โพสต์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2550 13:34:45 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 13:43:35 )
ชื่อจารึก |
จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน ท่าที่ 16 (แก้เข่าแก้ขา) |
อักษรที่มีในจารึก |
ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ |
ศักราช |
ไม่ปรากฏศักราช |
ภาษา |
ไทย |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 4 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หิน |
ลักษณะวัตถุ |
แผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า |
ปีที่พบจารึก |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
สถานที่พบ |
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
พิมพ์เผยแพร่ |
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 737. |
ประวัติ |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ปั้นประติมากรรมฤาษีดัดตนขึ้นจากดิน ซึ่งต่อมาได้ชำรุดลง ต่อมา ใน พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) จึงโปรดให้ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อรูปฤาษีดัดตนขึ้นใหม่ จำนวน 80 ท่า ด้วยสังกะสีผสมกับดีบุกซึ่งเรียกว่า “ชิน” แล้วนำไปตั้งไว้ตามศาลารายภายในวัด โดยมีการจารึกโคลงสี่สุภาพจำนวน 80 บท บรรยายท่วงท่าต่างๆ ซึ่งแต่งขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง พระภิกษุ และสามัญชน นอกจากนี้ยังมีโคลงจำนวน 6 บทที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 อีกด้วย ดังปรากฏหลักฐานในบานแผนก ซึ่งกล่าวถึงการสร้างจารึก รวมถึงการวาดภาพและคัดลอกโคลงลงในสมุดไทย ซึ่งเสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 2381 ความว่า “จึ่งสมเด็จนฤบาล ธ ก็พรรหารเสาวพจน์ ให้ลิขิตบทโคลงทรง ลงจารึกเศลา ตราติดผนังกำกับ สำหรับรูปหล่อหลาย แล้วให้นายจิตกรรม์ สฤษฎิรังสรรค์เสาวเลข รจเรขชฏิล ดัดกายินถ้วนองค์ ลงในสมุดดุจหล่อ ส่อท่าตราแผนไว้ ธ ก็ให้เลขกามาตย์ จำลองศาสตรเส้นรง แสดงโคลงทรงสืบสร้าง เป็นตำหรับฉบับอ้าง คู่หล้าแหล่งเฉลิม” ปัจจุบัน จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตนซึ่งติดอยู่ที่ผนังศาลาราย ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงประติมากรรมฤาษีดัดตน ก็ถูกเคลื่อนย้ายออกจากที่ตั้งซึ่งเดิมอยู่คู่กับจารึก และบางส่วนยังถูกโจรกรรมอีกด้วย |
เนื้อหาโดยสังเขป |
โคลงสี่สุภาพ ประพันธ์โดย พระญาณปริยัติ บรรยายถึงท่วงท่าการดัดตนของฤาษี ท่าที่ 16 ซึ่งเรียกว่า “แก้เข่าแก้ขา” ซึ่งเป็นท่ายืนก้าวขาไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือข้างหนึ่งกดสะโพกขาหลัง แล้วย่อตัวลง |
ผู้สร้าง |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) |
การกำหนดอายุ |
กำหนดอายุจากประวัติการสร้างจารึกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) (ดูรายละเอียดในหัวข้อ “ประวัติ”) |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2550, จาก : |