Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

กิน “แกงยา” แก้ “กระษัย” ในจารึกตำรายาวัดโพธิ์

กิน “แกงยา” แก้ “กระษัย” ในจารึกตำรายาวัดโพธิ์

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เวลา 18:05:39
บทความโดย : ทีมงาน

ในตำรับยาโบราณทั่วไปล้วนประกอบด้วยรายชื่อสมุนไพร เครื่องยา และวิธีการเข้ายาหรือปรุงยาซึ่งถือเป็นรูปแบบปกติที่ผู้บันทึกต้องการจะบอก หรือสอนให้ใครก็ตามที่ได้อ่านสามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้  
ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องจารึกตำรายาของวัดโพธิ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็ได้อ่านตำรับยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ  มากมาย เพิ่งมาสะดุดใจกับตำรายา 3 แผ่นนี้ เพราะมีรูปแบบที่แปลกคือ มีการใช้เนื้อสัตว์ปรุงเป็นแกง แต่ใช้รับประทานเป็นยา รักษาโรคได้ และน่าอร่อยซะด้วย

จารึกตำรายาทั้ง 3 แผ่นดังกล่าวนั้นได้แก่ (1) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 6 กระษัยปลาไหล) (2) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 7 กระษัยปลาหมอ) และ (3) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 8 กระษัยปลาดุก)

ดูจากชื่อจารึกแล้วจะเห็นว่าทั้งหมดเป็นตำรายาแก้กระษัยซึ่งโรคกระษัยนั้นจะมีทั้งหมด 18 จำพวก มีเพียง 3 รายชื่อนี้เท่านั้นที่มีการปรุงยาในลักษณะพิเศษเช่นนี้

แกงยาแก้กระษัย-ปลาไหล-ปลาหมอ-ปลาดุก มีสูตรและส่วนผสมดังนี้

(1) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 6 กระษัยปลาไหล)
            สำหรับยารุกระษัยปลาไหลนั้น ให้เอาหัวข้าวข้าสด 1 ตำลึง, ใบว่านหางช้าง 9 ใบ, พริกไทย 7 เม็ด, ขิง 7 ชิ้น, ขมิ้นอ้อย 7 ชิ้น, หอย 7 หัว, กระเทียม 7 กลีบ, ปลาไหลตัว 1 เอามาทำแกงยา แล้วจึงเอาปีกนาคราช (? ไม่ทราบว่าคืออะไร) และผิวมะกรูดหั่นใส่ลงให้กินถ้วยแกง 1

(2) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 7 กระษัยปลาหมอ)
สำหรับยาแกงแก้กระษัยปลาหมอแต่ยังอ่อนอยู่นั้น ให้เอาปลาหมอ 3 ตัว เอาทั้งเกล็ด แล้วเอายางสลัดไดทาให้ทั่วทั้งตัวปิ้งให้เกรียมแล้วเอามาทาให้ได้ 3 หน ปิ้งไฟให้เกรียมทุกครั้ง จึงแต่งพริกขิงเหมือนกันกับพริกขิงแกงของยากระษัยปลาไหลนั้น แล้วจึงเอาปลาหมอ 3 ตัวนั้น  ตำลงทั้งเกล็ดทำเป็นแกงยา แล้วเอาใบเหงือกปลาหมออ่อนมาใส่ลงเป็นผัก กินแก้กระษัยปลาหมอ
            อีกตำรับหนึ่งสำหรับแก้กระษัยปลาหมอ คือยาแกงคั่วนกออก ปรุงโดยเอานกออกตัวหนึ่งมาถอนขนให้หมด เอาทั้งตับไตไส้พุงล้างแต่มูลออกเสียให้หมด สับให้แหลก แล้วจึงใส่พริกขิงเหมือนคั่วกิน เอามะพร้าวไฟทำเป็นกะทิใส่ลงคั่วเอาลูกศีรษะลิงเป็นผัก แล้วจึงเอาเทียนทั้ง 5, โกฐพุงปลา, โกฐก้านพร้าว, ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, กระวาน, กานพลู, ใบกระวาน, ลูกผักชี, ลูกในสะแก,  ลูกในมะเกลือ,  ลูกผลาญศัตรู (ชื่อสมุนไพร) บดละเอียดผสมลงในแกงยา 

(3) จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ว่าด้วยลักษณะกระษัยโรค แผ่นที่ 8 กระษัยปลาดุก)
สำหรับยาแกงแก้กระษัยปลาดุกนั้น ในเบื้องต้นให้ใช้ยาตำรับเดียวกับที่แก้กระษัยปลาไหล ถ้ายังไม่หายให้ปรุงยาแก้กระษัยปลาดุกขึ้น โดยเอาเปลือกราชพฤกษ์,  เปลือกตาเสือ,  รากตองแตก,  พาดไฉนนุ่น,  พริกไทย,  ขิงแห้ง,  กระเทียม,  ลูกจันทน์,  ดอกจันทน์,  กระวาน,  กานพลู,  ข่า,  กระชาย,  กะทือ,  ไพล, หอม,  ขมิ้นอ้อย,  กะปิ,  ปลาดุกย่างตัว 1,  ปลาร้าปลาสร้อย 5 ตัว  สิริยา 20 สิ่งนี้ทำเป็นแกงยา แล้วเอาใบมะกาที่เพสลาดนั้นมาหั่นใส่ลงเป็นผัก  กินให้ได้ถ้วยแกง 1 

ผู้เขียนไม่ทราบว่าแกงยาทั้ง 3 สูตรมีใครนำมาปรุงดูบ้างหรือยัง และไม่ทราบว่าจะรักษาได้ผลดีหรือไม่ หากมีใครลองนำมาปรุงได้สำเร็จแล้วคงจะดีและมีประโยชน์ไม่น้อย

และหากยังมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคกระษัยทั้ง 3 จำพวกนี้ ท่านสามารถสืบค้นได้ใน ‘ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย’ หรือในเอกสารอื่นๆ ที่เผยแพร่อยู่ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : แกงยา จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตำรายาวัดโพธิ์