จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 2)

จารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 2)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 10:41:33 )

ชื่อจารึก

จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 2)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

silver medal-1st type

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

เงิน

ลักษณะวัตถุ

เหรียญทรงกลมแบน ด้านหนึ่งมีจารึก อีกด้านหนึ่งมีรูปหม้อปูรณฆฏะ หรือ หม้อปูรณกลศ

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.6 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร The Journal of the Siam Society vol. LII part 1 (April 1964) กำหนดเป็น “silver medal-1st type”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2486

สถานที่พบ

ใต้ฐานเจดีย์เก่า ใกล้ห้วยจระเข้ ในเขตวัดพระประโทนเจดีย์วรวิหาร ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) The Journal of the Siam Society vol. LII part 1 (April 1964) : 99-114.
2) กระษาปณ์ไทย (พระนคร : โรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2509), 13-15.
3) วารสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 5 (มกราคม 2511) : 35.
4) วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 58-68.
5) วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 69-86.

ประวัติ

เรื่องราวเกี่ยวกับการค้นพบเหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะนี้ ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน The Journal of the Siam Society (JSS) โดย นาย เจ เจ โบลส์ (J. J. Boeles) ซึ่งได้พรรณนาไว้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการค้นพบไหดินเผาฝังอยู่ใต้ฐานเจดีย์เก่าบริเวณห้วยจระเข้ ตำบลเนินหิน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม แต่อย่างไรก็ตาม นายเฉลิม ยงบุญเกิด ได้พรรณนาไว้ในหนังสือกระษาปณ์ไทยว่าพบที่หมู่บ้านหนองสองตอน ตำบลพระปะโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จากนั้น นาย เจ เจ โบลส์ ได้พรรณนาต่อไปว่า ในไหดินเผานี้ พบเหรียญเงินหลายเหรียญ มีทั้งที่เป็นรูปสังข์ และเหรียญเงินมีจารึกอยู่ปะปนกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเหรียญเงินเหล่านี้ก็ได้กระจัดกระจายไปอยู่ในมือของบุคคลต่างๆ ซึ่งมีเหรียญเงิน 2 เหรียญซึ่งมีจารึกได้ตกไปเป็นสมบัติของนายเฉลิม ยงบุญเกิด ผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับเหรียญโบราณ ซึ่งต่อมาก็ได้มอบเหรียญเงินทั้ง 2 นี้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นายเฉลิม ยงบุญเกิด และ นาย เจ เจ โบลส์ ได้ศึกษารูปแบบของเหรียญเงินทั้ง 2 แล้วพบว่ารูปแบบของเหรียญเช่นนี้ ยังไม่เคยพบมาก่อนทั้งในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการศึกษาครั้งนี้ นาย เจ เจ โบลส์ ได้จำแนกเหรียญทั้งสองชิ้นดังนี้คือ รูปแบบที่ 1 (silver medal 1st type) คือ ด้านหน้ามีสัญลักษณ์รูปหม้อปูรณฆฏะ หรือ ปูรณกลศะ รูปแบบที่ 2 (silver medal-1nd type) คือ ด้านหน้ามีสัญลักษณ์รูปแม่โคกับบุตร อย่างไรก็ตาม ด้านหลังของเหรียญทั้ง 2 นี้ มีรูปแบบที่เหมือนกันคือ มีคำจารึกด้วยอักษรโบราณชุดหนึ่ง ซึ่งนายเฉลิม ยงบุญเกิด และ นาย เจ เจ โบลส์ จึงได้นำอักษรโบราณนี้ไปให้อาจารย์มหาแสง หรือ นายแสง มนวิทูร วินิจฉัยว่าอักษรโบราณชุดนี้ เป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 และได้อ่านข้อความบางส่วนเป็นเบื้องต้น จึงได้คำอ่านออกมาว่า “ศฺรี ทฺวารวตี ...... ” ซึ่งนับเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่เป็นลายลักษณ์ที่มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรทวารวดี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยพบมาก่อน และเป็นการยืนยันว่า ชื่ออาณาจักรหนึ่งที่ปรากฏในบันทึกการเดินทางของสมณะเฮี่ยนจัง ว่า “ตว้อ-หลอ-ปอ-ตี่” (พ.ศ. 1172-1188) และสมณะอี้จิง ว่า “ตู้-เหอ-ปอ-ตี่” (พ.ศ. 1214-1238) ตรงกับคำว่า ทวารวดีจริง ตามข้อสันนิษฐานของนายซามวล บีล (Samuel Beal) ที่ให้ไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2427 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2506 นายเฉลิม ยงบุญเกิด และ นาย เจ เจ โบลส์ ได้นำเหรียญและคำจารึกที่อ่านได้นี้เข้าไปปรึกษากับ ศ. ยอร์ช เซเดส์ เป็นการส่วนตัว ซึ่ง ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านข้อความที่เหลือจนหมด ได้คำอ่านว่า “ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” และแปลได้ว่า “oeuvre méritoire du roi de Çrī Dvāravatī” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งทวารวดี” อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2529 หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ตีพิมพ์หนังสือชุดจารึกในประเทศไทยขึ้น ในหนังสือชุดนี้ น.ส. ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ทำการตรวจทานคำอ่านและแปลความหมายของคำจารึกใหม่เป็นภาษาไทย ได้ว่า “พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ” ในปี พ.ศ. 2534 นายชะเอม แก้วคล้าย ได้เขียนบทความเรื่อง “ศรีทวารวดี” พิมพ์ลงในนิตยสารศิลปากร ซึ่งบทความนี้เป็นบทความที่นำเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแปลโดยละเอียดของคำจารึก “ศฺรีทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” ตามหลักไวยากรณ์ของภาษาสันสกฤต ซึ่งก็ยังคงยืนยันคำแปลเดิมที่ว่า “พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ”

เนื้อหาโดยสังเขป

คำจารึกที่ว่า “ศฺรี ทฺวารวตีศฺวรปุณฺย” หรือ “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่จริงของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งสอดคล้องกับทั้งเอกสารจีนร่วมสมัยและโบราณวัตถุสถานที่พบในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง-ป่าสัก ในประเทศไทย ส่วนด้านหน้าของเหรียญทำเป็นรูปหม้อปูรณฆฏะนั้น ศ. ดร. ผาสุก อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ในหนังสือทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี ว่า “ปูรณฆฏ หรือ กมัณฑลุ หรือ กลศ จัดเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และสัญลักษณ์ของศิริ ตามความเชื่อของชาวอินเดียทุกศาสนา ปูรณฆฏะ คือ หม้อน้ำที่มีพันธุ์พฤกษาหรือไม่มีพันธุ์พฤกษา กมัณฑลุ คือ หม้อน้ำมีพวย และ กลศ คือ หม้อน้ำไม่มีพวย” เหรียญเงินที่มีจารึกลักษณะเช่นนี้ ปัจจุบันได้สำรวจพบแล้วในหลายพื้นที่ คือที่เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) เมืองคูเมือง (จังหวัดสิงห์บุรี) เมืองพรหมทิน (จังหวัดลพบุรี) เมืองดงคอน และเมืองอู่ตะเภา (จังหวัดชัยนาท)

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งสอดคล้องกันกับ ชื่อ “ตว้อ-หลอ-ปอ-ตี่” (พ.ศ. 1172-1188) ในบันทึกของการเดินทางของสมณะเฮี่ยนจัง และ “ตู้-เหอ-ปอ-ตี่” (พ.ศ. 1214-1238) ในบันทึกการเดินทางของสมณะอี้จิง

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) I-Tsing, The Buddhist Religion as practised in India and the Malay Archipelago (A.D. 671-695), trans. J. Takakusu from Nam-Hai-Kia-Kui-Lai-Huab-Tung (Delhi : Munshiram Manoharlal, 1966), 9-10.
2) J. J. Boeles, “The King of Śrī Dvāvaratī and his Regalia,” The Journal of the Siam Society LII, 1 (April, 1954) : 99-114.
3) จอง บัวเซอลีเย่, “ศิลปทวารวดี ตอนที่ 1,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล จาก L’Art de Dvāvaratī, ศิลปากร 11, 5 (มกราคม 2511) : 35.
4) ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์, เหรียญกระษาปณ์ในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516), 12-13.
5) ชะเอม แก้วคล้าย, “ศรีทวารวดี,” ศิลปากร 34, 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 58-68.
6) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.2 การใช้เหรียญโลหะมาตรฐานเป็นสื่อกลางการค้าขาย,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 124-133.
7) ภูธร ภูมะธน, “ทวารวดี ชื่อกษัตริย์? หรือ ชื่อเมือง?,” ศิลปวัฒนธรรม 11, 7 (พฤษภาคม 2533) : 104-113.
8) เมธินี จิระวัฒนา, “เหรียญตรารุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-15,” ศิลปากร 34, 2 (มีนาคม-เมษายน 2534) : 69-86
9) ยอร์ช เซเดส์ และชะเอม แก้วคล้าย, “เหรียญเงินมีจารึก,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 95-97.
10) ฮุยลิบและงั่นจง, ประวัติพระถังซัมจั๋ง, แปลโดย เคงเหลียน สีบุญเรือง จาก ไต้ถังซือเอ็งยี่ซัมจั๋งฮวบซือตึ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542), 153.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสารศิลปากร ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2534)