จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

จารึก

จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 14:02:04 )

ชื่อจารึก

จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงาย

อักษรที่มีในจารึก

ขอมอยุธยา

ศักราช

พุทธศักราช 2190

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 2 บรรทัด

วัตถุจารึก

โลหะ

ลักษณะวัตถุ

แกนปลี

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงาย”

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พิมพ์เผยแพร่

ศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2537) : 20-118.

ประวัติ

จารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช นี้อยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ 1.80 เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน 2 บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2537) บทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช” โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม อนึ่ง จารึกที่พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นจารึกแผ่นทองหุ้มปลียอด เท่าที่มีการพบและอ่านแปลมีทั้งหมด 40 แผ่น ข้อความส่วนใหญ่บอกถึงวันเดือนปีที่ทำการซ่อม, สร้างแผ่นทอง ระบุน้ำหนักทอง และถิ่นที่อยู่ของผู้มีศรัทธา พร้อมทั้งการตั้งความปรารถนา ซึ่งนิยมขอให้ตนได้พบพระศรีอารย์ และถึงแก่นิพพาน (ดูรายละเอียดได้ใน “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช 1-40”) จากหลักฐานที่ปรากฏในตำนาน ทำให้ทราบว่า วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารใน พ.ศ. 2458 พื้นที่ใช้สอยในวัดเมื่อสมัยแรกสร้างจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดให้บริเวณวัดเป็นเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และได้ตั้งเขตสังฆาวาสขึ้นรอบองค์พระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือ มีวัดพระเดิม วัดมังคุด และวัดโรงช้าง ทิศใต้ มีวัดหน้าพระลาน วัดโคกธาตุ วัดท้าวโคตร วัดศพ วัดไฟไหม้ และวัดชายน้ำ ทิศตะวันออก มีวัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ วัดสระเรียง วัดหน้าพระบรมธาตุ และวัดหน้าราหู ทิศตะวันตก มีวัดพระนคร วัดแม่ชี และวัดชลเฉนียน ในปัจจุบัน วัดต่าง ๆ ที่อยู่รอบองค์พระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ วัดโรงช้าง วัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี วัดสิงห์ และวัดแม่ชี กลายเป็นวัดร้าง ส่วนวัดพระเดิมและวัดมังคุดรวมเป็นวัดเดียวกับวัดพระมหาธาตุฯ วัดศพและวัดไฟไหม้รวมเป็นวัดเดียวกับวัดท้าวโคตร สำหรับวัดราหูได้รวมกับวัดหน้าพระธาตุ ในส่วนของพระสงฆ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลองค์พระบรมธาตุ มีจำนวน 4 คณะ แต่ละคณะจะรับผิดชอบประจำอยู่ในทิศต่าง ๆ คือ คณะกาเดิมอยู่ทิศเหนือ คณะการามอยู่ทิศใต้ คณะกาแก้วอยู่ทิศตะวันออก คณะกาชาดอยู่ทิศตะวันตก จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้ตั้งพระสงฆ์คณะต่าง ๆ มีตำแหน่งเป็นพระครู โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้ช่วยอีก 4 รูป คือ พระครูกาเดิม พระครูการาม พระครูกาแก้ว และพระครูกาชาด ตำแหน่งพระครูทั้ง 4 นี้ยังคงจำพรรษาอยู่ในวัดเดิมของตนตามทิศทั้ง 4 มีหน้าที่ดูแลพระบรมธาตุร่วมกัน ใน พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ นิมนต์พระสงฆ์จากวัดเพชรจริกซึ่งมีพระครูวินัยธร (นุ่น) เป็นหัวหน้าสงฆ์จำพรรษาดูแลวัด และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงการซ่อมส่วนยอดของพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งหักลงใน พ.ศ. 2190

ผู้สร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐาน

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากศักราชที่ปรากฏในจารึกคือ พ.ศ. 2190 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2173-2198)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2548, จาก :
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และเทิม มีเต็ม, “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช,” ใน ศิลปากร 37, 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2537) : 20-118.

ภาพประกอบ

ภาพคัดจำลองอักษรจารึกจาก : ศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2537)