จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 1)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 1)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 10:21:07 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 1)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

เหรียญเงินทวารวดี

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปจักรล้อมรอบด้วยจุดไข่ปลา

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในหนังสือ เหรียญกระษาปณ์ในประเทศไทย กำหนดเป็น “เหรียญเงินทวารวดี”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

จ่าสิบเอก อำนวย ดีไชย

ปัจจุบันอยู่ที่

ไม่ปรากฏหลักฐาน

พิมพ์เผยแพร่

1) เหรียญกระษาปณ์ในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516), 15.
2) วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2533), 112.
3) วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534), 76.

ประวัติ

เหรียญเงินเหรียญนี้ ทำด้วยเงิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 ซม. ได้มาจากบริเวณพระประโทนเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ต่อมาตกมาเป็นสมบัติของ จ่าสิบเอก อำนวย ดีไชย ซึ่งต่อมาก็ได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เหรียญเงินนี้ได้รับการศึกษาและกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในหนังสือ “เหรียญกระษาปณ์ในประเทศไทย” เรียบเรียงโดย ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์ จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้บรรยายลักษณะของเหรียญไว้ว่า ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปธรรมจักร ล้อมรอบด้วยจุดไข่ปลาบริเวณขอบนอก อีกด้านหนึ่งเป็นจารึกอักษรสันสกฤตโบราณ (อันที่จริงคือจารึกอักษรปัลลวะ) ภาษาสันสกฤต อ่านได้ว่า “ศฺรีสุจริต วิกฺรานฺต” หมายถึง “วีรบุรุษผู้สุจริต” ต่อมา ภูธร ภูมะธน ได้เขียนบทความเรื่อง “ทวารวดี ชื่อกษัตริย์? หรือ ชื่อเมือง?” ตีพิมพ์ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2533 ก็ได้กล่าวถึงเหรียญเงินนี้เช่นกัน และ เมธินี จิระวัฒนา ได้เขียนบทความเชิงวิเคราะห์เรื่อง “เหรียญตรารุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-15“ ตีพิมพ์ใน วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2534 แต่เรียกธรรมจักรว่า “จักร” นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของสัญลักษณ์รูปจักรว่า “รูปจักร มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ความศักดิ์สิทธิ์ การแผ่ออกไปทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังหมายถึงความเป็นเจ้าแผ่นดินและอำนาจ”

เนื้อหาโดยสังเขป

เหรียญเงินนี้ ด้านหนึ่งมีจารึกคำว่า “ศฺรีสุจริต วิกฺรานฺต” แปลว่า “วีรบุรุษผู้สุจริต” ซึ่ง อาจเป็นการยกย่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ว่าทรงเป็นวีรบุรุษ ซึ่งทำให้คิดไปได้ว่าเหรียญเงินนี้ อาจทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์พิเศษอะไรบางอย่าง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปจักร ซึ่งโดยทั่วไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นเจ้าแผ่นดิน และอำนาจ หรือ ถ้าเป็นความหมายทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะเรียกกันว่าพระธรรมจักร ซึ่งเป็นตัวแทนของพระธรรมของพระพุทธเจ้านั่นเอง รูปจักรนี้จะเป็นสัญลักษณ์แบบใดนั้น ต้องศึกษากันต่อไป

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์, เหรียญกระษาปณ์ในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516), 15.
2) เมธินี จิระวัฒนา, “เหรียญตรารุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-15,” ศิลปากร 34, 2 (มีนาคม-เมษายน 2534), 69-86.
3) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.2 การใช้เหรียญโลหะมาตรฐานเป็นสื่อกลางการค้าขาย,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 124-133.
4) ภูธร ภูมะธน, “ทวารวดี ชื่อกษัตริย์? หรือ ชื่อเมือง?,” ศิลปวัฒนธรรม 11, 7 (พฤษภาคม 2533) : 104-113.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534)