จารึกเรื่องนิรยกถา แผ่นที่ 5

จารึก

จารึกเรื่องนิรยกถา แผ่นที่ 5

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 16:38:44 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 17:50:28 )

ชื่อจารึก

จารึกเรื่องนิรยกถา แผ่นที่ 5

อักษรที่มีในจารึก

ไทยธนบุรี-รัตนโกสินทร์

ศักราช

พุทธศักราช 2381

ภาษา

ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวน 1 ด้าน จำนวน 16 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินอ่อนสีดำ

ลักษณะวัตถุ

แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ปีที่พบจารึก

ไม่ปรากฏหลักฐาน

สถานที่พบ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

เสาในพระประธานมุขหลัง ศาลาการเปรียญ (โบสถ์เก่า) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 219-220.
2) ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 221-222.

ประวัติ

จารึกเรื่องนิรยกถา ติดอยู่ที่เสาในประธานมุขหลัง ศาลาการเปรียญ ใน “การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน : ถอดจากโคลงดั้นพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส” ไม่ได้กล่าวถึงจารึกเรื่องนิรยกถา กล่าวถึงเพียงเรื่องเปรตกถา แต่เมื่อพิจารณาจากรูปอักษรและลายสลักที่กรอบจารึกแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นจารึกชุดเดียวกัน นอกจากนั้น ในจารึกเรื่องนิรยกถา แผ่นที่ 1 บรรทัดที่ 1-3 ได้ระบุถึงพระราชโองการที่ให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตจัดการให้ช่างจารึกเรื่องนิรยกถา และเปรตกถา ไว้ที่คอ 2 มุขหน้าและมุขหลังของศาลาการเปรียญอีกด้วย
ปัจจุบันจารึกนึ้ยังอยู่ที่เสาในประธานมุขหลัง ศาลาการเปรียญ หรือที่เรียกว่า “โบสถ์เก่า” ดังเดิม

เนื้อหาโดยสังเขป

เรื่องราวในจารึกแผ่นนี้กล่าวถึงสภาพของสัตว์นรกหรือคนบาปที่จะถูกลงโทษอย่างทุกข์ทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ตามผลกรรมที่กระทำมา ได้แก่ บุคคลผู้กระทำทารุณกรรมต่อสัตว์ เช่น ฝึกช้าง ม้า โค กระบือ ให้ได้รับความเจ็บปวดสาหัส เมื่อตายไป ก็ไปเกิดในสังฆาฏนรก ซึงเต็มไปด้วยเปลวเพลิงอันร้อน ผู้ที่ไปเกิดในนรกขุมนี้นั้นจะมีร่างกายอันวิปริต มีศีรษะเป็นกระบือ ช้าง ฯลฯ โดนนายนิริยบาลเอาพวนเหล็กอันใหญ่ลุกเป็นไฟผูกเข้า แล้วตีด้วยค้อนเหล็ก ให้วิ่งไปเหมือนโคกระบือ
อีกบุคคลผู้เป็นพยานเท็จ และบุคคลผู้ชิงเอาที่ดิน ที่ของวัด ชิงภรรยา และแม้ภรรยาที่นอกใจสามี เหล่านี้ตายไปจะได้ไปเกิดในโรรุวนรก กายจมอยู่ในต้นบัวเหล็กลุกเป็นไฟ นายนิริยบาลก็จะประหารด้วยอาวุธต่างๆ จนตายแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ วนเวียนซ้ำๆ สืบไป

ผู้สร้าง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

การกำหนดอายุ

กำหนดอายุจากข้อความในจารึก แผ่นที่ 1 บรรทัดที่ 1 ที่ว่า “วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 จุลศักราช 1200 ปีจอ สัมฤทธิศก” โดยนำเลขจุลศักราช บวกด้วยเลข 1181 จะได้เท่ากับ 2381 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) (พ.ศ. 2367-2394)

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2556, จาก :
1) “การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน : ถอดจากโคลงดั้นพระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส,” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 75-91.
2) “จารึกเรื่องนิรยกถา ศาลาการเปรียญ (จารึกติดไว้ที่เสาในประธานมุขหลังสิลาจารึกยังอยู่),” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2554), 219-226.
3) “นิรยกถา ศาลาการเปรียญ (จารึกติดไว้ที่เสาในประธานมุขหลังสิลาจารึกยังอยู่),” ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (กรุงเทพฯ : คณะสงฆ์วัดพระเชตุพน, 2544), 217-229.

ภาพประกอบ

ภาพถ่ายจารึกจาก : โครงการพัฒนาฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สำรวจเมื่อ 21-22 กรกฏาคม 2550