Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

อ้าย

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 เวลา 17:51:05
บทความโดย : ทีมงาน

          คำ “อ้าย” ที่ยกมานี้ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 กล่าวถึงประวัติของพ่อขุนรามคำแหงว่า พี่ชายของตนตายไปตั้งแต่ตอนเล็กๆ แล้ว ดังนี้

          “พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก (ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 3)”

         ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ดังนี้

อ้าย 1 (โบ)  น. เรียกลูกชายคนที่ 1 ว่า ลูกอ้าย, คู่กับลูกหญิงคนที่ 1 ว่า ลูกเอื้อย. (กฎหมายตราสามดวง) ; โดยปริยายอนุโลมเรียกว่าพี่ชายคนโต ว่า พี่อ้าย
อ้าย 2 (โบ) ว. ต้น, หนึ่ง, ในคำว่าเดือนอ้าย
อ้าย 3 น. คำประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศชายหรือสัตว์ตัวผู้ เช่น อ้ายหนุ่ม, อ้ายด่าง, คำประกอบหน้าชื่อผู้ชายที่มีฐานะต่ำกว่า อย่างนายเรียกคนใช้, คำประกอบหน้าชื่อเพื่อนฝูงแสดงความสนิทสนมมาก มักใช้กันในหมู่เด็กผู้ชาย, คำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้ชายแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยาม, คำประกอบคำบางคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กผู้ชายหรือผู้ชายที่อายุน้อยกว่ามากด้วยความเอ็นดูหรือสนิทสนมเป็นกันเอง เช่น อ้ายหนู, อ้ายน้องชาย

          นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ยังมีประกาศเกี่ยวกับ อ้าย ดังในประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่างๆ ดังนี้

          มีพระบรมราชโองการให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า คนในพระราชอาณาจักร มิใช่จีน มิใช่ฝรั่ง แขก ญวน พม่า มอญ ซึ่งมาแต่เมืองจีน เมืองฝรั่ง เมืองแขก เมืองญวน เมืองพม่า เมืองมอญ แลมิใช่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ชีพ่อพราหมณ์ หลวงญวน หลวงจีน บาทหลวงฝรั่ง โต๊ะแขก รูปชี แพทย์มอญ แลครูอาจารย์สอนหนังสือก็ดี ยกเสียแต่ข้าราชการที่มีชื่อตามบรรดาศักดิ์ แต่หมื่นขึ้นไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาแลเจ้าพระยาก็ดี แลยกเสียแต่พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และเจ้าประเทศราช แลเจ้าซึ่งเป็นบุตรหลานพี่น้องของเจ้าเมืองประเทศราช ตลอดลงไปจนท้าวเพี้ยในเมืองลาว พระยาพระในเมืองเขมรตองกูตวนเจะในเมืองมลายู จ่ากงในพวกกะเหรี่ยงก็ดีแล้ว ชายสามัญทั้งปวง มีคำนำหน้าชื่ออยู่แต่สองอย่างคือ นาย อย่างหนึ่ง อ้าย อย่างหนึ่ง ตั้งแต่นายยามหุ้มแพรมหาดเล็ก แลนายเวรตำรวจ นายม้าจูง นายท้ายช้าง ลงไปจนตัวเลกหมู่ไพร่หลวงสามัญ ใช่ไพร่หลวงมหันตโทษ แลนักโทษที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ แลขาดบรรดาศักดิ์ก็ดี ไพร่สมกำลัง แลลูกหมู่มิใช่ทาสมิใช่เชลยก็ดี มีคำนำหน้าว่า นาย ทั้งหมด ตัวแลลูกหมู่ไพร่หลวงมหันตโทษ แลนักโทษที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ แลขาดบรรดาศักดิ์แล้ว แลตัวแลลูกหมู่ ทาส เชลยทั้งปวง มีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย หญิงเช่นผู้ชายที่มีคำนำหน้าชื่อว่า อ้าย ทั้งปวงนั้น ย่อมมีคำนำหน้าชื่อว่า อี ทั้งสิ้น เด็กสามัญที่ยังไม่ได้โกนจุกอายุไม่เกินกว่า 13 ปี ทั้งชายทั้งหญิงที่นอกจากจะเรียกว่า อ้าย ว่า อี แล้ว จะเรียกว่า หนู นำหน้าก็ควร...(ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2528 หน้า 210-213)

         ปัจจุบัน การใช้ “อ้าย” น. หมายถึง พี่ชาย ซึ่งเป็นภาษาถิ่น ยังนิยมใช้อยู่ในท้องถิ่นของภาคอีสานและภาคเหนือนั้น เช่น อ้ายสิไปไส(พี่จะไปไหน) อินดูอ้ายเต๊อะ(สงสารพี่เถอะ) เป็นต้น


อ้างอิงจาก

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2554 (กรุงเทพ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556) หน้า 1406-1407.
นิตยา กาญจนะวรรณ ใน ภาษาไทย 2001 (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน, 2544) หน้า 179-180.
จารึกพ่อขุนรามคำแหง https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/47

ผู้เขียน : นิสา เชยกลิ่น

คำสำคัญ : อ้าย คำศัพท์ ศัพทานุกรม จารึกสุโขทัย