จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 2

จารึก

จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 2

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 14:19:04 )

ชื่อจารึก

จารึกบนตราประทับจากควนลูกปัด 2

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ตราประทับแผ่นศิลารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า, 5/8 ตราประทับหิน, Inscription no. 3, Inscribed rectangular green stone seal from Khuan Lukpat

อักษรที่มีในจารึก

ปัลลวะ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 11-12

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

ตราประทับทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ขนาดวัตถุ

กว้าง 1.5 ซม. ยาว 4 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในวารสาร SPAFA Digest vol. VII, no. 1 (1986) กำหนดเป็น “Inscription no. 3” และ “Inscribed rectangular green stone seal from Khuan Lukpat”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

บ้านควนลูกปัด ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานวัดคลองท่อม ตำบลคลองท่อมใต้ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

พิมพ์เผยแพร่

1) SPAFA Digest vol. VII no. 1 (1986) : 7-21.
2) วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกระบี่ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542), 168-172.
3) การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547), 180. 

ประวัติ

จารึกนี้มีลักษณะเป็นรอยลึกลงไปจากพื้นผิว สภาพชำรุดเล็กน้อย มีการอ่านและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2529 ใน SPAFA Digest vol. VII no. 1 (1986) และสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันทักษิณศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ซึ่งอ่าน-แปลโดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2547 มีการอ่านจารึกนี้อีกครั้งโดย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha จาก มหาวิทยาลัย Delhi ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกรวมทั้งคำอ่าน-คำแปลในครั้งล่าสุดนี้ปรากฏใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของ อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ ซึ่งเป็นการศึกษาความหมายและลักษณะทางประติมานวิทยา เพื่อให้ทราบหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยเพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตราประทับ ที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กับเมืองโบราณอื่นๆ ตราประทับที่พบมีทั้งที่ปรากฏตัวอักษรและเป็นรูปภาพต่างๆ โดยแบ่งเป็นตราประทับ (seals) และตรา (sealings) ตราประทับรุ่นแรกๆ ที่พบทางภาคใต้นี้ ศ. ดร. ผาสุข อินทราวุธ ได้อธิบายไว้ว่า การใช้ตราประทับเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารในระดับสถาบันต่างๆ ในสมัยทวารวดี ก็เช่นเดียวกับการใช้ระบบเหรียญกษาปณ์ คือ ชาวอินเดียในสมัยอินโด-โรมัน (พุทธศตวรรษที่ 6-9) ได้นำตราประทับของอินเดีย (แบบที่ชาวกรีก-ชาวโรมันและชาวเปอร์เชียนิยมใช้) มาใช้เป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสารกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน ดังได้พบตราประทับของอินเดียและของโรมันในบริเวณเมืองท่าโบราณ เช่น คลองท่อม จังหวัดกระบี่ (ภาคใต้ของไทย) เมืองออกแก้ว (เวียดนามตอนใต้) และต่อมาในสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9-11) ชาวอินเดียก็ได้นำตราประทับของอินเดียมาใช้ในดินแดนแถบนี้ ดังได้พบตราประทับของอินเดียจำนวนหลายชิ้น ในบริเวณเมืองโบราณเมืองโบราณสมัยทวารวดีหลายแห่ง เช่น เมืองนครโบราณ เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (ราชบุรี) เมืองพรหมทิน เมืองซับจำปา จังหวัดลพบุรี และเมืองจันเสน (นครสวรรค์) และในช่วงต่อมาได้มีการผลิตตราประทับขึ้นใช้เองโดยผู้นำชาวท้องถิ่น อาจสรุปได้ว่า ชาวอินเดียได้นำตราประทับที่เคยใช้ในประเทศของตน มาใช้ในการติดต่อสื่อสารกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประชากรชาวทวารวดี และต่อมาได้มีการผลิตตราประทับขึ้นใช้โดยผู้นำชาวพื้นเมืองเอง เพื่อใช้ในกิจการด้านการเมือง การศาสนา การค้าและอื่นๆ ดังปรากฏว่าสัญลักษณ์ที่ใช้บนตราประทับนั้นสื่อความหมายหลายด้าน

เนื้อหาโดยสังเขป

คำอ่าน-คำแปลของจารึกนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ โดยมีถึง 3 แบบ ได้แก่ “ทหารที่ไม่สะทกสะท้าน” “ห้ามเคลื่อนย้าย” และ ชื่อบุคคลนามว่า “อปรลสนสยะ”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม ได้ทำการกำหนดอายุจากรูปแบบอักษร โดยมีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นอักษรปัลลวะซึ่งมีอายุราว พุทธศตวรรษที่ 11-12 อย่างไรก็ตาม Prof. Dr. Ravindra Vasishtha และ ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา มีความคิดเห็นว่า น่าจะเป็นพราหมีที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 6-7

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Kongkaew Veeraprajak, “Inscriptions from South Thailand,” SPAFA Digest VII, 1 (1986) : 7-21.
2) คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกระบี่ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542), 168-172.
3) ผาสุข อินทราวุธ, “3.3.3 การใช้ตราประทับ (Seals) เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสาร,” ใน ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), 134-137.
4) อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ, การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547), 93-194. 

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายและภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : SPAFA Digest VII, 1 (1986)