จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

คำอ่าน-แปล

ชุดคำค้น 17 คำ

อายุ-จารึก พ.ศ. 1886, อายุ-จารึก พ.ศ. 1949, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 19, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 20, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย, ยุคสมัย-จารึกสมัยสุโขทัย-พระยางั่วนำถม, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, เรื่อง-การปกครองสงฆ์, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย, บุคคล-กษัตริย์และผู้ครองกรุงสุโขทัย-พระมหาธรรมราชาที่ 1, บุคคล-พระมหากัลยาณเถระ, บุคคล-พระมหาธรรมราชาที่ 1, บุคคล-พระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศีลคนธวันวาสีธรรมกิตติสังฆราชมหาสามีเจ้า,

จารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1)

จารึก

จารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1)

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 12:52:20 )

ชื่อจารึก

จารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1)

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

หลักที่ 9 ศิลาจารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1) จังหวัดสุโขทัย, ศิลาจารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 1 พุทธศักราช 1949, สท.6

อักษรที่มีในจารึก

ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1949

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 34 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 55 ซม. สูง 83 ซม. หนา 4 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “สท. 6”
2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 9 ศิลาจารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1) จังหวัดสุโขทัย”
3) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 1 พุทธศักราช 1949”
4) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น “99/16/2560”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2466

สถานที่พบ

บนฐานพระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

เจ้าหน้าที่หอพระสมุดฯ

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) บาทหลวงสมิธ ได้แปลและตีพิมพ์ในหนังสือ เสียมอองเซียง (แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 3)
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 ([กรุงเทพฯ] : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 119-122.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 250-256.

ประวัติ

ศิลาจารึกหลักนี้ เป็นแผ่นหินบางๆ มี 3 แผ่นด้วยกัน จารึกด้านเดียว เหมือนกันทั้ง 3 แผ่น เป็นตอนๆ ตอนละแผ่น เรื่องต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน แผ่นที่ 1 เดิมอยู่บนฐานพระเจดีย์วัดบวรนิเวศฯ นำมาไว้ในหอพระสมุดฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2466 ศิลาจารึกชนิดนี้อาจมีมากกว่า 3 แผ่นก็เป็นได้ คือศักราชระหว่างแผ่นที่ 2 กับแผ่นที่ 3 ไกลกันมาก ไม่เหมือนแผ่นที่ 1 กับแผ่นที่ 2 อย่างไรก็ดี แผ่นที่ 1 เป็นแผ่นต้น แผ่นที่ 2 และ 3 เป็นแผ่นสุดท้ายแน่นอน แต่อาจมีแผ่นอื่นๆ อีก ในระหว่างแผ่นที่ 2 กับ 3 เหตุที่ทำให้สงสัยเช่นนี้ คือศักราชที่ปรากฏในแผ่นที่ 1 เป็น 723 แผ่นที่ 2 เป็น 724 เรียงกัน แต่ในแผ่นที่ 3 กล่าวถึงศักราช 750 ซึ่งห่างกันหลายปี ฉะนั้นอาจมีแผ่นอื่นแทรกอีกก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันยังไม่พบ ก่อนที่ศิลาจารึกทั้ง 3 แผ่นนี้จะอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ และที่พิพิธภัณฑสถาน ไม่ปรากฏว่าได้พบที่ไหน และใครเป็นผู้นำเขามา สันนิษฐานว่า เดิมจะอยู่ที่วัดป่าแดง เพราะในคำจารึกแผ่นที่ 1 บรรทัดที่ 17 และแผ่นที่ 2 บรรทัดที่ 6 และที่ 10 ออกชื่อว่า “วัดป่าแดง” ปัจจุบันในบริเวณเมืองสุโขทัย ไม่มีวัดที่ชื่อนี้เลย อาจเป็นวัดซึ่งพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า วัดอรัญญิก คือวัดสะพานหินทุกวันนี้ก็ได้ เพราะคำจารึกบอกไว้ชัดว่า วัดป่าแดง เป็นที่อยู่ของเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญญวาสี หรือมิฉะนั้นอาจเป็นวัดร้าง ซึ่งอยู่ริมถนนพระร่วง กึ่งทางระหว่างสุโขทัยและศรีสัชนาลัย (ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง อธิบายว่า วัดป่าแดงอยู่เชิงเขาพระศรี ห่างจากศรีสัชนาลัยไปทางใต้ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดกัลยาวนาวาส) ศิลาหลักนี้จารึกเมื่อ จ.ศ. 768 (พ.ศ. 1949) ครั้งเมื่อพระสังฆปรินายกนามว่า พระบรมครูติโลกดิลกรัตนศีลคันธวันวาสีธรรมกิตติ สังฆราชมหาสามีเจ้า เจ้าคณะอรัญญวาสี ได้ตั้งพระมงคลวิลาสมหาเถรเป็นเจ้าอาวาสวัดกัลยาณวนาราม เป็นครั้งที่ 2 คือครั้งที่ 1 เมื่อพระสังฆปรินายกนี้ ยังดำรงตำแหน่งเป็นสังฆราช ได้ตั้งพระเถระองค์นี้ เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่มีพระเถระอีก 2 องค์ คือพระสาริปุตตมหาเถร และพระพุทธวงศ์มหาเถร ไม่มีความเห็นชอบด้วย จนเป็นเหตุเกิดวิวาทาธิกรณ์ขึ้น เพื่อให้คนทั้งหลายทราบเหตุที่ท่านมีอำนาจตั้งพระมงคลวิลาส เป็นเจ้าอาวาสในวัดกัลยาณวนารามครั้งที่ 2 นี้ได้ ท่านจึงได้เล่าประวัตินี้ไว้ให้ทราบในศิลาจารึกวัดป่าแดง แผ่นที่ 1-3

เนื้อหาโดยสังเขป

เมื่อ จ.ศ. 705 (พ.ศ. 1886) ครั้งท่านยังเป็นศิษย์พระพระมหากัลยาณเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง จนเมื่อ จ.ศ. 723 พระมหากัลยาณเถระอาพาธหนัก และทราบว่าจะต้องถึงมรณภาพแน่นอน จึงให้ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันและถามที่ประชุมว่าจะเห็นพระเถระรูปใดที่สมควรจะรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแดงแทนได้ ที่ประชุมได้อุปโลกตัวท่านให้เป็นเจ้าอาวาสแทน และเวลาที่พระธรรมราชาที่ 1 เจ้าเมืองสุโขทัย ได้เสด็จมากระทำสักการะบูชาพระศพพระมหากัลยาณเถระ ก็ได้ทรงตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสในวัดป่าแดงอีก และให้เป็นเจ้าคณะในอรัญญวาสีด้วย นอกจากนี้ในปี จ.ศ. 721-722 (พ.ศ. 1902-1903) พระธรรมราชาที่ 1 ทรงนำพลไปเมืองแพร่

ผู้สร้าง

พระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศีลคนธวันวาสีธรรมกิตติสังฆราชมหาสามีเจ้า พระสังฆปรินายก

การกำหนดอายุ

ข้อความจารึกในแผ่นที่ 3 บรรทัดที่ 24 บอกศักราช 768 (จุลศักราช) ตรงกับ พ.ศ. 1949

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ยอร์ช เซเดส์, “ศิลาจารึกวัดป่าแดง พุทธศักราช 1949,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 250-256.
2) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 9 ศิลาจารึกวัดป่าแดง จังหวัดสุโขทัย,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. 2467 ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521), 119-122.

ภาพประกอบ

1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-17, ไฟล์; St_0600_c)
2) ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากการสำรวจภาคสนาม : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำรวจเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566