"ภูกามยาว" หรือ "พยาว" เป็นชื่อเดิมของจังหวัดพะเยา หลักฐานชื่อเมืองพะเยาเก่าแก่ที่สุดปรากฎในจารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัยหลักที่ 2) ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 14 "พยาว" และตำนานเมืองพะเยา กษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองภูกามยาว มีดังนี้
ขุนจอมธรรม เป็นพระราชโอรสของขุนเงินหรือลาวเงิน กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน พ.ศ. 1602 พ่อขุนเงินหรือลาวเงิน ดำริให้พระราชโอรส 2 องค์ คือ ขุนชิน ให้อยู่ในราชสำนักครองนครเงินยางเชียงแสน และ ขุนจอมธรรม โอรสองค์ที่ 2 ให้ปกครองเมืองภูกามยาว ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ขุนจอมธรรมมีโอรส 2 พระองค์ พระนามว่า ขุนเจื๋อง และ ขุนจอง
ต่อมาขุนเจื๋องครองราชย์สืบแทนขุนจอมธรรม ด้วยพระปรีชาสามารถขุนเจื๋อง หัวเมืองน้อยใหญ่ต่างอ่อนน้อม พระองค์ได้ส่งพระราชโอรสไปครองเมืองต่างๆ ดังนี้ ท้าวผาเรืองครองเมืองพะเยา ท้าวคำห้าวครองเมืองล้านช้าง ท้าวสามชุมแสงครองเมืองน่าน เมื่อท้าวผาเรืองสิ้นพระชนม์ ขุนแพงโอรสจึงครองเมืองพะเยาต่อจากพระราชบิดา แต่ครองเมืองได้เพียง 7 ปี ก็ถูกแย่งราชสมบัติโดยขุนซองผู้เป็นน้า ครองเมือพะเยานานกว่า 20 ปี และมีผู้ขึ้นครองราชสืบต่อมา พ่อขุนงำเมือง เป็นกษัตริย์เมืองพะเยาองค์ที่ 9 นับจากพ่อขุนจอมธรรม ประสูติเมื่อ พ.ศ. 1781 เป็นราชบุตรของพ่อขุนมิ่งเมือง สืบเชื้อสายมาจากท้าวจอมผาเรือง
พ่อขุนงำเมืองเป็นพระสหายกับพ่อขุนมังรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงแห่งเมืองสุโขทัย ในปี พ.ศ.1839 พ่อขุนงำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงทรงช่วยพ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ในสมัยของพ่อขุนงำเมืองมีอำนาจเข้มแข็งและรุ่งเรืองที่สุด เมื่อสิ้นพ่อขุนงำเมืองถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็กๆ ที่ขึ้นอยู่กับเชียงราย
พระยายุธิษฐิระ หรือ พระยาสองแควเก่า เป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 4 (พระบรมปาล) แห่งแคว้นสุโขทัย ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 4 เมืองสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอย่างสมบูรณ์ เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์อยุธยาเสด็จสวรรคต พระราเมศวรพระราชโอรส ขณะนั้นทรงเป็นเจ้าเมืองสองแควอยู่ (ขณะนั้นเมืองสองแควมีความสำคัญรองจากอยุธยาในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง) เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา แล้วเถลิงพระนามเป็น "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" และให้พระยายุธิษฐิระเป็นเจ้าเมืองสองแควแทน
ต่อมามีเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระยายุธิษฐิระจึงหันไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช และช่วยพระเจ้าติโลกราชทำสงครามกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพื่อชิงดินแดนสุโขทัยกลับคืนจากอยุธยา สงครามยืดเยื้อถึง 7 ปี กองทัพล้านนาของพระเจ้าติโลกราชสามารถยึดครองเมืองสำคัญของสุโขทัยได้ครึ่งหนึ่ง เช่น เมืองทุ่งยั้ง เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนอยุธยาได้เมืองสองแคว เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองนครไทย พระยายุธิษฐิระทรงได้รับปูนบำเน็จจากพระเจ้าติโลกราชโปรดชุบเลี้ยงในตำแหน่งพระโอรสบุญธรรม ให้ครองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย รวมถึงพะเยาซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายอาคเนย์ ซึ่งรวมอาณาบริเวณเมืองพร้าว เมืองงาว และกาวน่าน
พระยายุทธิษฐิระได้รับโปรดฯ ให้ไปเป็นเจ้าสี่หมื่นครองเมืองพะเยาและหัวเมืองอาคเนย์ พระยายุธิษฐิระ ทรงทรงทำนุบำรุงเมืองพะเยาเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ทรงสร้างเวียงใหม่ ทรงหล่อพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปแก่นจันทน์ และรอยพระพุทธบาทจากสุโขทัย มาประดิษฐานในเวียงใหม่ของพระองค์ จวบจน พ.ศ. 2022 ทรงมีคดีกับพระเจ้าติโลกราช จึงถูกถอดยศเจ้าเมืองออก แต่ยังได้ความปราณี ยังคงชุบเลี้ยงในฐานะพระโอรสบุญธรรมต่อไป ส่วนเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชทรงเวนราชสมบัติให้นางเจ้าหมื่นเมืองพะเยาปกครองต่อ
เมืองพะเยาเริ่มเสื่อมลง เมื่ออาณาจักรล้านนาถูกพม่ายึดครองเมื่อ พ.ศ. 2101 พม่าเข้าครอบครองเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนาทั้งหมด พร้อมกวาดต้อนผู้คนไปด้วย ทำให้บ้านเมืองต่างๆ ร่วงโรยลง เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ อำนาจของพม่าซี่งปกครองที่เมืองเชียงใหม่อ่อนแอลง บางครั้งก็ถูกก่อกวนจากกองทัพอยุธยา ทำให้บ้านเมืองต่างๆ ในดินแดนล้านนา คิดตั้งตัวเป็นอิสระแล้วแย่งชิงความกันเป็นใหญ่จนเกิดความวุ่นวายทั่วไป ด้วยเหตุนี้เอง ฐานะและความสำคัญของเมืองพะเยาจึงหายจากดินแดนล้านนาราวกับร้างผู้คนไป
ชุดข้อมูล (Dataset) ชุดนี้ได้รวบรวมจารึกที่ปรากฏชื่อผู้ครองเมืองพะเยา อาทิ
จารึกเจ้าสี่หมื่นทำสีมาใหม่
จารึกเจ้าสี่หมื่นทำสีมาใหม่ เนื้อหาโดยสังเขป กล่าวถึง พ.ศ. 2033 เจ้าสี่หมื่นผู้เป็นปู่เลี้ยงของกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้ขึ้นครองเมืองพะเยาสืบต่อจากพระเจ้าสามฝั่งแกน เห็นสีมาเก่าหักแล้วก็ให้ฟันออก แล้วทำสีมาใหม่มาใส่
จารึกเจ้าหัวแสนญาณกัลยา อักษรฝักขาม พ.ศ.2047
จารึกเจ้าหัวแสนกัลยา เนื้อความโดยสังเขป กล่าวว่า พ.ศ. 2047 พ่อหญัวเจ้าหัวแสนญาณกัลยา เจ้าเมืองพะเยา ได้ให้ฝังศิลาจารึกไว้เพื่อประกาศห้ามไม่ให้ผู้ที่กระทำความผิด เข้าไปในวัด
-----------------
อ้างอิง
Museum Thailand, ประวัติศาสตร์พะเยา ศิลาจารึกประวัติศาสตร์อาณาจักรพะเยา, https://www.museumthailand.com/th/1758/storytelling/ประวัติศาสตร์พะเยา
จักรพงษ์ คำบุญเรือง, ตำนานการสร้างเมืองพะเยา, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/990654/
ประวัติศาสตร์เมืองพะเยา, https://www.lannatrip.org/th/gettingtoknow/article?id=3
จารึกวัดศรีชุม, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/177
จารึกเจ้าหัวแสนญาณกัลยา, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1726
จารึกเจ้าสี่หมื่นทำสีมาใหม่, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1557