จารึกวัดเขากบ

จารึก

จารึกวัดเขากบ

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 10:19:17 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดเขากบ

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 11 ศิลาจารึกเขากบ เมืองปากน้ำโพ, ศิลาจารึกวัดเขากบ พุทธศตวรรษที่ 20, นว. 2

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 19-20

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 48 บรรทัด ด้าน 1 มี 19 บรรทัด ด้าน 2 มี 29 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยม (ชำรุด) สันนิษฐานว่าเดิมคงมีลักษณะเป็นแผ่นใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 46 ซม. สูง 77 ซม. หนา 4.5 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นว. 2”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 11 ศิลาจารึกเขากบ เมืองปากน้ำโพ”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดเขากบ พุทธศตวรรษที่ 20”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/299/2550”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2464

สถานที่พบ

บนเขากบ เหนือปากน้ำโพ ตำบลปากน้ำโพ, อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ผู้พบ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล 6 กันยายน 2566)

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 135-139.
2) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 182-188.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากบนเขากบ ที่เหนือปากน้ำโพทางฝั่งตะวันตก ใกล้กับรอยพระพุทธบาทของพระธรรมราชาที่ 1 ซึ่งในศิลาจารึกนครชุมเรียกว่า “พระบาทลักษณะ ณ ที่ปากยมพระบาง” ในปลาย พ.ศ. 2464 ครั้งพระองค์เสด็จกลับมาจากมณฑลพายัพ และเสด็จแวะประทับที่นั่น แล้วได้รับสั่งให้ส่งลงมายังหอพระสมุดฯ ลักษณะเป็นหินทรายสูง 80 ซม. กว้าง 47 ซม. ด้านข้าง 6 ซม. แต่เดิมทีเห็นจะสูงกว่านี้มาก เพราะท่อนบนได้หักหายไปเสีย และไม่ทราบว่ามากน้อยเท่าใด จารึกทั้ง 4 ด้านแต่ด้านข้างเลือนเต็มทีจนอ่านไม่ได้เลย เพียงแต่รู้ว่าเป็นรอยจารึกเท่านั้น

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 เป็นเรื่องสร้างรามเจดีย์และรามวิหาร ที่รามอาวาสบนยอดเขาสุมนกูฏ คือเขากบนั้นเอง ผู้สร้างพระเจดีย์และวิหาร ขออุทิศส่วนกุศลให้พระยาพระราม ผู้เป็นน้อง ชื่อผู้สร้างไม่ปรากฏในคำจารึก หรือบางทีอาจปรากฏอยู่ในท่อนที่หักหายไปก็ได้ แต่สันนิษฐานได้โดยง่าย เพราะในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ มีความปรากฏว่า “ศักราช 781 กุนศกมีข่าวมาว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า นฤพาน และเมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล แล้วจึงเสด็จขึ้นไปเถิงเมืองพระบาง ครั้งนั้นพระยาบาลเมือง และพระยามรามออกถวายบังคม” ดังนี้ สันนิษฐานว่า พี่ของพระยาพระรามเห็นจะเป็นพระยาบาลเมืองนั่นเอง พระรามเจดีย์ พระรามวิหาร และศิลาจารึกหลักนี้จะได้สร้างและจารึกทีหลัง จ.ศ. 781 หรือ พ.ศ. 1962 ด้านที่ 2 เห็นจะได้จารึกภายหลังด้านที่ 1 เป็นเรื่องผู้ใดผู้หนึ่งไม่ปรากฏชื่อ ได้บำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ แล้วแวะไปเที่ยวเสาะแสวงหาพระธาตุจนถึงเมืองอินเดียและลังกา แต่จะได้จารึกภายหลังกี่ปี ไม่ปรากฏชัด

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า ศิลาจารึกหลักนี้น่าจะจารึกขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 1900-1904 แต่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า น่าจะจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1962

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดเขากบ พุทธศตวรรษที่ 20,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 182-188.
2) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 11 ศิลาจารึกวัดเขากบ,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 135-139.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526)
2) ภาพถ่ายจารึกจากการสำรวจภาคสนาม : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 6 กันยายน 2566
3) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 8 กันยายน 2566