จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยม (เหลี่ยมที่ 9 เรื่อง พระเจ้ามหาติมยอมให้พระเศียรเป็นทาน)

จารึก

จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยม (เหลี่ยมที่ 9 เรื่อง พระเจ้ามหาติมยอมให้พระเศียรเป็นทาน)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2551 09:01:41 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2566 21:18:22 )

ชื่อจารึก

จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยม (เหลี่ยมที่ 9 เรื่อง พระเจ้ามหาติมยอมให้พระเศียรเป็นทาน)

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวน 1 ด้าน (ไม่ทราบจำนวนบรรทัด)

วัตถุจารึก

หิน

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

คอสองเฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 241.

ประวัติ

นิทานสิบสองเหลี่ยม หรือ นิทานอิหร่านราชธรรม เป็นนิทานสุภาษิต ว่าด้วยหลักราชธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน มีกลวิธีการแต่งประกอบด้วยเรื่องหลักและเรื่องย่อย เป็นนิทานแสดงราชธรรม 12 เรื่อง เรื่องหลักกล่าวถึงพระเจ้ามามูนครองกรุงแบกแดด เสด็จไปทอดพระเนตรมณฑป 12 เหลี่ยมเมืองมะดาวิน ซึ่งเป็นที่ไว้พระบรมศพพระเจ้าเนาวสว่านดินผู้ทรงธรรม รอบมณฑปดังกล่าวมีนิทานจารึกไว้เหลี่ยมละ 1 เรื่อง รวม 12 เรื่อง กล่าวถึงกษัตริย์อิหร่านซึ่งประพฤติผิดราชประเพณี แต่ท้ายเรื่องกลับพระทัยระลึกถึงคุณธรรม ในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องย่อยซึ่งได้แก่ นิทานเหลี่ยมที่ 1 เรื่องพระเจ้าฟ้าริดุ่นหาโลหิตเด็กเป็นกระสายยา, นิทานเหลี่ยมที่ 2 เรื่องพระเจ้าหุมายุนคิดเก็บภาษีผลทับทิม, นิทานเหลี่ยมที่ 3 เรื่องพระเจ้าสันหยันยิงเด็กเพราะคิดว่าเป็นเนื้อ, นิทานเหลี่ยมที่ 4 เรื่องพระเจ้าบหรามตั้งคนคดเป็นเสนาบดี, นิทานเหลี่ยมที่ 5 เรื่องสัตว์เดรัจฉานร้องทุกข์ต่อพระเจ้าเนาวสว่าน, นิทานเหลี่ยมที่ 6 เรื่องพระเจ้าเนาวสว่านพิพากษาทรัพย์แผ่นดิน, นิทานเหลี่ยมที่ 7 เรื่องพระเจ้ามันสูรพระกรรณตึง, นิทานเหลี่ยมที่ 8 เรื่องพระเจ้ายินนูเลี้ยงลูกโจร, นิทานเหลี่ยมที่ 9 เรื่องพระเจ้ามหาติมยอมให้พระเศียรเป็นทาน, นิทานเหลี่ยมที่ 10 เรื่องพระเจ้าวะดินซาพิพากษาโทษพระราชบุตร, นิทานเหลี่ยมที่ 11 เรื่องพระราชกุมารพี่น้องเวนราชสมบัติกัน, นิทานเหลี่ยมที่ 12 เรื่องแปลงรสผลมะม่วง นิทานสิบสองเหลี่ยมนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นนิทานของแขกเปอร์เซีย สันนิษฐานว่าคงเข้ามาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อครั้งพระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซียโปรดให้แต่งราชทูตเข้ามาเกลี้ยกล่อม ให้พระองค์เข้ารีตศาสนาอิสลาม นิทานสิบสองเหลี่ยมฉบับแรกเป็นของขุนกัลยาบดี ขุนนางแขกเปอร์เซียที่เข้ามารับราชการในอยุธยา โดยรวบรวมและเรียบเรียงนิทานดังกล่าวถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2295 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดให้อาลักษณ์คัดขึ้นใหม่เป็นฉบับหลวงเมื่อ พ.ศ. 2325 และเมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ทรงโปรดให้จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยมไว้ที่ศาลาล้อมพระมณฑป ด้านทิศตะวันตก ต่อมาหมอสมิทได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกที่โรงพิมพ์บางคอแหลมใน พ.ศ. 2413 หลังจากนั้น กรมศิลปากรมีการจัดพิมพ์นิทานสิบสองเหลี่ยมขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น การพิมพ์รวมกับประชุมปรณัมภาคต่างๆ มีชื่อว่า นิทานอิหร่านราชธรรมฉบับหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น ปัจจุบัน จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยมได้สูญหายไปบางส่วน ในการตีพิมพ์ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เนื้อเรื่องตั้งแต่เหลี่ยมที่ 5 ถึงเหลี่ยมที่ 8 ได้สูญไปแล้ว ในการพิมพ์ครั้งดังกล่าว จึงเป็นการคัดตอนต้นนิทานจากฉบับพิมพ์มาแทน สำหรับในการพิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2544 นิยะดา เหล่าสุนทร ได้ทำการสำรวจ และคัดลอกข้อความจากจารึกที่ยังหลงเหลืออยู่มาตีพิมพ์ โดยมีการสอบทานกับนิทานสิบสองเหลี่ยมฉบับความครั้งกรุงศรีอยุธยา และฉบับหลวงในรัชกาลที่ 1 ด้วย

เนื้อหาโดยสังเขป

นิทานสิบสองเหลี่ยม เหลี่ยม 9 คือเรื่องพระเจ้ามหาติมยอมให้พระเศียรเป็นทาน ตั้งแต่ตอนสุลต่านแต่งทูตมาขออูฐดำจากพระเจ้ามหาติมจำนวน 300 ตัว พระองค์ทรงมอบให้ แต่มีพระราชาเมืองหนึ่งโปรดให้มนตรี 4 คนมาทูลขอพระเศียร พระองค์ก็ทรงยินยอม มนตรีจึงกลับไปทูลพระราชาของตน เมื่อทรงทราบเรื่องก็สรรเสริญพระเจ้ามหาติม

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากประวัติการสร้างจารึก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน (ถอดจากโคลงดั้น พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) ว่ามีการเขียนภาพจิตรกรรม “เรื่อง 12 เหลี่ยม” ที่คอสองเฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก โดยมีศิลาจารึกประกอบไว้ใต้ภาพ

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร (2551) ; นวพรรณ ภัทรมูล (2556), แก้ไขเพิ่มเติม, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., จาก :
1) “การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน : ถอดจากโคลงดั้นพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส,” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 93-94.
2) กุสุมา รักษมณี, “นิทานราชธรรมเปอร์เซียในราชสำนักไทย,” ศิลปวัฒนธรรม 25, 10 (สิงหาคม 2547), 108-116.
3) นิติยา แก้วคัลณา, “นิทานอิหร่านราชธรรม : วรรณกรรมว่าด้วยหลักราชธรรมของนักปกครอง,” จุลสารไทยคดีศึกษา 19, 3-4 (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2546), 82-91.
4) “นิทานสิบสองเหลี่ยม,” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 240-242.