อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 12, ยุคสมัย-จารึกอาณาจักรศรีวิชัย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินสีดำ, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 22:56:16 )
ชื่อจารึก |
จารึกวัดมเหยงค์ |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
นศ. 10, จารึกที่ 27 จารึกจากวัดมเหยงค์, Vãt Maheyong (K. 407), K. 407 |
อักษรที่มีในจารึก |
ปัลลวะ |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 12 |
ภาษา |
สันสกฤต |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 6 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
ศิลาสีดำ |
ลักษณะวัตถุ |
รูปสี่เหลี่ยมชำรุดมีรอยหักด้านข้างขวาและซ้ายทั้งสองข้าง |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 58 ซม. ยาว 112 ซม. หนา 11 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นศ. 10” |
ปีที่พบจารึก |
ประมาณ พุทธศักราช 2466 |
สถานที่พบ |
วัดมเหยงค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (สำรวจเมื่อ 31 ตุลาคม 2564) |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) Siam Ancien (Paris : Ernest Lerou, 1895), 125. |
ประวัติ |
จารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้ นาย เอ. บาร์ต (A. Barth) ได้อ่านและแปลไว้ในหนังสือเรื่อง Siam ancien ของนายฟูร์เนอโร (Fournereau) เล่ม 1 หน้า 125 โดยได้กล่าวว่า จารึกหลักนี้ สลักอยู่บนแผ่นหินดำ ขนาด 46 x 87 ซม. ซึ่งแต่เดิมนั้น ถูกฝังอยู่ในผนังด้านหน้า ของตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เป็นเวลานาน ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2467 จึงได้ย้ายศิลาจารึกแผ่นนี้มาไว้ยังหอพระสมุดสำหรับพระนคร นายฟูร์เนอโร กล่าวว่า จารึกแผ่นนี้มาจากเทวสถานโบราณชื่อ วัดมเหยงค์ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครชัยศรี แต่พระสารศาสตร์พลขันธ์ (Gerini) ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าระบุชื่อจังหวัดผิด โดยท่านได้เขียนกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Research หน้า 492 ว่าชื่อจังหวัดนั้นผิด ที่ถูกต้องคือ วัดมเหยงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า เดิมจารึกชิ้นนี้น่าจะอยู่ที่วัดมเหยงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาจึงถูกเคลื่อนย้ายมายังวัดบวรนิเวศวิหารเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2667 จารึกชิ้นนี้จึงถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ หอพระสมุดสำหรับพระนครพร้อมๆ กับจารึกอื่นๆ ซึ่งเคยอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ โดยนำมาจัดแสดงไว้ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตราบจนในปี พ.ศ. 2509 หอสมุดแห่งชาติ ต้องย้ายไปอยู่ ณ อาคารใหม่ที่ท่าวาสุกรี อาคารเก่าที่หอวชิราวุธจึงว่าง ประกอบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องการใช้สถานที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2510 จึงได้ย้ายจารึกซึ่งจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ไปเก็บรักษาไว้ที่อาคารหอวชิราวุธ คือ ตึกถาวรวัตถุข้างวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ นั่นเอง ในปี พ.ศ. 2521 กรมศิลปากรมีความประสงค์จะให้จารึก ซึ่งจัดไว้เป็นโบราณวัตถุ ได้อยู่ในความรับผิดชอบของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตามกฎหมาย จึงได้ย้ายจารึกส่วนใหญ่รวมทั้งศิลาจารึกวัดมเหยงค์ ไปเก็บรักษา และตั้งแสดงในหมู่พระวิมาน ห้องอุตราภิมุขในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน เมื่อพิมพ์เผยแพร่ในประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 ใช้ชื่อเรื่องว่า จารึกที่ 27 จารึกจากวัดมเหยงค์ โดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้นำคำอ่านและคำแปลที่นาย เอ บาร์ต ได้เคยแปลไว้แต่เดิมมาตีพิมพ์ |
เนื้อหาโดยสังเขป |
เนื่องจากจารึกหลักนี้ส่วนต้นและส่วนปลายหักหายไป คงเหลือแต่ส่วนกลาง ดังนั้นเนื้อหาของเรื่องในจารึกจึงขาดไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน สรุปได้เพียงสั้นๆ ว่าเป็นคำกล่าวถึงระเบียบ หรือแบบแผนในการปฏิบัติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
เอ บาร์ต ได้วิเคราะห์ว่า ตัวอักษรในจารึกคล้ายกับตัวอักษรที่ใช้กันอยู่ในอาณาจักรเขมร ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-14 แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองหอสมุดแห่งชาติได้จัดรูปแบบตัวอักษรในจารึกนี้ เป็นอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1101-1200) |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-21, ไฟล์; Ns_1000_c) |