จารึกบ้านเมย

จารึก

จารึกบ้านเมย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 18:22:40 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 19:51:03 )

ชื่อจารึก

จารึกบ้านเมย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ขก.18

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1596

ภาษา

เขมร

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 15 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินทราย

ลักษณะวัตถุ

ชิ้นส่วนกรอบประตูพระปรางค์แบบลพบุรี

ขนาดวัตถุ

กว้าง 40 ซม. สูง 124 ซม. หนา 25 ซม.

ปีที่พบจารึก

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523

สถานที่พบ

บ้านเมย ตำบลหนองสองห้อง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (สำรวจ 24 มีนาคม 2559)

พิมพ์เผยแพร่

วารสาร ศิลปากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 (พฤษฎาคม-มิถุนายน 2543) : 74-78.

ประวัติ

ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ ได้รับสำเนาจารึกหนึ่งแผ่นพร้อมด้วยบันทึกนำส่งจากหน่วยศิลปากรที่ 7 (ปัจจุบันคือ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9) ใจความว่า “ตามที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ไปดำเนินการตรวสอบโบราณสถานที่จะค้ำยันในเขตจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2523 แล้วนั้น ได้รับจดหมายจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามว่า ที่บ้านเมย ตำบลหนองสองห้อง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ได้มีผู้ขนย้ายวัตถุโบราณจากที่ตั้งเดิมมาไว้ที่วัด และที่โบราณสถานแห่งนี้ ยังมิได้มีการสำรวจ
ดังนั้น หน่วยศิลปากรที่ 7 จึงได้ไปตรวจสอบ พบชิ้นส่วนของศิลาทรายมีอักษรจารึก จากลักษณะของชิ้นส่วนนั้นสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชิ้นช่วนของกรอบประตูพระปรางค์ในศิลปะแบบลพบุรี จึงได้คัดลอก ถ่ายภาพและแนะนำให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ในที่สามารถกันแดดฝนได้ต่อไป ส่วนบริเวณที่ชาวบ้านนำชิ้นส่วนจารึกมานั้น ได้พบร่องรอยของศาสนสถานในศิลปแบบลพบุรีให้เห็นอยู่เพียงฐานเท่านั้น”
จากบันทึกดังกล่าว มิได้บอกขนาดของหลักจารึก การเขียนประวัติครั้งนี้ จึงวัดจากแผ่นสำเนา ซึ่งคงจะเท่ากับของจริง แต่ถ้าผู้ทำสำเนา คัดลอกเฉพาะที่มีอักษรจารีกเท่านั้น ความกว้างยาวของหลักจารึกอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความจารึกกล่าวถึงพระกัมรเตงอัญอนันตศรีย...ซึ่งเป็นหลานของภควัตปาท กัมรเตงอัญ จุงคะนัง ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้า (คงหมายถึงผู้สร้างจารึกบ้านเมยหลักนี้ บรรทัดที่ 10 บอกว่า ข้าพเจ้าคือ วะมา เพียง 1 คน รับผิดชอบเครื่องบูชาทุกวันๆ ละ 5 ลิ) ทำพลีกรรมบูชาพระกัมรเตงชคัด กันมยังศีลคุณ ในอาศรม ส่วนนาข้าวให้ข้าทาสอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ดูแลและข้าพเจ้าคือวะมาเพียงผู้เดียว ดูแลจัดการเครื่องบูชาประจำวัน วันละ 5 ลิ ข้อความจารึกห้ามไม่ให้หน่วยงานใดๆ เรียกข้าทาสเหล่านี้ไปใช้งานอื่น นอกจากงานรับใช้พระกัมรเตงชคัตในอาศรมเท่านั้น นอกจากนั้น ข้อความจารึกได้จัดความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุและบุคคลสำคัญไว้อย่างเป็นระเบียบด้วย

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

จารึกบรรทัดที่ 1 ได้ระบุมหาศักราช 975 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 1596 รัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ครองอาณาจักรขอมสมัยพระนคร

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2561, จาก :
ชะเอม แก้วคล้าย, “จารึกบ้านเมย,” ศิลปากร 43, 3 (พฤษฎาคม-มิถุนายน 2543) : 74-78.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : วารสาร ศิลปากร ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 (พฤษฎาคม-มิถุนายน 2543)