จารึกบนตราดินเผาเมืองจันเสน 7 (เลขทะเบียน 2994/38)

จารึก

จารึกบนตราดินเผาเมืองจันเสน 7 (เลขทะเบียน 2994/38)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 18:12:17 )

ชื่อจารึก

จารึกบนตราดินเผาเมืองจันเสน 7 (เลขทะเบียน 2994/38)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จส. 2994/38

อักษรที่มีในจารึก

ยังไม่เป็นที่ยุติ

ศักราช

ไม่ปรากฏศักราช

ภาษา

ยังไม่เป็นที่ยุติ

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 1 บรรทัด

วัตถุจารึก

ดินเผา

ลักษณะวัตถุ

ตรา (sealings) สีน้ำตาล รูปร่างค่อนข้างกลม แบน

ขนาดวัตถุ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.1 ซม. หนา 2.4 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

พิพิธภัณฑ์จันเสน กำหนดเป็น “จส. 2994/38”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

เมืองจันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ผู้พบ

ชาวบ้านตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑ์จันเสน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

พิมพ์เผยแพร่

สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539), 190-197.

ประวัติ

ในส่วนของตัวอักษรจารึกอยู่ทางด้านข้างของตราดินเผา ซึ่งมีภาพนูนต่ำรูปสัตว์ชนิดหนึ่งปรากฏอยู่ทางด้านหน้า มีลักษณะแสดงอาการเคลื่อนไหว ขาหน้าข้างซ้ายยกขึ้น ขาหลังขาขวาอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการอ่าน-แปล และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2539 ในบทความชื่อ “จารึกดินเผาประทับตรา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14” โดย ชะเอม แก้วคล้าย ในหนังสือ สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อนำรายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์จันเสน ต่อมา ใน พ.ศ. 2547 มีอ่านจารึกดังกล่าวอีกครั้ง โดย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha จาก มหาวิทยาลัย Delhi ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม และ อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้อมูลเกี่ยวกับจารึกรวมทั้งคำอ่าน-คำแปลในครั้งล่าสุดนี้ปรากฏใน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาความหมายและรูปแบบของตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” ของ อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ ซึ่งเป็นการศึกษาความหมายและลักษณะทางประติมานวิทยาเพื่อให้ทราบหน้าที่ และประโยชน์ใช้สอย เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของ ตราประทับที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กับเมืองโบราณอื่นๆ ตราประทับที่พบมีทั้งที่ปรากฏตัวอักษรและเป็นรูปภาพต่างๆ โดยแบ่งเป็นตราประทับ (seals) และตรา (sealings) อย่างไรก็ตามการอ่าน-แปลและกำหนดอายุในแต่ละครั้งมีความคิดเห็นที่แตกต่าง กันไป กล่าวคือ ชะเอม แก้วคล้าย แสดงความคิดเห็นว่า อักษรในจารึกเป็นอักษรปัลลวะที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 (ในปัจจุบันมีการเรียกอักษรในช่วงเวลาดังกล่าวว่า “อักษรหลังปัลลวะ”) ในขณะที่ ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม วิเคราะห์ว่าเป็นอักษรปัลลวะ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ชะเอม แก้วคล้าย Prof. Dr. Ravindra Vasishtha และ ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ได้ระบุว่าจารึกดังกล่าวเป็นภาษาสันสกฤต ส่วน อ. ชัยณรงค์ กลิ่นน้อย ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นภาษาใด

เนื้อหาโดยสังเขป

เนื้อหาจากการอ่าน-แปลของ ชะเอม แก้วคล้าย คือ “พญาวานร” โดยวิเคราะห์ไว้ว่า หมายถึง หนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอกของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนของ Prof. Dr. Ravindra Vasishtha และ ผศ. ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ให้ความหมายว่า “ผู้สร้าง”

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

การกำหนดอายุของจารึกนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมาข้างต้น

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, นวพรรณ ภัทรมูล และพันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547 และ 2549, จาก :
ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกดินเผาประทับตรา อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14,” ใน สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก = Chansen : a social and cultural history (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539), 190-197.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : สังคมและวัฒนธรรมจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2539)