อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19-20, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินดินดาน, ลักษณะ-จารึกบนแผ่นรูปสี่เหลี่ยม, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกวัดศรีชุม สุโขทัย, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, เรื่อง-วรรณกรรม, เรื่อง-วรรณกรรม-ชาดก,
โพสต์เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2550 15:09:55 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 14:15:58 )
ชื่อจารึก |
จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 31 (วาตมิคคชาดก) |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
วาตมิคคชาดก (แผ่นที่ 31), ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม (วาตมิคคชาดก), สท. 32 |
อักษรที่มีในจารึก |
ไทยสุโขทัย |
ศักราช |
พุทธศตวรรษ 19-20 |
ภาษา |
ไทย |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 5 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หินดินดาน |
ลักษณะวัตถุ |
แผ่นสี่เหลี่ยม |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 32” |
ปีที่พบจารึก |
พ.ศ. 2515 |
สถานที่พบ |
เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย |
ผู้พบ |
กองโบราณคดี กรมศิลปากร |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
เพดานอุโมงค์วัดศรีชุม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 (กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2515), 29-31. |
ประวัติ |
ศิลาจารึกภาพชาดกวัดศรีชุมเป็นภาพจำหลักลายเส้นบนแผ่นศิลาเล่าเรื่องในชาดกต่าง ๆ แต่เนื่องจากศิลาแต่ละแผ่นมีขนาดไม่เท่ากัน บางแผ่นจึงจำหลักภาพได้เพียงเรื่องเดียว แต่บางแผ่นจำหลักได้ 4-5 เรื่องก็มี ภาพจำหลักเล่าเรื่องชาดกเหล่านี้ประดับอยู่ที่เพดานภายในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สภาพทั่วไปของแผ่นศิลาชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและลายเส้นรูปอักษรลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ศิลาบางแผ่นสูญหายไป ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียง 40 แผ่นเท่านั้น (จารึกสมัยสุโขทัย, 2526) และในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5 มี 52 แผ่น (ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 5, 2515) |
เนื้อหาโดยสังเขป |
จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม (วาตมิคคชาดก) นั้น เป็นภาพพระราชวังพระเจ้าพรหมทัต (พระโพธิสัตว์) ประทับนั่งอยู่ที่หน้าทวาร มีบุรุษผู้รักษาอุทยานหมอบเฝ้าอยู่คนหนึ่ง ข้างหลังบุรุษนั้นมีรูปเนื้อ (เลียงผา) มีอักษรจารึกอยู่มุมบนข้างซ้าย 5 บรรทัด เรื่องราวมีอยู่ว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพาราณสี ทรงติเตียนเลียงผาตัวหนึ่งซึ่งหลงรสหญ้าทาน้ำผึ้ง วิ่งตามคนเข้ามาถึงหน้าพระลาน |
ผู้สร้าง |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
การกำหนดอายุ |
1) จาก บทความเรื่อง การกำหนดอายุจารึกชาดกวัดศรีชุม ของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สรุปได้ว่า แผ่นภาพชาดกนี้สร้างขึ้นเพื่อติดตั้งไว้ในอุโมงค์วัดศรีชุมมาแต่แรก หรือจะได้ขนย้ายมาจากที่อื่น เช่น วัดมหาธาตุสุโขทัยก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ส่วนในเรื่องตัวอักษรนั้น มีบางท่านสันนิษฐานว่า เป็นอักษรไทยที่เก่ากว่าตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1826 (จารึกหลักที่ 1) แต่ ศ.ดร.ประเสริฐ กำหนดอายุตัวอักษรในจารึกชาดกวัดศรีชุมว่าจารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. 1935 โดยใช้รูปลักษณะตัวอักษรและอักขรวิธีเป็นตัวกำหนดดังนี้ ในด้านศิลปะ อาจารย์บรรลือ ขอรวมเดช ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโททางประวัติศาสตร์ศิลป์ เรื่องจารึกชาดกวัดศรีชุมอยู่ และสรุปจากหน้าตาคนในแผ่นภาพว่าคางยังไม่แหลม และดูรายละเอียดบนศิราภรณ์เทียบกับลายที่ลังกาแล้ว เห็นว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมน่าจะมีอายุประมาณต้นสมัยพระเจ้าลิไทย หรืออาจจะเป็นปลายสมัยพระเจ้าเลอไทยก็เป็นได้ ศ.ดร.ประเสริฐ ไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่เห็นว่ารูปชาดกนี้อาจวาดโดยพระภิกษุลังกา หรือคนไทยไปลอกแบบจากลังกามา โดยที่อิทธิพลของศิลปะไทยยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงต้นแบบของลังกาก็เป็นได้ ถ้าจะหาเหตุผลอื่นมาประกอบ ศ.ดร. ประเสริฐ เห็นว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมอาจเกิดขึ้นสมัยที่ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์เก่า เริ่มเข้ามายังอาณาจักรสุโขทัยใน พ.ศ. 1900 หรือสมัยที่ศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ใหม่เข้ามายังอาณาจักรสุโขทัย ใน พ.ศ. 1970 ก็เป็นได้ แต่ถ้าจะยืนหลักการรูปตัวอักษรแล้ว ก็จะต้องสรุปว่าจารึกชาดกวัดศรีชุมเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1935 ข้อสรุปทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และทางตัวอักษรต่างกันประมาณ 50 ปี นับว่าไม่ขัดแย้งกัน แต่เสริมให้เห็นว่า อักษรในจารึกชาดกวัดศรีชุม มิได้เก่าไปถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแต่อย่างใด
2) นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า รูปอักษรจารึกภาพชาดกเหล่านี้จารึกขึ้นก่อนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) แต่นักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่ารูปอักษรจารึกและอักขรวิธีในจารึกภาพชาดกนี้ น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 (พ.ศ. 1801-2000) ลักษณะของภาพเล่าเรื่องชาดกนั้นจับเป็นตอน มิได้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ศิลปินผู้สร้างจำหลักรูปบุคคล รูปสัตว์ และองค์ประกอบอื่น ๆ แสดงให้เห็นและเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องเท่านั้น ส่วนบริเวณที่ว่างของภาพเหล่านั้น จารึกอักษรข้อความเพื่ออธิบายภาพบอกชื่อเรื่องชาดก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาตินั้น ๆ เป็นการสรุปเรื่องและตอนท้ายจะบอกลำดับเรื่องไว้ด้วย |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก : |
ภาพประกอบ |
ภาพถ่ายจารึกจาก : จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526) |