จารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 1

จารึก

จารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 1

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 13:14:11 )

ชื่อจารึก

จารึกอักษรมอญโบราณบนพระพิมพ์ 1

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Terracotta meditating monk with a Mon inscription, The inscription on third tablet from the Los Angeles County Museum of Art

อักษรที่มีในจารึก

มอญโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 17-18

ภาษา

มอญโบราณ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

พระพิมพ์ (สภาพสมบูรณ์)

ขนาดวัตถุ

สูง 25.9 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) ในวารสาร Arts of Asia vol. XV no. 6 (1985) กำหนดเป็น “Terracotta meditating monk with a Mon inscription”
2) ในวารสาร The Journal of the Siam Society vol. LXXIX part 2 (1991) กำหนดเป็น “The inscription on third tablet from the Los Angeles County Museum of Art”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

Los Angeles County Museum of Art

พิมพ์เผยแพร่

1) Arts of Asia vol. XV no. 6 (1985) : 115-116.
2) The Journal of the Siam Society vol. LXXIX part 2 (1991) : 61-80.

ประวัติ

พระพิมพ์องค์นี้ถูกพบที่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในบทความชื่อ “The Art of Southest Asia” ของโรเบิร์ต แอล บราวน์ (Robert L. Brown) ในวารสาร Arts of Asia vol. XV no. 6 ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) โดยบทความดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจารึกมากนัก เนื่องจากเป็นบทความที่กล่าวถึงข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ของโบราณวัตถุจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพิพิธภัณฑ์ Los Angeles County Museum ต่อมา คริสเตียน บาวเออร์ (Christian Bauer) ได้เขียนบทความชื่อ “Notes on Mon Epigraphy” ลงใน วารสารสยามสมาคม ปีที่ 79 (JSS LXXIX part 2, 1991) ใน พ.ศ. 2534 โดยมีการอ่าน-แปล วิเคราะห์รูปอักษร และกำหนดอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เช่นเดียวกับจารึกบนพระพิมพ์ อีก 2 องค์ที่พบในแหล่งเดียวกัน ซึ่งถูกกล่าวถึงในบทความดังกล่าวเช่นกัน

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงพระโชติยะเถระ ด้วยความเคารพ

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

คริสเตียน บาวเออร์ กำหนดอายุจารึกบนพระพิมพ์นี้ จากรูปอักษรมอญโบราณ และอักขรวิธี ซึ่งสัมพันธ์กับจารึกหลักอื่นๆ จากลำพูน และเชียงใหม่ ดังเช่นจารึกแม่หินบดเวียงมะโน ที่มีการกำหนดอายุไว้ก่อนแล้วโดยศาสตราจารย์กอร์ดอน ฮันนิงตัน ลูซ (Gordon Hannington Luce) และศาสตราจารย์ แฮรี่ เลียวนาร์ด ชอร์ตโต (Harry Leonard Shorto) ในบทความชื่อ "An inscription in Old Mon from Wieng Manó in Chiangmai Province" ของ ศาสตราจารย์ อเล็กซานเดอร์ บราวน์ กริสโวลด์ (Alexzander Brown Griswold) และ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งตีพิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม ปีที่ 59 (JSS LIX, 1971) พ.ศ. 2514 อนึ่ง อาจารย์ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพิมพ์องค์นี้ว่า "เป็นพระพิมพ์ศิลปะหริภุญชัย รูปพระสาวกแสดงปางสมาธิ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ครองจีวรห่มคลุม ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) ซึ่งเห็นฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้าง พระพักตร์มีพระขนงยาวต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา แสดงอิทธิพลศิลปะทวารวดีรุ่นพื้นเมือง ส่วนการครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว นั้นเป็นลักษณะของศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ซึ่งส่งผลต่อศิลปะทวารวดี โดยหริภุญชัยซึ่งอยู่ทางภาคเหนือได้รับมาอีกต่อหนึ่ง สำหรับการประทับนั่งขัดสมาธิเพชรนั้น น่าจะเป็นอิทธิพลจากอินเดียภาคเหนือ ซึ่งปรากฏในศิลปะทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งมีกลีบบัวซ้อนกัน 2 ชั้นนั้น แสดงถึงการรับอิทธิพลศิลปะอินเดียภาคเหนือ ผ่านทางอาณาจักรพุกาม" แนวความคิดดั้งเดิมในการสร้างพระพิมพ์นั้น เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก ในการไปบูชาสังเวชนียสถานทางพุทธศาสนา 4 แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) จึงมักพบพระพิมพ์ในรูปแบบที่อยู่ใต้ซุ้มปรกโพธิ์ และซุ้มพุทธคยา เป็นต้น โดยเมื่อมีการไปบูชาสถานที่ดังกล่าว ก็จะมีการนำพระพิมพ์ของศาสนสถานนั้นๆ ติดตัวกลับไป ต่อมากลายเป็นวัตถุที่คนยากจนนิยมสร้างไว้เพื่อบูชา หลังจากนั้นได้เกิดความเชื่อที่ว่า พุทธศาสนาจะเสื่อมลงในพุทธศักราช 5000 ตามคัมภีร์ของลังกา จึงได้มีการสร้างพระพิมพ์และจารึกคาถาเย ธมฺมา ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการฝังพระพิมพ์ไว้ตามเจดีย์ต่างๆ หากพุทธศาสนาเสื่อมไป ไม่มีใครรู้จักหลักธรรมต่างๆ อีก เมื่อมาพบพระพิมพ์เหล่านี้ ก็อาจมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่ ผู้คนจะได้กลับมานับถือพุทธศาสนาอีกครั้ง นอกจากนี้ในคติเถรวาทสมัยทวารวดี ยังมีการสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพ หรือเป็นภาพเล่าเรื่องแสดงพุทธประวัติ หรือเหตุการณ์ตอนสำคัญในทางพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ ส่วนศรีวิชัยทางภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามหายาน มีการสร้างพระพิมพ์รูปโพธิสัตว์ เพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย โดยนำเถ้ากระดูกมาผสมกับดิน แล้วทำเป็นพระพิมพ์โดยไม่เผา (พระพิมพ์ดินดิบ) เพราะถือว่าเผาผู้ตายไปแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนที่นิยมทำเป็นรูปโพธิสัตว์นั้น ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความคิดเห็นว่า อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อว่า พระโพธิสัตว์จะพาวิญญาณผู้ตายให้พ้นทุกข์ ขึ้นสู่สวรรค์ แต่ในปัจจุบัน พระพิมพ์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คนนิยมมีไว้เป็นเครื่องรางของขลัง เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ซึ่งต่างไปจากแนวคิดเดิม

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Christian Bauer, “Notes on Mon Epigraphy,” The Journal of the Siam Society LXXIX, 2 (1991) : 61-80.
2) Robert L. Brown, “The Art of Southest Asia,” Arts of Asia XV, 6 (1985) : 115-116.
3) ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศิลปะในประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2534), 4-10.
4) ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), 103-104.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : The Journal of the Siam Society vol. LXXIX part 2 (1991)