จารึกที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 23 (คาถาธรรมบท ฑัณทวรรคที่ 10)

จารึก

จารึกที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 23 (คาถาธรรมบท ฑัณทวรรคที่ 10)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2550 14:35:22 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 15:52:11 )

ชื่อจารึก

จารึกที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 23 (คาถาธรรมบท ฑัณทวรรคที่ 10)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกอักษรขอมย่อที่ฝาผนังพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้านที่องค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 23

อักษรที่มีในจารึก

ขอมธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2445

ภาษา

บาลี

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 14 บรรทัด

วัตถุจารึก

ปูน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอักษรมีลักษณะคล้ายเป็นการแกะจากแม่พิมพ์

ขนาดวัตถุ

กว้าง 175 ซม. ยาว 195 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

ในหนังสือ จารึกที่องค์พระปฐมเจดีย์ กำหนดเป็น “จารึกอักษรขอมย่อที่ฝาผนังพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้านที่องค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 23”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

พิมพ์เผยแพร่

จารึกที่องค์พระปฐมเจดีย์ (กรุงเทพ : จุฑารัตน์การพิมพ์, 2528), 43-44.

ประวัติ

จารึกนี้เป็นหนึ่งในจารึกจำนวน 120 แผ่น บนผนังระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ โดยเริ่มห้องที่ 1 จากวิหารหลวงทางด้านทิศตะวันออกไปทางวิหารด้านทิศใต้ 30 ห้อง จากวิหารใต้ไปทางวิหารตะวันตก 30 ห้อง จากวิหารตะวันตกถึงวิหารเหนือ (วิหารพระร่วง) 30 ห้อง จากวิหารเหนือถึงวิหารตะวันออก 30 ห้อง รวม 120 ห้อง จารึกห้องที่ 1 เป็นคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณ และเหตุผลที่จารึกคาถาธรรม รวมถึงคาถาธรรมบทแรก ห้องที่ 2-66 เป็นคาถาธรรมบท ห้องที่ 67-96 เป็นอัฐวรรคคาถา ในพระไตรปิฎกเล่ม 25 ห้องที่ 97-115 เป็นข้อความจากพระไตรปิฎกเล่ม 25 ปารายนวรรค ห้องที่ 116-120 เป็น ปกิณกคาถา จากพระไตรปิฎกเล่ม 14-15 และ 20 ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้กล่าวถึงการสร้างจารึกเหล่านี้ไว้ในหนังสือเรื่อง พระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2408 ว่า “ได้ก่อวิหารไว้สี่ทิศ แล้วชักระเบียงกลมล้อมรอบถึงกันทั้งสี่ด้านจดจารึกกถาธรรมยกไว้ทุกห้อง” ดังนั้น จึงมีการสันนิษฐานว่า คงเริ่มจารึกอย่างช้าเมื่อ พ.ศ. 2408 ในสมัยรัชกาลที่ 4 และมาสำเร็จใน พ.ศ. 2445 สมัยรัชกาลที่ 5 ดังปรากฏหลักฐานที่ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม มีใบบอกไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า การซ่อมตัวอักษรที่พระปฐมเจดีย์ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ขอให้ท่านผู้รู้ไปตรวจสอบก่อน เพราะเกรงว่าจะผิดเพี้ยนกับแบบเดิมไปบ้าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงอาราธนาพระสาสนโสภณ (อหิงฺสโก อ่อน) วัดราชประดิษฐ์ไปตรวจสอบ และได้พบว่ามีทั้งที่ชำรุด และที่เกิดจากความผิดพลาดของช่างถึง 958 แห่ง พระสาสนโสภณได้เขียนข้อความที่ถูกต้องลงในกระดาษ ทากาวติดไว้เพื่อให้ช่างแก้ไขตามนั้น ข้อมูลและคำอ่าน-คำแปล ของจารึกที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ทั้งหมด มีการตีพิมพ์ในหนังสือ จารึกที่องค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2528 โดยมีผู้อ่าน 2 ท่าน ได้แก่ สิริ เพ็ชรไชย ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรมการศาสนา อ่านจารึกห้องที่ 1-66 และ เจษฎ์ ปรีชานนท์ อ่านจารึกห้องที่ 67-120 ส่วนคำแปลนั้นนำมาจากพระไตรปิฎกของกรมการศาสนา และหนังสือของมหามกุฏราชวิทยาลัย

เนื้อหาโดยสังเขป

คาถาธรรมบท ฑัณทวรรคที่ 10

ผู้สร้าง

จางวางขุนทอง

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากหลักฐานการสร้างจารึกซึ่งระบุว่า จางวางขุนทอง สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 121 ตรงกับ พ.ศ. 2445 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411-2453)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2550, จาก :
เจษฎ์ ปรีชานนท์, “จารึกอักษรขอมย่อที่ฝาผนังพระระเบียงคดทั้ง 4 ด้านที่องค์พระปฐมเจดีย์,” ใน จารึกที่องค์พระปฐมเจดีย์ (กรุงเทพฯ : จุฑารัตน์การพิมพ์, 2528), (1)-239.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 26-28 มิถุนายน 2550