จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 82 (กาฬกัณณีชาดก)

จารึก

จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 82 (กาฬกัณณีชาดก)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2550 15:35:28 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 16:35:37 )

ชื่อจารึก

จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 82 (กาฬกัณณีชาดก)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกกาฬกัณณีชาดก (แผ่นที่ 82), ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม (กาฬกัณณีชาดก), สท. 32

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศตวรรษ 19-20

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 3 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินดินดาน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยม

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 32”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 กำหนดเป็น “ศิลาจารึกกาฬกัณณีชาดก (แผ่นที่ 82)”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม (กาฬกัณณีชาดก)”

ปีที่พบจารึก

พ.ศ. 2515

สถานที่พบ

เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

ผู้พบ

กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ปัจจุบันอยู่ที่

เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2515), 126-127.
2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 438.

ประวัติ

ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุมเป็นภาพจำหลักลายเส้นบนแผ่นศิลาเล่าเรื่องในชาดกต่าง ๆ แต่เนื่องจากศิลาแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นจึงจำหลักภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นจำหลักได้ 4-5 เรื่องก็มี ภาพจำหลักเล่าเรื่องชาดกเหล่านี้ประดับอยู่ที่เพดานภายในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สภาพทั่วไปของแผ่นศิลาชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและลายเส้นรูปอักษรลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ศิลาบางแผ่นสูญหายไป ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียง 40 แผ่นเท่านั้น (จารึกสมัยสุโขทัย, 2526) และในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 มี 52 แผ่น (ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5, 2515)
ฉะนั้นในการเรียงลำดับจารึกภาพชาดกวัดศรีชุมครั้งนี้ จึงได้จัดลำดับของจารึกตามลำดับเรื่องที่ปรากฏในจารึกซึ่งสามารถอ่านได้ ส่วนจารึกแผ่นที่ชำรุดอ่านไม่ได้ หรืออ่านจับความได้ไม่ตลอดจะนำไปรวมไว้ในตอนท้าย (จารึกสมัยสุโขทัย, 2526) อนึ่ง เลขลำดับภาพจารึกมีอยู่แผ่นหนึ่งบอกว่าเป็นคำรบที่ห้าร้อย หมายถึง เรื่องที่ 500 แสดงให้เห็นว่า ภาพชาดกทั้งหมดน่าจะมีจำนวนถึง 500 ภาพ ซึ่งเป็นจำนวนที่ตรงกับข้อความในจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 39 ความว่า “… 0 พระเจดีย์สูงใหญ่ รอยนั้นฉลักหินห้าร้อยชาติ …”

เนื้อหาโดยสังเขป

จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม (กาฬกัณณีชาดก) นั้น ตรงกลางเป็นรูปบุรุษนั่ง ซีกขวาเป็นรูปคนนอนมืออยู่ที่อก มีอักษรจารึกอยู่ตอนบน 3 บรรทัด
เรื่องราวมีอยู่ว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐี ช่วยสงเคราะห์เพื่อนที่ตกยาก ภายหลังเพื่อนช่วยป้องกันรักษาทรัพย์ไม่ให้เป็นอันตราย

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

1) จาก บทความเรื่อง การกำหนดอายุจารึกชาดกวัดศรีชุม ของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สรุปได้ว่า แผ่นภาพชาดกนี้สร้างขึ้นเพื่อติดตั้งไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุมมาแต่แรก หรือจะได้ขนย้ายมาจากที่อื่น เช่น วัดมหาธาตุสุโขทัยก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ส่วนในเรื่องตัวอักษรนั้น มีบางท่านสันนิษฐานว่า เป็นอักษรไทยที่เก่ากว่าตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 (จารึกหลักที่ 1) แต่ ศ.ดร.ประเสริฐ กำหนดอายุตัวอักษรในจารึกชาดกวัดศรีชุมว่าจารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. 1935 โดยใช้รูปลักษณะตัวอักษรและอักขรวิธีเป็นตัวกำหนดดังนี้
พระเจ้าลิไทย (เสวยราชย์ พ.ศ. 1890 ถึงประมาณ 1911) ทรงเริ่มใช้ไม้หันอากาศระหว่าง พ.ศ. 1902-1904 แต่เดิมพระองค์ทรงใช้ “อนน” แทน “อัน” และ “ดงง” แทน “ดัง” ในจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม พ.ศ. 1900) และในจารึกหลักที่ 8 ด้านที่ 1-2 พ.ศ. 1902 ครั้นมาถึง พ.ศ. 1904 จารึกหลักที่ 5 พระเจ้าลิไทยทรงใช้ไม้หันอากาศแล้ว จารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุมของพระมหาเถรศรีศรัทธาฯ และจารึกชาดกวัดศรีชุมมีไม้หันอากาศ จึงน่าจะจารึกหลัง พ.ศ. 1902 มีผู้ถกเถียงว่าพระมหาเถรฯ อาจใช้ไม้หันอากาศมาก่อนพระเจ้าลิไทยก็ได้ อย่างไรก็ดีจารึกหลักที่ 2 ไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 1884 เพราะพระมหาเถรฯ ไปไหว้พระทันตธาตุที่เมืองกำพไล ลังกา พระทันตธาตุลังกาจะย้ายตามเมืองหลวงไปเสมอ และเมืองกำพไลเป็นเมืองหลวงของลังกาเริ่มแต่ พ.ศ. 1884 เป็นต้นมา พระเจ้าลิไทยทรงเห็นประโยชน์ของการใช้ไม้หันอากาศ จึงทรงใช้เครื่องหมายนี้ตั้งแต่จารึกหลักที่ 5 พ.ศ. 1904 หากพระมหาเถรฯ ใช้ไม้หันอากาศในจารึกหลักที่ 2 ก่อน พ.ศ. 1900 พระเจ้าลิไทยก็น่าจะทรงใช้ไม้หันอากาศในจารึกหลักที่ 3 พ.ศ. 1900 และหลักที่ 8 ด้าน 1-2 พ.ศ. 1902 ด้วย
“ณ” ในจารึกก่อนสมัยพระเจ้าลิไทยเขียนเป็นรูป “ฌ” มาจนถึง พ.ศ. 1911 “ณ” ในรูปปัจจุบันเพิ่งปรากฏในจารึกที่มีศักราชกำกับเป็นหลักแรกคือจารึกวัดพระยืน ลำพูน พ.ศ. 1914 จารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุมใช้ “ณ” รูป “ฌ” ทุกตัว ยกเว้นตัวสุดท้ายในบรรทัดที่ 93 ด้านที่ 2 เป็นรูป “ณ” ปัจจุบัน ฉะนั้นตอนท้ายของจารึกหลักที่ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. 1914 ส่วนจารึกชาดกวัดศรีชุมใช้ “ณ” รูปปัจจุบันทุกตัว จึงน่าจะไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 1914
คำ “พระยา” สมัยดั้งเดิมใช้ “พรญา” ไม่มีสระอะ เพิ่งมาเริ่มใช้ “พระญา” มีสระอะในจารึกหลักที่ 64 เมืองน่าน พ.ศ. 1935 ส่วนจารึกสุโขทัยเอง เพิ่งใช้ “พระญา” มีสระอะในจารึกหลักที่ 46 พ.ศ. 1947 จารึกชาดกวัดศรีชุมใช้ “พระญา” มีสระอะ จึงน่าจะมีอายุไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. 1935
“นฤคหิต” ซึ่งใช้ประกอบกับสระอาเป็นสระอำ มีรูป เป็นครึ่งวงกลมหรือกะลาคว่ำ มาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าลิไทยมาเปลี่ยนเป็นรูปวงกลมในจารึกหลักที่ 45 พ.ศ. 1935 (ส่วนที่อาจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช รายงานไว้ใน “วิวัฒนาการอักษรและอักขรวิธีไทย” ว่า นฤคหิตเปลี่ยนจากครึ่งวงกลมมาเป็นจุดในจารึกหลักที่ 44 พ.ศ. 1916 นั้น เดิมอ่านศักราชไว้ผิด บัดนี้กรมศิลปากรได้แก้ไข พ.ศ. 1916 เป็น พ.ศ. 1937 แล้ว) จารึกชาดกวัดศรีชุม นฤคหิต เป็นรูปวงกลมจึงน่าจะจารึกขึ้นใน พ.ศ. 1935 หรือหลังจากนั้น
นอกจากนี้จารึกชาดกวัดศรีชุมยังใช้ “ป” และ “ฝ” ซึ่งขมวดปลายเส้นหลังเหมือนไม้หันอากาศ ซึ่งเป็นรูปที่พบครั้งแรกในจารึก พ.ศ. 1914
“ร” ที่เส้นบนไม่หยักเป็นสองลอน ปรากฏครั้งแรกในจารึก พ.ศ. 1922 จารึกชาดกวัดศรีชุมใช้ “ส” รูปที่เส้นบนโค้งลงและไส้ที่ตัดเส้นหลังโค้งขึ้น อักษร “อ” ที่เส้นบนลากขึ้นไปสูงกว่าหัว อักษร “อ” ที่เส้นตั้งไม่หยักก็ดี และ สระอะ เป็นรูปวงกลมสองวงก็ดี ปรากฏเช่นนี้เป็นครั้งแรกในจารึก พ.ศ. 1935 และอักษรอีกหลายตัวมีรูปคล้ายอักษรในจารึก พ.ศ. 1935 จึงควรสรุปได้ว่าจารึกชาดกวัดศรีชุม จารึกขึ้นใกล้เคียงกับ พ.ศ. 1935
“ว” ในจารึกชาดกวัดศรีชุม กระหวัดเส้นบนทบไปข้างหลังทำให้มองคล้าย “ร”ปรากฏครั้งแรกในจารึก พ.ศ. 1956
ในด้านศิลปะ อาจารย์บรรลือ ขอรวมเดช ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโททางประวัติศาสตร์ศิลป์ เรื่องจารึกชาดกวัดศรีชุมอยู่ และสรุปจากหน้าตาคนในแผ่นภาพว่าคางยังไม่แหลม และดูรายละเอียดบนศิราภรณ์เทียบกับลายที่ลังกาแล้ว เห็นว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมน่าจะมีอายุประมาณต้นสมัยพระเจ้าลิไทย หรืออาจจะเป็นปลายสมัยพระเจ้าเลอไทยก็เป็นได้ ศ.ดร.ประเสริฐ ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่เห็นว่ารูปชาดกนี้อาจวาดโดยพระภิกษุลังกา หรือคนไทยไปลอกแบบจากลังกามา โดยที่อิทธิพลของศิลปะไทยยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงต้นแบบของลังกาก็เป็นได้ ถ้าจะหาเหตุผลอื่นมาประกอบ ศ.ดร.ประเสริฐ เห็นว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมอาจเกิดขึ้นสมัยที่ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์เก่า เริ่มเข้ามายังอาณาจักรสุโขทัยใน พ.ศ. 1900 หรือสมัยที่ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ใหม่เข้ามายังอาณาจักรสุโขทัย ใน พ.ศ. 1970 ก็เป็นได้ แต่ถ้าจะยืนหลักการรูปตัวอักษรแล้ว ก็จะต้องสรุปว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1935 ข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และทางตัวอักษรต่างกันประมาณ 50 ปี นับว่าไม่ขัดแย้งกัน แต่เสริมให้เห็นว่า อักษรในจารึกชาดกวัดศรีชุม มิได้เก่าไปถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแต่อย่างใด
2) นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า รูปอักษรจารึกภาพชาดกเหล่านี้จารึกขึ้นก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) แต่นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่ารูปอักษรจารึกและอักขรวิธีในจารึกภาพชาดกนี้ น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 (พ.ศ. 1801-2000)
ลักษณะของภาพเล่าเรื่องชาดกนั้นจับเป็นตอน มิได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ศิลปินผู้สร้างจำหลักรูปบุคคล รูปสัตว์ และองค์ประกอบอื่น ๆ แสดงให้เห็นและเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องเท่านั้น ส่วนบริเวณที่ว่างของภาพเหล่านั้น จารึกอักษรข้อความเพื่ออธิบายภาพบอกชื่อเรื่องชาดก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาตินั้น ๆ เป็นการสรุปเรื่องและตอนท้ายจะบอกลำดับเรื่องไว้ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ฉ่ำ ทองคำวรรณ และประสาร บุญประคอง, “กาฬกัณณีชาดก (แผ่นที่ 82),” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 : ประมวลจารึกอักษรไทย ภาพลายเส้นจำหลักบนแผ่นหิน เกี่ยวกับเรื่องชาดกต่างๆ ในชาดกห้าร้อยชาติ ที่ประดับไว้ในเจดีย์วัดศรีชุม สุโขทัย (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2515), 126-127.
2) เทิม มีเต็ม, “ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 391-444.
3) ประเสริฐ ณ นคร, “การกำหนดอายุจารึกชาดกวัดศรีชุม,” ใน งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของ ประเสริฐ ณ นคร (นครปฐม : โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน, 2534), 41-43.
4) สมบัติ จำปาเงิน, นิบาตชาดก ฉบับภาษาสยาม (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2541), 33.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2515)