล็กน้อย จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับเหรียญเงินที่พบที่จังหวัดนครปฐม ที่มีคำจารึกว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย”

เนื้อหาโดยสังเขป

เหรียญเงินมีจารึกว่า “ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺย” แปลว่า พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปแม่วัวกับลูกวัว ซึ่งเหมือนกันกับเหรียญเงินที่พบได้ในหลายๆ จังหวัดที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี เป็นต้น คำจารึกที่ว่า “ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่จริงของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับทั้งเอกสารจีนร่วมสมัยและโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง-ป่าสัก ในประเทศไทย ส่วนด้านหน้าของเหรียญทำเป็นรูปแม่โคกับบุตรนั้น ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ในหนังสือทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี ว่า “โค เป็นสัญลักษณ์พลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาติ โดยพลังอำนาจด้านการผลิตของธรรมชาตินี้ สัมพันธ์กับคติการนับถือพระแม่ หรือ เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัมพันธ์กับคติการบูชาคช-ลักษมี (เทพีแห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์) สัญลักษณ์รูปแม่โคกับบุตร จัดเป็นหนึ่งในมงคล 108 ประการ และปรากฏบนตราประทับของกษัตริย์เมืองนคร ซึ่งเป็นรัฐอิสระที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของอินเดีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-10 จัดเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ และการที่กษัตริย์ทวารวดีเลือกสัญลักษณ์นี้มาใช้บนเหรียญของพระองค์ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์สามารถควบคุมธรรมชาติให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์” เหรียญเงินที่มีจารึกลักษณะเช่นนี้ ปัจจุบันได้สำรวจพบแล้วในหลายพื้นที่ คือที่เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) เมืองคูเมือง (จังหวัดสิงห์บุรี) เมืองพรหมทิน (จังหวัดลพบุรี) เมืองดงคอน และเมืองอู่ตะเภา (จังหวัดชัยนาท)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ผาสุข อินทราวุธ, “ผลการขุดค้น,” ใน การขุดค้นและการศึกษาวัฒนธรรมของชุมชนบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี (กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2524), 36.
2) ดวงเดือน รุ่งแสงจันทร์ และอุไรศรี วรศะริน, “จารึกบนเหรียญเงิน (บ้านคูเมือง),” ใน จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524), 48-50.
3) ผาสุข อินทราวุธ, “ผลการขุดค้นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่จังหวัดสิงห์บุรีและนครปฐม,” เมืองโบราณ 10, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2527) : 32-33.
4) ดวงเดือน รุ่งแสงจันทร์ และอุไรศรี วรศะริน, “จารึกบนเหรียญเงิน (บ้านคูเมือง),” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 126-128.
5) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศรีทวารวดี,” ศิลปากร 34, 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 58-68.
6) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.2 การใช้เหรียญโลหะมาตรฐานเป็นสื่อกลางการค้าขาย,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 124-133.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกโบราณรุ่นแรกพบที่ลพบุรีและใกล้เคียง (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2524)