จารึกเยธมฺมาฯ 1 (ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์)

จารึก

จารึกเยธมฺมาฯ 1 (ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 15:41:57 )

ชื่อจารึก

จารึกเยธมฺมาฯ 1 (ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์)

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 12

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินอัคนี

ลักษณะวัตถุ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ขนาดวัตถุ

กว้าง 27 ซม. สูง 63.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นฐ. 2”
2) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 กำหนดเป็น “จารึกเยธมฺมาฯ 1 (ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2506

สถานที่พบ

ระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ บริเวณพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

นายประสาร บุญประคอง

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 75-78.

ประวัติ

นายประสาร บุญประคอง พบจารึกนี้ในบริเวณระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2506 สภาพของจารึกชำรุดมากโดยเฉพาะอักษรข้อความทางตอนต้นบรรทัด อ่านไม่ได้เลย

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ให้ความเห็นว่า ลักษณะการจารึกนี้ เหมือนกับจารึกเยธมฺมาฯ (นฐ. 2) และ จารึกวัดมเหยงค์ (นศ. 10) จะมีแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย แม้กระนั้นในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังมีการจารึกอักษรต่างกัน เช่น อักษร “ห” ในคำว่า “เห” และ อักษร “ห” ในคำว่า “หะ” และ “หา” คำว่า “เห” ปลายเส้นอักษร “ห” ไม่ยาวต่ำลงใต้บรรทัด ส่วน “หะ” และ “หา” ต่ำลงใต้บรรทัด และคำว่า “หา” ทางอักษรจะม้วนกว้างใหญ่กว่าคำว่า “หะ” ทั้งสองลักษณะ คือ “เห” เหมือนกับจารึกวัดมเหยงค์ “หะ” และ “หา” เหมือนกับจารึกเยธมฺมาฯ (นฐ. 2) ฉะนั้น จารึกทั้งสามคงอยู่ในสมัยเดียวกัน อักษร “ถ” ของจารึกหลักนี้ เหมือนกันกับจารึกเยธมฺมาฯ นฐ. 3 คือเส้นภายในม้วนขึ้น แต่จารึกวัดมเหยงค์ นศ. 10 จะม้วนลง ซึ่งลักษณะการม้วนเหมือนกับจารึกทานบัตรของพระเจ้านทิวรมา แห่งราชวงศ์ปัลลวะ สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 และเหมือนกับจารึก Jambu and Kebon Kopi ของชวา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 แต่เส้นอักษรในจารึกสองหลักข้างต้นม้วนลงเหมือนกับจารึก Mahanavika Buddhagupta ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ลักษณะการจารึกสระ “อี” บนพยัญชนะของจารึกหลักนี้ เหมือนกับจารึก Kedah site No. 2 tablet ของมาเลเซีย พุทธศตวรรษที่ 13 คือ ม้วนจากซ้ายไปขวา ส่วนจารึกวัดมเหยงค์ นศ. 10 จะม้วนจากขวามาซ้าย ซึ่งเหมือนกับจารึก Magdur and Pikira ของพระเจ้าสิงหวรมัน กลางพุทธศตวรรษที่ 12

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกเยธมฺมาฯ 1 (ระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์),” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 75-78.
2) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 122-128.
3) มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, “อรรถกถาสารีปุตตโมคคัลลานบรรพชา,” ใน พระวินัยปิฎก เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1 และ อรรถกถา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2536), 130-133.
4) ยอร์ช เซเดส์, “บันทึกเกี่ยวกับจารึกที่พระปฐมเจดีย์,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie : inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo ([กรุงเทพฯ] : กรมศิลปากร, 2504), 3.
5) สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 16 (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2529), 217.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529)